นิ้วล็อค ( Trigger Finger ) 1 ในโรคยอดฮิตออฟฟิศซินโดรม

0
4497
นิ้วล็อกโรคยอดฮิตออฟฟิศซินโดรม
นิ้วล็อค เป็นอาการที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน จะมีอาการนิ้วติดขัด เคลื่อนไหวได้ไม่คล่องแคล่ว มีเสียงดังเมื่อมีการใช้นิ้วหรือมีอาการปวด
นิ้วล็อกโรคยอดฮิตออฟฟิศซินโดรม
นิ้วล็อค เป็นอาการที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน จะมีอาการนิ้วติดขัด เคลื่อนไหวได้ไม่คล่องแคล่ว มีเสียงดังเมื่อมีการใช้นิ้วหรือมีอาการปวด

อาการนิ้วล็อค

อาการนิ้วล็อค ( Trigger Finger ) คือ อาการที่พบได้บ่อยในสังคมปัจจุบันนี้ เนื่องจากวิวัฒนาการที่ก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การทำงานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่ต้องพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน การทำงานด้วยแบนพิมพ์หรือการพิมพ์บนหน้าจอโทรศัพท์ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมือเกิดขึ้นในระยะที่น้อย มีการกางออกของกล้ามเนื้อไม่เต็มที่ มีการเกร็งกล้ามเนื้อสูงส่งผลให้เกิดนิ้วล็อคนั่นเอง

โดยเฉพาะเด็กที่มีกล้ามเนื้อนิ้วมือที่ไม่แข็งแรงเนื่องจากการใช้งานนิ้วและมือที่น้อยลง ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เด็กในยุคปัจจุบันนี้ไม่ต้องทำงานบ้าน ไม่ต้องเขียนหนังสือด้วยมือ แต่ทำงานด้วยการพิมพ์คอมพิวเตอร์เป็นส่วนมาก จึงทำให้กล้ามเนื้อมีการพัฒนาทั้งด้านความแข็งแรงและการยืดหยุ่นที่น้อย จึงทำให้เกิดการกางออกของนิ้วได้ไม่เต็มที่ เอ็นนิ้วมีการยืดออกได้ไม่ดีหรือการที่ต้องทำงานในท่านั่งเดิมๆ เป็นเวลานานต่อเนื่องกันโดยที่ไม่มีการเปลี่ยนอริยาบทเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกิดความดึงเครียดและเกร็งในที่สุด หรือที่เรียกว่าโรคออฟฟิศซินโดรม ( Office Syndrome ) ซึ่งหมายรวมถึง การที่กล้ามเนื้อคอ ไหล่ หลัง แขน มือ มีอาการอักเสบที่สามารถส่งผลให้เกิดอาการนิ้วล็อคได้

อาการนิ้วล็อค เป็นอาการที่ไม่ได้ถือว่ารุนแรงแต่ก็สามารถสร้างความเจ็บปวดและความรำคาญให้กับผู้ที่มีอาการดังกล่าวได้ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดจนเจ้าตัวหลีกเลี่ยงที่จะใช้มือข้างที่เกิดอาการนิ้วล็อค ซึ่งเมื่อมีมือไม่มีการใช้งานเป็นเวลานานเข้า นิ้วมืออาจจะไม่สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างปกติเลยก็เป็นได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดสำหรับอาการนิ้วล็อค ก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดอาการนิ้วล็อคได้จะเป็นหนทางที่ดีที่สุด

ทางที่ดีที่สุดสำหรับอาการนิ้วล็อค ก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดอาการนิ้วล็อคได้จะเป็นหนทางที่ดีที่สุด

โครงสร้างของมือและนิ้ว

มือเป็นโครงสร้างที่อยู่ปลายสุดของแขนมีรูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประกอบด้วยนิ้วมือ 5 นิ้วยื่นออกมาจากฝ่ามือ นิ้วแต่ละนิ้วจะมีขนาดไม่เท่ากันแยกออกจากกัน ประกอบด้วย

