วิตามินเค คืออะไร ?
วิตามินเค ( วิตามิน K, Vitamin K ) มีชื่อภาษาอังกฤษ คือ Koagulation Vitamin, Antihemorrhagic Factor หรือ เมนาไดโอน ( Menadione ) คือ วิตามินสำคัญที่ช่วยในกระบวนการแข็งตัวของเลือด ป้องกันภาวะเลือดไหลมากจนเกินไป เป็นวิตามินในกลุ่มที่ละลายได้ดีในไขมัน ที่มีความจำเป็นต่อร่างกายชนิดหนึ่ง วิตามินเคได้มาจากการบริโภคอาหารเข้าไปในแต่ละวัน และยังได้จากแบคทีเรีย ในลำไส้ ที่สามารถสังเคราะห์วิตามินเคขึ้นมาได้เองอีกด้วย โดยทั่วไปไม่นิยมทำวิตามินเคในรูปอาหารเสริม
วิตามินเคมีกี่ประเภท
เราสามารถแบ่งประเภทของ วิตามินเค ที่สำคัญออกได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้
1.วิตามินเค 1 ( Vitamin K1 ) หรือ ฟิลโลควิโนน ( Phylloquinone ) เป็นรูปแบบที่พบในพืชผักใบเขียว เช่น ผักโขม กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ และหญ้าอัลฟัลฟา เป็นต้น
2.วิตามินเค 2 ( Vitamin K2 ) หรือ เมนาควิโนน ( Menaquinone ) เป็นรูปแบบที่พบในเนื้อเยื่อที่ตับ และยังสามารถสร้างได้โดยแบคทีเรียในลำไส้ที่อาศัยอยู่ในร่างกาย มีประสิทธิภาพในการทำงานร้อยละ 75 ของวิตามินเค1
3.วิตามินเค 3 ( Vitamin K3 ) หรือ เมนาไดโอน ( Menadione ) นั้น เป็นสารประกอบที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็น เมนาควิโนน โดยตับ มีประสิทธิภาพเป็น 3 เท่า ของวิตามินเค1 เป็นวิตามินชนิดที่ละลายได้ทั้งในน้ำและในไขมัน ใช้สำหรับรักษาคนไข้ที่ไม่สามารถใช้วิตามินเคที่สร้างขึ้นที่ลำไส้ได้ เนื่องจากขาดน้ำดี หรือน้ำย่อยที่ที่จำเป็นสำหรับการดูดซึม
คุณสมบัติของวิตามินเค
วิตามินเค มีคุณสมบัติเฉพาะตัวคือเป็นน้ำมันที่มีสีเหลือง ปกติจะละลายได้เฉพาะในไขมันเท่านั้น ยกเว้น วิตามินเค 3 ที่สามารถละลายในน้ำได้ด้วย วิตามินเคเป็นวิตามินที่มีความคงทนต่อสภาวะความเป็นกรดได้ แต่จะไม่ทนต่อกรดแก่ หรือ ด่างที่ผสมแอลกอฮอล์ แสงอัลตราไวโอเลตและสารเติมออกซิเจน ดังนั้นหากจะต้องการเก็บรักษาวิตามินเค ไม่เสื่อมสภาพจะต้องเก็บในขวดสีน้ำตาลที่มีความทึบแสงเท่านั้น สำหรับวิตามินเค ประเภท Menadione จะมีลักษณะคล้ายผลึกเป็นสีเหลือง จะละลายได้ทั้ง ในน้ำและไขมัน แต่จะน้ำหนักน้อยกว่าวิตามินเคที่พบในธรรมชาติ
วิตามินเคดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?
