ลำดวน ดอกไม้กลิ่นหอมสรรพคุณบำรุงโลหิต

ลำดวน
ลำดวน ดอกไม้กลิ่นหอมสรรพคุณบำรุงโลหิต ดอกมีสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม ลักษณะเป็นรูปไข่ป้อม ปลายกลีบแหลม ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีแดง และผลสุกมีสีน้ำเงินดำ รสหวานอมเปรี้ยว
ลำดวน
ดอกมีสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม ลักษณะเป็นรูปไข่ป้อม ปลายกลีบแหลม ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีแดง และผลสุกมีสีน้ำเงินดำ รสหวานอมเปรี้ยว

ลำดวน

ต้นลำดวน White cheesewood, Devil tree, Lamdman คือ พันธุ์ไม้พระราชทานเป็นมงคลประจำจังหวัดศรีสะเกษ และดอกเป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุด้วย เพราะมีเรื่องเล่าว่า สมเด็จย่าได้เสด็จไปเยี่ยมชาวจังหวัดศรีสะเกษ ทรงทอดพระเนตรเห็นต้นออกดอกงดงามและมีกลิ่นหอม และทรงพอพระทัย หลังจากนั้นจึงกลายเป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ ทำนองเดียวกับดอกมะลิที่เป็นสัญลักษณ์ของแม่นั่นเอง นอกจากนี้ยังเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษอีกด้วย และมีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Melodorum fruticosum Lour. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE) นอกจากนี้ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า หอมนวล (ภาคเหนือ)

ลักษณะของลำดวน

  • ต้น หรือ ต้นหอมนวล จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ ต้นมีความสูงอยู่ประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นตรง แตกกิ่งใบเป็นจำนวนมาก เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือเป็นรูปกรวยคว่ำ เปลือกต้นเรียบมีสีเทา แต่เมื่อลำต้นแก่เปลือกต้นจะเป็นสีน้ำตาลอมดำ มีรอยแตกตามแนวยาวของลำต้น ส่วนกิ่งอ่อนจะเป็นสีเขียวสด ยอดอ่อนและใบอ่อนเป็นสีแดง สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ชอบทั้งความชื้นสูง และแสงแดดแบบเต็มวันถึงครึ่งวัน ชอบขึ้นในที่โล่งๆ พบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งทางภาคตะวันออก และภาคกลาง มีแหล่งกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะพบได้มากในจังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ[2],[3],[5],[6],[7]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ตรงปลายใบและโคนใบแหลมหรือสอบ ส่วนขอบใบนั้นจะเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และความยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร แผ่นใบนั้นจะมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน แต่ผิวใบด้านบนเป็นมัน ส่วนด้านล่างจะมีสีอ่อนกว่า เส้นกลางใบเป็นสีออกเหลืองนูนเด่นทั้งสองด้าน ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร[3]
  • ดอก จะออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อแบบกระจุกประมาณ 2-3 ดอก โดยจะออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกมีสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม ลักษณะเป็นรูปไข่ป้อมถึงรูปเกือบกลม ปลายกลีบแหลม โคนกลีบกว้าง ดอกมีกลีบอยู่ 6 กลีบ กลีบดอกทั้งหนาและแข็ง สีเขียวปนเหลือง และมีขน แยกเป็น 2 วง ส่วนชั้นนอกมี 3 กลีบ กลีบแผ่แบน กลีบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมที่ขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกวงใน ปลายกลีบแหลม โคนกลีบกว้าง โดยมีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกชั้นในจะงุ้มเข้าหากันมีลักษณะเป็นรูปโดม มีขนาดที่เล็กกว่า แต่จะหนาและโค้งกว่ากลีบชั้นนอก โดยจะมีจะความกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 0.9 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก มีอยู่ด้วยกัน 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปเกือบจะกลม ปลายกลีบมน ไม่มีขนหรืออาจจะมีขนขึ้นประปราย ส่วนก้านดอกยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ขนาดเล็ก เกสรเพศผู้และรังไข่มีจำนวนมากอยู่บนฐานสั้นๆโดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม และแต่ละต้นจะมีช่วงที่ดอกบานอยู่ประมาณ 15 วัน[3],[5]
  • ผล เป็นผลสดแบบมีเนื้อ ออกผลเป็นกลุ่มๆ มีผลย่อยอยู่ประมาณ 15-27 ผล มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม รูปกลมรี หรือรูปไข่ ผลมีความกว้างประมาณ 0.5 นิ้ว และมีความยาวประมาณ 0.5-1 ส่วนก้านผลจะมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เซนติเมตร ผลอ่อนจะเป็นสีเขียว แต่เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง และผลสุกมีสีน้ำเงินดำและจะมีคราบสีขาวอยู่ ส่วนเมล็ดจะมีอยู่ประมาณ 1-2 เมล็ด สามารถใช้รับประทานได้ โดยจะมีรสหวานอมเปรี้ยว โดยจะออกผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[2],[3],[5]

