ธาตุสังกะสีตัวช่วยในการดูดซึมสารอาหาร (Zinc)
สังกะสีถูกดูดซึมได้ในลำไส้เล็กตอนต้น ดูดซึมได้ดีในรูปของซิงค์กลูโคเนต พบในเนื้อสัตว์ เมล็ดฟักทอง จมูกข้าวสาลี โกโก้ ชา ถั่ว และกระถิน

ธาตุสังกะสี ( Zinc ) มีความสำคัญอย่างไร

ธาตุสังกะสี ( Zinc ) เป็นธาตุอาหารชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกายของมนุษย์ สัตว์หรือพืช นับเป็นหัวใจในการทำงานร่วมกับเอนไซม์ต่างๆ มากกว่า 300 ชนิด การรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุชนิดนี้อย่างเพียงพอจะช่วยรักษาร่างกายให้ทำงานได้อย่างสมดุล และเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายไม่ต้องการมากนัก นอกจากธาตุเหล็กแล้ว ธาตุสังกะสี คือแร่ธาตุที่พบมากเป็นอันดับสองในเกือบทุกเซลล์ในร่างกาย จะมีสังกะสีอยู่ 1.8 กรัม แต่มีเหล็กอยู่ถึง 5 กรัมและเนื่องจากในอาหารจำพวกผักผลไม้มี  แร่ธาตุสังกะสีอยู่ในปริมาณน้อย ผู้ที่ทานอาหารเจหรืออาหารมังสวิรัติจึงได้รับสังกะสีน้อยกว่าคนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ทาน

หน้าที่ของแร่ธาตุสังกะสีในร่างกาย

1. มีส่วนช่วยในการดูดซึมและการเกิดปฏิกิริยาของวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินบีรวม

2. เป็นส่วนหนึ่งของน้ำย่อยในการย่อยอาหารและการเผาผลาญภายในร่างกาย เช่น

  • เอนไซม์แลคเตตและมาเลตดีไฮโดรจีเนส ( Latate and Malate Dehydrogenase ) ที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ในการสร้างพลังงาน
  • เอนไซม์ซุปเปอร์ออกไซด์ ดิสมิวเทส ( Super Oxide Dismutase, SOD ) ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น สามารรถช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ และชะลอวัยได้
  • น้ำย่อยคาร์โบนิก แอนไฮเดรส ( Carbonic Anhydrase ) เป็นน้ำย่อยที่สำคัญต่อการหายใจของเนื้อเยื่อและทำให้กรดอะมิโนมีความสมดุล

3. ช่วยให้ฮอร์โมนอินซูลินและอวัยวะรับสัมผัสทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เช่น การรับรู้รสชาติและกลิ่นต่าง ๆ ได้ไวขึ้น

4. เป็นส่วนหนึ่งของน้ำย่อยแอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส ( Alcohol Dehydrogenase ) ซึ่งช่วยในการขจัดสารพิษในตับอย่างแอลกอฮอล์ให้หมดไป

5. ช่วยในการย่อยคาร์โบไฮเดรตและฟอสฟอรัสเมแทบอลิซึม ให้ร่างกายนำไปใช้งานได้ง่ายขึ้น

6. มีความสำคัญในการสังเคราะห์และเมแทบอลิซึมของกรดนิวคลิอิก อย่าง ดีเอ็นเอ ( DNA ) และอาร์เอ็นเอ ( RNA ) ซึ่งร่างกายจำเป็นต้องใช้ในระหว่างสร้างเซลล์ใหม่

7. มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็กทารก เด็กวัยรุ่น และผู้หญิงตั้งครรภ์ และการพัฒนาของอวัยวะสืบพันธ์ุอย่างเหมาะสมและช่วยให้การทำงานของต่อมลูกหมาก ( Prostate Gland ) เป็นไปตามปกติ

8. ช่วยให้เซลล์สามารถนำวิตามินเอไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ทำให้เซลล์ผิวหนังที่เกิดขึ้นใหม่มีความสมบูรณ์ช่วยให้ความสมดุลของผิวหนังเป็นปกติ และช่วยป้องกันปัญหาสิวซึ่งมีสาเหตุมาจากการอุดตันของไขมันได้

9. ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการทำงานของเม็ดเลือดขาว 

การดูดซึมแร่ธาตุสังกะสีของร่างกาย

แร่ธาตุสังกะสี ( Zinc ) จะถูกดูดซึมได้ในลำไส้เล็กตอนต้น หากเป็นในรูปของซิงค์กลูโคเนตจะทำให้ดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น สังกะสีส่วนใหญ่จะถูกขับถ่ายออกมาทางอุจจาระ

มีถูกขับออกทางปัสสาวะเป็นส่วนน้อย โดยสังกะสีจะถูกเก็บเอาไว้มากที่สุดใน ตับ ตับอ่อน ไต กระดูกและเนื้อเยื่อที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการบังคับของจิตใจ ที่เหลืออาจถูกเก็บไว้ในต่อมลูกหมากและตัวอสุจิ ผิวหนัง ผม เล็บมือปละเล็บเท้า หากร่างกายได้รับแคลเซียมฟอสฟอรัส วิตามินดี สารไฟเตตและใยอาหารในปริมาณมากจะมีผลให้การดูดซึมของสังกะสีถูกขัดขวาง ดังนั้นหากบริโภคอาหารที่มีสารเหล่านี้สูง ก็ควรจะบริโภคอาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสีเข้าไปในปริมาณที่เท่าๆ กันด้วย

อาหารที่มีธาตุสังกะสี

แร่ธาตุสังกะสี พบได้ทั่วไปในอาหารจำพวกสัตว์และพืชในสัตว์โดยเฉพาะในอาหารทะเล หอยนางรม ตับ ตับอ่อน ไข่ เนื้อสัตว์ เมล็ดฟักทอง จมูกข้าวสาลี โกโก้ ชา ถั่ว และกระถิน แต่พบไม่มากนักในผักและผลไม้ และร่างกายก็ไม่สามารถที่จะดูดซึมได้ดีนัก เพราะในผักผลไม้มีใยอาหารและมีสารไฟเตตซึ่งจะไปจับกับสังกะสีทำให้ร่างกายดูดซึมได้น้อยลง จึงได้รับสังกะสีจากผักผลไม้น้อยมากนั่นเอง

ปริมาณสังกะสีอ้างอิงที่ควรได้ต่อวันสำหรับคนไทยในแต่ละวัย
เพศ อายุ ปริมาณ หน่วย
ทารก 6-11 เดือน 3 มิลลิกรัม/วัน
เด็ก 1-3 ปี 2 มิลลิกรัม/วัน
4-5 ปี 3 มิลลิกรัม/วัน
6-8 ปี 4 มิลลิกรัม/วัน
วัยรุ่นผู้ชาย 9-12 ปี 5 มิลลิกรัม/วัน
13-15 ปี 8 มิลลิกรัม/วัน
16-18 ปี 9 มิลลิกรัม/วัน
วัยรุ่นผู้หญิง 9-12 ปี 5 มิลลิกรัม/วัน
13-15 ปี 7 มิลลิกรัม/วัน
16-18 ปี 7 มิลลิกรัม/วัน
ผู้ใหญ่ผู้ชาย 19-≥ 71 ปี 13 มิลลิกรัม/วัน
ผู้ใหญ่ผู้หญิง 19-≥ 71 ปี 7 มิลลิกรัม/วัน
ผู้หญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับเพิ่มอีก 2 มิลลิกรัม/วัน
ผู้หญิงให้นมบุตร ควรได้รับเพิ่มอีก 1 มิลลิกรัม/วัน

จากผลการศึกษาวิจัยพบว่าหากอยู่ในภาวะตึงเครียด อยู่ในช่วงอดอาหาร หรือมีอาการเจ็บป่วย จะทำให้ร่างกายมีความต้องการสังกะสีมากขึ้น รวมทั้งผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน

สาเหตุที่ร่างกายขาดแร่ธาตุสังกะสี

1.ได้รับสังกะสีไม่พอเพียงต่อความต้องการ เช่น ไม่ค่อยรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสีมากนัก หรือรับประทานแต่อาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสีน้อย