หลังจากมีการทานอาหารต่างๆเข้าไปแล้ว วิตามินเคที่ได้จากอาหารจะถูกดูดซึมโดยลำไส้เล็กตอนบน โดยจะใช้น้ำดีและน้ำย่อยจากตับอ่อนมาช่วยในกระบวนการนี้ หลังจากนั้นจะถูกส่งต่อไปยังอวัยวะต่างๆ ที่จำเป็นในการสังเคราะห์โปรธรอมบิน และโปรตีนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด
วิตามินเค คือ วิตามินสำคัญที่ช่วยในกระบวนการแข็งตัวของเลือด ป้องกันภาวะเลือดไหลออกมากจนเกินไป จัดอยู่กลุ่มที่ละลายได้ดีในไขมัน
ในส่วนของวิตามินเค ชนิดที่ได้จากการสังเคราะห์ โดยแบคทีเรียในลำไส้ที่อาศัยอยู่ในร่างกาย หรือวิตามินเค 2 จะมีบางส่วนที่จะทำการดูดซึมที่ลำไส้เล็กตอนปลาย สำหรับวิตามินเค ประเภทเมนาไดโอน ( Menadione ) หรือวิตามินเค 3 ที่มีคุณสมบัติสามารถละลายในน้ำได้ จึงไม่จำเป็นต้องอาศัยน้ำดีและน้ำย่อยจากตับอ่อนมาช่วยในการย่อยและดูดซึม
วิตามินเค ประเภทต่างๆ หลังจากดูดซึมตามกระบวนการร่างกายแล้ว จะถูกส่งผ่านไปทาง น้ำเหลืองในรูปของไคโลไมครอนแล้วจึงเข้าสู่กระแสเลือดไปยังตับ ซึ่งตับจะเก็บไว้ได้ในระดับหนึ่ง หากยังมีปริมาณหลงเหลืออยู่ จะถูกขับเป็นของเสียออกทางอุจจาระ ในทารกแรกเกิดจะมีวิตามินเคอยู่ปริมาณจำกัดและการสังเคราะห์วิตามินเคในลำไส้จะยังไม่ เกิดขึ้นในช่วงแรก ดังนั้นในระยะ 2-3 วันแรก อาจทำให้เด็กมีอาการตกเลือดทั่วไปตามผิวหนังได้ง่าย จึงควระมัดระวังเป็นพิเศษ
1. การทำงานที่ผิดปกติของท่อน้ำดี ทำให้เกลือน้ำดีหลั่งออกมาน้อยกว่าปกติ
2. เกิดภาวะที่ตับทำงานไม่ได้เต็มที่ หรือ มีโรคเกี่ยวกับตับเกิดขึ้น จึงทำให้มีผลในการขับน้ำดี เช่น การเป็นโรคตับแข็ง
3. ได้รับสารไดคูมารอล ( Dicumaro ) ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการ ห้ามการแข็งตัวของเลือด ( Anticoagulant ) มีหน้าที่ตรงกันข้ามกับวิตามินเคในการควบคุมการสังเคราะห์โปรธรอมบิน
4.การทานอาหารแช่แข็ง อาหารที่เหม็นหืน หรือ การได้รับอากาศที่เป็นพิษเข้าสู่ร่างกาย จะไปทำลายวิตามินเค
5. การใช้ยาปฎิชีวนะมากเกินไปจะไปฆ่าแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ เช่น พวก Sulfonamides
6. การบริโภคยาถ่ายพวก น้ำมันแร่ จะทำให้ขับวิตามินเค ถูกขับออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว
ประโยชน์ของวิตามินเค
วิตามินเค มีประโยชน์มากมายหลากข้อ ซึ่งสามารถแบ่งแยกตามรายละเอียดได้ดังนี้
1.ช่วยป้องกันภาวะเลือดไหลไม่หยุด ในวิตามินเคเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้าง สารโปรธรอมบิน ( Prothrombin ) ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างขึ้นจากตับ มีหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวได้เร็ว โดยเฉพาะในคนที่มีบาดแผลหรือคนที่ต้องผ่าตัด หากระดับโปรธรอมบินต่ำ จะทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้าตามไปด้วย
2.ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กระดูก โดยวิตามินเค จะไปช่วยช่วยการสร้างออสทิโอแคลซิน ( Osteocalcin ) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กระดูก
3.ช่วยในกระบวนการทำงานของตับ วิตามินเค เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายที่ช่วยในกระบวนการทำงานของตับให้เป็นไปด้วยความมีประสิทธิภาพ