1.กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นส่วนที่ทำให้มือและนิ้วสามารถทำการเคลื่อนไหวได้ดังใจ กล้ามเนื้อที่นิ้วและมือแบ่งออกเป็น

1.1 กล้ามเนื้อมือด้านหน้า เป็นส่วนของกล้ามเนื้อที่มีความแข็งแรงมากที่สุดของมือ มีหน้าที่ช่วยในการยกข้อมือขึ้นลง และทำหน้าที่ควบคุมมือให้กำหรืองอเข้าหาตัว

1.2 กล้ามเนื้อปลายแขน ส่วนนี้เป็นกล้ามเนื้อมัดยาว ที่อยู่บริเวณข้อศอกยาวลงมาจนเกือบถึงปลายแขน และต่อกับเอ็นกล้ามเนื้อยาวไปยังมือและนิ้ว กล้ามเนื้อส่วนนี้ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ 2 มัด คือ

  • กล้ามเนื้อปลายแขนมัดตื้น (Flexor Digitorum Superficialis) กล้ามเนื้อส่วนนี้จะอยู่ที่ปุ่มกระดูกของส่วนข้อผสอกที่อยู่ด้านในที่มีการทอดยาวไปตามโครงกระดูกจากปลายแขนจนถึงส่วนเหนือข้อมือ จากที่ข้อมือจะมีการแยกออกเป็นเส้นเอ็น 4 เส้นไปยังนิ้วมือที่ 2-5 นั่นคือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อย
  • กล้ามเนื้อปลายแขนมัดลึก (Flexor Digitorum Profundus) กล้ามเนื้อส่วนนี้จะอยู่ใต้กล้ามเนื้อปลายแขนมัดตื้น เริ่มจากจุดกระดูกข้อศอกที่อยู่ด้านในเล็กน้อย และจะแตกออกเป็นเส้นเอ็นไปยังนิ้วที่ 2-5 เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อปลายแขนมัดลึก ช่วยในการงอข้อปลายนิ้ว

กล้ามเนื้อปลายแขนทั้งสองส่วนนี้จะประสานกัน ช่วยให้นิ้วมือสามารถงอเข้าหาฝ่ามือ ทำท่ากำมือ กวักมือได้

2.กล้ามเนื้อฝ่ามือ

ฝ่ามือจะมีกล้ามเนื้อชิ้นเล็กเกาะกันอยู่ประมาณ 20 มัด และสามารถแบ่งหน้าที่ของกล้ามเนื้อที่ฝ่ามือนี้ออกได้เป็น 3 ส่วน คือ

  • กล้ามเนื้อกลางฝ่ามือ เป็นกล้ามเนื้อที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายใบไม้ โดยกล้ามเนื้อจะแทรกอยู่ระหว่างกระดูกที่ฝ่ามือของนิ้วแต่ละคู่ ช่วยในการกางนิ้ว หุบนิ้วและงอโคนนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย ให้สามารถงอตั้งฉากกับฝ่ามือได้
  • กล้ามเนื้อฝ่ามือกลุ่มนิ้วหัวแม่มือ กล้ามเนื้อชุดนี้จะมีหน้าที่ในการกางนิ้ว เหยียด ยก
  • กล้ามเนื้อฝ่ามือกลุ่มนิ้วก้อย เป็นกล้ามเนื้อที่ช่วยในการกางนิ้วและการเคลื่อนนิ้วก้อยให้ไปหยิบจับหรือแตะกับสิ่งของอื่น

