โรคกลาก ( Ringworm )

0
12551
โรคกลาก ( Ringworm )
โรคกลาก ( Ringworm )
โรคกลาก ( Ringworm )
โรคกลาก ( Ringworm ) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา มักจะพบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะวัยเด็ก

โรคกลาก คือ

โรคกลาก ( Ringworm ) เป็น โรคที่เกิดจากเชื้อรา มักจะพบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณหนังศีรษะ ใบหน้า ขาหนีบ มือ เล็บ โรคกลาก สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะวัยเด็ก

สาเหตุของโรคกลาก

โรคกลาก เกิดจากเชื้อราในกลุ่มเดอร์มาโทไฟท์ ( Dermatophytes ) ที่บริเวณผิวหนัง โดยอาศัยอยู่บนผิวหนังระดับเนื้อเยื่อชนิดโปรตีนที่เรียกว่า เคราติน ของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว เช่น รังแคบนหนังศีรษะ แต่ไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายหรือเยื่อบุผิวหนังอย่างเช่นจมูกหรือปากได้ เนื่องจากเชื้อรามีลักษณะเป็นสปอร์ที่มีขนาดเล็ก คล้ายสปอร์ของเห็ดที่เกิดจากเชื้อรา สามารถอาศัยอยู่ตามผิวหนังของมนุษย์ สิ่งของ หรือพื้นดินได้อย่างยาวนานหลายเดือน อีกทั้งยังเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้น จนกระทั่งเกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ถือเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการสัมผัส

การติดเชื้อโรคกลาก

แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1. โรคกลากที่เกิดจากการติดเชื้อโดยตรง คือ การสัมผัสหรือได้รับสปอร์ของเชื้อราจากสัตว์เลี้ยงที่ติดโรค เช่น สุนัข แมว แพะ ม้า วัว และ หมู
2. โรคกลากที่เกิดจากการติดเชื้อทางอ้อม คือ การติดเชื้อจากการสัมผัสวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น ที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว หวี ผ้าคลุมศีรษะ ผ้าพันคอ และ หมวก เป็นต้น

อาการของโรคกลาก

อาการของโรคกลาก สามารถจำแนกได้เป็น 9 ประเภท อาการเฉพาะของโรคนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น แต่อาการที่คล้ายกันเกือบทุกประเภทคือ มักจะคันที่ผิวหนัง ผิวหนังบวม แดง เป็นขุย หรือแตก มีผื่นเป็นรูปวงแหวน ผมหรือขนร่วงในบริเวณที่เป็นโรค 

