7 พฤติกรรมที่ทำรายกระดูกสันหลัง
การก้มดูหน้าจอเป็นเวลานาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังที่บริเวณคอมีการโค้งเพิ่มมากขึ้น และเมื่อทำการยืดคอตรงจะพบว่าคอมีการยื่นมากกว่าเดิม

ประโยชน์ของกระดูกสันหลังและ 7 พฤติกรรมที่ทำร้ายกระดูกสันหลัง

กระดูกสันหลังเป็นกระดูกแกนบริเวณกึ่งกลางของลำตัว เป็นทั้งแกน ลักษณะของกระดูกจะเป็นข้อต่อกันเป็นแนว ตั้งแต่ส่วนคอมาจรดส่วนของทวารหนัก กระดูกภายในจะเป็นช่องว่างบรรจุไขสันหลัง หน้าที่ของกระดูกสันหลังช่วยในการทรงตัว ทำให้มีความสูง เป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อที่บริเวณหลัง ช่วยในการเคลื่อนที่ของร่างกายและส่งเส้น  ประสาทไปยังอวัยวะภายในร่างกายแล้ว ยังทำหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้ไขสันหลังได้รับอันตรายด้วย กระดูกสันหลังโดยปกติทุกคนจะประกอบไปด้วยกระดูกทั้งหมด 33 ชิ้น สามารถแบ่งตามระดับของกระดูก ดังนี้

การแบ่งระดับกระดูกสันหลัง

1. กระดูกสันหลังส่วนคอ ( Cervical vertebrae ย่อว่า C-spine )

ประโยชน์ของกระดูกสันหลังคือ กระดูกส่วนลำคอ ประกอบด้วยกระดูกทั้งหมดจำนวน 7 ชิ้น ทำหน้าที่เป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อ เอ็นและเส้นประสาทที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวลำคอกับศีรษะ

2. กระดูกสันหลังส่วนอก หรือ กระดูกหลังส่วนบน ( Thoracic verte brae หรือ Dorsal vertebrae ย่อว่า T spine หรือ D spine )

ประโยชน์ของกระดูกสันหลังคือ กระดูกส่วนหน้าอก ประกอบด้วยกระดูกทั้งหมดจำนวน 12 ชิ้น กระดูกส่วนนี้มีลักษณะพิเศษเฉพาะ คือมีจุดเชื่อมต่อที่สามารถเชื่อต่อกับกระดูกซี่โครง ที่เป็นโครงกระดูกของช่องอก

3. กระดูกสันหลังส่วนบั้นเอว ( Lumbar vertebrae ย่อว่า L spine )

ประโยชน์ของกระดูกสันหลัง คือ กระดูกที่อยู่ในช่วงเอว ประกอบด้วยกระดูกทั้งหมดจำนวน5 ชิ้น เป็นกระดูกที่มีขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับน้ำหนักของร่างกายส่วนบนได้ทั้งหมด มีหน้าที่เป็นจุดยึดเกาะของกล้ามเนื้อส่วนด้านหลังของช่องท้อง

4. กระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ ( Sacral vertebraeย่อว่า S spine )

ประโยชน์ของกระดูกสันหลังคือ กระดูกส่วนนี้อยู่ต่อจากกระดูกเอว เป็นการรวมของกระดูก 5 ชิ้นเข้าด้วยกันทำหน้าที่ต่อกับกระดูกเชิงกราน  ( pelvic bone ) ซึ่งมีช่องเปิด ( sacral foramina ) ที่เป็นเส้นทางผ่านของเส้นประสาทที่จะเข้าไปสู่บริเวณเชิงกรานและขา

5. กระดูกสันหลังส่วนก้นกบ ( Coccygeal vertebrae หรือ Coccyx )

