วิธีลดผิวแตกลายอย่างเห็นผลได้จริง

0
36621
วิธีลดผิวแตกลายอย่างเห็นผลได้จริง
ผิวแตกลาย หรือ รอยแตกลาย เป็นแผลเป็นชนิดหนึ่งที่เกิดจากการฉีกขาดของหนังแท้ที่ผิวหนังชั้นกลาง เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
วิธีลดผิวแตกลายอย่างเห็นผลได้จริง
ผิวแตกลาย หรือ รอยแตกลาย เป็นแผลเป็นชนิดหนึ่งที่เกิดจากการฉีกขาดของหนังแท้ที่ผิวหนังชั้นกลาง เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ผิวแตกลาย

ผิวกระจ่างใส เรียบเนียนดูสุขภาพดีเป็นผิวในฝันของใครหลายๆคน แต่เมื่อผิวสวยกลับประสบปัญหามีรอยแตกลายมากวนใจ อาจทำให้หลายคนขาดความมั่นใจ ไม่กล้าสวมใส่เสื้อผ้าที่อวดผิวได้ ทุกปัญหามีทางแก้ ปัญหา ผิวแตกลาย ก็เช่นกัน ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับผิวแตกลายกันก่อน เพื่อที่จะได้หาทางรับมือ แก้ไข และป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตได้

สาเหตุของผิวแตกลาย

ผิวแตกลาย หรือ รอยแตกลาย ที่ทางการแพทย์เรียกว่า Stretch marks หรือ Striae เป็นแผลเป็นชนิดหนึ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย เนื่องจากปรากฏเด่นชัดบนผิวหนัง มีสีแตกต่างอย่างชัดเจนกับผิวหนังส่วนอื่นๆ สาเหตุเกิดจากการฉีกขาดของหนังแท้ที่ผิวหนังชั้นกลาง อันเนื่องมาจากผิวหนังในบริเวณนั้นเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผิวแตกลายนี้มักเกิดได้ง่ายในบริเวณที่มีไขมันสะสมอยู่มาก เช่น บริเวณหน้าอก หน้าท้อง เต้านม ต้นแขน ต้นขา สะดือ สะโพกและน่อง เป็นต้น พบมากในคนบางกลุ่ม เช่น ในเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น โดยเฉพาะในเด็กที่เจริญอาหารจนทำให้ร่างกายอ้วนท้วนหรือโตเร็วเกินไป เมื่อร่างกายเติบใหญ่ขึ้นจนผิวหนังขยายตามไม่ทันจึงส่งผลให้ผิวแตกลายได้ง่าย ในกลุ่มนักกีฬาเพาะกายที่กล้ามเนื้อโตขึ้นในเวลาอันสั้น ในกลุ่มคนที่ควบคุมน้ำหนักจนทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ในกลุ่มผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรังและโรค Marfan Syndrome เป็นต้น กลุ่มผู้ที่ใช้ยาทาหรือรับประทานยาในกลุ่มของสเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน และในกลุ่มสุดท้ายที่พบเจอปัญหาผิวแตกลายมากถึง 90 % คือกลุ่มสตรีตั้งครรภ์

ลักษณะของรอยแตกลาย

คำว่า Striae นั้น แปลว่า ร่องหรือลายเส้นขนาน อาการเริ่มแรกของ ผิวแตกลาย คือผิวหนังจะเกิดรอยเป็นเส้นสีแดงหรือม่วง จากนั้นจะมีสีอ่อนลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นสีขาวขุ่น ผิวแตกลายอาจเรียกอย่างจำเพาะเจาะจงตามลักษณะอาการที่ปรากฏ อาทิ

  • Striae distensae มีลักษณะเป็นลายเส้นขนานจากการยืด
  • Striae atrophicans มีลักษณะเป็นลายเส้นขนานโดยมีอาการผิวฝ่อ
  • Striae rubra มีลักษณะเป็นลายเส้นขนานสีแดง
  • Striae alba มีลักษณะเป็นลายเส้นขนานสีขาว

    วิธีลดรอยแตกลาย

    วิธีลดรอยแตกลายมีหลากหลายวิธี ทั้งวิธีจากภูมิปัญญาชาวบ้าน วิธีทายาแผนปัจจุบัน ตลอดจนการใช้วิทยาการทางการแพทย์ร่วมกับเครื่องมือที่ทันสมัยเข้าช่วย ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้อย่างรวดเร็วทันใจยิ่งขึ้น ดังนี้

