โสมไทย ดอกสีม่วงอ่อนสวยงาม รากและเหง้าอุดมไปด้วยสรรพคุณ
โสมไทย หรือโสมคน เป็นรากแก้วหรือเหง้าขนาดใหญ่อยู่ใต้ดินคล้ายรากโสมเกาหลี มีดอกเป็นสีชมพูบานเย็น

โสมไทย

โสมไทย (Fame Flower) หรือเรียกอีกอย่างว่า “โสมคน” สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย เป็นรากแก้วหรือเหง้าขนาดใหญ่อยู่ใต้ดินคล้ายรากโสมเกาหลี มีดอกเป็นสีชมพูบานเย็นทำให้ดูสวยงามมากจนนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ นอกจากนั้นใบอ่อนยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารซึ่งให้รสชาติดีอีกด้วย รากโสมไทยจะมีรสชุ่มและขมเล็กน้อยจึงเป็นยาสุขุมที่ไม่มีพิษ เหง้าโสมไทยมีรสหวานร้อนสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ดี

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของโสมไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Talinum paniculatum (Jacq.) Gaertn.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Fame Flower” “Ceylon Spinach” “Sweetheart” “Surinam Purslane”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “โสม โสมคน” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ว่านผักปัง” คนจีนเรียกว่า “โทวหนิ่งเซียม” จีนกลางเรียกว่า “ถู่เหยินเซิน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ TALINACEAE
ชื่อพ้อง : Claytonia patens (L.) Kuntze, Portulaca paniculata Jacq., Portulaca patens L., Talinum patens (L.) Willd.

ลักษณะของโสมไทย

โสมไทย เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุเพียงหนึ่งปี เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินทรายหรือดินร่วนซุยที่มีความชุ่มชื้นสูงและชอบที่มีแสง พบขึ้นได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย มักพบในที่ชุ่มชื้น บริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ ตามป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง ตามไร่สวนหรือบ้านเรือนทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง มักแตกกิ่งก้านบริเวณโคนต้น จำนวนของกิ่งที่แตกออกจากต้นมีประมาณ 5 กิ่งขึ้นไป โดยการแตกกิ่งจะทิ้งช่วงห่างประมาณ 1 นิ้ว ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยมและฉ่ำน้ำ ลำต้นอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อมีอายุมากจะเป็นสีน้ำตาลบริเวณโคนต้น ต้นอ่อนลำต้นจะเปราะและหักได้ง่าย เมื่อแก่แล้วจะแข็งและเหนียว มีเนื้อแข็งคล้ายไม้
ราก : เป็นรากแก้วหรือเหง้าขนาดใหญ่อยู่ใต้ดินคล้ายรากโสมเกาหลี รากแก้วมีความเหนียว ลักษณะของรากเป็นรูปกลมยาวปลายแหลมคดงอเล็กน้อยและมีรากฝอยมาก ส่วนเปลือกของรากเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาล เนื้อในรากนิ่มเป็นสีขาวนวล เมื่อขูดที่ผิวของรากสักครู่จะพบว่าบริเวณที่ขูดเป็นสีแดง รากแก้วจะมีความเหนียว มีกลิ่นฉุนเล็กน้อย เมื่อรากโตเต็มที่จะมีรูปร่างคล้ายโสมเกาหลีหรือโสมจีน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบมนหรือแหลมสั้น โคนใบสอบหรือเรียวแคบเล็กลงจนถึงก้านใบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวเรียบเป็นมันทั้งสองด้านและไม่มีขน หลังใบมีสีเข้มกว่าท้องใบ เนื้อใบหนาและนิ่ม เส้นใบสานกันเป็นร่างแห น้ำยางที่ใบมีสีและเหนียว เมื่อสัมผัสจะรู้สึกคันเล็กน้อย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อบริเวณส่วนยอดหรือที่ปลายกิ่ง ก้านช่อตั้งขึ้น ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีม่วงแดงอ่อน ดอกจะบานในช่วงที่มีแสง เวลาไม่มีแสงดอกจะหุบ กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปกลมรี ปลายกลีบแหลม กลีบดอกเป็นสีม่วงแดงไม่มีกลิ่น กลีบเลี้ยงมี 2 กลีบ หลุดร่วงได้ง่ายเป็นสีขาวใสห่อหุ้มดอกในขณะตูม โคนกลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม แกนกลางของกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม เป็นเส้นบางขึ้นไป ส่วนปลายกลีบเลี้ยงจะมีลักษณะแหลม เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ บริเวณกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ล้อมรอบเกสรเพศเมีย มีสีเหลืองคล้ายเมล็ดถั่วประกบกัน ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะเป็นเส้นบางคล้ายกับด้ายและมีลักษณะโค้งเล็กน้อย ส่วนปลายแฉกจะแยกออกเป็น 3 แฉก และมีสีชมพูเหมือนสีของกลีบดอก รังไข่มีลักษณะกลม ภายในรังไข่มีออวุลเป็นเม็ดเล็กจำนวนมาก ส่วนละอองเรณูจะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กสีเหลือง หากมีความชุ่มชื้นเพียงพอจะออกดอกได้ตลอดทั้งปีและมักมีแมลงและมดดำมาอาศัยอยู่
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี ผลมีขนาดเล็ก เมื่ออ่อนผลจะเป็นสีเขียวเรียบ เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีเหลืองอ่อน สีแดงและจะเป็นสีเทาเข้ม เมื่อแก่จัดจะแตกทำให้เมล็ดฟุ้งกระจายตกลงบนพื้นดิน
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดสีดำขนาดเล็ก มีจำนวนเมล็ดประมาณ 50 – 60 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมแบน เมล็ดมีสีขาวตอนผลอ่อนและจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ ผิวเมล็ดเรียบและมีลักษณะเปราะบาง

