คอเลสเตอรอล
คอเลสเตอรอล ( Cholesterol ) คือ สารชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นกึ่งของแข็งและกึ่งของเหลวสามารถ สามารถพบได้ในอาหาร และพบได้ในเซลล์ทั่วไปของอวัยวะในร่างกายโดยปกติร่างกายของมนุษย์เราสามารถสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นมาเองได้ จากอวัยวะอย่างเช่น ตับ ไขสันหลัง สมอง และผนังหลอดเลือดแดง นอกจากนี้คอเลสเตอรอลยังอาจจะได้รับมาจากการทานอาหารเข้าไป แม้ว่า คอเลสเตอรอล จะถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มสารไขมันในเลือด ( Lipid Profile ) แต่ในความ เป็นจริง คอเลสเตอรอล เป็นสารคล้ายไขมัน แต่ไม่ใช่ไขมันที่แท้จริงซะทีเดียว เนื่องจาก คอเลสเตอรอล เป็นสารที่ไม่มีค่าพลังงาน หรือไม่มีแคลอรี่ ซึ่งต่างจากไขมันที่จะมีค่าพลังงานประมาณ 9 แคลอรีต่อกรัม
ประวัติความเป็นมาของ คอเลสเตอรอล
คอเลสเตอรอล ถูกค้นพบขึ้นในปี ค.ศ. 1769 โดยนักวิจัยชาวฝรั่งเศส ที่วิจัยพบคอเลสเตอรอลในสภาพเป็นของแข็งที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี ( Gallstone )
Cholesterol มาจากภาษากรีก โดยประกอบด้วย |
Chole = Bile คือน้ำดีจากตับ
Stereos = Solid คือของแข็ง Ol = Suffix คือแสดงว่าเป็นแอลกอฮอล์ |
คอเลสเตอรอล เป็นสารตั้งต้นของน้ำดี หรือกรดน้ำดีซึ่งหากน้ำดีอยู่ในถุงน้ำดีจนมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะตกผลึกจับตัวกันเป็นของแข็ง และในที่สุดก็จะกลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดีซึ่งก็คือ การเปลี่ยนสภาวะมาเป็นของแข็งได้ ตามรากศัพท์ของชื่อที่ได้ตั้งขึ้นมา
คอเลสเตอรอล จัดเป็นลิปิด ( Lipid ) ชนิดหนึ่งในกลุ่มสเตอรอล มีบทบาทสำคัญคือเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ของสัตว์ (Cell Membrane) และเป็นสารเริ่มต้นในการสังเคราะห์สเตอรอยด์ฮอร์โมนที่เป็นฮอร์โมนเพศทั้งเพศชายและเพศหญิง สังเคราะห์กรดน้ำดี เกลือน้ำดี (Bile Salt) และวิตามินดี
คอเลสเตอรอลที่ได้รับจากการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น อาหารที่มาจากพืชไม่มีคอเลสเตอรอล ดังนั้นการบริโภคผักและผลไม้เป็นประจำทุกวันจะช่วยลดคอเลสเตอรอลได้
ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นเองได้ที่ตับ ซึ่งสังเคราะห์ได้วันละ 80 – 1,500 มิลลิกรัม คอเลสเตอรอลในเลือดสูงจะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคไขมันเกาะที่ผนังหลอดเลือด ( Atheroscherosis ) ซึ่งเป็นเหตุให้เส้นเลือดตีบ และเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และโรคความดันโลหิตสูง
คอเลสเตอรอล มีหน้าที่และความสําคัญอย่างไร ?