    1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อผิว เช่น การรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอและแร่สังกะสี ( พบมากในแคร์รอต ฟักทอง ตำลึง มะละกอ กวางตุ้งและผักบุ้ง ) รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีและวิตามินดี ( พบมากในนม เนย ตับและปลาแซลมอน ) หากอยากให้เห็นผลไวขึ้นอาจทานวิตามินเสริมร่วมด้วย นอกจากนี้การดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นและสร้างความยืดหยุ่นให้กับผิว เครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ ชาและกาแฟ

    2. ทาครีมบำรุง โดยเน้นการทาครีมบำรุงที่มีความเข้มข้นสูง ซึ่งมักมีส่วนผสมของกรดเอเอชเอ ( AHA ) และวิตามินเอเพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและสร้างความยืดหยุ่นให้ผิว การทาครีมทุกวันเป็นประจำหลังอาบน้ำในตอนเช้าและก่อนนอน จะช่วยลดรอยเดิมและยังช่วยป้องกันการเกิดรอยแตกลายใหม่อีกด้วย เคล็ดลับในการทาครีมบำรุงคือพยายามทาครีมและนวดผิวย้อนรอยขึ้นไป สำหรับผู้ออกกำลังกายเพิ่มกล้ามเนื้อหรือสตรีมีครรภ์ ควรทาครีมบำรุงที่เหมาะสมเพื่อให้ผิวบริเวณนั้นมีความชุ่มชื่น ยืดหยุ่น พร้อมสำหรับการขยายตัวในอนาคต

    3. ชโลมน้ำมันจากธรรมชาติ เช่นน้ำมันงา โดยการนำน้ำมันงามาชโลมบนผิวที่แตกลาย ทาทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่น น้ำมันงาสามารถช่วยทำให้ผิวที่เคยแห้งกร้านกลับมาดูสดใสมีน้ำมีนวล แต่หากมีน้ำมันมะกอกก็สามารถใช้ได้เช่นกัน วิธีการคือให้นำไปอุ่นจนเกือบร้อนแล้วนำมานวดวนบริเวณผิวที่แตกลาย ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที แล้วค่อยล้างออก ส่วนน้ำมันอื่น ๆ ที่สามารถช่วยบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นและป้องกัน ผิวแตกลาย ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันละหุ่ง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันอะโวคาโด น้ำมันอัลมอนด์และน้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ เป็นต้น

    4. ทาสมุนไพรลดรอยแตกลาย มีหลายวิธี ดังนี้

    • ว่านหางจระเข้ ใช้วุ้นสีขาวจากว่านหางจระเข้ ( ที่ล้างยางออกแล้ว ) นำมาทาบริเวณ ผิวแตกลาย เป็นประจำทุกเช้า-เย็น ซึ่งจะช่วยทำให้รอยแตกลายนั้นค่อย ๆ ดูจางลงได้ อีกวิธีคือใช้เฉพาะน้ำเมือกจากใบสดว่านหางจระเข้ 1 ส่วน นำมาผสมกับครีมบำรุงผิว 5 ส่วน นำมาทาผิว โดยผสมเพียงพอใช้ในแต่ละครั้ง
    • ใบบัวบก หากมีใบบัวบกก็สามารถใช้ได้ โดยนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำ จากนั้นนำมาทาบริเวณรอยแตกลายเป็นประจำทุกเช้า-เย็น ผิวที่แตกลายก็จะค่อย ๆ จางลงได้ในที่สุด
    • มันฝรั่ง หากเป็น ผิวแตกลาย ในระยะเริ่มต้น อีกวิธีที่แนะนำคือ ใช้มันฝรั่งสด 1 หัว นำมาปอกเปลือกออกแล้วบดให้ละเอียด ทาทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

    ผิวแตกลาย หรือ รอยแตกลาย เป็นแผลเป็นชนิดหนึ่งที่เกิดจากการฉีกขาดของหนังแท้ที่ผิวหนังชั้นกลาง และเกิดการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

    5. ขัดหรือสครับผิว ในระหว่างอาบน้ำให้ใช้ใยบวบขัดผิวควบคู่ไปกับการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีสารสกัดมาจากธรรมชาติ ทำเพียง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ก็สามารถช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกไปและกระตุ้นเซลล์ผิวหนังใหม่ให้ขึ้นมาทดแทนผิวเดิมได้ ซึ่งสูตรสครับผิวสามารถนำวัตถุดิบใกล้ตัวมาทำเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน คือ

    • สูตรมะนาว คั้นเอาน้ำมะนาวและดินสอพองมาผสมกัน จากนั้นนำมาทาพอกบริเวณ ผิวแตกลาย น้ำมะนาวจะมีฤทธิ์เป็นกรดแบบธรรมชาติช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ทำให้อาการแตกลายบนผิวจางลงอย่างรวดเร็ว
      สูตรขมิ้นผสมมะขาม ให้นำขมิ้นและมะขามมาผสมกันแล้วใช้ขัดนวดผิว ขมิ้นมีเคอคูมินที่ทำให้ผิวขาว ส่วนมะขามนั้นมีกรด AHA ที่ช่วยในเรื่องของการผลัดเซลล์ผิว