สรรพคุณของโสมไทย

  • สรรพคุณจากราก บำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย แก้อาการวิงเวียนศีรษะ เป็นยาแก้ศีรษะมีไข้ เป็นยาบำรุงปอดและทำให้ปอดชุ่มชื่น แก้ปัสสาวะขัด แก้ประจำเดือนมาผิดปกติ ช่วยบำรุงม้าม เป็นยาบำรุงน้ำนมของสตรี
    – บรรเทาอาการอ่อนเพลียจากการทำงานหนัก แก้อาการไอ แก้ไอเป็นเลือด แก้ไอแห้ง แก้ปวดร้อนแห้ง ด้วยการนำรากสดหรือรากแห้งมาผสมกับรากทงฮวยและน้ำตาลกรวดแล้วนำมาตุ๋นกินกับไก่
    – แก้อาการอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง ด้วยการนำรากแห้ง 35 กรัม มาตุ๋นกินกับปลาหมึกแห้ง 1 ตัว
    – ลดเหงื่อออกมากผิดปกติหรือเหงื่อออกไม่รู้ตัว ด้วยการนำรากแห้งประมาณ 60 กรัม มาตุ๋นกับกระเพาะหมูหนึ่งใบแล้วนำมากิน
    – เป็นยาบำรุงร่างกายหลังการฟื้นไข้ใหม่ ๆ ด้วยการนำรากแห้ง 30 กรัม รากโชยกึงป๊วก 30 กรัมและโหงวจี้ม่อท้อ 15 กรัม มาผสมกันต้มกับน้ำกิน
    – รักษาอาการไอเรื้อรังซึ่งเกิดจากปอด ด้วยการนำรากแห้งและหงู่ตั่วลักแห้งอย่างละประมาณ 30 กรัม เจียะเชียงท้อแห้ง 15 กรัม และแบะตง 10 กรัม มาผสมกันแล้วต้มกับน้ำกินเป็นยา
    – แก้ท้องเสีย แก้อาการท้องเสียอันเนื่องมาจากความเครียดหรือความกังวลที่มากเกินไป ด้วยการนำรากแห้งประมาณ 15 – 30 กรัม และผลพุทราจีน 15 กรัม มาต้มกับน้ำกิน
    – แก้ธาตุอ่อน แก้กระเพาะลำไส้ไม่มีเรี่ยวแรง แก้ถ่ายกะปริบกะปรอย ด้วยการนำรากแห้ง 30 กรัม และพุทราจีน 30 กรัม มารวมกันต้มกับน้ำกิน
    – แก้อาการปัสสาวะมากผิดปกติ ด้วยการนำรากสดกับรากกิมเอ็งสดอย่างละประมาณ 60 กรัม มาต้มกับน้ำกินวันละ 2 – 3 ครั้ง
  • สรรพคุณจากเหง้า เป็นยาทาภายนอกแก้อาการอักเสบและลดอาการบวม
    – บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย ด้วยการนำเหง้ามาดองกับเหล้ากิน
  • สรรพคุณจากใบ
    – แก้บวมอักเสบมีหนอง ด้วยการนำใบสดกับน้ำตาลทรายแดงมาตำผสมกันให้ละเอียดจนเข้ากัน ใช้เป็นยาพอก
    – ช่วยขับน้ำนมสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตร ด้วยการนำใบอ่อนมาผัดกินเป็นอาหาร

ประโยชน์ของโสมไทย

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมาผัดน้ำมันหอย ผัดแบบผักบุ้งไฟแดงหรือนำมาใช้ทำแกงเลียง แกงป่า แกงจืดและแกงแค ยอดใบอ่อนนำมาลวก ต้มหรือนึ่งจิ้มกินกับน้ำพริกหรือใช้ผสมในแป้งทำขนมบัวลอย ขนมทองพับ ข้าวเกรียบปากหม้อและนำมาใช้แทนผักโขมสวนได้ ใช้ทำเป็นน้ำคลอโรฟิลล์ได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ

คุณค่าทางโภชนาการของโสมไทย

คุณค่าทางโภชนาการของโสมไทย ให้คาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร โปรตีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 และ essential oils, สาร flavonoids, chromene และมีน้ำมันหอมระเหยอีกเล็กน้อย มีสารสำคัญอย่าง borneol, camphene, camphor, cineol, limonene, myrcene, pinene, pinostrobin, rubramine, thujene

ข้อควรระวังของโสมไทย

ผู้ที่เป็นโรคไต โรคเกาต์และโรคไขข้ออักเสบ ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากเพราะโสมไทยมีกรดออกซาลิกสูง

โสมไทย เป็นต้นที่มีวิตามินและแร่ธาตุมากมายในส่วนของรากและเหง้า ใบอ่อนสามารถนำมาใช้ปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู นอกจากนั้นยังมีดอกสีม่วงอ่อนดูสวยงามเหมาะแก่การนำมาปลูกเป็นอย่างมาก เป็นต้นที่นิยมนำมาปรุงผสมเป็นยาสมุนไพรได้ โสมไทยมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงกำลัง บำรุงปอด บำรุงม้าม แก้ปัสสาวะขัดและอื่น ๆ อีกมากมาย ถือเป็นต้นที่น่าสนใจในการนำมาปลูกเอาไว้เพราะใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “โสมคน”. หน้า 792-794.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โสมไทย”. หน้า 568.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โสมไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [08 ก.ย. 2014].
รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “โสมไทย”. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2547 [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th. [08 ก.ย. 2014].
งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม. “โสมคน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.ndk.ac.th. [08 ก.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/