2. ร่างกายดูดซึมแร่ธาตุสังกะสีได้ลดน้อยลง ซึ่งอาจมีสาเหตุจาก

  • รับประทานอาหารที่มีใยอาหารและไฟเตตในปริมาณที่มากเกินไป
  • ได้รับแคลเซียม หรือธาตุเหล็กในปริมาณมาก
  • เป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้เล็กหรือโรคทางพันธุกรรมจึงเป็นผลให้ร่างกายดูดซึมสังกะสีได้น้อยลง
  • มีอายุเพิ่มสูงขึ้น ทำให้การดูดซึมแย่ลงไปด้วย

3. โปรตีนที่เป็นตัวนำสังกะสีในกระแสเลือดถูกผลิตออกมาน้อยลงอันเนื่องมาจากการขาดโปรตีน ทำให้ร่างกายนำสังกะสีไปใช้ได้น้อย

4. ร่างกายสูญเสียสังกะสี เช่น อาจมีอาการป่วยเป็นโรคไต ส่งผลให้สังกะสีถูกขับออกมาทางปัสสาวะ หรือผู้ป่วยที่โดนน้ำร้อนลวก โดนไฟไหม้ ก็จะทำให้สูญเสียสังกะสีไปกับน้ำเหลืองที่ออกมาทางบาดแผล

5. ร่างกายมีความต้องการธาตุสังกะสีเพิ่มมากขึ้น เช่น อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร หรือเด็กที่อยู่ในช่วงวัยเจริญเติบโต หากได้รับสังกะสีไม่พอเพียงแก่ความต้องการในช่วงที่กล่าวมาแล้ว ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดสังกะสีได้

6. การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะยาคุมกำเนิดมีผลทำให้ต้องการสังกะสีมากกว่าปกติ

ผลจากการขาดธาตุสังกะสี

การที่ร่างกายขาดธาตุสังกะสี จะส่งผลให้ระบบภูมิต้านทาน และการทำงานในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำให้เจริญเติบโตได้ช้า แผลหายช้า ความไวในการรับรสหย่อนประสิทธิภาพ และไม่อยากรับประทานอาหาร นอกจากนี้การได้รับแร่ธาตุที่เป็นพิษอย่างแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายก็จะทำให้เกิดการขาดสังกะสีมากขึ้น และหากร่างกายขาดสังกะสี แคดเมียมก็จะยังคงอยู่ในร่างกายซึ่งก็จะเป็นผลให้ร่างกายเสื่อมสภาพเร็วขึ้น นอกจากนี้การขาดสังกะสียังมีโอกาสทำให้เป็นหมันและทำให้ร่างกายแคระแกรน มีความผิดปกติของต่อมลูกหมากเกิดขึ้น

อาการเป็นพิษจากธาตุสังกะสี

การได้รับแร่ธาตุสังกะสีเข้าสู่ร่างกายมากเกินไปจะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำเหล็กและทองแดงไปใช้ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้หากได้รับสังกะสีซัลเฟต ( Zine Sulfate ) ประมาณ 2 กรัมหรือมากกว่า 2 กรัมขึ้นไปจะทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย โดยจะทำให้ระบบทางเดินอาหารมีอาการผิดปกติ มีการอาเจียน หากได้รับ 18.5 – 25 มิลลิกรัมต่อวัน จะมีผลให้ระดับทองแดงในเลือดต่ำ ( Hypocupremia ) เม็ดเลือดแดงจะเล็กลงกว่าปกติ ( Microcytosis ) และทำให้เม็ดเลือดขาวชนิด ( Neutrophil ) มีจำนวนน้อยกว่าปกติ ( Neutropenia )

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

“Atomic weights of the elements 2013 (IUPAC Technical Report)”. Pure Appl. Chem. 88 (3): 265–91. 

Weast, Robert (1984). CRC, Handbook of Chemistry and Physics. Boca Raton, Florida: Chemical Rubber Company Publishing. pp. E110. ISBN 0-8493-0464-4.

Thornton, C. P. (2007). “Of brass and bronze in prehistoric Southwest Asia” (PDF). Papers and Lectures Online. Archetype Publications. ISBN 1-904982-19-0.