  1. โรคกลากที่ศีรษะ ( Tinea Capitis ) ตอนแรกอาจมีอาการคันคล้ายรังแค และบริเวณหนังศีรษะจะตกสะเก็ดเป็นจุด รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสไปโดน คันหนังศีรษะ ผมร่วงเป็นหย่อม บางรายอาจมีตุ่มหนองเล็ก หรือพุพองจนเป็นแผลขนาดใหญ่ เป็นไข้ และมีภาวะต่อมน้ำเหลืองโต หนังศีรษะ มีอาการคัน แดง ทำให้รู้สึกเจ็บและระคายเคืองที่บริเวณผิวหนังโดยรอบ มีผื่นขึ้นขอบเขตชัดเจน มีขนาดที่แตกต่างกัน พบขุยสีขาวอมเทาทั่วบริเวณหนังศีษะ มักไม่ค่อยพบอาการอักเสบ เมื่อตรวจสอบด้วย UV-light ( Wood’s lamp ) อาจพบการติดเชื้อจากการเรืองแสงสีเขียวอมน้ำเงินของสาร pteridine จากการติดเชื้อรา M. Canis ซึ่งเชื้อก่อโรคที่พบบ่อย คือ T. Tonsurans, T. Violaceum, T. Verrucosum, M. Canis, M. Audouinii และ T. Schoenleinii เป็นต้น
  2. โรคกลากที่ใบหน้า ( Tinea faciei ) โรคกลากที่ใบหน้า สาเหตุหลักส่วนมากมักพบว่าผู้ป่วยด้วยโรคนี้ จะมีพฤติกรรมการเกา แกะ ใบหน้าโดยการใช้มือและเล็บที่ไม่สะอาด เล็บติดเชื้อรา หรือมีพฤติกรรมชอบสัมผัสสัตว์เลี้ยงโดยตรง ให้สัตว์เลียใบหน้า หรือการนําสัตว์เลี้ยงมาสัมผัสใบหน้าโดยตรง เมื่อติดเชื้อแล้ว โรคกลากที่ใบหน้า จะแสดงอาการขึ้นผื่นแดงเป็นวง ๆ มีขอบยกสีแดง บางครั้งพบว่ามีขุยสีขาวบริเวณกลางวงของผื่นเชื้อก่อโรคที่พบบ่อยคือ T. Rubrum, T. Tonsurans และ M. Canis เป็นต้น โรคกลากที่ใบหน้า หากสับสนกับโรคที่ดูคล้ายกันเช่นโรคสะเก็ดเงิน และโรคผิวหนังภูมิแพ้
  3. โรคกลากที่หนวดเครา ( Tinea Barbae หรือ Barber’s Itch ) มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงอาการที่พบส่วนมากเกิดบริเวณรูขุมขนที่เกิดเส้นขน หนวด เครา บนใบหน้า เชื้อก่อโรคสามารถแทรกตัวลงไปตามรูขุมขน ( Hair follicle ) ลักษณะที่พบจะมีผื่นเป็นตุ่มแดงหรือมีหนองตามรูขุมขน มีขุยสีขาว ลักษณะวงผื่นไม่ชัดเจน ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการสัมผัสสัตว์เลี้ยง เชื้อก่อโรคที่พบบ่อยคือเชื้อ T. Verrucosum ( จากวัว ) และเชื้อ T. Mentagrophytes Var. Equinum ( จากม้า )
  4. โรคกลากบริเวณลําตัว ( Tinea Corporis หรือ Ringworm ) โรคกลากบริเวณลําตัว มักจะรวมถึง บริเวณลำคอ หน้าท้อง หลัง แขน ข้อมือ ขา ข้อเท้า ส่วนมากมักพบในเด็ก หรือ ผู้ใหญ่ที่ทํางานหนักมีเหงื่อออกปริมาณมาก หรือบางรายอาจมีอาการแพ้เหงื่อร่วมด้วย ลักษณะผื่นมักพบกระจาย และมีผื่นหลายจุด ในบริเวณที่เกิดผื่นจะมีสีชมพูจนถึงสีแดง มีขุยผิวหนังสีขาวมีขอบยกให้เห็นชัดเจน ตรงกลางผื่นไม่มีรอยแดง และบางครั้งอาจพบลักษณะตุ่มหนอง เชื้อก่อโรคที่พบบ่อยบริเวณขอบผื่นคือเชื้อ T. Rubrum, T. Tonsurans, T. Verrucosum และ M.Canis
  5. โรคกลากบริเวณมือ ( Tinea manuum ) โรคกลากบริเวณมือ ส่วนมากมักจะพบผื่นบริเวณมือข้างใดข้างหนึ่ง มากกว่าที่จะพบพร้อมกันทั้งสองข้าง อาการผื่นจะไม่ชัดเจน มือแห้ง มีขุยปริมาณมาก ถ้าเป็นรุนแรงบางครั้งอาจพบว่าผิวหนังแฉะ แดง เป็นแผล เชื้อราก่อโรคที่พบบ่อยคือ T.Rubrum, T. Mentagrophytes var. Interdigitale และ E.Floccosum 
  6. โรคกลากบริเวณเท้า ( Tinea Pedis หรือ Athlete’s Foot) หรือที่เรียกกันว่า ฮ่องกงฟุตหรือน้ำกัดเท้า จะมีอาการผิวหนังแห้ง คัน และเป็นผื่นแดงโดยเฉพาะบริเวณง่ามนิ้ว อีกทั้งยังทำให้เกิดตุ่มหนองและตุ่มพองจนส่งผลให้รู้สึกเจ็บได้ พบในกลุ่มนักกีฬา หรือผู้ที่มีเหงื่อออกบริเวณเท้าปริมาณมาก และคนที่ชอบใส่รองเท้าปิดมิดชิดและแน่นกว่าปกติจนไม่มีทางระบายออกของอากาศ อาการของผิวจะแห้งมาก มีรอยแตกตามบริเวณกดทับที่ส้นเท้า บางครั้งพบขุยสีขาว หรือผิวหนังเปื่อยได้ มีกลิ่นค่อนข้างรุนแรง เชื้อราก่อโรคที่พบบ่อยคือ T. Rubrum, T. Interdigitale และ E. Floccosum
  7. โรคกลากที่เล็บมือ เล็บเท้า ( Tinea Unguium หรือ Dermatophytic Onychomycosis ) เชื้อราที่เล็บมักพบอาการของเล็บที่ผิดรูปร่าง ผิวเล็บไม่เรียบ เป็นหลุมหรือคลื่นเล็บ แตกหักง่าย สีเล็บผิดปกติ ส่วนมากถ้าเป็นรุนแรงมักจะมีการทําลายฐานเล็บ เกิดลักษณะบวมนูนใต้เล็บ ( Hyperkeratinization ) และพบขอบเล็บมีการอักเสบบวมแดงได้เชื้อก่อโรคที่พบบ่อยคือ T. Rubrum, T. Interdigitale, E. Floccosum และ M. Canis
  8. โรคกลากที่ขาหนีบ หรือ โรคสังคัง ( Tinea Cruris ) โรคสังคัง มีสีน้ำตาลแดง ผิวหนังจะตกสะเก็ดเป็นแผ่นและอาจจะมีตุ่มหนองและตุ่มพอง ทำให้มีอาการคันและรู้สึกระคายเคือง โรคผิวหนังชนิดนี้ มักพบบริเวณโคนขาหนีบ อาจเกิดข้างใดข้างหนึ่ง หรือเป็นทั้งสองข้าง ซึ่งเกิดจากเชื้อราชนิด Trichophytor Rubrum สังคังสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่จะพบในผู้ชายได้มากกว่า โรคกลากที่ขาหนีบ หรือ โรคสังคัง นับได้ว่าเป็นโรคติดต่อที่สามารถติดต่อได้จากการสัมผัส หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น เสื้อผ้า และผ้าเช็ดตัวร่วมกัน ดังนั้นการหลีกเลี่ยงใช้สิ่งของร่วมกัน
  9. โรคกลากชนิดไม่ระบุตัวตน ( Tinea Incognito ) โรคกลากชนิดนี้จะแสดงอาการก็ต่อเมื่อผู้ป่วยเคยสัมผัสหรือติดเชื้อโรคกลากมาก่อนแล้ว แต่หรือเป็นที่เข้าใจอีกประเภทคือโรคกลากที่เกิดจากการดื้อยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ดังนั้นโรคกกลาก 8 ประเภทที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สามารถเป็นโรคกลากชนิดไม่ระบุตัวตนได้มาก่อน มักเกิดจากผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยที่ผิดและการรักษาที่ไม่ถูกต้อง เมื่อแพทย์คิดว่าผู้ป่วยเป็นแค่โรคผิวหนังธรรมดา จึงมีการจ่ายยาสเตียรอยด์ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ป่วยต้องแน่ใจว่าตัวเองติดเชื้อกลากมาก่อน ถึงจะรักษาได้อย่างถูกประเภท