4.ช่วยบรรเทาอาการประจำเดือนมามากกว่าปกติ วิตามินเคยังช่วยทำให้ระบบประจำเดือนในผู้หญิงมาเป็นปกติ ช่วยลดปัญหาประจำเดือนมามากกว่าปกติ
5.ช่วยในกระบวนการ ฟอสโฟริเลชั่น ( Phosphorylation ) ในร่างกาย ซึ่งวิตามินเคจะเป็นส่วนที่ทำให้ ฟอสเฟต จะร่วมกับ กลูโคส และถูกผ่านเข้าไปในผนังเซลล์และเปลี่ยนเป็นไกลโคเจน เพื่อนำไปใช้งานต่อไป
โทษของวิตามินเค
นอกจากวิตามินเคจะมีประโยชน์แล้วก็ยังทำให้เกิดโทษได้ถ้าได้รับในปริมาณที่น้อยหรือมากเกิดไปตามความต้องการของร่างกาย
1. ผลกระทบหากได้รับวิตามินเคน้อยเกินไป
โดยส่วนมากการขาดวิตามินเค จะไม่ค่อยเกิดในวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากวิตามินเค กว่าร้อยละ 50 สามารถสังเคราะห์ได้จากแบคทีเรียในร่างกายอยู่แล้ว แต่อาจจะเกิดได้กับผู้ที่มีอาการอุดตันของทางเดินน้ำดี ซึ่งจะส่งผลให้การย่อยและการดูดซึมไขมันทำได้ไม่ดีเหมือนปกติ นอกจากนี้ยังพบในผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำ ซึ่งจะมีผลไปทำลายแบคทีเรียที่สังเคราะห์วิตามินเคในลำไส้ ทำให้ไม่สามารถผลิตวิตามินเคได้ตามปกติ ภาวะนี้ยังเกิดได้ง่ายกับเด็กแรกเกิด เนื่องจากเด็กแรกเกิด ยังมีปริมาณไขมันในระดับต่ำ และเชื้อโรคที่ลำไส้ของเด็กทารก ยังไม่มี จึงไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินเคได้เอง จึงต้องอาศัยวิตามินเคจากน้ำนมแม่อย่างเดียว สำหรับผู้ที่ปัญหาการขาดวิตามินเค จะมีอาการดังต่อไปนี้
- ทำให้การแข็งตัวของเลือดเกิดขึ้นช้ากว่าปกติเนื่องจากระดับของ โปรธรอมบิน และโปรตีนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดในพลาสมาต่ำ
- มีการตกเลือด หรือเลือดออกภายใน เช่น ในลำไส้เล็ก เลือดออกมากับปัสสาวะ เป็นต้น
2. ผลกระทบหากได้รับวิตามินเคมากเกินไป
แม้วิตามินเคจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากร่างกายได้รับปริมาณวิตามินเคที่มากจนเกินไป ก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน อาการของคนที่ทานวิตามินเคเข้าไปมากเกินพอดี จะมีดังต่อไปนี้
- มีอาการตัวเหลือง
- มีภาวะโลหิตจาง
- ร่างกายจะมีการกำจัดของเสียหรือมีการกระตุ้นสารต้านอนุมูลอิสระออกมาในปริมาณที่ต่ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย
- ในผู้ที่ตั้งครรภ์ ถ้าได้รับขนาดวิตามินเคที่สูงเกินไป จะทำให้เกิดโรคดีซ่านในเด็กแรกคลอด
ทำไมต้องฉีดวิตามินเคในเด็กทารก
หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องมีการฉีดวิตามินเคในทารกแรกเกิด สำหรับเด็กที่ไม่สมบูรณ์หรือคลอดก่อนกำหนดส่วนมากแพทย์จะแนะนำให้ทำการฉีดวิตามินเคเพื่อป้องกันภาวะมีเลือดออกในเด็กแรกเกิด โดยฉีดวิตามินเคเข้ากล้ามเนื้อของเด็กในปริมาณ 0.5-1 มิลลิกรัม ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด และทำการฉีดวิตามินเคเพื่อรักษาภาวะมีเลือดออกในเด็กแรกเกิดโดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังปริมาณ 1 มิลลิกรัม หรือแพทย์อาจเพิ่มปริมาณการให้วิตามินตามที่เห็นสมควร หากผู้เป็นแม่กำลังรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้ วิตามินเคยังใช้การรักษาภาวะโพรทรอมบินในเลือดต่ำ ( Hypoprothrombinemia ) จากการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดได้อีกด้วย
วิตามินเคมีอยู่ที่ไหนบ้าง?
