พู่ระหง
เดิมทีแล้วเราจะเรียกพรรณไม้ชนิดนี้ว่า “พู่เรือหงส์” แต่ที่พรรณไม้ชนิดนี้ถูกเรียกว่า “พู่ระหง” เป็นเพราะมีกิ่งก้านเก้งก้างและสูงโปร่ง ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายกับสาวน้อยที่มีรูปร่างผอมสูงและบอบบาง[2] เป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศมาเลเซีย หรือ “บุหงารายอ” หรือก็คือ “ดอกชบาสีแดง” เป็นสัญลักษณ์ของประเทศมาเลเซียก็เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความอดทนในชาติ และเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้สูงส่งและสง่างาม[2] ชื่อสามัญ คือ Fringed hibiscus, Coral Hibiscus, Japanese Lantern, Spider gumamela ประเทศมาเลเซียจะเรียกว่า Bunga Raya ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Hibiscus schizopetalus (Dyer) Hook.f. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[1] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ คือ ชุบบาห้อย (ปัตตานี), หางหงส์ (พายัพ), พู่ระโหง พู่เรือหงส์ หางหงส์ (ภาคกลาง)[1]
ลักษณะของต้นพู่ระหง
- ต้น [1],[3],[4]
– มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา
– เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง
– แตกกิ่งก้านสาขาอยู่มาก
– กิ่งก้านจะออกรอบ ๆ ต้น และจะโค้งลงสู่พื้นดิน
– เปลือกต้นเป็นสีเหลือง
– เปลือกต้นและใบนั้นจะมียางเหนียวอยู่
– กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว
– สามารถขยายพันธุ์โดยการปักชำและวิธีการตอนกิ่ง
– สามารถปลูกได้ง่าย
– มีความแข็งแรง ทนทาน และโตเร็ว
– สามารถขึ้นได้ในดินทุกชนิด
– ชอบแสงแดดจัด
– ต้องการน้ำที่พอประมาณ
– มาจากทางแถบร้อน เช่น ทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชีย - ใบ [1],[3],[4]
– มีใบเป็นใบเดี่ยว
– ออกเรียงสลับกันไปตามกิ่งก้าน
– ใบเป็นรูปมนรีหรือรูปไข่
– ปลายใบแหลมมีติ่งหาง
– โคนใบมน
– ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย
– ใบมีความกว้าง 4-6 เซนติเมตร และยาว 6-12 เซนติเมตร
– แผ่นใบบางสีเขียวและเป็นมัน
– ก้านใบเป็นสีเขียว - ดอก [1],[3],[4]
– มีดอกเป็นดอกเดี่ยว
– ออกตามส่วนยอดของปลายกิ่ง
– ออกครั้งละหลาย ๆ ดอก
– จะทยอยกันบาน
– ดอกเป็นสีแดงสด หรืออาจจะออกสีอื่น เช่น ส้ม และชมพู
– มีกลีบดอก 5 กลีบ
– โคนกลีบแคบ
– ขอบกลีบดอกหยักเว้าลึกเป็นแฉก ๆ
– ดอกเมื่อบานเต็มที่แล้วปลายกลีบดอกจะงอเข้าหาก้านดอก
– กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว
– ก้านดอกสีเขียว ยาว 6-10 เซนติเมตร
– มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก เป็นสีเหลือง ก้านเกสรจะเชื่อมติดกันเป็นหลอดล้อมรอบเกสรเพศเมีย
– อับเรณูติดที่ปลายดอก
– เกสรเพศเมียมีปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก โผล่พ้นเกสรเพศผู้
– ตรงกลางดอกมีก้านเกสรชูยาวพ้นออกมาจากดอก 8 เซนติเมตร
– ตรงปลายดอกมีแขนงเกสรเพศผู้แผ่ออกอยู่รอบ
– ดอกห้อยคว่ำลงพื้น
– ก้านเกสรห้อยลงต่ำสุด
– คล้ายพู่เรือหงส์สมดั่งชื่อ
– ดอกเมื่อบานเต็มที่แล้วจะมีความกว้าง 10 เซนติเมตร หรือ 4-5 นิ้ว
– สามารถออกได้ตลอดทั้งปี - ผล [6]
– มีผลเป็นผลแห้ง
– มีจะงอย
– ผลเมื่อแก่แล้วจะแตกออก
– มีขนาด 2 เซนติเมตร
สรรพคุณของพู่ระหง
- ใบและราก สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาอาการไข้ของเด็กได้[1]
- ใบและราก สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บคอ และอาการไอได้[1]
ประโยชน์ของพู่ระหง
- ราก นิยมนำมาเผาไฟเพื่อนำมาใช้ทำเหล้า โดยมีความเชื่อว่าเหล้าที่ได้จะมีคุณภาพสูงและแรงขึ้น[4]
- คนไทยสมัยก่อนนั้นจะนิยมนำดอกมาใช้สระผม เนื่องจากเชื่อกันว่าจะช่วยทำให้ผมดกดำ ผมไม่ร่วงและแตกปลาย[4]
- คนไทยจะนิยมปลูกกัน เนื่องจากปลูกเลี้ยงดูแลได้ง่าย และยังสามารถออกดอกที่งดงามได้ทั้งปี สถานที่ที่นิยมปลูกกัน เช่น ขอบแนวอาคาร แนวรั้วหรือริมกำแพง ริมถนน ปลูกริมทะเล ริมน้ำตก หรือปลูกประดับในสวน และจะนำมาปลูกเป็นต้นเดี่ยว ๆ เพื่อที่จะโชว์กิ่งและดอกที่พลิ้วไหว หรือจะปลูกเป็นรั้ว จะให้ความรู้สึกเป็นแนวบังสายตา[3],[6]
- ในด้านความเชื่อนั้น ชาวไทยจะถือกันว่าเป็นไม้มงคล เนื่องจากดอกมีพู่เหมือนกับเรือสุพรรณหงส์ หากบ้านใดที่ปลูกเป็นรั้วบ้าน เชื่อว่าจะประสบแต่สิ่งที่เป็นมงคล และมีฐานะดี[2],[4]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “พู่ ระ หง”. หน้า 568-569.
2. ข่าวสดรายวัน. “พู่ ระ หง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.khaosod.co.th. [22 ส.ค. 2014].
3. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (ไพร มัทธวรัตน์). “พู่ ระ หง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.rdi.ku.ac.th. [22 ส.ค. 2014].
4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 314 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า. (เดชา ศิริภัทร). “พู่ ระ หง :ดอกไม้แห่งศักดิ์ศรีจากพญาหงส์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [22 ส.ค. 2014].
5. ไม้ประดับออนไลน์. “พู่ ระ หงส์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.maipradabonline.com. [22 ส.ค. 2014].
6. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “พู่ระหงส์” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th. [22 ส.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://botany.cz/
2.https://commons.wikimedia.org/