โรคกลาก ( Ringworm ) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา มักจะพบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณหนังศีรษะ ใบหน้า ขาหนีบ มือ เล็บ สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะวัยเด็ก

วิธีการรักษาโรคกลาก

มาตรฐานการรักษาด้วยยาทั่วไป

แพทย์วินิจฉัยสั่งจ่ายยารักษาตามความรุนแรงของอาการ ยารักษาการติดเชื้อราอันได้แก่ คีโตโคนาโซล โคลไตรมาโซล หรือไมโคนาโซล และยาตัวอื่นที่มีส่วนประกอบของตัวยาดังกล่าวสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปที่มีเภสัชกรกำกับจ่ายยาเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ผู้มีเชื้อราที่หนังศีรษะให้รับประทานยาต้านเชื้อราไปพร้อมกับการใช้แชมพูหรือครีมขจัดเชื้อรา แชมพูที่มีสังกะสีซัลไฟด์ 2.5% หรือซิลิเนียมไพรินีโอนหรือเซลีเนียมซัลไฟด์ 1% – 2.5% สามารถกำหนดให้บรรเทาอาการคันระคายเคืองและการแพร่กระจายของเชื้อราบนหนังศีรษะได้ การรักษารมาตรฐานทั่วไป จะใช้เวลา 6-8 สัปดาห์ของยาที่กำหนดหรือจนกว่ากลากจะหาย แม้ว่าหนังศีรษะจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ในเวลาที่เหมาะสม แต่ก็อาจใช้เวลา 6-12 เดือนในการรักษาบางจุดบนหนังศีรษะที่ยากต่อการที่ผมจะงอกใหม่ได้

การรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ

นอกจากวิธีรักษาโดยใช้ยาแล้ว สามารถใช้วิธีการรักษาแบบธรรมชาติ เพื่อรักษาอาการติดเชื้อราและบรรเทาอาการคันและระคายเคืองต่อเนื่องจากโรคกลากได้ ดังนี้

  1. หยดน้ำมันใบชา น้ำมันใบชาสกัด มีคุณสมบัติเป็นยาต้านจุลชีพที่ยอดเยี่ยมมานานแล้ว น้ำมันใบชาสามารถช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อราจากโรคกลากทุกชนิด และยังสามารถบรรเทาอาการอักเสบและอาการคันได้ในทันทีโดยเจือจางน้ำมันใบชา 3-4 หยด เติมในน้ำมันมะพร้าว 1 ช้อนโต๊ะ ชุบสำลีแล้วซับลงบนบริเวณที่ติดเชื้อ เป็นเวลา 30 นาที แล้วล้างออก หากเป็นโรคกลากที่ศีรษะ ให้หยดน้ำมันใบชาลงในแชมพู สระผมสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง
  2. ใช้ซิลเวอร์คอลลอยด์ ซิลเวอร์คอลลอยด์ถูกกำหนดว่าเป็นยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อรา เมื่อใช้สัมผัสจุดที่ติดเชื้อโรคกลากแล้ว จะทำปฏิกิริยาทำลายเซลล์ของเชื้อราลึกลงไปในระดับเซลล์ของเชื้อรา ข้อดีที่สำคัญคือการใช้รักษาในทันที เป็นสารธรรมชาติซึ่งยืนยันว่าปลอดสารพิษ จากการศึกษาในปี ค.ศ. 2015 ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารโรคผิวหนังและเครื่องสำอาง ได้เน้นถึงประสิทธิภาพของซิลเวอร์คอลลอยด์เฉพาะที่ คือ โคลไตรมาโซล ( Clotrimazole ) นักวิจัยพบว่า มีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคกลากที่ศีรษะและลำตัว
  3. ใช้กระเทียม เช่น กระเทียมสด เพราะกระเทียมมีสรรพคุณในการช่วยฆ่าเชื้อรา กระเทียมมีส่วนประกอบของสารต้านเชื้อรา เช่น Ajoene และ Allici ซึ่งช่วยรักษาและต้านอาการติดเชื้อราจากโรคกลากได้ผลดี ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน วิธรการใช้ง่าย ๆ เพียงน้ำกระเทียมสด ปลอกเปลือก ล้างให้สะอาด มาทุบให้แตก แล้วใช้ทา พอก ตามจุดที่ติดเชื้อ ทิ้งไว้ 30 นาทีแล้วล้างออก ทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ช่วยรักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน และบรรเทาอาการคันได้ หรือ หากผิวหนังแสบจากการถูกสารจากกระเทียม สามารถเบาเทาด้วยการหยดน้ำมันมะพร้าวลงไปเป็นส่วนผสมได้ 
  4. ใช้ขมิ้น ขมิ้นเป็นสมุนไพรพืชหัว มีคุณสมบัติต้านเชื้อรา หากไม่มีขมิ้นสด สามารถใช้ขมิ้นผงได้ วิธีการรักษาคล้ายการใช้กระเทียม โดยเริ่มจากล้างขมิ้นให้สะอาด ปอกเปลือก นำมาทุบให้แตก ใช้ทา พอก บริเวณที่เป็นโรคกลากได้เลยทันที หรือ หยดน้ำมันมะพร้าว หรือ น้ำมันมะกอก แล้วพอกทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมงแล้วล้างออก ทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง นอกจากใช้ขมิ้นเป็นยาภายนอกแล้ว ยังใช้วิธีการนำผงขมิ้น 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อนผสมนม ดื่มวันละ 2 ครั้ง ได้อีกด้วย
  5. ใช้น้ำมันหอมระเหยจากออริกาโน่ ออริกาโน่ เป็นสมุนไพรที่ใช้ประกอบอาหาร และยังนำมาสกัดน้ำมันใช้รักษาโรคกลากได้ โดยการหยดน้ำมันหอยระเหยจากออริกาโน่ลงผสมกับน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันมะกอก แล้วใช้ทา พอก บริเวณที่เป็นโรคกลาก ทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง แล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่น ทำวันละ 2 – 3 ครั้ง
  6. ใช้ว่านหางจระเข้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ว่านหางจระเข้ เป็นสมุนไพรธรรมชาติ ที่ช่วยเบาเทาอาการต่าง ๆ ได้หลากหลาย ว่านหางจระเข้ ยังใช้ลดอาการคันและรักษาโรคกลากได้อีกด้วย โดยให้ตัดเอาเนื้อว่านหางจระเข้ออกมาเป็นล้างให้สะอาด ปอกเปลือกและนำคราบสีเหลืองที่จะทำให้เกิดอาการคันออก บดให้ละเอียดใช้พอกทันที หรือ จะผสมน้ำมะนาว แล้วนำไปทา พอก บริเวณที่ติดเชื้อโรคกลาก ทิ้งไว้ ประมาณ 30 นาที อาการปวด คัน ก็จะทุเลาลง สามารถทำได้ทุกวัน วันละ 2-3 ครั้ง
  7. ใช้น้ำส้มสายชูแอปเปิ้ลไซเดอร์ น้ำหมักจากธรรมชาติจนได้น้ำส้มสายชูแอปเปิ้ลไซเดอร์ เป็นกรดของน้ำส้มสายชู มีสรรพคุณ ต้านอนุมูลอิสระมากมาย สามารถเร่งกระบวนการบำบัด และบรรเทาอาการคัน จากผิวหนังอักเสบ โรคกลาก ได้ โดยการสเปรย์ฉีดบริเวณที่ติดโรคกลาก ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วสเปรย์ซ้ำ ใช้ได้วันละ 1-2 ครั้ง หรือ น้ำส้มสายชูแอปเปิ้ลไซเดอร์ 2 ช้อนชาผสมน้ำอุ่นดื่มวันละ 2 ครั้ง

