ความเครียดมีผลกระทบต่อร่างกาย
ความเครียด คือ การตอบสนองของร่างกายทางสรีรวิทยา และทางจิตวิทยาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ที่อาจจะเกิดจากปัจจัยภายนอกและภายในร่างกาย

ความเครียด

ความเครียด ( stress ) คืออะไร ? ในทุก ๆ วัน มีความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา มีทั้งการเรื่องที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์นี้อาจนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ในอนาคตจนทำให้หลายๆ ท่านรู้สึกวิตกกังวล หากอาการเหล่านี้ไม่ได้รับการเยียวยา ก็จะกลายเป็นความเครียดได้ในที่สุด โดยเจ้าความเครียดนี้จะส่งผลกระทบหลายๆ อย่างต่อร่ายกายทั้งทางตรงและทางอ้อม

มาทำความรู้จักกับความเครียด

ความเครียด ( stress ) คือ การตอบสนองของร่างกายที่เกิดขึ้นทั้งทางสรีรวิทยา ( Physiological ) และทางจิตวิทยา ( Psychological ) ต่อสิ่งที่มาคุกคามหรือเป็นอันตราย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญและสิ่งที่ไม่คาดคิด ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในร่างกาย

ความเครียด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ความเครียดเฉียบพลัน หรือ Acute Stress คือ ความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เกิดขึ้นทันทีทันใด และร่างกายก็ตอบสนองต่อความเครียดนั้นโดยทันทีเช่นกัน เมื่อความเครียดนี้หายไปแล้ว ร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัวให้เข้าสู่สภาวะปกติ เรียกว่าเป็นการรักษาดุลยภาพของร่างกาย ความเครียดเฉียบพลัน ได้แก่ การที่ร่างกายตื่นตระหนกจากเสียงดัง อากาศร้อนหรือเย็น ความกลัวอันตราย ความหิว หรือแม้แต่การอยู่ในที่แออัด ในชุมชนที่มีคนมากๆ เป็นต้น

2. ความเครียดเรื้อรัง หรือ Chronic Stress คือ ความเครียดที่เกิดจากการสะสมเป็นระยะเวลานานหรือเกิดขึ้นทุกวัน ร่างกายไม่สามารถตอบสนองหรือแสดงออกต่อความเครียดนี้แล้วขจัดให้หายไป ไม่สามารถรักษาดุลยภาพให้อยู่ในภาวะปกติได้ ความเครียดประเภทนี้จึงมีความรุนแรงมากกว่าประเภทที่ 1 (ความเครียดฉับพลัน) เพราะอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านบุคลิกภาพและอารมณ์ ผู้ที่กำลังประสบปัญหานี้จึงควรปรึกษาและเข้ารับคำแนะนำจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ตัวอย่างความเครียดแบบเรื้อรัง เช่น ความเครียดจากปัญหาในที่ทำงาน ปัญหาในครอบครัว ความเหงา ความเครียดที่เกิดจากความสัมพันธ์ และความเครียดจากการอดทนจากภัยคุกคามอันไม่พึงประสงค์ ฯลฯ

สาเหตุของความเครียด

ความเครียดเกิดได้จากหลายๆ ปัจจัย แตกต่างกันในแต่ละบุคคล สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ

  • ด้านร่างกาย ได้แก่ การเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ หรือการเจ็บป่วยแบบเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน เป็นต้น
  • ด้านจิตใจ ได้แก่ ความรู้สึกผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ความวิตกกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดในอนาคต หรือแม้แต่ความกลัวต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว เป็นต้น
  • ด้านสังคม ได้แก่ ความสัมพันธ์ที่ไม่พึงประสงค์ ความขัดแย้งกับคนในครอบครัวหรือที่ทำงานและปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่หรือที่ทำงานใหม่ เป็นต้น

การตอบสนองของร่างกายกับความเครียด

ทุกคนต้องพบเจอกับความเครียดอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และในทุกๆ ครั้งร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดและสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งความเครียดนี้หากมองในแง่บวกก็ถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เนื่องจากธรรมชาติให้ติดตัวมากับมนุษย์ทุกคนเพื่อให้เกิดความตื่นตัวและตอบสนองต่อภัยอันตรายภายนอก ให้สามารถเอาตัวรอดได้เมื่อต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงและคับขัน แต่อย่างไรก็ตาม ความเครียดจะกลายเป็นภัยก็ต่อเมื่อ เรามีความเครียดอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้รับการบำบัดผ่อนคลาย จนนำไปสู่การตอบสนองต่อความเครียดในทางที่ผิด ทำให้เกิดผลเสียต่างๆ ขึ้นกับร่างกาย

