บทบาทหน้าที่ของวิตามินบี 2 (Riboflavin – Vitamin B2)
วิตามินบีสองเป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้ ไม่สะสมในร่างกาย ซึ่งถ้าขาดวิตามินบีสองจะทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง

วิตามินบี 2

( Riboflavin – Vitamin B2 ) คืออะไร?

ค.ศ.1916 แมคคิลัมได้ทำการทดลองเกี่ยวกับวิตามินบีสอง โดยพบว่าเมื่อสารที่มีคุณสมบัติในการป้องกันโรคเหน็บชาถูกทำลายด้วยความร้อน ก็ปรากฏสารที่มีคุณสมบัติในการช่วยการเจริญเติบโตนั่นคือวิตามินบีนั่นเอง แต่สำหรับ อเมริกาจะเรียกว่า วิตามินจี ( Vitamin G )  และในเยอรมันกับอังกฤษก็เรียกว่า วิตามินบี 2 ( Vitamin B2 ) นั่นเอง และต่อมา วอร์เบิร์กและคริสเทียนก็ค้นพบว่าสารสกัดจากยีสต์ที่เรืองแสงได้และมีสีแดง เขียว เหลืองนั้น เป็นสารชนิดเดียวกันกับที่แยกได้จากน้ำนม และต่อมาในปี

ค.ศ.1933 เกอร์กีและคูนก็ได้ทำการแยกสารชนิดนี้ออกมาจากธรรมชาติ โดยพบว่าสามารถแยกได้จากธรรมชาติหลากชนิด เช่น แยกสีเหลืองจากน้ำนม แยกจากไข่ขาว เป็นต้น และเนื่องจากสารที่แยกออกมาได้เป็นสารชนิดเดียวกันจึงตั้งชื่อให้เรียกได้ง่ายว่า ไรโบเฟลวิน ( Riboflavin )  นั่นเอง
ในปี

ค.ศ.1945 ได้มีการนำวิตามินบี 2 มาทดลองกับคนเป็นครั้งแรก โดยซีเบรลและบัทเลอร์ (Sebrell and Butlet) เป็นผู้ทำการทดลอง ซึ่งก็พบว่าวิตามินบี 2 มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของคนเป็นอย่างมาก และหากร่างกายขาดวิตามินบี 2  ก็จะทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังได้อีกด้วย โดยเฉพาะบริเวณสองข้างจมูกและมุมปากก่อให้เกิดโรคปากนกกระจอกเทศได้

วิตามินบี 2 มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของคนเป็นอย่างมาก และหากร่างกายขาดวิตามินบี 2 จะทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังได้อีกด้วย

ไรโบเฟลวิน ( Riboflavin ) หรือ วิตามินบี2 ( Vitamin B2 ) คือวิตามินชนิดที่ละลายในน้ำได้ ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย จำเป็นต่อเอนไซม์และกระบวนการสร้างเมแทบอลิซึมของสารอาหารต่างๆ เช่น ไขมัน เป็นสารอาหารที่ช่วยป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือดและทำให้เส้นเลือดแข็งตัว เป็นต้น

นอกจากนี้ก็ยังพบอีกว่าวิตามินบี 2 มีคุณสมบัติที่สามารถเรืองแสงได้ โดยจะมีสูตร C17H20N406 ที่มีลักษณะเป็นผลึกรูปสีส้มปนเหลืองเมื่อเป็นสารละลายจะให้สีเหลืองอมเขียวและเรืองแสงออกมา โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่มืด
สำหรับการละลายน้ำ วิตามินบี2 ก็สามารถละลายน้ำได้เช่นกัน แต่ไม่เท่าวิตามินบี 1 และจะไม่ละลายในน้ำมัน นอกจากนี้หากอยู่ในสภาพที่เป็นกรดหรือมีความร้อนจะไม่สลายตัว ซึ่งจะสลายตัวได้ดีเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาพเป็นด่างหรือมีแสงสว่างเท่านั้น

