การตรวจ Albumin ในเลือดจำเป็นอย่างไร
อัลบูมิน เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นได้เองจากตับ และพบมากในเลือดส่วนที่เป็นน้ำเลือดหรือที่เรียกว่า พลาสมา

อัลบูมิน

อัลบูมิน ( Albumin ) มาจากคำว่า albus ภาษาละติน คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นได้เองจากตับ และพบมากในเลือดส่วนที่เป็นน้ำเลือดหรือที่เรียกว่า พลาสมา ( Plasma ) คิดเป็นอัตราส่วนที่มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณพลาสมาทั้งหมด มีคุณสมบัติในการละลายน้ำได้ดีมาก มีอนูขนาดเล็กและเคลื่อนที่ได้ไกลกว่าโปรตีนชนิดอื่นๆ ในพลาสมา Albumin แต่ละรุ่นที่ถูกสังเคราะห์ออกมาจากตับนั้นจะมีครึ่งชีวิตอยู่ราวๆ 20 วัน ในวัยผู้ใหญ่จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35-55 ก. / ดล. ถ้ามีค่าสูงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากไป ก็สามารถใช้เป็นข้อสันนิษฐานในการเกิดโรคบางชนิดได้ ซึ่งระดับของค่า Albumin นี้จะบ่งบอกถึงภาวะโภชนาการของร่างกายในช่วงระยะยาว

บทบาทและหน้าที่หลักของอัลบูมินในร่างกาย

1. รักษาแรงดันออสโมติคของเลือด : โดยเฉพาะในส่วนที่เราเรียกกันว่า Oncotic Pressure เป็นแรงดันที่ทำหน้าที่ดึงดูดน้ำเอาไว้ภายในหลอดเลือด เหตุผลที่อัลบูมินมีผลกระทบต่อแรงดันประเภทนี้มากก็เพราะคุณสมบัติในการอุ้มน้ำที่ดีเยี่ยมของมันนั่นเอง เมื่อไรที่โปรตีน Albumin ลดลง ค่าแรงดัน Oncotic Pressure ก็จะลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้น้ำเคลื่อนตัวออกนอกหลอดเลือด เกิดเป็นภาวะบวมน้ำในที่สุด
2. ทำหน้าที่เป็นบัฟเฟอร์ : บัฟเฟอร์ก็คือสารละลายของกรด หรือคู่เบสของกรดอ่อน Albumin ก็ทำหน้าที่เป็นบัฟเฟอร์คอยจับกับ H+ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย ทำให้ความเป็นกรดในเลือดลงลดอยู่สภาวะปกติได้
3. ทำหน้าที่ขนส่งสารต่างๆ ในเลือด : สารต่างๆ ที่ว่านี้ได้แก่ ฮอร์โมน กรดไขมัน แคลเซียม เป็นต้น เส้นทางการขนส่งคือ Albumin จะขนส่งสารจากแหล่งผลิตไปยังพื้นที่เป้าหมายเพื่อออกฤทธิ์ตามต้องการ ซึ่งกระบวนการขนส่งที่ว่านี้ไม่ได้มีข้อดีเพียงแค่การเคลื่อยย้าย แต่เป็นการปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ช่วยลดความเป็นพิษของสารบางชนิดได้ ช่วยส่งเสริมการละลายยาในพลาสมา ช่วยในการละลายกรดไขมันในพลาสมา เป็นต้น

ความผิดปกติของ Albumin ในเลือด

  • Analbuminemia : เป็นลักษณะของการตรวจไม่พบอัลบูมินในเลือดเลยหรือพบในปริมาณที่น้อยมากๆ ถือเป็นความผิดปกติที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ส่งผลให้คนรุ่นต่อมามีความบกพร่องในการสังเคราะห์ Albumin อย่างไรก็ตาม อาการที่ว่านี้ไม่ได้มีผลร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • Hypoalbuminemia : เป็นลักษณะของการมีปริมาณ Albumin ในเลือดน้อยมาก แต่เกิดจากสาเหตุที่แตกต่างจากกรณีของความผิดปกติแบบแรก เช่น มีภาวะการทำงานที่ผิดปกติของตับ มีการสูญเสีย Albumin ทางปัสสาวะเนื่องจากโรคไตบางชนิด การสูญเสียผ่านทางผิวหนังจากผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุจนเซลล์ผิวหนังเสียหาย เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังพบในผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษด้วย
  • Hyperalbuminaemia : เป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับ 2 กลุ่มแรก เพราะนี่เป็นภาวะที่มีระดับ Albumin สูงกว่าปกติมาก หลายครั้งพบว่าเกิดจากร่างกายขาดน้ำ จึงทำให้ความเข้มข้นในกระแสเลือดเปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง

การตรวจหาค่า  อัลบูมินในเลือดคืออะไร

อันที่จริงการตรวจวัดอัลบูมินเป็นข้อกำหนดในการตรวจสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว แต่ที่หลายคนไม่รู้จักอาจจะเป็นเพราะแพทย์ผู้ตรวจไม่เห็นความผิดปกติและไม่ได้ชี้แจงลงลึกขนาดนั้น เราอาจได้รู้จักกับการตรวจนี้ในอีกชื่อหนึ่งคือ ALB TESTภาพรวมของการตรวจก็คือการวัดสถานะทางโภชนาการของร่างกาย รวมไปถึงประเมินสภาพการทำงานของตับและไตไปด้วยในตัว ซึ่งถือเป็นการตรวจที่มีประโยชน์สูงมาก เพราะในผู้ป่วยหลายรายที่มีภาวะโรคตับและไต ไม่แสดงอาการใดๆ เลย เป็นเหมือนโรคร้ายที่แอบแฝงอยู่ จนกระทั่งเข้าขั้นวิกฤติแล้วนั่นเอง การตรวจเจอเร็วจึงช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้เร็วขึ้น และโอกาสที่จะหายเป็นปกติก็มีมากขึ้นด้วย

ทำไมเราต้องตรวจค่า อัลบูมิน

อย่างที่ได้รู้กันไปคร่าวๆ แล้วว่าอัลบูมินมีความสำคัญต่อระบบในร่างกายของเราอย่างไรบ้าง และในเมื่อมีค่ามาตรฐานที่เหมาะสมอยู่ การตรวจหาค่า Albumin ในเลือดจึงเป็นการเช็คว่าตอนนี้ร่างกายยังมีสภาวะที่เป็นปกติดีอยู่หรือไม่ และสามารถเชื่อมโยงไปยังโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ได้อีกด้วย ประโยชน์ที่ได้รับก็คือ เมื่อรู้แล้วก็จะได้หาทางป้องกันได้อย่างทันท่วงที ทำให้โรคนั้นไม่ลุกลามจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ หากเจาะจงลงไปให้ละเอียดยิ่งกว่านี้ ผลที่จะได้รับแบบชัดเจนที่สุดจากการตรวจวัด Albumin ก็คือ
1. เพื่อวัดและประเมินศักยภาพการทำงานของตับ ว่ายังสมบูรณ์ดีอยู่หรือไม่
2. เพื่อวัดว่าส่วนของไตเริ่มมีปัญหาในการกรองของเสียจากร่างกายหรือไม่
3. ส่วนของลำไส้ที่ทำหน้าที่ดูดซึม เกิดอาการอักเสบหรือมีปัญหาในการดูดซึมหรือไม่

ขั้นตอนในการตรวจหา อัลบูมินในเลือด

ส่วนที่ต้องใช้ในการตรวจก็คือ “ เลือดดำ ” สามารถเข้ารับการตรวจได้เลยโดยไม่ต้องอดอาหารเหมือนกับการตรวจเลือดทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญจะทำการเจาะและดูดเอาเลือดดำออกไป นำส่งห้องตรวจเพื่อปั่นแยกซีรัมแล้วตรวจวัดด้วยวิธีเฉพาะ โดยปกติก็จะรู้ผลได้ภายใน 4 ชั่วโมงและสามารถตรวจซ้ำได้อีกหลังจาก 48 ชั่วโมง นับจากการเจาะครั้งก่อนหน้า

ปัจจัยที่ทำให้ค่า Albumin ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

  • เกิดการอักเสบแบบเฉียบพลันของอวัยวะภายใน
  • การทำงานของตับซึ่งเป็นแหล่งสังเคราะห์อัลบูมินล้มเหลว
  • ร่างกายขาดธาตุกลุ่มสังกะสีอย่างรุนแรง
  • เกิดการสูญเสียโปรตีนจำนวนมากอย่างรวดเร็ว เช่น ไฟไหม้ แผลเปิด เป็นต้น
  • การเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำในหลอดเลือด
  • การตั้งครรภ์

ปัจจัยที่ทำให้ค่า Albumin สูงกว่าค่าเฉลี่ย

  • ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ
  • เกิดการรับสาร Albumin เพิ่มเติมทางหลอดเลือด
  • การรับเลือด
  • ได้รับสารประเภทสเตียรอยด์

อัลบูมิน เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นได้เองจากตับ และพบมากในเลือดส่วนที่เป็นน้ำเลือดหรือที่เรียกว่า พลาสมา