การตอบสนองต่อความเครียด ( Stress response ) หรือการปรับตัว ( General adaptation syndrome ) เป็นปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาที่ตอบสนองต่อความเครียด ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ

1. ระยะเตรียมพร้อม ( Alarm Stage ) จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายรับรู้ถึงภัยอันตราย โดยจะเตรียมความพร้อมสำหรับจัดการกับอันตรายนั้นในรูปแบบของการสู้หรือหนี ( fight or flight ) ซึ่งระยะนี้จะถูกควบคุมด้วยระบบประสาทและฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อ

2. ระยะต่อต้าน ( Resistance Stage ) จะเกิดความเปลี่ยนแปลงเพื่อต่อต้านกับความเครียดเพื่อให้ร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล

3. ขั้นหยุดการทำงาน ( Exhaustion Stage ) หากร่างกายอยู่ในภาวะเครียดเป็นระยะเวลานาน จะไม่สามารถปรับสมดุลในข้อ 2 ได้ ร่างกายจึงไม่สามารถเข้าสู่ภาวะสมดุล ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมาและกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้   

เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนความเครียด อันเกิดจากฮอร์โมน 2 ตัว คือ “คอร์ติซอล ( Cortisol ) และ แอดีนาลีน ( Adrenaline ) ซึ่งหลั่งออกมาจากต่อมหมวกไตทั้งสองข้าง โดยฮอร์โมนความเครียดนี้จะทำให้ร่างกายมีพละกำลังมากพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดหรือกระทำการใหญ่ เช่น การยกของหนักๆ หนีไฟไหม้ การวิ่งหนีภัย เมื่อฮอร์โมนนี้ได้ถูกใช้ไป ความเครียดหรือความกดดันต่างๆ ก็จะหายไปด้วย แต่หากฮอร์โมนชนิดนี้ยังคงอยู่ในร่างกายก็จะส่งผลเสีย เนื่องจากฮอร์โมนนี้จะเพิ่มระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์และน้ำตาลในเลือด ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง วิงเวียนศีรษะ ตัวสั่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย ไม่มีสมาธิและท้องเสีย เป็นต้น ยิ่งถ้ามีฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้นอีก ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกายเป็นวงกว้าง จนอาจถึงขั้นทำให้หัวใจวายและชีวิตได้

ความเครียด คือ การตอบสนองของร่างกายทางสรีรวิทยา และทางจิตวิทยา ต่อสิ่งทีเกิดขึ้นหรือเป็นอันตราย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและไม่คาดคิด ที่เกิดจากปัจจัยภายนอกและภายในร่างกาย

ผลกระทบของความเครียดต่อร่างกาย

ความเครียดนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและอารมณ์แล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยตรง อันก่อให้เกิดโรคและความผิดปกติหลายอย่าง ดังนี้