ประโยชน์ของกระดูกสันหลังคือ กระดูกสันหลังชิ้นท้ายสุด ประกอบด้วยกระดูกทั้งหมด 4 ชิ้นแต่ในบางรายกระดูกส่วนนี้อาจมีเพียงแค่ 3 ชิ้นหรือมีเพิ่มเป็น 5 ชิ้นได้ ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อให้เป็นกระดูกชิ้นเดียว ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะออกมาเป็นกระดูกรูปสามเหลี่ยมที่ปลายด้านล่างสุดนั่นเอง

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลัง

กระดูกสันหลังเป็นกระดูกแกนกลางของลำตัว ที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาทของร่างกาย ดังนั้นความผิดปกติ อาการและโรคที่เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลังจึงมีบทบาทที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลัง

1. ความผิดปกติที่มีตั้งแต่กำเนิด เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เช่น สไปนา ไบฟิดา ( Spina bifida ) ที่เกิดขึ้นตอนที่อยู่ในครรภ์มารดา เกิดเนื่องจากแนวโค้งของ vertebral arches ทั้งสองด้านไม่สามารถเชื่อมต่อกันในขณะที่ทารกกำลังเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์ ส่งผลให้กระดูกสันหลังมีช่องว่างที่อยู่ภายในกระดูกสันหลังมีการเปิดออกมา เป็นต้น ซึ่งความผิดปกติที่แบบนี้ไม่สามารถทำการรักษาให้หายเป็นปกติได้

2. ความผิดปกติเนื่องจากโรคร้าย เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากผลข้างเคียงของโรคร้ายแรง ตัวอย่างเช่น อาการหลังค่อม ( Kyphosis ) ที่ทำให้ความโค้งของกระดูกสันมีความโค้งที่ผิดปกติตั้งแต่ส่วนหน้าอกลงไป ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะหลังค่อม ซึ่งอาการนี้เป็นอาการข้างเคียงหรืออาการแทรกซ้อนของโรคอื่น เช่น วัณโรค ( tuberculosis ) ที่เชื้อได้แพร่กระจายเข้าไปในส่วนของกระดูกสันหลัง ส่งผลให้กระดูกสันหลังเกิดอาการติดเชื้อจนทำให้หลังเกิดการงอลงมา ที่เรียกว่า Gibbus Deformity

3. ความผิดปกติเนื่องจากอุบัติเหตุ การเกิดอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งผลของการเกิดอุบัติเหตุสามารถส่งผลให้เกิดอาการกระดูกสันหลังแตกหัก ( Vertebral fractures ) ได้ กระดูกสันหลังสามารถเกิดการแตกหักได้ทุกส่วน ทั้งส่วนคอ อก เอว กระเบนเหน็บ ก้นกบ เมื่อกระดูกสันหลังได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจะส่งผลให้เป็นอัมพาตทั้งแขนและขา ( quadriplegia ) และยังสามารถส่งผลกระทบระบบหายใจได้อีกด้วย

4. ความผิดปกติเนื่องจากพฤติกรรม การดำรงชีวิตในปัจจุบันต้องอยู่ด้วยความเร่งรีบ ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง ยืน เดินหรือนอน การยก การก้ม การเงย ทุกสิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติอยู่เป็นนิจ ซึ่งการกระทำบางอย่างที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันบางครั้งก็ได้รับการปฏิบัติที่ผิดตามหลักสรีระศาสตร์ ส่งผลให้กระดูกสันหลังของคนเราเกิดความผิดปกติได้ ซึ่งพฤติกรรมที่เราทำอยู่ทุกวันเราอาจจะกำลังทำร้ายกระดูกสันหลังโดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกระดูก สันหลังจะส่งผลให้กระดูกสันหลังมีรูปร่างที่ผิดปกติไป การเกิดความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลังนั้นในช่วงแรกจะมีอาการปวดเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นและหายไปได้เองในชั่วระยะเวลาสั้น ๆ แต่ทว่าถ้ายังคงทำพฤติกรรมดังกล่าวต่อไปเรื่อย จะส่งผลให้กระดูกสันหลังมีรูปร่างที่ผิดปกติตลอดชีวิต ทำให้ลักษณะการเดิน ยืนหรือนั่งมีทวงท่าที่ผิดปกติตามไปด้วย