3.กระดูก

ฝ่ามือและนิ้วประกอบด้วยกระดูกต่อกันทั้งหมด 27 ชิ้นด้วยกัน นิ้วทุกนิ้วจะประกอบไปด้วยกระดูก 3 ชิ้นต่อเข้าด้วยกัน ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือที่ประกอบด้วยกระดูกเพียงสองชิ้นเท่านั้น ส่วนกระดูกที่เหลือจะประกอบต่อกันที่บริเวณของฝ่ามือ และเชื่อมต่อกระดูกแต่ละชิ้นด้วยกล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อ ที่ช่วยให้กระดูกมีความแข็งแรงและสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
กระดูกฝ่ามือแต่ละชิ้นจะมีรูปร่างและลักษณะที่ใกล้เคียงกัน โดยมีลักษณะรูปร่างเป็นกระดูกแบบกลมยาว สามารถแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนหัวกระดูก ( Head/Distal Extremity ) ที่อยู่บริเวณปลายนิ้วมือ ส่วนกลางกระดูก (Body) เป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างกระดูกส่วนหัวและกระดูกส่วนฐาน ส่วนสุดท้ายคือส่วนของฐานกระดูก (Base/Carpal Extremity) เป็นส่วนที่ต่อกับกระดูกข้อมือ

ส่วนฐานกระดูก

ส่วนฐานกระดูกนิ้วมือมีรูปร่างหนาคล้ายทรงลูกบาศก์ และมีการแบนออกในส่วนของด้านหลังมือ ช่วยทำให้มือสามารถงอไปทางด้านหลังมือได้ แต่องศาการงอมือไปทางด้านหลังจะมีค่าน้อยกว่าการงอมือไปทางด้านของฝ่ามือ

ส่วนกลางกระดูก

กระดูกส่วนกลางของฝ่ามือมีรูปทรงเป็นทรงคล้ายปริซึม มีความโค้งนูนออกมาทางด้านหลังมือ พื้นผิวทางด้านข้างของกระดูกส่วนกลางจะมีจุดเกาะของกล้ามเนื้ออินเตอร์ออสเซียสในส่วนของฝ่ามือ ( Palmar Interosseus Muscles ) กล้ามเนื้อนี้จะทำหน้าที่ยึดกระดูกแต่ละชิ้นเข้าไว้ด้วยกัน ด้านหลังของมือจะมีกล้ามเนื้ออินเตอร์ออสเซียส ( Dorsal Interosseus Muscles ) เพื่อช่วยในการยืดหยุ่นของมือ

ส่วนหัวกระดูก

กระดูกส่วนหัวของฝ่ามือจะเว้าเข้ามาในฝ่ามือเล็กน้อย และแบนออกด้านข้างทำหน้าที่ในการรับกระดูกนิ้วมือส่วนต้น ( Proximal Phalanges ) หรือส่วนที่เชื่อมระหว่างนิ้วมือกับฝ่ามือ ด้านข้างของหัวกระดูกส่วนหัวมีลักษณะที่นูนออก ทำหน้ที่ในการเป็นจุดเกาะของเอ็นรอบบริเวณรอบข้อต่อระหว่างฝ่ามือกับนิ้วมือ ( Metacarpophalangeal Joints ) นั่นเอง

การทำงานของมือถูกควบคุมการทำงานด้วยสมองทั้งสองข้าง การคำสั่งที่ส่งมายังมือแต่ละข้างจะเป็นอิสระจากกัน มือแต่ละข้างจึงสามารถทำงานทำงานได้ต่างกันในเวลาเดียวกัน ที่ปลายนิ้วมือเส้นประสาทที่รับรู้ความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนได้สูงมาก ทั้งการสัมผัสของขนนก สำลีหรือแม้แต่สายลมเป่า ประสาทสัมผัสที่ปลายนิ้วก็รับรู้ได้ นอกจากนั้นนิ้วมือยังสามารถรับรู้ถึงลักษณะของผิวสัมผัสที่กระทบกับนิ้วด้วยว่ามีลักษณะอย่างไร เช่น หยาบ ละเอียด นุ่ม แข็ง เป็นต้น

