ต้นโพธิ์ศรี สรรพคุณของยางเป็นยารักษาโรคเท้าช้าง

0
1763
ต้นโพธิ์ศรี
ต้นโพธิ์ศรี สรรพคุณของยางเป็นยารักษาโรคเท้าช้าง เป็นพรรณไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลาง มีน้ำยางสีขาว ดอกเป็นช่อเขียวดอกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ผลกลมแป้นก้นงผลบุ๋ม เมล็ดแบนคล้ายกับถั่วปากอ้า
ต้นโพธิ์ศรี
เป็นพรรณไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลาง มีน้ำยางสีขาว ดอกเป็นช่อเขียวดอกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ผลกลมแป้นก้นงผลบุ๋ม เมล็ดแบนคล้ายกับถั่วปากอ้า

ต้นโพธิ์ศรี

ต้นโพธิ์ศรี เป็นพรรณไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลาง มีถิ่นกำเนิดในแถบพื้นที่อเมริกากลาง แถบพื้นที่อเมริกาใต้ และในพื้นที่ของประเทศนิการากัวจนไปถึงประเทศเปรู ชื่อสามัญ Portia tree, Umbrella tree, Monkey pistol, Monkey’s dinner bell,[1],[2],[3] ชื่อในทางวิทยาศาสตร์ Hura crepitans L. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1] ชื่ออื่น ๆ โพธิ์ทะเล โพธิ์ฝรั่ง โพทะเล โพธิ์ศรี โพฝรั่ง โพศรี (จังหวัดบุรีรัมย์), โพศรีมหาโพ โพธิ์ศรีมหาโพธิ์ (ประเทศไทย), ทองหลางฝรั่ง (จังหวัดกรุงเทพฯ) และโพธิ์อินเดียหรือโพธิ์หนาม เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของต้นโพธิ์ศรี

  • ต้น
    – ลำต้นมีความสูงอยู่ที่ 15 เมตร แต่ถ้าในพื้นที่ถิ่นกำเนิดลำต้นอาจจะมีความสูงได้ถึง 45 เมตร
    – ลำต้นจะมีหนามเล็ก ๆ แหลม บนเต้าที่มีความแบน ๆ ขึ้นปกคลุมกระจายอยู่ทั่ว
    – กิ่งมีขนาดใหญ่ โดยกิ่งก้านจะแตกแขนงแผ่กว้างออกไปจากตัวลำต้น
    – ต้นโพธิ์ศรีภายในจะมีน้ำยางสีขาว
    – ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[1],[2],[3]
  • ใบ
    – ใบมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปหัวใจคล้ายกับใบโพธิ์ ปลายใบมีลักษณะแหลมยาว ตรงโคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจะหยักเป็นซี่ฟันลักษณะห่าง ๆ กัน
    – แผ่นใบมีผิวเกลี้ยง มีขนขึ้นปกคลุมตามเส้นตรงกลางใบด้านล่าง เส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน ใบมีเส้นแขนงใบข้างละ 11-16 เส้น มีลักษณะโค้งจรดกัน
    – หูใบมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปใบหอก
    – ใบต้นโพธิ์ศรีสามารถหลุดร่วงได้ง่าย[1],[2]
    – ใบมีขนาดความยาวอยู่ที่ 7-21 เซนติเมตร และก้านใบมีความยาวอยู่ที่ 6-22 เซนติเมตร
  • ดอก
    – ออกดอกในลักษณะเป็นช่อ ช่อมีสีเขียวแล้วดอกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง
    – ดอกมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน
    – ดอกเพศผู้จะมีสีเป็นสีแดงเข้มเป็นช่อดอกยาว ช่อดอกเพศผู้มีความยาวอยู่ที่ 1.5-4.5 เซนติเมตร และก้านช่อดอกจะมีผิวหนา และมีความยาวได้อยู่ที่ 1.2-8 เซนติเมตร ดอกเพศผู้มีดอกเป็นจำนวนมาก ก้านดอกมีความยาวอยู่ที่ 2 มิลลิเมตร ส่วนของเกสรเพศผู้มีอยู่ 10-20 อัน เรียงกันเป็น 2-3 วง อับเรณูมีขนาดเล็ก โดยจะมีความยาวอยู่ที่ 0.5 มิลลิเมตร
    – ดอกเพศเมีย ดอกเพศเมียจะมีลักษณะรูปร่างที่กลมแบนเป็นรูปเห็ดขนาดเล็ก ดอกเพศเมียจะมีดอกเดียวอยู่ที่โคนก้าน โดยดอกเพศเมียจะมีก้านดอกยาวอยู่ที่ 1.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีรูปร่างเป็นรูปถ้วย มีความยาวอยู่ 5-8 มิลลิเมตร รังไข่มีความยาวเท่ากันกับกลีบเลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียมีความยาวอยู่ที่ 2-3.5 เซนติเมตร บริเวณยอดของเกสรแยกเป็นแฉก โดยจะแผ่ออกมา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 1.4-2.6 เซนติเมตร[1],[2],[3]
  • ผล
    – ผลมีรูปทรงเป็นแบบแคปซูลมีลักษณะค่อนข้างกลมแป้น
    – ผลจะแบ่งออกเป็นกลีบเท่า ๆ กัน ประมาณ 14-16 กลีบ โดยจะมีรูปทรงคล้ายกับฟักทอง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 เซนติเมตร และมีความสูงอยู่ที่ 3-5 เซนติเมตร
    – ก้นของผลจะบุ๋มทั้งสองด้าน เปลือกผลมีผิวแข็งและหนา เมื่อผลแก่จะมีเมล็ด ถ้าลองเขย่าดูจะมีเสียงคล้ายกับบรรจุทรายไว้ และถ้าผลแก่เต็มที่แล้วก็จะแตกออกมาตามยาวของผลเป็นซี่ ๆ
    -เมล็ดแบนคล้ายกับถั่วปากอ้า เมล็ดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 2 เซนติเมตร[1],[2],[3]