7 พฤติกรรมที่สามารถส่งผลให้เกิดอาการกระดูกสันหลังผิดปกติ ที่ต้องพึงระวัง

1. การทิ้งน้ำหนักลงที่ขาข้างเดียว

การยืนปกติจะต้องลงน้ำหนักบนขาทั้งสองข้างด้วยน้ำหนักที่เท่ากัน นั้นคือมีการยีนขาตรงทั้งสองข้าง ไม่มีการงอขาข้างใดข้างหนึ่งหรือมีการทิ้งน้ำหนักตัวลงบนขาข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าขาอีกข้างหนึ่งอย่างเด็ดขาด เพราะว่าการที่ลงน้ำหนักลงบนขาข้างใดข้างหนึ่งนาน ๆ แล้ว จะทำให้กระดูกเชิงกรานจะรับน้ำหนักมากและเกิดการสึกหรอมีการผิดรูปทีละน้อย ทีละน้อย และกลายเป็นกระดูกสันหลังยุบ เมื่อนานเข้าจะทำให้เรายืนตัวเอียงโดยอัตโนมัติเพราะว่ากระดูกเชิงกรานเสียสมดุล เนื่องจากกระดูกเชิงรานข้างที่รับน้ำหนักมากจะมีการสึกหรอมากกว่ากระดูกเชิงกรานข้างที่ไม่ค่อยได้รับน้ำหนัก จึงทำให้เรายืนเอียงตัวนั่นเอง การป้องกันไม่ให้เกิดการสึกหรอของกระดูกเชิงกราน คือ เวลาที่ยืนต้องทิ้งน้ำหนักลงบนขาทั้งสองข้างให้เท่ากันหรือใกล้เคียงกันมากที่สุด ยืนท่าหลังตรง อกผาย ไหล่พึงแล้ว โอกาสที่กระดูกเชิงกรานจะสึกหรอจนทำให้ยืนเอียงนั้นลดน้อยลง

2. การนั่งไขว่ห้าง

การนั่งไขว่ห้างเป็นท่าที่ผู้หญิงส่วนใหญ่นิยมนั่งกัน เพราะเป็นท่าที่นั่งแล้วหลังจะตั้งตรงดูมีสง่า แต่รู้หรือไม่ว่าการนั่งไขว่ห้างจะทำให้กระดูกเชิงกรานเกิดผิดรูปเนื่องจากการเสียดสีของกระดูกในขณะที่นั่งไขว่ห่างนั่นเอง นอกจากนั้นการนั่งไขว่ห่างยังเป็นท่านั่งที่ไม่ต้องใช้กล้ามเนื้อเพื่อพยุงตัว จึงทำเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้มากขึ้นด้วย ดังนั้นการนั่งที่ดีควรนั่งโดยที่ขาทั้งสองข้างวางลงบนพื้น โดยฝ่าเท้าแนบสนิทกับพื้นถึงจะเป็นท่านั่งที่สร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและลดโอกาสการสึกหรอของกระดูกเชิงกราน แต่ถ้าจำเป็นต้องทำการนั่งไขว่ห่างก็ควรทำการสลับขาที่ทำการไขว่ห้างบ่อย ๆ เพื่อให้กระดูกเชิงกรานมีการสึกหรอที่เท่ากันทั้งขวาและข้างซ้าย

3. การเล่นเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะหันไปทางใดพบแต่คนที่ก้มหน้าอยู่กับจอโทรศัพท์มือถือ แทปเล็ต ไอแพท ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าเป็นขณะที่เดิน ยืนหรือนั่ง ซึ่งการก้มดูหน้าจอเป็นเวลานาน ๆ นั้นจะส่งผลให้กล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังที่บริเวณคอมีการโค้งเพิ่มมากขึ้น และเมื่อทำการยืดคอตรงจะพบว่าคอมีการยื่นมากกว่าเดิม ซึ่งถือว่าเป็นความผิดปกติชนิดหนึ่งของกระดูกสั้นหลังส่วนคอ ดังนั้นเมื่อเราจำเป็นต้องดูหน้าจอเหล่านี้ ควรที่จะยกหน้าจอขึ้นมาเสมอกับระดับสายตาจะเป็นท่าการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้อง และไม่สร้างความเสียหายให้กับกระดูกสันหลัง