มือและนิ้วมือเป็นส่วนที่มีการใช้งานอย่างต่อเนื่องและบางครั้งต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งยกของ หยิบของ ซึ่งต้องใช้แรงและกล้ามเนื้อในการทำงานทั้งสิ้น การใช้งานที่หนักอาจจะก่อให้มือและนิ้วเกิดอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาการบาดเจ็บที่พบได้เช่น การเกิดพังผืดที่นิ้วก้อย ( Dupuytren’s Contracture ) เอ็นข้อมืออักเสบเกิดการกดทับเส้นประสาทมีเดียน ( Carpal Tunnel Syndrome ) เอ็นกล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือเกิดการอักเสบชนิดเรื้อรัง ( De Quervain’s Disease ) นิ้วล็อค ในที่นี้เราจะกล่าวถึง อาการนิ้วล็อคที่จัดเป็นอาการยอดฮิตของโรคที่เกี่ยวข้องกับออฟฟิศซินโดรม

อาการนิ้วล็อค

อาการนิ้วล็อค คือ อาการที่นิ้วมือมีการติดอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง เช่น ท่างอ ท่าเหยียด โดยที่ไม่สามารถทำอีกขยับมาเป็นอีกท่าหนึ่งได้ หรือแม้จะสามารถขยับได้ก็จะสร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างมากให้กับมือ หรือเวลาที่ต้องการงอนิ้วแล้วเกิดเสียงดัง ก๊อก ๆ ที่ส่วนของข้อนิ้ว อาการดังกล่าวทางการแพทย์เรียกว่า Stenosing Tenosynovitis หรือ digital Flexor Tenosynovitis

สาเหตุการเกิดอาการนิ้วล็อค

อาการนิ้วล็อค สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกนิ้วของฝ่ามือ แต่ที่มีโอกาสเกิดมากที่สุดคือนิ้วหัวแม่มือ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่านิ้วหัวแม่มือเป็นนิ้วที่มีการเคลื่อนไหวและใช้งานมากที่สุด และนิ้วที่มีโอกาสเกิดนิ้วล็อคน้อยที่สุดคือ นิ้วก้อย เพราว่าเป็นนิ้วที่มีการใช้งานน้อยที่สุดนั่นเอง และการเกิดนิ้วล็อคมักจะเกิดกับนิ้วมือข้างที่ถนัดมากกว่ามือข้างที่ไม่ถนัด เนื่องจากเราจะใช้มือข้างที่ถนัดมากกว่านั้นเอง ทำให้กล้ามเนื้อมีโอกาสที่จะยึดมากกว่ามือข้างที่ไม่ถนัด

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดนิ้วล็อคยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่ามีสาเหตุมาจากอะไร แต่จากข้อมูลพบว่าการเกิดนิ้วล็อคส่วนมากจะมาจากการที่ได้รับอุบัติเหตุหรือมีอาการบาดเจ็บที่มือ และเมื่อมีการใช้มือหรือนิ้วเป็นเวลานานติดต่อกัน รวมถึงการฝืนใช้มือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องเกร็ง ต้องออกแรงจากล้ามเนื้อมือเป็นเวลานาน ก็สามารถส่งผลให้เกิดอาการนิ้วล็อคขึ้น นอกจากนั้นการที่มีปัญหาเนื้อเยื่อหรือปลอกหุ้มเอ็นมีการอักเสบที่เอ็นด้านหน้าของข้อมือ ส่งผลให้มีการกดทับเส้นประสาทที่ฝ่ามือ หรือการเกิดพังผืดที่โคนนิ้วล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดนิ้วล็อคได้ทั้งสิ้น

อาการนิ้วล็อคเป็นอาการที่พบได้มากในที่มีอายุระหว่าง 45 -60 ปี โดยเฉพาะในเพศหญิงจะมีอัตราการเกิดนิ้วล็อคสูงกว่าเพศชายกว่า 4 เท่าเลยทีเดียว แต่ในปัจจุบันนี้กลับพบว่าผู้ป่วยอาการนิ้วล็อคมีอายุต่ำลงมาก เนื่องจากการทำงานที่ต้องอยู่ในท่าที่ใช้นิ้วเป็นเวลานานและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อนิ้วและฝ่ามือของคนหนุ่มสาวน้อยลง จึงส่งผลให้มีการเกิดนิ้วล้อคได้มากขึ้น