หน้าที่ของวิตามินบี 2 ( Vitamin B2 )

วิตามินบี 2 หรือ Riboflavinมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

1. ทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของโคเอนไซม์ 2 ตัว ซึ่งเป็นโคเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารอาหารในร่างกาย ได้แก่ เฟลวินโมโนนิวคลีโอไทด์ ( Flavin Mono Nucleotide, FMN ) และเฟลวินอะดีนิน ไดนิวคลีโอไทด์ ( Flavin Adenine Dinucleotide,FAD ) โดยจะช่วยในการเจริญเติบโตขณะตั้งครรภ์และช่วยให้ร่างกายมีการจ่ายสารอาหารไปยังส่วนต่างๆ ตามปกติ
2. มีความจำเป็นต่อสุขภาพผิวหนังและระบบประสาท ซึ่งจะช่วยให้ผิวเปล่งปลั่ง สุขภาพดีและป้องกันการเกิดมือเท้าชาบ่อยๆ
3. ช่วยในการบำรุงสายตา โดยพบว่าหากขาดวิตามินบี 2 จะทำให้น้ำตาไหลง่ายและอาจมีเยื่อนัยน์ตาอักเสบได้
4. ทำหน้าที่ในการคงสภาพของผนังเม็ดเลือดแดงไว้เสมอ
5. ทำหน้าที่ผลิต Corticosteroids ซึ่งเป็นฮอร์โมนของ Adrenal Cortex โดยจะควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมมากขึ้น

การดูดซึมวิตามินบี 2 หรือ Riboflavin ( Vitamin B2 )

สำหรับการดูดซึมวิตามินบี 2 ร่างกายของคนเราจะสามารถดูดซึมได้ง่ายผ่านทางผนังลำไส้เล็ก โดยวิตามินบี 2 จะถูกเปลี่ยนเป็นเฟลวินโมโนนิวคลีโอไทด์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของเฟลวินอะดีนินไดนิวคลีโอไทด์ ที่จะถูกส่งไปยังกระแสเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย และบางส่วนก็จะถูกขับออกทางปัสสาวะด้วย

วิตามินบี2 หรือ Riboflavinได้จากอะไร?

โดยสำหรับวิตามินบี 2 ที่พบในเนื่อเยื่อสัตว์จะอยู่ในรูปของ FAD ( Flavin Adenine Dinucleotide ) ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ในระบบถ่ายทอดอิเล็กตรอน ช่วยให้เอนไซม์ดีไฮโดรจีเนส ( Dehydrogenase ) ทำหน้าที่โยกย้ายไฮโดรเจนจากโมเลกุลหนึ่งไปยังอีกโมเลกุลหนึ่ง และอยู่ในรูปแบบของ FMN คือ Flavin Mononucleotide โดยอวัยวะที่มีวิตามินบี 2 มากก็ได้แก่ ไต ม้าม กล้ามเนื้อ ตับและหัวใจนั่นเอง และสำหรับแหล่งวิตามินบี 2 จะพบได้ทั่วไปในพืชและสัตว์ แต่ส่วนใหญ่จะมีปริมาณไม่มาก