4. การสะพายกระเป๋า

กระเป๋าสะพายเป็นสิ่งของที่จำเป็นสำหรับใครหลายคน ภายในกระเป๋าจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็นและไม่จำเป็นหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น กระเป๋าสตางค์ สมุดจดบันทึก ครีมกันแดด ปากกา เครื่องสำอาง กระดาษทิชชู เป็นต้น ซึ่งน้ำหนักของกระเป๋าที่นำมาสะพายก็มีน้ำหนักมิใช่น้อย บางครั้งกระเป๋าบางลูกมีน้ำหนักถึง 5 กิโลกรัมเลยทีเดียว แต่ด้วยความเคยชินของจ้าของกระเป๋าที่จำเป็นต้องสะพายทุกวันจึงไม่รู้สึกว่ากระเป๋าใบนั้นหนักมาก แต่ว่าการสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักด้วยบ่าหรือไหล่ข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียวตลอดเวลา หรือแม้แต่การทำงานที่ต้องยกของหนักด้วยบ่าหรือไหล่ข้างเดียวเป็นประจำ จะส่งผลให้กระดูกสันหลังผิดรูปเกิดการเอียงหรือโค้งไปข้างที่รับน้ำหนักของกระเป๋า และเดินก็จะเอียงตามกระดูกสันหลังที่เอียงไปด้วย ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องยกหนักหรือสะพายกระเป๋าควรทำการสะพายกระเป๋าด้วยไหล่ทั้งสองข้าง โดยการสลับกันสะพายหรือใช้ยกของ เพื่อที่กระดูกสันหลังจะได้ไม่เอียงหรือโค้งไปด้านใดด้านหนึ่งมากกว่านั่นเอง

5. การใช้คอมพิวเตอร์

คอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กเป็นอุปกรณ์การทำงานที่ทุกคนต้องใช้ในการทำงานเป็นส่วนมาก การตั้งโต๊ะสำหรับทำงานด้วยคอมพิวเตอร์สามารถส่งผลต่อกระดูกสันหลังได้ ถ้ามีการตั้งหน้าจอให้มีระดับต่ำกว่าระดับสายตา ผู้ใช้งานจึงต้องทำการก้มคอเพื่อมองหน้าจอเวลาที่ทำงาน เวลาที่ทำงานหน้าจอมักเป็นเวลาที่ค่อนข้างนานเป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการก้มเข้าหาหน้าจอนี้ก็จะทำให้เกิดอาการคอยื่นแล้ว ยังก่อให้เกิดอาการไหล่ห่อ กล้ามเนื้อส่วนไหล่และหลังเกิดอาการเกร็ง ซึ่งเมื่อไหล่หอนานเข้าก็จะทำให้กลายเป็นอาการหลังค่อมในที่สุด และอาจเป็นสาเหตุของกระดูกสันหลังยุบได้ ดังนั้นเมื่อต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ควรตั้งหน้าจอคอมพิวเตอร์บนโต๊ะที่ตั้งหน้าจออยู่ในระดับสายตาของผู้ใช้ ตัวผู้ใช้ควรนั่งเก้าอี้ที่สามารถห้อยขาลงวางบนพื้นพอดี นั่งหลังตรง เมื่อรู้สึกเมื่อยก็ให้ทำการหยุดพักและคลายกล้ามเนื้อด้วยการยกมือขึ้นประสานกัน ยกแขนขึ้นเหนือหัว พร้อมทั้งเอนตัวไปข้างหน้า ข้างหลัง ข้างขวาและข้างซ้าย หรือลุกขึ้นเดินเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังด้วย