นิ้วล็อคส่วนมากจะมาจากการที่ได้รับอุบัติเหตุหรือมีอาการบาดเจ็บที่มือ และเมื่อมีการใช้มือหรือนิ้วเป็นเวลานานติดต่อกัน

สาเหตุอาการนิ้วล็อค

อาการนิ้วล็อคจะไม่เกิดนิ้วล็อคในทันทีแต่จะแสดงอาการออกมาเป็นระยะ เพื่อเป็นการเตือนล่วงหน้าให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาการที่แสดงออกมาจะมีลำดับดังนี้

1.ระยะแรก นิ้วจะเริ่มมีความรู้สึกไม่สบายที่นิ้ว มีความรู้สึกตึงแน่นที่บริเวณนิ้ว เมื่อทำการกดลงที่บริเวณดังกล่าวจะพบว่ามีลักษณะเป็นก้อน ๆ หนาเกิดขึ้นอย่างชัดเจน หรือมีการปุ่มเล็ก ๆ และเมื่อทำการกดที่ปุ่มหรือก้อนเนื้อหนาจะมีความรู้สึกเจ็บ หลังตื่นนอนจะรู้สึกตึงและติดขัดในการใช้นิ้วดังกล่าว

2.ระยะสอง ที่ระยะนี้นิ้วมือจะเริ่มมีการติดขัดเวลาที่ใช้งานในการทำกิจกรรมทัวไป มีอาการสะดุด เหยียดนิ้วไม่ได้ มีเสียงดังก๊อก ๆ เกิดขึ้นเวลาที่นิ้วมีการเคลื่อนที่ และจะเริ่มมีอาการปวดที่บริเวณนิ้วมือที่ติดขัดร่วมด้วย

3.ระยะสุดท้าย ข้อนิ้วจะเกิดการหลวมจนหลุดออกมาจาเบ้า ส่งผลให้นิ้วเบี้ยวไม่ตรงตามแนวนิ้ว จนกระทบกับการใช้นิ้วในการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถใช้นิ้วได้เหมือนเดิม

การรักษาอาการนิ้วล็อค

เมื่อเกิด อาการนิ้วล็อคแน่นอนว่าเราต้องทำการรักษาเพื่อให้หายจากอาการดังกล่าว ซึ่งวิธีการรักษาอาการนิ้วล็อคนั้นสามารถเริ่มได้จากการรักษาด้วยตนเอง นั่นคือเมื่อรู้สึกว่านิ้วมีอาการติดขัด ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนเดิม มีเสียงดังเกิดขึ้นมีการใช้งานนิ้ว หรือมีอาการปวดบริเวณนิ้วเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ต้องรีบหยุดการทำกิจกรรมที่ต้องใช้นิ้วอยู่ในท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน ทำการผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยการเปลี่ยนอิริยาบทของนิ้วมือ หรือจะทำการนวดและนำมือแช่ในน้ำอุ่นเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่มือด้วยก็จะเป็นการดี สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ้วล็อคได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าอาการนิ้วล็อคที่เกิดขึ้นยังไม่ดีขึ้นแม้ว่าจะทำการดูแลในขั้นต้นแล้ว ต่อมาเราต้องพบผู้เชี่ยวชายเพื่อทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อ การทำกายภาพบำบัดจะช่วยลดการอักเสบ คลายปมและลดการตึงหรือการรั้งที่เกิดพังผืดที่ข้อนิ้วและกล้ามเนื้อให้สามารถยืดหยุ่นได้มากขึ้น และยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้สามารถไหลเวียนมาหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อที่ฝ่ามือและนิ้วได้มากขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงลดความเสี่ยงในการเกิดนิ้วล็อคได้เช่นกัน เนื่องจากสภาวะการทำงาน ความจำเป็นและความรุนแรงของอาการนิ้วล็อคที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ในบางรายไม่สามารถทำกายภาพบำบัดแล้วช่วยอาการนิ้วล็อคให้ดีขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องทำการรักษาทางด้านการแพทย์ขั้นสูงเข้าไปช่วยเพื่อลดอาการและความเจ็บปวดของอาการนิ้วล็อคด้วยวิธีดังนี้