สรรพคุณของต้นโพธิ์ศรี

1. ส่วนของเปลือก ยาง และเมล็ด มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง (เปลือก, ยาง, เมล็ด)[1]
2. เปลือก ยาง และเมล็ดมีฤทธิ์ทำให้ขับอาเจียนออกมา (เปลือก, ยาง, เมล็ด)[1]
3. ยางนำมาทำเป็นยารักษาโรคเท้าช้างได้ (ยาง)[1]

ประโยชน์ของต้นโพธิ์ศรี

1. ในสมัยก่อนจะนำผลที่ยังไม่สุกมาต้ม จากนั้นนำผลมาเจาะรูแล้วนำมาตากให้แห้ง บรรจุทรายเอาไว้ในผล ใช้สำหรับซับหมึกจากปากกา (เป็นที่มาของชื่อ sand box tree)[3]
2. ยางนำมาใช้เป็นยาเบื่อปลา หรือใช้สำหรับอาบลูกดอก [1]
3. ผลและเมล็ดมีฤทธิ์ในการนำมาฆ่าแมลง[1]
4. เนื้อไม้เป็นเนื้อไม้ที่มีคุณภาพดี แต่ก็ไม่มีความทนทานมากนัก โดยจะนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์[2]
5. ในประเทศไทยมักจะนิยมปลูกเป็นไม้ร่ม ปลูกไว้เป็นต้นไม้ประดับตามสวนสาธารณะ และตามวัดวาอาราม[1],[2]

พิษของต้นโพธิ์ศรี

เมล็ดและยางของต้นโพธิ์นั้นจะมีพิษอยู่ โดยสารพิษที่พบ จะได้แก่ สารกลุ่ม huratoxin, hurin, crepitin และ lectin (ปริมาณของสาร crepitin ที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่ง มีค่าเท่ากับ 187 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)[3]

อาการเป็นพิษ

– เมื่อรับประทานเมล็ดเข้าไปในปริมาณประมาณ 1-2 เมล็ด จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ เกิดอาการตาพร่า ปวดท้อง ท้องร่วง และอาจจะมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
– ในกรณีที่ได้รับสารพิษในปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดอาการเพ้อ ชัก หมดสติ และถึงขั้นเสียชีวิตได้
– ส่วนน้ำยางจะมีฤทธิ์กัดมาก เพราะน้ำยางประกอบไปด้วยสาร hurin และมีน้ำย่อย hurain ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีน โดยเอนไซม์ตัวนี้สามารถย่อยเนื้อได้ จึงทำให้เกิดอาการแพ้ได้เมื่อสัมผัสกับผิวหนัง โดยจะทำให้เกิดอาการเป็นผื่นแดงแบบไฟลามทุ่งและพุพองขึ้นเป็นตุ่มน้ำใสได้ หรือถ้าเข้าตาก็อาจจะทำให้ตาบอดได้[1],[3]

ตัวอย่างผู้ป่วย

– ผู้ป่วยจำนวน 23 ราย ที่ได้รับประทานเมล็ดเข้าไป (มีผู้รับประทานสูงสุดคือ 3 เมล็ด) แล้วเกิดมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เกิดตาแดง มีอาการแสบร้อนในคอ ปวดท้อง ถ่ายเหลว และง่วงนอนอ่อนเพลีย
– กรณีที่ 2 คือ เด็กชายจำนวน 18 ราย มีอายุระหว่าง 12-15 ปี ได้ทำการรับประทานเมล็ดแห้งเข้าไป และเริ่มมีอาการตั้งแต่ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง โดยมีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่มีอาการเมื่อผ่านไปแล้ว 6 ชั่วโมง
โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เกิดอาการแสบร้อนในคอ มีความกระหายน้ำ และในบางรายพบว่ามีอาการปวดท้องและอุจจาระร่วงอีกด้วย แต่วันรุ่งขึ้นอาการก็ดีขึ้น
– กรณีผู้ป่วยมีอาการบวมแดงที่บริเวณผิวหนังและมีอาการอักเสบของเยื่อบุจมูกและตาตลอดปี โดยที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดมากนัก ตลอดจนการตรวจสอบด้วยวิธี scratch test ก็ได้ผลลัพธ์ที่พบว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้เนื่องจากการสัมผัสยาง [3]

การรักษา

ก่อนจะนำส่งโรงพยาบาลควรให้ดื่มนมหรือผงถ่านเพื่อลดการดูดซึมของสารพิษก่อน แล้วจึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้องในทันที และให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือดเพื่อป้องกันอาการหมดสติและอาการช็อกจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ภายในร่างกาย ส่วนในกรณีอื่น ๆ นี้ก็ให้รักษาตามอาการ เช่น การให้ morphine sulfate ในปริมาณ 2-10 มิลลิกรัม เพื่อช่วยลดอาการปวดท้องให้ทุเลาลงได้[3]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “โพธิ์ฝรั่ง”. หน้า 577-578.
2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “โพฝรั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [08 พ.ย. 2014].
3. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “โพธิ์ศรี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [08 พ.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/