โพธิ์ ไม้มงคลทางศาสนา ใบมีโปรตีนสูง มีสรรพคุณแก้โรคหัวใจและรักษาโรคเกาต์

โพธิ์ ไม้มงคลทางศาสนา ใบมีโปรตีนสูง มีสรรพคุณแก้โรคหัวใจและรักษาโรคเกาต์
โพธิ์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ใบเป็นรูปหัวใจ ดอกเป็นสีเหลืองนวล ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกเป็นสีชมพูม่วง สีแดงคล้ำหรือม่วงดำ
โพธิ์ ไม้มงคลทางศาสนา ใบมีโปรตีนสูง มีสรรพคุณแก้โรคหัวใจและรักษาโรคเกาต์
โพธิ์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ใบเป็นรูปหัวใจ ดอกเป็นสีเหลืองนวล ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกเป็นสีชมพูม่วง สีแดงคล้ำหรือม่วงดำ

โพธิ์

โพธิ์ (Sacred fig) เป็นต้นไม้ที่คนไทยทุกคนต้องรู้จักเพราะเป็นต้นที่อยู่ในศาสนาและเป็นต้นสำคัญสำหรับชาวพุทธ เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มักจะพบตามวัดอาราม ทว่านอกจากจะเป็นต้นไม้มงคลแล้วนั้นต้นโพธิ์ยังสามารถนำใบอ่อนมารับประทานและมีคุณค่าทางโภชนาการได้อย่างน่าทึ่งอีกด้วย และยังเป็นยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลากหลาย ส่วนมาก หากคนไทยพูดถึงต้นโพธิ์ก็มักจะนึกถึงวัดหรือไปในทางศาสนา ทว่าไม่ค่อยมีใครรู้กันนักว่าต้นโพธิ์ก็มีประโยชน์ในด้านอื่นได้เช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของโพธิ์

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus religiosa L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Sacred tree” “Sacred fig” “Sacred fig Tree” “The peepal tree” “Peepul tree” “Peepul of India” “Pipal tree” “Pipal of India” “Bo tree” “Bodhi Tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “โพ โพธิ โพศรีมหาโพ” ภาคเหนือเรียกว่า “สลี” ภาคตะวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า “สี สะหลี” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ย่อง” เขมรเรียกว่า “ปู” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “โพธิใบ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขนุน (MORACEAE)

ลักษณะของต้นโพธิ์

โพธิ์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ผลัดใบที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ในไทยพบในธรรมชาติน้อยมาก เป็นไม้ที่มีอายุยืนยาวมาก
ลำต้น : แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นพุ่มตรงส่วนยอดของลำต้น ปลายกิ่งลู่ลง กิ่งอ่อนเกลี้ยง ตามกิ่งมีรากอากาศห้อยลงมาบ้าง มีน้ำยางสีขาว เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลปนเทา โคนต้นเป็นพูพอนขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากมีกิ่งก้านแยกสาขาออกจากลำต้นมากจึงทำให้เกิดเชื้อราที่อาศัยความชุ่มชื้นจากน้ำฝนที่ขังอยู่ตามง่ามไม้ เข้าทำลายเนื้อไม้จนเป็นโพรง มักจะพบได้ในต้นโพธิ์ที่มีขนาดใหญ่และมีอายุมาก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลมและมีติ่งหรือหางยาว โคนใบมนเว้าเข้าหาก้านใบเป็นรูปหัวใจ ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างเหนียว ใบมีลักษณะห้อยลง แผ่นใบเป็นสีเขียวนวล ยอดอ่อนหรือใบอ่อนนั้นเป็นสีน้ำตาลแดง ก่อนใบจะร่วงหล่นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก้านใบยาวและอ่อน ปลีที่หุ้มส่วนยอดอ่อนมีสีครีมหรือสีงาช้างอมชมพู
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกลมรวมกันเป็นกระจุกภายในฐานรองดอกรูปคล้ายผล โดยจะออกที่ตอนปลายของกิ่ง ดอกย่อยเป็นแบบแยกเพศ ไม่มีก้าน มีใบประดับเล็กที่โคน ฐานดอกเป็นรูปทรงกลม ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ดอกเป็นสีเหลืองนวลและจะเจริญไปเป็นผล
ผล : เป็นผลรวม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมขนาดเล็ก ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูม่วง สีแดงคล้ำหรือม่วงดำและร่วงหล่นลงมา