1.การฉีดยา เพื่อลดอาการปวด บวมของกล้ามเนื้อ ซึ่งการรักษาด้วยการฉีดยาเป็นการรักษาแบบชั่วคราวเพื่อลดอาการเจ็บปวดเสียมากกว่า แต่ถ้าเมื่อฉีดยาแล้วอาการนิ้วล็อคยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีอื่นต่อไป

2.การผ่าตัด เพื่อทำการเปิดเส้นทางเดินของเส้นเอ็นให้กว้างขึ้น เส้นเอ็นจึงสามารถลอดผ่านได้ง่าย ผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดแล้วจะสามารถเคลื่อนไหวนิ้วได้อย่างปกติหลังจากที่ทำการผ่าตัดประมาณ 14 วัน เมื่อทำการผ่าตัดแล้วผู้ป่วยต้องดูแลหลังการผ่าตัดเป็นอย่างดี ด้วยการประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมและนวดเพื่อลดการเกิดพังผืดหลังจากการผ่าตัด และการดึง ดัดและยืดเส้นเอ็นที่ฝ่ามือกับนิ้วเป็นประจำเพื่อป้องกันการเกิดนิ้วล็อคซ้ำ

การรักษานิ้วล็อคนั้นมีขั้นตอนที่ง่ายไม่ยุ่งยาก แต่ว่าเมื่อรักษาแล้ว อาการนิ้วล็อคสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกตลอดเวลา ถ้าเรายังมีพฤติกรรมการดำเนินกิจวัตรประจำวันที่เหมือนเดิม ทำงานอยู่ในท่าเดิมต่อเนื่อง ไม่มีการพักเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือไม่ยอมออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อที่บริเวณฝ่ามือและนิ้ว ก็จะทำให้นิ้วอ่อนแอจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดนิ้วล็อคได้อีกตลอดเวลา ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดในการรักษานิ้วล็อคก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดนิ้วล็อคด้วยการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับมือและนิ้ว ด้วยการออกกำลังมือและนิ้วเป็นประจำ

ท่าการออกกำลังกายมือและนิ้วที่เหมาะสม

1.ท่ากำและแบมือ เป็นท่าพื้นฐานที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อให้มีการยืด-หด

เริ่มจากหงายมือขึ้น กำมือให้แน่นพอประมาณ นับ 1-10 คลายมือแบออก กำและแบสลับกัน ทำซ้ำ 15 รอบ ครั้งละ 3 รอบ

2.หุบและกางนิ้ว

เริ่มจากคว่ำมือ กางนิ้วให้มากที่สุดเท่าที่จะกางได้ นับ 1-20 แล้วหุบนิ้วให้แนบชิดกัน ทำซ้ำ 15 รอบ ครั้งละ 3

3.ท่าจีบนิ้ว

เริ่มจากนำปลายนิ้วหัวแม่มือไปจรดปลายนิ้วชี้ นับ 1-20 แล้วเปลี่ยนปลายนิ้วหัวแม่มือไปแตะปลายนิ้วให้ครบทุกนิ้ว ทำซ้ำ 15 รอบ ครั้งละ 3

นี่คือท่าออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อฝ่ามือและนิ้ว นอกจากการออกท่าทางเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงลดความเสี่ยงในการเป็นนิ้วล็อคแล้ว การนวดก็สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดนิ้วล้อคได้เช่นเดียวกัน การนวดเราสามารถนวดด้วยตนเอง ใช้มือขวานวดมือซ้ายและมือซ้ายนวดมือขวาสลับกัน ดังนี้