อาหารที่พบวิตามินบี2 ได้มากที่สุด ก็คือ เนื้อสัตว์ ไข่ ตับ และผักใบเขียว

นอกจากนี้ ในนมและผลิตภัณฑ์จากนมก็พบวิตามินบี 2 ได้มากเหมือนกัน ส่วนอาหารจำพวกแป้งข้าวเจ้า มันฝรั่ง ข้าว แป้งสาลี จะพบวิตามินได้น้อยมากส่วนภาวการณ์ขาดวิตามินบี 2 นั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากการทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์และผักน้อยเกินไป รวมถึงคนที่เลือกทานอาหาร ทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ซึ่งโดยปกติแล้วแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ของคนเราจะสามารถสังเคราะห์วิตามินบี2 ได้ แต่ปริมาณที่ดูดซึมได้มักจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ ของร่างกาย จึงต้องมีการทานวิตามินบีเสริมเข้าไปนั่นเอง นอกจากนี้ในกรณีที่มีการสูญเสียโปรตีนในร่างกายก็จะทำให้ขับถ่ายวิตามินบี 2 ทางปัสสาวะมากขึ้น และในกรณีที่มีการสร้างการเจริญของเนื้อเยื่ออย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้การขับถ่ายวิตามินบี 2 ออกมาน้องลงไปด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าร่างกายกำลังต้องการวิตามินบี 2 และโปรตีนมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าบุคคลที่ทานมังสวิรัติ คนที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้สูงอายุหรือคนที่มีภาวะเครียดจัด ก็มักจะต้องการวิตามินบี2 มากขึ้นเช่นกัน

อาการขาดวิตามินบี2 Riboflavin ( Vitamin B2 )

เมื่อร่างกายขาดวิตามินบี2 จะมีอาการที่แสดงออกมาอย่างเห็นได้ชัด แต่บางครั้งก็อาจไม่ใช่การขาดวิตามินบี 2 เท่านั้น ยังอาจจะเป็นเพราะขาดวิตามินอื่นๆ ร่วมด้วยก็ได้ โดยอาการขาดวิตามินบีที่มักจะพบเห็นได้บ่อยๆ คือ
– อาการทางตา ตาจะไวต่อแสงแดดและอาจพร่าเลือนเมื่ออยู่ในที่ที่มีแสงสว่าง รวมถึงมักจะเกิดอาการเมื่อยล้าของดวงตาได้ง่าย ซึ่งก็อาจจะมีอาการตาแดง น้ำตาไหลมากกว่าปกติและมีอาการเจ็บตาร่วมด้วย
– อาการทางปาก จะเห็นได้ว่าริมฝีปากแห้งและแตก ส่วนใหญ่บริเวณมุมปากจะซีดและแตกเป็นรอยหรืออาจเรียกว่า ปากนกกระจอก ( Angular Stomatitis ) ก็ได้ โดยอาการดังกล่าวนี้เริ่มแรกจะเป็นแผลรอยแตกลึก เมื่อแผลหายจะเห็นเป็นแผลเป็นอย่างเห็นได้ชัด
– อาการที่ลิ้น สังเกตได้ว่าลิ้นจะมีสีแดงปนม่วงและมีลักษณะเป็นมัน ส่วนใหญ่จะเรียกอาการนี้ว่า Glossitis และริมฝีปากมีสีแดงเลือดหมู
– อาการทาผิวหนัง สังเกตได้ว่าผิวหนังจะมีลักษณะเป็นสะเก็ดมันๆ ผิวบริเวณเปลือกตาอาจมีการอักเสบและเป็นขุย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับขี้กลากนั่นเอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

แอพเพิลเกต, ลิซ. 101 อาหารรักษาหัวใจ.–กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 342 หน้า. 1. อาหารเพื่อสุขภาพ. 2.โภชนบำบัด. I.จงจิต อรรถยุกติ, ผู้แปล. II.ชื่อเรื่อง. 641.56311 ISBN 974-00-8692-6.

Vitamin-b2-riboflavin, วันที่สืบค้น 14 เมษายน 2559 จาก www.foodnetworksolution.com

“Office of Dietary Supplements – Riboflavin”. ods.od.nih.gov. 11 February 2016. Archived from the original on 20 December 2016. Retrieved 30 December 2016.

Squires, Victor R. (2011). The Role of Food, Agriculture, Forestry and Fisheries in Human Nutrition – Volume IV. EOLSS Publications. p. 121. ISBN 9781848261952. Archived from the original on 2016-12-30.

The American Society of Health-System Pharmacists. Archived from the original on 30 December 2016. Retrieved 8 December 2016.

Board, NIIR (2012). The Complete Technology Book on Dairy & Poultry Industries With Farming and Processing (2nd Revised Edition). Niir Project Consultancy Services. p. 412. ISBN 9789381039083. Archived from the original on 2016-12-30.