    ปัจจุบันก็จะนิยมใช้สบู่สมุนไพรจากธรรมชาติสูตรที่ช่วยสครับผิว เพราะสะดวก ใช้ง่าย มีความอ่อนโยนต่อผิวมากขึ้นจึงช่วยลดการระคายเคืองผิวได้มากกว่า สรรพคุณช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้หลุดออกและกระตุ้นการเกิดเซลล์ผิวใหม่ ทำให้รอยแตกลายและริ้วรอยต่างๆจางลง สามารถใช้ได้เป็นประจำทุกวัน เช้า-เย็น สบู่สมุนไพรที่มีคุณสมบัติดังกล่าว เช่น สูตรกาแฟอาราบิก้า สูตรมะขามน้ำผึ้ง และหากต้องการให้ผิวพรรณเรียบเนียนขึ้น ขาวขึ้นเพื่อช่วยให้รอยแตกลายจางลงก็เลือกใช้สบู่สมุนไพรสูตรขมิ้นน้ำผึ้ง หรือขมิ้นทานาคาได้

    6. ทายาแก้ผิวแตกลาย เลือกใช้ยาทาในกลุ่มอนุพันธ์กรดวิตามินเอ เช่น เรตินเอ ( Retin A ) ความเข้มข้นที่เหมาะสมคือ 0.025% หรือ 0.05% หากเข้มข้นมากเกินไปอาจเกิดอาการแสบร้อนผิวได้ วิธีการใช้คือหลังจากอาบน้ำและขัดหรือสครับผิวแล้ว เช็ดตัวรอให้ผิวแห้งสนิท ประมาณ 10 นาที จากนั้นทาเรตินเอบริเวณผิวที่เป็นรอยแตก ( ไม่ต้องลงครีมบำรุงหรือโลชั่นอื่น ) โดยให้ทาเฉพาะก่อนเข้านอนและทำวันเว้นวันเท่านั้น ( สตรีมีครรภ์ห้ามใช้เป็นอันขาด ) ส่วนวันที่ไม่ได้ใช้ก็ให้ทาด้วยครีมบำรุงตามปกติ ทำแบบนี้อย่างสม่ำเสมอประมาณ 1 เดือน จะสังเกตได้ว่าผิวเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ( ในระยะแรกที่ทาอาจทำให้เกิดรอยแดงเป็นวง เป็นรอยดำไหม้ สักพักอาการจะทุเลาและดีขึ้นตามลำดับ )

    7. ทำทรีตเมนต์ เช่น การกรอผิวด้วยเกล็ดอัญมณี ( Microdermabrasion ) เพื่อช่วยทำให้ผิวดูเรียบเนียนขึ้นโดยการกำจัดเซลล์ชั้นบนออกไป หรือทำการผลัดเซลล์ด้วยกรดผลไม้ ( Chemical Peel ) เพื่อช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกไป รวมถึงการรักษาโดยใช้คลื่นวิทยุเพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน เป็นต้น 

    8. การทำเมโสรักษารอยแตกลาย‎ ( Mesotherapy ) เป็นวิธีการใช้เข็มส่งตัวยาที่มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการสมานรอยแตกลายของผิว จึงทำให้รอยแตกลายดูจางลง ใช้กลุ่มยาหลาย ๆ ตัว เช่น กรดอะมิโนไกลซีน ( Glycine ) วาลีน ( Valine ) โปรลีน ( Proline ) ไฮดรอกซีโปรลีน ( Hydroxyproline ) และสารอาหารผิวอื่น ๆ (สตรีมีครรภ์ไม่ควรรักษาด้วยวิธีนี้)

    9. เดอร์มาโรลเลอร์ ( Dermaroller ) อีกหนึ่งเครื่องมือทางการแพทย์ โดยนำมาใช้กลิ้งบริเวณผิวที่ต้องการรักษา ช่วยทำลายพังผืดที่หลุมบนผิวหรือรอยที่เป็นปัญหา ทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินใต้ผิวหนัง จึงช่วยรักษารอยแตกลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ และโดยมากแล้วจะนำมาใช้ควบคู่ไปกับตัวยาหรือเซรั่มบำรุงผิวที่เหมาะกับสภาพผิว จึงช่วยทำให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น แต่ควรทำเป็นประจำทุก ๆ 2 สัปดาห์ ติดต่อกันประมาณ 5-6 ครั้ง จึงจะเห็นผล