แหล่งที่พบวิตามินเคตามธรรมชาติ ได้แก่ ไข่แดง ผักใบเขียว นม เนย อัลฟาฟา สาหร่ายเคลป์ น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันตับปลา เป็นต้น นอกจากนี้วิตามินเคสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เองจากในร่างกายมนุษย์ และสามารถพบวิตามินเคได้จาก ในอาหารที่เราทานเข้าไปในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว มีรายละเอียดดังต่อไป
ปริมาณที่เหมาะสมของวิตามินเคที่ร่างกายควรได้รับมีดังนี้
วิตามินเคเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งปริมาณที่เหมาะสมที่ควรได้รับใยแต่ละวัน สามารถแสดงได้ดังตารางต่อไปนี้
วัย | ช่วงอายุ | ปริมาณของวิตามินเคที่เหมาะสม |
ทารก | 6 -11 เดือน | 2.5 ไมโครกรัม/วัน |
เด็ก | 1 – 3 ปี
4 – 8 ปี |
30 ไมโครกรัม/วัน
55 ไมโครกรัม/วัน |
วัยรุ่น | 9 – 12 ปี
13 – 18 ปี |
60 ไมโครกรัม/วัน
75 ไมโครกรัม/วัน |
ผู้ใหญ่เพศชาย | 19 -≥ 71 ปี | 120 ไมโครกรัม/วัน |
ผู้ใหญ่เพศหญิง | 19 -≥ 71 ปี 90 | ไมโครกรัม/วัน |
เนื่องจาก วิตามินเค สามารผลได้จากแบคทีเรียในลำไส้ ประมาณร้อยละ 50 ของวิตามินเคทั้งหมดในร่างกาย ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดร่างกายจะต้องบริโภคอาหารที่มีวิตามินเคประมาณ 1 ไมโครกรัม / น้ำหนักตัว 1 กก./ วัน
จากข้อมูลด้านบน คงจะพอสรุปได้ว่า วิตามินเค มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์มาก เป็นวิตามินที่มีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือ ช่วยในเรื่องของการทำให้เลือดแข็งตัว จากการผ่าตัดหรือการมีบาดแผล นอกจากนี้วิตามินเค ยังแตกต่างจากวิตามินชนิดอื่นๆคือ สามารถผลิตขึ้นได้เองจากในร่างกาย จากการสังเคราะห์ของแบคทีเรีย ซึ่งวิตามินชนิดอื่นๆไม่สามารถทำได้ ถึงแม้วิตามินเค จะผลิตได้เองจากร่างกาย แต่ในการบริโภคอาหารที่มีวิตามินเคก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะหากร่างกายขาดวิตามินเค ก็จะทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการแข็งตัวของเลือด ซึ่งอันตรายมากหากได้รับบาดแผลใหญ่ๆ อาจจะทำให้เสียเลือดมากจนเป็นอันตรายถึงชีวิต ส่วนการได้รับวิตามินเค เยอะเกินไปก็ล้วนแต่มีอันตรายต่อร่างกายด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรทานในปริมาณที่เหมาะสมจะดีต่อร่างกายที่สุด
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
O’Keefe, J. H.; Bergman, N.; Carrera Bastos, P.; Fontes Villalba, M.; Di Nicolantonio, J. J.; Cordain, L. (2016). “Nutritional strategies for skeletal and cardiovascular health: hard bones, soft arteries, rather than vice versa”. Open Heart (Review). 3 (1): e000325. PMC 4809188 Freely accessible.
Hartley, L.; Clar, C.; Ghannam, O.; Flowers, N.; Stranges, S.; Rees, K. (Sep 2015). “Vitamin K for the primary prevention of cardiovascular disease”. The Cochrane Database of Systematic Reviews (Systematic review). 9 (9): CD011148.
Maresz, K. (Feb 2015). “Proper Calcium Use: Vitamin K2 as a Promoter of Bone and Cardiovascular Health”. Integrative Medicine (Review). 14 (1): 34–39. PMC 4566462 Freely accessible.