การรักษาภาวะ อัลบูมินในเลือดมีต่ำเกินไป

จะเห็นได้ว่ามีสาเหตุหลายประการที่ทำให้ค่า อัลบูมินในเลือดต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นสามารถสรุปเป็นคำสั้นๆ ง่ายๆ ให้เข้าใจได้แบบกลุ่มก้อนเดียวกัน ก็คือ การสูญเสียโปรตีนมากเกินไปนั่นเอง และการบำบัดด้วยการให้ Albumin คืนสู่ร่างกาย ก็ถือเป็นการแก้ไขที่ตรงจุดและรวดเร็วมากที่สุด เพียงแต่ว่ามันให้ผลลัพธ์ที่ดีแค่ชั่วคราวเท่านั้น ยกเว้นว่าเมื่อให้ Albumin ไปแล้ว ความผิดปกติต่างๆ จะหายไปได้เอง แต่ก็พบได้น้อยมาก ทางที่ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่าก็คือ การให้สารอาหารทดแทนจำพวกโปรตีนและกรดอะมิโนต่างๆ ร่วมไปกับการรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การบำบัดทั้ง 2 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้สารละลาย Albumin เข้าสู่ร่างกายโดยตรง หรือการใช้สารอาหารทดแทน ก็ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ก่อนที่ระดับค่า Albumin จะคืนสู่ภาวะปกติได้จริงๆ ยิ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บที่รุนแรง เช่น เกิดการติดเชื้อ มีอาการอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น ก็อาจจะต้องใช้เซรัม Albumin จากมนุษย์เข้ามาช่วยอีกแรงหนึ่งด้วย

การรักษาภาวะ อัลบูมินในเลือดสูงเกินไป

ในส่วนนี้จะต่างกับภาวะอัลบูมินมีค่าต่ำค่อนข้างมาก เพราะสาเหตุของการเกิดนั้นมีอยู่ไม่มากเท่าไร และวิธีแก้ไขก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อน โดยเริ่มจากหาให้ได้ก่อนว่าต้นตอที่แท้จริงคืออะไร แล้วรักษาไปตามความเหมาะสม เช่น ถ้าเกิดจากภาวะขาดน้ำ ก็เพียงแค่ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ปรับนิสัยการดื่มน้ำเสียใหม่ ค่า Albumin ก็จะกลับคืนสู่ปกติได้ไม่ยาก หรือหากเกิดจากการรับสารสเตียรอยด์ ก็เพียงแค่ลดการใช้สารเหล่านั้นลง เป็นต้น

ประโยชน์ของ อัลบูมิน

ในทางการแพทย์มีการนำเอา Albumin มาใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยที่เกิดภาวะโปรตีนในเลือดต่ำหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการประสบอุบัติเหตุพร้อมกับสูญเสียเลือดเป็นจำนวนมาก การสูญเสียโปรตีนเนื่องจากการผ่าตัด ไปจนถึงปัญหาตับวายและโรคเกี่ยวกับสมดุลโปรตีนอื่นๆ ดังต่อไปนี้
1. การรักษาภาวะตัวเหลืองในเด็กทารกแรกเกิด : เราเรียกอาการนี้ว่า Neonatal Hperbilirubinemia นี่เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากสำหรับเด็กแรกเกิด ส่วนมากมีสาเหตุมาจากมีระดับ billrubin ที่สูงกว่าค่าปกติ ซึ่ง billrubin เป็นสารที่ทำให้เกิดสีเหลืองออกน้ำตาล มาจากการแตกตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดงในหลอดเลือด แน่นอนว่าต้องตรวจระดับอาการอย่างละเอียดดีเสียก่อน และต้องใช้วิธีการรักษาหลายแนวทางร่วมกันตามที่แพทย์เห็นสมควร และหนึ่งในวิธีเหล่านั้นก็คือการเอา Albumin เข้ามาช่วย โดยสามารถอธิบายกระบวนการได้ง่ายๆ คือ เพิ่มปริมาณ Albumin เข้าไป เพื่อให้ billrubin มาจับเอาไว้ แล้วส่งไปที่ตับ จากนั้นตับจะดำเนินการต่อจนกระทั่งสารเหล่านี้ถูกขับออกสู่ลำไส้ทางน้ำดี และขับออกทางอุจจาระต่อไป ในส่วนของการใช้งาน จะให้ในปริมาณ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัวของทารก 1 กิโลกรัม ด้วยการถ่ายเลือดในอัตราเร็วที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน
2. การรักษาภาวะโปรตีน อัลบูมินในเลือดต่ำ : ภาวะนี้เรียกอีกอย่างว่า hypoproteinemia ซึ่งมีสาเหตุในการเกิดที่หลากหลาย แต่มีผลสุดท้ายเหมือนกัน นั่นก็คือมีค่าโปรตีนในเลือดที่ต่ำเกินไป และด้วยความที่โปรตีนชนิดนี้มีส่วนสำคัญมากกับระบบการทำงานแทบจะทุกส่วนในร่างกาย จึงเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการที่แฝงอยู่หลายอย่าง และยังมีโอกาสเชื่อมโยงไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ ได้อีก วิธีการใช้คือให้สารละลาย Albumin ในขนาดไม่เกิน 2 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมสำหรับผู้ใหญ่ ด้วยค่าอัตราเร็วและความเข้มข้นที่เหมาะสมตามการวินิจฉัยของแพทย์ ส่วนในเด็กจะรักษาด้วยวิธีอื่น
3. การชดเชยภาวะสูญเสียน้ำและเกลือแร่แบบฉับพลัน : ทั้งน้ำและเกลือแร่ในร่างกายจะมีค่าๆ หนึ่งที่เป็นปริมาณสมดุล ทำให้ร่างกายสามารถดำเนินการต่างๆ ได้ตามปกติ แต่เมื่อมีความผิดปกติบางอย่างจนร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว อาการเบื้องต้นจะมาในลักษณะของการช็อก ก็ต้องรีบชดเชยน้ำและเกลือแร่กลับเข้าไปให้ทันท่วงที หากปล่อยไว้ระบบต่างๆ ก็จะรวนและเกิดความเสียหายที่รุนแรงขึ้นได้ เช่น เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น ในกรณีนี้เราสามารถใช้ประโยชน์จาก Albumin ได้โดยตรง แบ่งเป็น 2 ช่วงวัย คือวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ ในวัยเด็กจะให้สารละลาย Albumin ในปริมาณมากที่สุด 1 กรัมต่อน้ำหนักตัวของเด็ก 1 กิโลกรัม จากนั้นสังเกตการตอบสนองก่อนจะเพิ่มหรือลดปริมาณ สำหรับผู้ใหญ่จะให้ที่ปริมาณ 25 กรัมต่อน้ำหนักตัวของผู้ป่วย 1 กิโลกรัม จากนั้นสังเกตดูการตอบสนองก่อนปรับเพิ่มหรือลดปริมาณเช่นเดียวกัน

