ต้นระย่อมใหญ่ สมุนไพรแผนโบราณช่วยลดความดันโลหิตสูง

0
1294
ต้นระย่อมใหญ่
ต้นระย่อมใหญ่ สมุนไพรแผนโบราณช่วยลดความดันโลหิตสูง เป็นพันธุ์ไม้พุ่มยืนต้นที่มีขนาดเล็ก ดอกรูปเข็มสีขาว สีเหลืองแกมเขียว หรือสีแดงขาว ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีม่วงเข้ม
ต้นระย่อมใหญ่
เป็นพันธุ์ไม้พุ่มยืนต้นที่มีขนาดเล็ก ดอกรูปเข็มสีขาว สีเหลืองแกมเขียว หรือสีแดงขาว ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีม่วงเข้ม

ระย่อมใหญ่

ต้นระย่อมใหญ่ เป็นไม้ทรงพุ่มขนาดเล็กพบได้ตามภูเขา ป่าดิบ และป่าเต็งรังสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1600 เมตร ถิ่นกำเนิดอยู่ทั้งในประเทศไทย ศรีลังกา อินเดีย ภูฏาน พม่า จีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงฟิลิปปินส์ ซึ่งต้นจัดอยู่ในวงศ์วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE) ใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Rauvolfia verticillata (Lour.) Baillon ส่วนที่ใช้ประโยชน์ของสมุนไพรแผนโบราณนี้คือรากนำมาต้มเป็นยาช่วยลดความดันโลหิตสูง และใช้รากบดผสมกับมะนาวใช้เป็นยาขับพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย สมุนไพรชนิดนี้มีสารสำคัญทางเคมี เช่น อัลคาลอยด์ รีเซอร์พีน อะจามาลีน เวลโลซิมีน สเปกาทรีน เวอร์ทิซิลลาทีน ไดเพกาทรีนจากราก และสารสกัดเมทานอลจากใบมีสารต้านอนุมูลอิสระ ชื่ออื่น ๆ พุดน้อย (จังหวัดลำปาง), ขะย่อมใหญ่ (จังหวัดเพชรบูรณ์), ยาแก้ฮากขม สลัก (จังหวัดเชียงใหม่), ติ๊ซิหน่อโพ (ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), จี้ปุก (ในภาคเหนือ), แฉก (ในภาคใต้), เป็นต้น

ลักษณะต้นระย่อมใหญ่

  • ต้น
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทพุ่มหรือไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็ก
    – ต้นมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 2-5 เมตร
    – ลำต้นที่ตั้งตรง และภายในลำต้นมีน้ำยางสีขาว
  • ใบ
    – ใบ เป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกเรียงรอบข้อ ข้อละประมาณ 3-5 ใบ
    – รูปร่างของใบจะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลีบ หรือเป็นรูปหอกกลับแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมยาว ส่วนโคนใบเป็นรูปลิ่ม
    – แผ่นใบมีผิวที่ค่อนข้างบางเป็นสีเขียวอ่อน ใบมีเส้นแขนงใบประมาณ 9-18 คู่ [1],[2]
    – ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 4-7 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 12-24 เซนติเมตร
    – ก้านใบมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
  • ดอก
    – ก้านช่อมีความยาวอยู่ที่ 10 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง ส่วนก้านดอกย่อยจะยาวประมาณ 3.5-7.5 เซนติเมตร
    – ดอกย่อยมีเป็นจำนวนมาก กลีบเลี้ยงเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดความยาวอยู่ที่ประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร
    – กลีบดอกมีสีเป็นสีขาว สีเหลืองแกมเขียว หรือสีแดงขาว ดอกมีลักษณะเป็นรูปดอกเข็ม หลอดกลีบมีความยาวประมาณ 1-1.8 เซนติเมตร ด้านในดอกมีขนรอบปากหลอดกลีบดอกและใต้เกสรเพศผู้ กลีบดอกมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2-4 มิลลิเมตร
    – เกสรเพศผู้ติดอยู่ใกล้กับปากหลอดกลีบดอก ก้านเกสรมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 5-8 มิลลิเมตร อับเรณูมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1.5 มิลลิเมตร จานรองดอกมีความยาวประมาณ 4-10 มิลลิเมตร
    – รังไข่มี 2 ช่อง แยกออกจากกัน มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1-2 มิลลิเมตร เกสรเพศเมียมีความยาวประมาณ 4-10 มิลลิเมตร รวมกับปลายเกสรเพศเมีย[1],[2]
  • ผล
    – ผลสด โดยจะออกผลเป็นคู่ ๆ แยกออกจากกัน
    – รูปร่างของผลเป็นรูปทรงรี มีขนาดความยาวอยู่ที่ประมาณ 0.8-1.4 เซนติเมตร
    – ผลอ่อนมีสีเป็นสีเขียว เมื่อผลสุกแล้วจะเปลี่ยนสีเป็นสีม่วงเข้ม[1],[2]
  • เมล็ด
    – เมล็ดที่มีลักษณะรูปร่างเป็นรูปขอบขนาน ซึ่งมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 7.5 มิลลิเมตร

สรรพคุณของต้นระย่อมใหญ่

1. รากนำมาทำเป็นยารักษาโรคนิ่วได้ (ราก)[3]
2. ตำรายาพื้นบ้านของล้านนาจะนำราก มาทำเป็นยาลดความดันโลหิต (ราก)[1],[3]
3. รากนำมาใช้ทำเป็นยาแก้ไข้ได้ (ราก)[1],[3]
4. รากมีฤทธิ์เป็นยาช่วยบำรุงหัวใจ (ราก)[1],[3]
5. รากนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาแก้อาการหนาวสั่นได้ (ราก)[4]
6. ใบนำมาตำจากนั้นนำไปพอกใช้สำหรับแก้สัตว์มีพิษต่อย (ใบ)[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

สารสกัดจากราก มีสารอัลคาลอยด์อยู่ ซึ่งจากผลการวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า สารอัลคาลอยด์นี้จะมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ช่วยบำรุงหัวใจ และช่วยขยายหลอดเลือดแดงที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจในสัตว์ทดลองได้[1]

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ขะย่อมใหญ่”.  หน้า 184.
2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ระย่อมใหญ่”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [28 ต.ค. 2014].
3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ขะย่อมใหญ่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :  www.qsbg.org.  [28 ต.ค. 2014].
4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ขะย่อมใหญ่, ระย่อมน้อย”.  อ้างอิงใน :  หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., ศูนย์ข้อมูลพืช สำนักวิชาการวิจัย องค์การสวนพฤกษศาสตร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [28 ต.ค. 2014].

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

อ้างอิงรูปจาก
1.https://tropical.theferns.info/
2.https://indiabiodiversity.org/