สรรพคุณของต้นโพธิ์

  • สรรพคุณจากต้นโพธิ์ ยับยั้งระดับน้ำตาลในเลือดสูง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านเชื้อรา
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาแก้ไข้จับสั่นเรื้อรัง รักษาโรคคางทูม รักษาโรคท้องผูกหรือท้องร่วง เป็นยาบำบัดโรคผิวหนัง
    – ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการนำใบแก่ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำ 3 แก้ว แบ่งกินก่อนอาหารเช้าและเย็น
  • สรรพคุณจากผล เป็นยาแก้โรคหัวใจ เป็นยาช่วยขับพิษ ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยรักษาโรคหืด เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยในการย่อยอาหาร
  • สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาลดไข้ ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เป็นยาระบาย แก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ปวดฟัน รักษารากฟันเป็นหนอง เป็นยาชงกินแก้โรคหนองใน เป็นยาล้างแผล ช่วยรักษาแผลเปื่อย ช่วยสมานบาดแผล ห้ามเลือด ทำให้หนองแห้ง เป็นยาแก้โรคผิวหนัง ช่วยแก้กล้ามเนื้อช้ำบวม
  • สรรพคุณจากราก รักษาโรคเหงือก เป็นยารักษาโรคเกาต์
  • สรรพคุณจากลำต้นและใบ เป็นยาถ่าย
  • สรรพคุณจากยาง รักษาริดสีดวงทวาร เป็นยารักษาโรคหูด แก้เท้าเป็นหน่อ แก้เท้าเป็นพยาธิ
  • สรรพคุณจากลำต้น เป็นยาบำบัดโรคผิวหนัง

ประโยชน์ของต้นโพธิ์

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนทานเป็นอาหารและใช้เลี้ยงหนอนไหมได้ ซึ่งใบมีปริมาณของโปรตีนและธาตุหินปูนสูง ผลอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหารได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับตามวัดวาอาราม ปลูกเลี้ยงไว้เป็นไม้แคระแกร็นหรือปลูกตามคบไม้หรือปลูกเกาะหิน
3. เป็นไม้มงคล ชาวพุทธหรือฮินดูถือกันว่าต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์เพราะมีความเกี่ยวข้องทางศาสนา จึงปลูกกันมากตามวัดวาอาราม

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นโพธิ์

  • สารที่พบในต้นโพธิ์ พบสาร amyrin, bergapten, bergaptol, campesterol, fucosterol,28 – iso, n – hentriacontane, hexacosan – 1 – ol, lanosterol, lupen – 3 – one, lupeol, n – nonacosane, octacosan – 1 – ol, oleanolic acid methyl ester, pelargonidin – 5, 7 – dimethyl ether 3 – O – α – L – rhamnoside, β – sitosterol, solanesol, stigmasterol
  • การทดลองของต้นโพธิ์ เมื่อปี ค.ศ. 1963 ณ ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากใบโพธิ์พบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้
  • การทดสอบความเป็นพิษ การทดสอบความเป็นพิษ ด้วยการฉีดสารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำในอัตราส่วน 1:1 เข้าที่ช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่า ในขนาดสูงสุดที่หนูทนได้คือ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และมีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย

โพธิ์ เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาและยังเป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดปราจีนบุรี ภาพจำของคนไทยที่มีต่อต้นโพธิ์คือเป็นต้นทางศาสนาที่อยู่ในวัดอาราม ทว่าใบของต้นสามารถนำมาทานเป็นผักได้และผลยังใช้รับประทานได้ด้วย โพธิ์มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาโรคเกาต์ ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้โรคหัวใจ เป็นยาระบายและอื่น ๆ อีกมากมาย น่าตกใจเหมือนกันที่ต้นโพธิ์นั้นก็มีอะไรหลายอย่างที่เราไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่เรารู้จักกับต้นไม้ชนิดนี้มานาน

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “โพธิ์ (โพ)”. หน้า 575-576.
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “โพธิ์”. หน้า 116-117.
ไม้พุทธประวัติ, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “โพธิ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/homklindokmai/budhabot/budbot.htm. [27 ส.ค. 2014].
ลานธรรมจักร. “โพธิญาณพฤกษา : ต้นโพธิ์ (ต้นอัสสัตถะ)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dhammajak.net. [27 ส.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/