การนวดลดการเกิดอาการนิ้วล็อค

1.นวดนิ้ว เริ่มจากการวางหัวแม่มือของมืออีกข้างมาวางบนโคนนิ้ว ค่อยออกแรงกดพร้อมทั้งหมุนเป็นวงกลมคล้ายก้นหอย หมุนวนตั้งแต่โคนนิ้วขึ้นมาจนถึงปลายนิ้ว ทำอย่างนี้จนครบทุกนิ้ว โดยเริ่มตั้งแต่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วนาง นิ้วกลางและนิ้วก้อย ทำทั้งมือขวาและมือซ้าย ทำซ้ำ 3-5 รอบ ครั้งละ 3 รอบ

2.นวดฝ่ามือ ใช้นิ้วโป้งของมืออีกข้างหนึ่งมากดลงบนฝ่ามือ ทำการนวดคลึงเป็นวงกลมคล้ายก้นหอย โดยเริ่มจากฐานมือที่ส่วนของข้อมือไล่ขึ้นมาเรื่อย ๆ จนทั่วทั้งฝ่ามือ ทำซ้ำ 3-5 รอบ ครั้งละ 3 รอบ

การนวดนิ้วและฝ่ามือสามารถทได้ตลอดเวลาที่ว่าง เพราะเป็นการช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและยังสามารถช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของเลือดให้ดีขึ้นด้วย

นอกจากการออกกำลังกายและการนวดที่มือกับนิ้วแล้ว การดูแลรักษาความสะอาดและความปลอดภัยก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะถ้ามือของเราสกปรกหรือเกิดบาดแผลจะทำให้กล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อเกิดอาการอักเสบซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดนิ้วล็อคได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อต้องใช้มือและนิ้วจับสิ่งของเสร็จแล้วควรล้างทำความสะอาดทุกซอกทุกมุม ทั้งฝ่ามือ ซอกนิ้ว ปลายนิ้ว ซอกเล็บให้สะอาดไม่มีสิ่งสกปรกติดค้างอยู่ ส่วนความปลอดภัยเราควรใช้มือทำกิจกรรมด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรรับน้ำหนักมากด้วยนิ้วเพียงหนึ่งหรือสองนิ้ว เพราะจะทำให้กล้ามเกิดอาการเกร็ง เครียด และเมื่อรู้สึกเมื่อยล้ากล้ามเนื้อก็ควรผ่อนคลายกล้ามเนื้อมือด้วยการแช่น้ำอุ่นหรือนวดน้ำมันอยู่เสมอ

มือและนิ้วเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมากต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญเช่นเดียวกับการใช้งาน การดูแลเล็กน้อยก็จะสามารถทำให้เราสามารถใช้งานมือและนิ้วไปได้นานขึ้น โดยที่ไม่ต้องทนกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเนื่องจากอาการนิ้วล็อค ถึงแม้ว่า อาการนิ้วล็อคจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรงต่อร่างกายก็จริงอยู่ แต่เราไม่ว่าจะเป็นอาการที่รุนแรงหรือไม่ก็ไม่ควรให้เกิดขึ้นกับนิ้วและมือของเรา วันนี้คุณดูแลนิ้วและมือของคุณดีแล้วหรือยัง?

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

สุรศักดิ์ ศรีสุข. ปวดไหล่ : พิมพ์ครั้งที่ 7 : กรุงเทพฯ : หมอชาวบ้าน, 2560. 48 หน้า

นิดดา หงษ์วิวัฒน์. แสงแดด โอสถมหัศจรรย์ แสงแห่งชีวิตที่เป็นยารักษาโรค. กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์แสงแดด จำกัด, 2558., 223 หน้า. ISBN 978-616-284-592-5.

https://www.medicinenet.com/shoulder_pain_facts/article.html