ข้อกำหนดในการใช้ อัลบูมิน

แม้ว่าสาร อัลบูมินจะถือว่าเป็นสารที่มีความปลอดภัยสูงมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะใช้อย่างไรก็ได้ตามใจ จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากแพทย์เสียก่อน ทั้งเรื่องของปริมาณการใช้และอัตราเร็วที่จะส่งผ่านทางหลอดเลือดดำเข้าสู่ร่างกาย เพราะหากร่างกายมีค่า Albumin สูงขึ้นเร็วเกินไปก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เหมือนกัน และในหญิงตั้งครรภ์ควรงดเว้นการใช้ Albumin โดยเด็ดขาด เพราะมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ หรือถ้ามีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด และหมั่นติดตามผลอยู่เสมอ
จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า Albumin เป็นสารที่มีความสำคัญต่อร่างกายหลากหลายด้าน และเป็นค่ามาตรฐานในร่างกายที่เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญด้วย ดังนั้นเมื่อมีโอกาสก็ควรตรวจวัดค่า Albumin ในเลือดดูบ้าง อย่างน้อยเราจะได้รู้ว่าควรดูแลเรื่องโภชนาการของตัวเองต่อไปอย่างไร

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

Sowa ME, Bennett EJ, Gygi SP, Harper JW (2009). “Defining the Human Deubiquitinating Enzyme Interaction Landscape”. Cell. 138 (2): 389–403. doi:10.1016/j.cell.2009.04.042. PMC 2716422 Freely accessible. PMID 19615732.

Curry S (2002). “Beyond expansion: structural studies on the transport roles of human serum albumin”. Vox Sang. 83 Suppl 1: 315–9. doi:10.1111/j.1423-0410.2002.tb05326.x. PMID 12617161.

Fu BL, Guo ZJ, Tian JW, Liu ZQ, Cao W (2009). “[Advanced glycation end products induce expression of PAI-1 in cultured human proximal tubular epithelial cells through NADPH oxidase dependent pathway]”. Xi Bao Yu Fen Zi Mian Yi Xue Za Zhi. 25 (8): 674–7. PMID 19664386.

Ascenzi P, di Masi A, Coletta M, Ciaccio C, Fanali G, Nicoletti FP, Smulevich G, Fasano M (2009). “Ibuprofen Impairs Allosterically Peroxynitrite Isomerization by Ferric Human Serum Heme-Albumin”. J. Biol. Chem. 284 (45): 31006–17. doi:10.1074/jbc.M109.010736. PMC 2781501 Freely accessible. PMID 19734142.