มะกล่ำต้น เมล็ดเป็นสีแดงเลือดนก ช่วยบำรุงกำลัง แก้ฝี ขับพยาธิ

0
1573
มะกล่ำต้น เมล็ดเป็นสีแดงเลือดนก ช่วยบำรุงกำลัง แก้ฝี ขับพยาธิ
มะกล่ำต้น ไม้ยืนต้น ดอกสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอมเล็กน้อย มีผลเป็นฝักแบนยาว เมล็ดค่อนข้างกลม แข็งและผิวมัน สีแดงเลือดนกหรือเป็นสีแดงส้ม มีรสเมาเบื่อ
มะกล่ำต้น เมล็ดเป็นสีแดงเลือดนก ช่วยบำรุงกำลัง แก้ฝี ขับพยาธิ
มะกล่ำต้น ไม้ยืนต้น ดอกสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอมเล็กน้อย มีผลเป็นฝักแบนยาว เมล็ดค่อนข้างกลม แข็งและผิวมัน สีแดงเลือดนกหรือเป็นสีแดงส้ม มีรสเมาเบื่อ

มะกล่ำต้น

มะกล่ำต้น (Red sandalwood tree) ค่อนข้างที่จะเป็นที่รู้จักอยู่บ้างในประเทศไทยเพราะเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสิงห์บุรี เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่ดอกเป็นสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอมเล็กน้อย มีผลเป็นรูปฝักแถบแบนยาวซึ่งมีเมล็ดเป็นส่วนสำคัญในการนำมารับประทานและเป็นยาสมุนไพร มีรสเมาเบื่อและมีลักษณะเป็นสีแดงเลือดนกหรือเป็นสีแดงส้ม มะกล่ำต้นเป็นต้นไม้ที่สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะกล่ำต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Adenanthera pavonina L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Red sandalwood tree” “Sandalwood tree” “Bead tree” “Coralwood tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “มะแดง มะหัวแดง มะโหกแดง” คนทั่วไปเรียกว่า “มะกล่ำตาช้าง” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “มะแค้ก หมากแค้ก” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “มะหล่าม” จังหวัดสตูลเรียกว่า “บนซี” จังหวัดปัตตานีเรียกว่า “ไพ” ชาวเงี้ยวแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “หมากแค้ก มะแค้ก” คนเมืองเรียกว่า “มะแค้กตาหนู” ชาวม้งเรียกว่า “กัวตีมเบล้” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “ซอรี่เหมาะ” ชาวขมุเรียกว่า “กล่องเคร็ด” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ลิไพ ไพเงินก่ำ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Adenanthera gersenii Scheff., Adenanthera polita Miq., Corallaria parvifolia Rumph.

ลักษณะของมะกล่ำต้น

มะกล่ำต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ผลัดใบระยะสั้น มักจะพบขึ้นตามป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง
ต้น : เรือนยอดแผ่กิ่งกว้าง ต้นเป็นทรงโปร่ง เปลือกลำต้นหนาเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเปลือกชั้นในนุ่มเป็นสีครีมอ่อน
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรี รูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบไม่สมมาตรกัน ขอบใบเรียบมีประมาณ 8 – 16 คู่ เรียงสลับกัน แผ่นใบบางเป็นสีเขียวเข้ม ใบเรียบเกลี้ยง ด้านหลังใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวอมเทา ส่วนท้องใบเป็นสีอ่อนกว่า ก้านใบย่อยสั้น ไม่มีหูใบ ส่วนก้านใบหลักมีหูใบขนาดเล็กมากและหลุดร่วงได้ง่าย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อดอกแคบยาวเป็นรูปทรงกระบอก โดยจะออกดอกตามซอกใบช่วงบนหรือแตกแขนงที่ปลายกิ่ง และจะออกดอกเป็นช่อเดี่ยวหรือหลายช่อรวมกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกเป็นสีเหลืองอ่อนอมสีครีม เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม มีขนอยู่ประปราย มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบแคบและปลายกลีบแหลมเชื่อมติดกันที่ฐานเป็นหลอด ก้านดอกสั้นเป็นทรงแคบ ส่วนปลายเป็นถ้วยตื้นแยกเป็น 5 กลีบ กลีบเลี้ยงดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน อับเรณูมีต่อมอยู่ที่ปลาย ดอกจะมีกลิ่นหอมอ่อนในช่วงเย็นคล้ายกลิ่นของดอกส้ม มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
ผล : ออกผลเป็นฝักรูปแถบแบนยาว ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะแตกออกเป็นสองตะเข็บและบิดม้วนงอเป็นเกลียวแน่นเพื่อกระจายเมล็ดและมีรอยคอดตามเมล็ดชัดเจน
เมล็ด : เมล็ดจะติดอยู่ในฝักเป็นเวลานาน ในหนึ่งฝักจะมีเมล็ดประมาณ 10 – 15 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลม แข็งและผิวมัน เป็นสีแดงเลือดนกหรือเป็นสีแดงส้ม มักจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม

สรรพคุณของมะกล่ำต้น

  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาฝาดสมาน
    – บำรุงกำลัง บำรุงธาตุในร่างกาย แก้บิด แก้ท้องร่วง แก้โรคปวดข้อ แก้ลมเข้าข้อ ด้วยการนำใบมาต้มกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากเมล็ด
    – แก้อาการปวดศีรษะ แก้อักเสบ ด้วยการนำเมล็ดมาฝนกับน้ำทา
    – แก้อาการจุกเสียด ด้วยการนำเมล็ดมาบดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดกิน
    – เป็นยาขับพยาธิ เบื่อพยาธิไส้เดือนหรือพยาธิตัวตืด ด้วยการนำเมล็ดคั่วไฟเอาเปลือกหุ้มสีแดงออกแล้วนำมาบดเป็นผงผสมกับยาระบาย
    – แก้หนองใน ด้วยการนำเมล็ดมาบดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดกินเป็นยา
    – แก้แผลฝีหนอง ช่วยดับพิษฝี ดับพิษบาดแผล ด้วยการนำเมล็ดมาบดให้เป็นผงใช้โรยใส่แผล
  • สรรพคุณจากเนื้อไม้
    – แก้ปวดศีรษะ ด้วยการนำเนื้อไม้ฝนกับน้ำทาขมับ
    – ทำให้อาเจียน ด้วยการนำเนื้อไม้ฝนกับน้ำกินกับน้ำอุ่น
    – เป็นยาแก้อาเจียน ด้วยการนำเนื้อไม้ต้มหรือฝนกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ร้อนใน ช่วยแก้อาเจียน เป็นยาขับเสมหะ แก้เสมหะ กัดเสมหะในคอ ช่วยแก้หืดไอ แก้เสียงแหบแห้ง แก้อาการสะอึก ช่วยแก้ลมในท้อง ช่วยถอนพิษฝี
  • สรรพคุณจากเนื้อในเมล็ด ผสมกับยาอื่นเป็นยาระบาย
    – เป็นยาขับพยาธิไส้เดือนและพยาธิเส้นด้าย ด้วยการนำเนื้อในเมล็ดมาบดเป็นผงแล้วปั้นเป็นมัด กินเป็นยา
  • สรรพคุณจากเมล็ดและใบ เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก

ประโยชน์ของมะกล่ำต้น

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อนมีรสมันจึงใช้กินเป็นผักสดร่วมกับอาหารพวกลาบ ส้มตำ น้ำตกและอาหารประเภทที่มีรสจัด หรือนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริกและนำมาแกงได้ เนื้อในเมล็ดนำมาคั่วกินเป็นอาหารว่างซึ่งจะมีรสมัน
2. ใช้ในอุตสาหกรรม เมล็ดนำมาใช้ประดับตกแต่งเสื้อผ้าหรือตุ๊กตาได้ เนื้อไม้มะกล่ำต้นจะให้สีแดงที่ใช้สำหรับย้อมผ้าได้ เนื้อไม้ใช้ทำเสาบ้าน ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ทำเรือและเกวียนได้
3. ใช้ในด้านเชื้อเพลิง ไม้มะกล่ำต้นนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือฟืน ซึ่งให้ความร้อนได้สูงถึง 5,191 แคลอรีต่อกรัม
4. ปลูกเป็นไม้ประดับ

คุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนมะกล่ำต้นต่อ 100 กรัม

จากข้อมูลจากภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ปี พ.ศ. 2537 คุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนมะกล่ำต้นต่อ 100 กรัม

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้
โปรตีน 0.7 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 0.6 กรัม 
ไขมัน 1.51 กรัม
ใยอาหาร 1.7 กรัม
วิตามินเอ 6,155 หน่วยสากล
วิตามินบี3 37 มิลลิกรัม

มะกล่ำต้น เป็นต้นที่มีใบและเนื้อไม้รสฝาดเฝื่อน รากมีรสเปรี้ยวขื่นเย็น เมล็ดมีรสเฝื่อนเมาและเนื้อในเมล็ดมีรสเมาเบื่อ ซึ่งแต่ละส่วนจะมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรแตกต่างกัน นอกจากนั้นยังเป็นต้นที่สามารถนำมาใช้ปรุงอาหารได้หลากหลายแบบ มะกล่ำต้นมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเมล็ด ใบและราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงกำลัง แก้ฝี ขับพยาธิและแก้โรคปวดข้อได้ ค่อนข้างที่จะมีประโยชน์ในการรักษาอาการพื้นฐานภายนอกและแก้อาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้เป็นอย่างดี

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะกล่ำต้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [14 พ.ค. 2014].
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “มะกล่ำต้น (Ma Klam Ton)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 210.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะกล่ำตาช้าง Red Sandalwood tree”. หน้า 36.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “มะกล่ำต้น”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 144.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Red sandalwood tree,Coralwood tree, Sandalwood tree, Bead tree”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [14 พ.ค. 2014].
ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ไพ, มะกล่ำตาไก่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [14 พ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/