    10. การทำเลเซอร์ลดรอยแตกลาย การรักษา ผิวแตกลาย ด้วยเลเซอร์ช่วยให้เห็นผลลัพธ์อย่างรวดเร็วทันใจ แลกกับค่ารักษาที่ค่อนข้างสูง มีทั้งเลเซอร์แบบช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ปรับสีรอยแตกลายให้ใกล้เคียงกับสีผิวปกติ และเลเซอร์สร้างผิวใหม่และเลเซอร์แบบรักษารอยแดงหรือรักษาความผิดปกติของเส้นเลือด ที่แนะนำคือ Fraxel Laser ซึ่งช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน เหมาะกับรอยแตกลายที่เป็นมานาน และ V-Beam Laser ซึ่งช่วยทำลายเส้นเลือดในคนที่มีรอยแตกแดง เหมาะกับรอยแตกลายที่เพิ่งเกิดใหม่หรือมีสีชมพู แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องประมาณ 3-5 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 2 สัปดาห์ จนกว่ารอยแตกลายจะค่อย ๆ จางหายไป จากการศึกษาพบว่า การรักษาด้วยวิธีนี้จะได้ผลประมาณ 40-60%

    11. การทำไอพีแอล ( Intensed Pulsed Light – IPL ) เป็นเทคนิคการใช้แสงความเข้มสูง นำมายิงบริเวณผิวที่เป็นรอยแตก ในขณะยิงจะรู้สึกเจ็บคล้าย ๆ กับโดนหนังสติ๊กดีดผิว แต่วิธีนี้จะได้ผลดีกับรอยแตกในระยะแรกที่มีสีแดง หากเป็นรอยแตกในระยะหลังที่มีสีขาวซีดมักไม่ได้ผล และต้องทำอย่างน้อย 5 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 2 สัปดาห์ จากการศึกษาพบว่า วิธีนี้สามารถทำให้รอยแตกจางลงได้ประมาณ 30-50% ขึ้นอยู่กับระยะของรอยแตกที่เป็น

    12. การฉีดคาร์บ็อกซี่ ( Carboxytherapy ) เป็นวิธีแก้รอยแตกลายด้วยการฉีดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในบริเวณที่ต้องการ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณผิว กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิว การฉีดเพื่อรักษา ผิวแตกลาย ใช้เทคนิคเป็นการฉีดเข้าไปตื้นๆ เพียงชั้นหนังแท้ตามแนวร่องแตกลายผิวหนัง ไม่ได้ฉีดลึกเข้าไปในชั้นไขมันใต้ผิวเหมือนการฉีดสลายไขมัน แต่การรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องทำอย่างน้อย 3-5 ครั้ง ติดต่อกันทุก ๆ 1 สัปดาห์ ซึ่งวิธีนี้จะใช้ได้ผลประมาณ 30-60% หรืออาจไม่ได้ผลเลยขึ้นอยู่กับอาการแตกลายของแต่ละบุคคล
    วิธีต่าง ๆ ที่นำมาแนะนำข้างต้นเป็นเพียงวิธีการรักษาที่ปลายเหตุเท่านั้น ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิด ผิวแตกลาย วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดผิวแตกลาย ได้แก่ การหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพราะช่วยให้ผิวมีความยืดหยุ่นและระดับฮอร์โมนในร่างกายเกิดความสมดุล การทาครีมดูแลผิวให้ชุ่มชื่นแข็งแรง พยายามไม่อาบน้ำอุ่นและไม่เกาผิว เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยบำรุงผิว และควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดผิวแตกลายได้แล้ว ปัญหา ผิวแตกลาย นั้นมักพบได้ในบุคคลทั่วไป จึงไม่ควรกังวลใจเรื่องผิวจนทำให้สูญเสียความมั่นใจ อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นต้องสวมใส่ชุดเผยผิวบริเวณที่แตกลาย การทารองพื้นอำพรางก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้เกิดความมั่นใจและส่งเสริมบุคลิกภายนอกให้ดียิ่งขึ้นได้

    อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

Chang, AL; Agredano, YZ; Kimball, AB (2004). “Risk factors associated with striae gravidarum”. J Am Acad Dermatol. 51: 881–5. doi:10.1016/j.jaad.2004.05.030.

James, William D.; Berger, Timothy G.; et al. (2006). Andrews’ Diseases of the Skin: clinical Dermatology. Saunders Elsevier. ISBN 0-7216-2921-0.

“Stretch Mark”. Encyclopædia Britannica. Retrieved 1 November 2009.
“Stretch Mark”. Retrieved 2011-11-10.