6. ท่านั่งเก้าอี้

การนั่งเก้าอี้ควรนั่งให้ก้นอยู่บนพื้นเก้าอี้ทั้งหมด ไม่มีควรให้สะโพกส่วนใดส่วนหนึ่งหลุดออกมาจากพื้นของเก้าอี้ เพราะด้วยความเคยชินเมื่อเรานั่งเก้าอี้แล้วรู้สึกเมื่อยเราจะทำการขยับสะโพกไปเรื่อย ๆ จนบางครั้งสะโพกจะอยู่บนพื้นเก้าอี้เพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น ซึ่งการนั่งแล้วสะโพกไม่อยู่บนพื้นเก้าอี้ทั้งหมดจะทำให้กระดูกบั้นท้ายและกระดูกสะโพกมีแรงกดเกิดขึ้น ส่งผลให้ความโค้งงอของกระดูกบริเวณสันหลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเมื่อเราต้องทำงานที่ต้องนั่งอยู่บนเก้าอี้เป็นเวลานาน ๆ ควรที่จะลุกขึ้นเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถเป็นประจำ และควรใช้แผ่นรองนั่งรองที่พื้นเก้าอี้ในกรณีที่เก้าอี้ทำด้วยวัสดุเนื้อแข็ง แต่ก็ไม่ควรนั่งบนเก้าอี้ที่มีความนุ่มมากเกินเช่นกัน

7. โซฟาหรือฟูกนอนนิ่มเกินไป

การนั่งหรือนอนบนโซฟาที่นุ่มมาก ๆ นั้น เมื่อเรานั่งลงไปกระดูกส่วนสะโพกจะต้องทำหน้าที่ในการรองรับน้ำหนักตัวของเราทั้งหมด และสะโพกยังต้องช่วยในการพยุงลำตัวเพื่อไม่ให้ล้มลงจากที่นั่ง การเลือกโซฟากับที่นอนควรเลือกที่ไม่นุ่มหรือแข็งจนเกิดไป โดยสามารถสังเกตได้จากเวลาที่ล้มตัวลงนอน ที่นอนไม่ควรยุบลงเกิน 1 เซนติเมตร ถือว่าเป็นที่นอนที่มีความเหมาะสมในการนอน อาจทำให้กระดูกสันหลังยุบได้ การเลือกโซฟาก็ไม่ควรยุบลงเกิน 1 เซนติเมตรเช่นเดียวกัน ท่านั่งที่ดีควรนั่งหลังตรง หน้ามองตรงตลอดเวลาที่นั่ง เมื่อรู้สึกเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังก็ควรหยุดพักในทันที

กระดูกสันหลังเป็นกระดูกที่อยู่กึ่งกลางของร่างกาย เป็นหลักของร่างกายให้ยืดตัวตรง เดินได้อย่างสง่างาม การที่จะรักษากระดูกสันหลังให้สามารถใช้งานไปได้เป็นเวลานานโดยที่ไม่ผิดรูปไป สามารถทำได้ด้วยการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันด้วยท่าทางที่ถูกต้อง เราก็จะมีกระดูกสันหลังที่ตั้งตรงและแข็งแรง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง 

เอกสารอ้างอิง

โทะชิมะสะ โอตะ. ปรับรูปร่างด้วยมือเปล่า สร้างหุ้นฟิต พิชิตโรค. กรุงเทพฯ : อมรินทร์เฮลท์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2560.

Weiss, J.M. (15 March 2010). “Spinal cord injury”. In Weiss, L.D.; Weiss, J.M.; Pobre, T. Oxford American Handbook of Physical Medicine and Rehabilitation. Oxford University Press, USA. ISBN 978-0-19-970999-1.

Teufack, S.; Harrop, J.S.; Ashwini, D.S. (29 October 2012). “Spinal Cord Injury Classification”. In Fehlings, M.G.; Vaccaro, A.R.; Maxwell B. Essentials of Spinal Cord Injury: Basic Research to Clinical Practice. Thieme. ISBN 978-1-60406-727-9.