สรรพคุณของลำดวน

1. ดอกแห้ง ใช้เป็นยาแก้ไข้ [3]
2. ดอกแห้ง ช่วยแก้อาการไอ [4]
3. ดอกแห้ง ช่วยบำรุงหัวใจ [1],[3]
4. ดอกแห้ง เป็นยาบำรุงโลหิต [1],[3]
5. ดอกแห้ง ใช้เป็นยาแก้ลมวิงเวียน [1],[3],[5]
6. ดอกแห้ง มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง [1],[3]
7. ดอกแห้งจัดอยู่ใน “พิกัดเกสรทั้งเก้า” ที่ประกอบไปด้วย เกสรดอกบัวหลวง ดอกกระดังงา ดอกจำปา ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกมะลิ ดอกสารภี ดอกลำเจียก และดอกลําดวน ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยบำรุงหัว แก้พิษโลหิต แก้ลม (ดอก)[1],[3],[4]

หมายเหตุ : ตามตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้เนื้อไม้และดอกแห้ง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง แก้ลมวิงเวียน และเป็นยาแก้ไข้ (เนื้อไม้และดอกแห้ง)[3],[4] (แต่ตำรายาไทยจะใช้แต่ดอก) ส่วนข้อมูลจากหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ระบุให้ใช้เกสรหอมนวลเป็นยา ซึ่งเกสรจะมีสรรพคุณเป็นยาชูกำลัง บำรุงหัวใจ หากนำไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นจะเป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง และเป็นยาแก้ลม (เกสร)[2]

ประโยชน์ของลำดวน

1. ผลสุก มีสีดำ มีรสหวานอมเปรี้ยว ใช้รับประทานได้[3],[6]
2. ดอก สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย โดยการต้มกลั่นจะได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08[7]
3. ดอก มีกลิ่นหอม รสเย็น นอกจากจะจัดอยู่ในพิกัดเกสรทั้งเก้าแล้ว ยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาหอมอีกด้วย[3]
4. เนื้อไม้ของต้นมีความแข็งแรงทนทาน สามารถนำมาใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้ และนำมาใช้ทำฟืนได้ดี
5. ดอกมีขนาดใหญ่และงดงามกว่าดอกนมแมว จึงนิยมนำมาใช้บูชาพระและใช้แซมผม อีกทั้งหญิงไทยในสมัยก่อนก็ใช้เป็นชื่อตน[6]
6. นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามสวน เพราะต้นมีพุ่มใบที่สวย และดอกก็มีกลิ่นหอม และต้นยังเป็นพรรณไม้ที่ในวรรณคดีไทยหลายๆ เรื่องกล่าวถึง เช่น ลิลิตพระลอ รามเกียรติ์ สมุทรโฆษคำฉันท์ อิเหนา เป็นต้น โดยจะนิยมนำมาปลูกสวนสาธารณะร่วมกับไม้ดอกหอมชนิดอื่นๆ[5],[6]
7. ในด้านของความเชื่อคนไทย เชื่อว่าบ้านใดปลูกหรือเป็นเจ้าของ จะช่วยดึงดูดความรัก ช่วยเสริมดวงทางเสน่ห์เมตตา ทำให้มีแต่คนคิดถึงในแง่ดี ทำให้เป็นคนที่น่าจดจำ ใครๆ ก็มิอาจลืม และยังเชื่อด้วยว่ากลิ่นหอมของดอก สามารถช่วยผ่อนคลายอารมณ์ทางจิตให้สงบและมีความใจเย็นมากขึ้น ผู้ปลูกควรเป็นผู้หญิงและควรปลูกในวันพุธ เพราะเป็นไม้ของผู้หญิง โดยให้ปลูกไว้ทางทิศตะวันออกของตัวบ้าน[8]

สั่งซื้ออาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ลำดวน (Lamduan)”. หน้า 269.
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ลําดวน”. หน้า 692-693.
3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ลำดวน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [29 พ.ค. 2014].
4. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ลําดวน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [29 พ.ค. 2014].
5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ลำดวน” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [29 พ.ค. 2014].
6. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 311 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. (เดชา ศิริภัทร). “ลำดวน : สัญลักษณ์แห่งไม้ใกล้ฝั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [29 พ.ค. 2014].
7. ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “ลําดวน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/essentialoils/. [29 พ.ค. 2014].
8. เว็บไซต์ไทยลาวสัมพันธ์ครั้งที่ 10. “ต้นไม้ประจำสถาบัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sa.msu.ac.th/thailao10/. [29 พ.ค. 2014].

อ้างอิงจากรูป
1.https://www.ydhvn.com/news/cay-duoc-lieu-cay-du-de-tron-cach-thu-dam-choi-fissistigma-fruticosum-lour-sinclair-melodorum-fruticosum-lour