วิธีป้องกันโรคกลาก

  1. ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  2. ทำความสะอาดร่างกายทุกวัน
  3. เมื่อสระผมแล้วเช็ดตัวกับศีรษะให้แห้งทุกครั้ง
  4. หมั่นล้างมือเป็นประจำเพื่อลดการแพร่กระจายหรือไปสัมผัสเชื้อ
  5. หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าและบริเวณที่อับชื้น
  6. ระมัดระวังการใช้ห้องน้ำสาธารณะ
  7. ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อราในสัตว์เลี้ยง

โรคกลากเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อาจจะดูเหมือนไม่เป็นโรคร้ายแรงเท่าไร แต่เมื่อเป็นขึ้นมาแล้วก็ยากต่อการรักษาให้หายได้ในเวลาอันสั้น ดังนั้นเราจึงควรป้องกันไว้ดีกว่าแก้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

1.”Symptoms of Ringworm Infections”. CDC. December 6, 2015. Archived from the original on 20 January 2016. Retrieved 5 September 2016.
2.Vena GA, Chieco P, Posa F, Garofalo A, Bosco A, Cassano N. Epidemiology of dermatophytoses: retrospective analysis from 2005 to 2010 and comparison with previous data from 1975. New Microbiol. 2012; 35(2):207-13.2.
3.Havlickova B, Czaika VA, Friedrich M. Epidemiological trends in skin mycoses worldwide. Mycoses. 2008; 51(4):2-15.3.
4.Kelly BP. Superficial fungal infections. Pediatr Rev. 2012; 33(4):e22-37.4.Rivera ZS, Losada L, Nierman WC. Back to the future for dermatophyte genomics. MBio. 2012; 3(6): e00381-12.5.
5.Dawson AL, Dellavalle RP, Elston DM. Infectious skin diseases: a review and needs assessment. Dermatol Clin. 2012; 30(1):141-51.6.Hainer BL. Dermatophyte infections. Am Fam Physician. 2003; 67(1):101-8.