  • หัวใจเต้นผิดปกติ เนื่องจากความเครียดจะไปกระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดอาการเจ็บหน้าอก เพราะกลไกการทำงานของหัวใจหนักขึ้น มีการบีบตัวและเต้นเร็วขึ้น จนทำให้เกิดการเต้นที่ผิดปกติของหัวใจและอาจถึงขึ้นหัวใจวายได้
  • ม้ามทำงานหนัก เนื่องจากความเครียดจะไปกระตุ้นให้ม้ามหลั่งเซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์เม็ดเลือดแดงออกมาในจำนวนมากผิดปกติ
  • ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ในผู้ป่วยที่มีความเครียดเรื้อรัง ร่างกายจะมีจำนวนเม็ดเลือดขาวและภูมิต้านทานที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อน้อยกว่าคนทั่วไป จึงทำให้ติดเชื้อไข้หวัดและเริมได้ง่าย
  • น้ำตาลในเลือดสูง ความเครียดจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานเกิดการดื้ออินซูลิน    
  • ความต้องการทางเพศลดลง ในผู้หญิงจะมีปัญหาเรื่องประจำเดือนมาไม่ปกติ แท้งบุตรและมีปัญหาเรื่องการถึงจุดสุดยอดขณะมีเพศสัมพันธ์ ส่วนในผู้ชายจะมีปัญหาเรื่ององคชาติไม่แข็งตัว ไม่มีอารมณ์ทางเพศ เป็นต้น
  • โรคขาดสารอาหาร เนื่องจากความเครียดส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติและจะสลายอาหารจำพวกโปรตีน วิตามิน ไขมัน รวมถึงสารอาหารอื่นๆ มากกว่าปกติ จึงอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้
  • โรคอ้วน ผู้ที่ประสบอาการเครียดจะรู้สึกอยากอาหารจำพวกที่มีรสเค็ม มัน หวาน มากขึ้นทำให้เกิดภาวะน้ำหนักตัวเกิน กลายเป็นโรคอ้วนซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคความดันโลหิตสูง ความเครียดอันเกิดจากความโกรธและความวิตกกังวลนั้น ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หากเป็นบ่อยก็จะส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้
  • โรคแผลในกระเพราะอาหารและลำไส้ เนื่องจากเมื่อประสบภาวะเครียด ร่างกายจะหลั่งสารแอดดินาลีนออกมา สารนี้มีส่วนในการกระตุ้นให้ผนังลำไส้ขับกรดออกมามากกว่าปกติ เมื่อนานวันเข้าก็จะทำให้กลายเป็นโรคกระเพราะอาหารและลำไส้ได้ในที่สุด
  • โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ จากการศึกษาพบว่าความเครียดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคนี้
  • กรดไขมันในเส้นเลือดสูง เมื่อร่างกายเกิดความเครียดจะสร้างกรดไขมันขึ้น เพื่อใช้ในการต่อสู้ เมื่อร่างกายคลายความเครียดลง ระดับกรดไขมันก็จะลดลงด้วย แต่หากมีความเครียดสะสม กรดไขมันนี้ก็จะก่อตัวพอกพูนเกาะอยู่ในผนังเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้
  • ต่อมน้ำเหลืองทำงานผิดปกติ เนื่องจากความเครียดจะไปยับยั้งการแบ่งเซลล์และการสังเคราะห์ในต่อมน้ำเหลือง จึงทำให้เกิดภาวะต่อมน้ำเหลืองทำงานผิดปกติส่งผลให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำลง

วิธีจัดการกับความเครียด

การจัดการกับความเครียดมีด้วยกันหลากหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการใช้ยา ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ โดยต้นเหตุความเครียดของหลายๆ ท่าน อาจสามารถรับมือได้ง่าย ๆ เพียงเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตหรือเปลี่ยนวิธีคิด ดังนี้

  •  เปลี่ยนแปลงทัศนคติ เช่น ลดการแข่งขันกับผู้อื่น รู้จักผ่อนปรนและลดความเข้มงวดลง
  • ปรับปรุงสัมพันธภาพกับคนในครอบครัว หรือบุคคลรอบตัวให้ดีขึ้น
  • ลดเครื่องดื่มบางประเภทที่ช่วยก่อให้เกิดความเครียด เช่น กาแฟและเครื่องดื่มหรือขนมที่มีน้ำตาลสูง
  • ออกกำลังกายหรือทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบเพื่อลดความตึงเครียด ให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย
  • ฝึกมองโลกในแง่ดี เช่น มองผู้อื่นในแง่ดี มองตนเองในแง่ดี รู้จักให้อภัย รู้จักให้กำลังใจตนเองและผู้อื่น รวมถึงฝึกปล่อยวางในสิ่งที่ย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้ 
  • ฝึกวิธีผ่อนคลายร่างกายโดยตรง เช่น ฝึกการหายใจที่ถูกวิธี ฝึกสมาธิ เล่นโยคะหรือนวดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • ลดพฤติกรรมการชอบทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เพราะทำให้เกิดความกดดัน ต้องแข่งขันกับเวลาอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งงดการสูบบุหรี่หรือการใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับให้เพียงพอ

วิธีรักษาโรคเครียด

ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ไม่สามารถจัดการกับปัญหาความเครียดได้ จนกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง การระบายกับเพื่อนหรือบุคคลในครอบครัวอาจไม่เป็นผล ผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งมีวิธีการรักษาแตกต่างกันไป ดังนี้

1. ปรึกษาจิตแพทย์ วิธีนี้เป็นวิธีขั้นพื้นฐานที่ช่วยรักษาโรคเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากแพทย์จะรับฟัง วิเคราะห์ปัญหาและช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดได้อย่างตรงจุด ผู้ป่วยจึงสามารถจัดการกับอาการความเครียดที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง

2. บำบัดพฤติกรรมและความคิด หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า CBT ( Cognitive Behavioural Therapy ) วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่โรคเครียดเกิดจากความวิตกกังวลหรือมีแนวคิดบางอย่างที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต โดยแพทย์จะทำความเข้าใจกับความคิดและความรู้สึกของผู้ป่วย ช่วยให้เข้าใจว่าบางความคิดไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้ป่วยสามารถปรับทัศนคติและมองทุกอย่างได้ถูกต้องตามความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

3. ใช้ยารักษา ในการรักษาแพทย์อาจจะใช้ตัวยาบางชนิดร่วมด้วย ( ส่วนใหญ่จะใช้ยาเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ) เพื่อบรรเทาอาการบางอย่าง เช่น หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับหรือซึมเศร้า ฯลฯ ตัวยาที่ใช้ได้แก่

เบต้า บล็อกเกอร์ ( Beta-Blocker ) มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการซึ่งเกิดจากที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ยาชนิดนี้มีข้อดี คือไม่ก่อให้เกิดอาการง่วง ( สามารถรับประทานในเวลาทำงานได้ ) และไม่ทำให้เสพติด เพราะไม่อยู่ในกลุ่มยาระงับประสาท

ยาไดอะซีแพม ( Diazepam ) ยาชนิดนี้เป็นยาระงับประสาท อยู่ในกลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน ( Benzodiapines ) ซึ่งไม่นิยมนำมาใช้ในการรักษา เว้นแต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีข้อบ่งชี้ให้จำเป็นต้องใช้ ก็จะให้รับประทานในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น เนื่องจากอาจเกิดอาการดื้อยา ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาเสื่อมลงจนไม่เป็นผลและผู้ป่วยมีโอกาสเสพติดยาได้ง่าย 

นอกจากตัวยาข้างต้น แพทย์อาจใช้ยาชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ ยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRIs ( Selective Serotonin Reuptake Inhibitors ) ยาระงับอาการวิตกกังวล เป็นต้น และในบางรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจใช้วิธีการสะกดจิต หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Hypnotherapy ร่วมด้วย ซึ่งพบไม่มากนักในประเทศไทย ส่วนผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมทำร้ายผู้อื่นหรือทำร้ายตนเอง ในบางรายอาจถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายนั้น จะต้องได้รับการดูแลจากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์อย่างใกล้ชิดจึงมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาระยะยาวที่โรงพยาบาลจนกว่าสภาพจิตใจจะดีขึ้น จนสามารถดูแลตนเองและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

ความเครียดในระดับต่ำนั้นมีข้อดี คือช่วยกระตุ้นให้เรามีความมุ่งมั่นเพื่อเอาชนะปัญหาและช่วยในการเรียน ตลอดจนการทำงานต่างๆ ให้สำเร็จ แต่หากมีมากจนเกินไปก็จะกลายเป็นบ่อเกิดของโรคและส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมากมายเช่นกัน การรู้จักจัดการกับความเครียดและหาวิธีระบายอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะหากระบายความเครียดด้วยวิธีที่ผิด เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ พึ่งยานอนหลับหรือพึ่งสารเสพติด อาจก่อให้เกิดปัญหาทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้ โดยในปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาลที่รับให้คำแนะนำและปรึกษาปัญหา ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้ารับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

Edmunds, W. John (1997). “Social Ties and Susceptibility to the Common Cold”. JAMA: the Journal of the American Medical Association. 278 (15): 1231; author reply 1232.

Herbert, T. B.; Cohen, S. (1993). “Stress and immunity in humans: a meta-analytic review”. Psychosomatic Medicine. 55 (4): 364–379. doi:10.1097/00006842-199307000-00004.

Ogden, J. (2007). Health Psychology: a textbook (4th ed.), pages 281–282 New York: McGraw-Hill ISBN 0335214711