คอเลสเตอรอลมีความสำคัญต่อร่างกาย เพราะ คอเลสเตอรอลเป็นสารลักษณะเหมือนขี้ผึ้ง ( Waxy Substance ) แต่ละวันมนุษย์จะต้องใช้คอเลสเตอรอลในการดำรงชีวิต โดยคอเลสเตอรอลมีบทบาทและหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. คอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบของเยื่อผนังห่อเซลล์ทุกเซลล์ทั่งร่างกาย ( ซึ่งมีประมาณ 100 ล้านล้านเซลล์) เพื่อสร้างคุณสมบัติความเลื่อนไหลไปมา ( Fluidity ) ทำให้เกิดความสะดวกต่อการผ่านเข้า – ออกเซลล์ ของสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เป็นต้น
2. คอเลสเตอรอลเป็นวัตถุดิบให้ร่างกายผลิตน้ำดี ( Bile ) เนื่องจากน้ำดีเป็นสิ่งที่ร่างกายจะต้องใช้ในการย่อยอาหารประเภทไขมัน รวมถึงช่วยในการดูดซึมวิตามินที่ละลายอยู่ในไขมัน เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค เพื่อให้ร่างกายได้นำวิตามินเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป
3. คอเลสเตอรอลเป็นสารเริ่มต้น ( Precursor ) หรือเป็นวัตถุดิบให้ร่างกายใช้สังเคราะห์วิตามินดี ขึ้นมาใช้เมื่อร่างกายได้รับแสงได้ โดยอาจจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ บริเวณใต้ผิวหนังของมนุษย์เราที่มี คอเลสเตอรอล จะมีกระบวนการที่จะทำให้แสงยูวีเหล่านี้กลับกลายมาเป็น วิตามินดี ซึ่งจะมีปะโยชน์ต่อร่างกายคือ
- ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกาย จากการถูกนำไปสร้างเป็นวิตามินดี
- ช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามิน โดยไม่ต้องไปพึ่งอาหารเสริมต่างๆทำให้ร่างกายได้รับปริมาณแคลเซียมที่เพียงพอ และยังป้องกันโรคกระดูกพรุนได้อีกด้วย
4. นำไปใช้ผลิตผลิตฮอร์โมนเพศในร่างกาย คอเลสเตอรอลซึ่งเป็นสารสเตอรอยด์ ( Steroid ) อยู่แล้วจึงถูกร่างกายนำไปใช้ผลิต สเตอรอยด์ฮอร์โมน ( Steroid Hormones ) และคอเลสเตอรอลยังเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่เป็นแหล่งกำเนิดของฮอร์โมนในส่วนต่างๆของร่างกายรวมทั้งฮอร์โมนเพศด้วย เช่น
- Cortisol และ Aldosterone สำหรับต่อมอะดรินัส ( ต่อมหมวกไต ) ในการควบคุมอารมณ์ ควบคุมโซเดียม
- Testosterone ( ฮอร์โมนเพศชาย ) และ Estrogen ( ฮอร์โมนเพศหญิง ) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศ ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว มีความกระชุ่มกระชวย เพิ่มอารมณ์ทางเพศทั้งชายและหญิง ซึ่งหากผู้ใดมีการกินยาเพื่อลดคอเลสเตอรอลจะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนต่างๆ เหล่านี้จะลดตามไปด้วย
5. คอเลสเตอรอลเป็นฉนวนปกป้องห่อหุ้มเส้นใยประสาท ( To Insulate Nerve Fibres ) คอเลสเตอรอลยังทำหน้าที่ปกป้องห่อหุ้มเส้นใยประสาท เพื่อให้การสื่อสารของเซลล์วิ่งไปตาม เส้นในประสาท ได้อย่างถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยนเพราะเส้นใยประสาททุกเส้นจะถูกห่อหุ้มด้วย ไมลีนซีธ ( Myelin Sheath ) ที่ผลิตด้วยคอเลสเตอรอล เสมือนเป็นฉนวนสายไฟฟ้านั่นเองซึ่งหากระบบนี้ทำงานผิดพลาดระบบประสาทในร่างกายก็อาจผิดเพี้ยนตามไปด้วย เช่น จมูกรับกลิ่นไม่ได้ มีอาการมือสั่น มีอาการเดินเซ มีอาการความจำเสื่อมเป็นต้นเราสามารถพบตัวอย่างนี้ได้จาก เนื้อมันสมองของมนุษย์ หรือ หมูที่จะเต็มไปด้วยคอเลสเตอรอลที่ทำหน้าที่นี้
คอเลสเตอรอล คือ สารชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นกึ่งของแข็งและกึ่งของเหลวสามารถพบได้ในเซลล์ทั่วไปของอวัยวะในร่างกาย
คอเลสเตอรอลมีหลักเกณฑ์ในการทำงานอย่างไร
สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดรวมถึงมนุษย์ คอเลสเตอรอล เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อใช้ในการทำหน้าที่ต่างๆในแต่ละวัน คอเลสเตอรอลมาจากการทานอาหารต่างๆเข้าไป หรือสามารถผลิตได้เองจากอวัยวะในร่างกาย เช่น ตับ ลำไส้เล็ก ต่อมอะดรินัล สมอง รวมถึง รกในครรภ์ของมารดาที่อุ้มท้อง ก็สามารถผลิตคอเลสเตอรอลสำหรับใช้สร้างฮอร์โมนเพศ Progesterone เพื่อรักษาทารกในครรภ์ไม่ให้แท้งก่อนกำหนดคลอด
มีตัวเลขโดยประมาณว่า จำนวนคอเลสเตอรอลที่ใช้หมุนเวียน ซึ่งเกิดขึ้นจากการผลิตเองของร่างกายเป็นหลัก รวมกับส่วนที่ได้จากบริโภคจากอาหาร ประมาณ 200 -300 มิลลิกรัม หรือคิดเป็น 30% จากจำนวนคอเลสเตอรอลทั้งหมดที่ร่างกายได้รับต่อวัน และนำไปหักลบด้วยจำนวนที่ใช้ไปในแต่ละวัน คือ จำนวนที่เหลือหมุนเวียนเท่ากับ 1,100 มิลลิกรัม
คอเลสเตอรอลถูกใช้อย่างไร?
จำนวนคอเลสเตอรอลที่จะถูกใช้งานไปแต่ละวัน จะมีหลักเกณฑ์การทำงาน ดังต่อไปนี้
1. ถูกใช้ในงานตามหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ
2. ถูกตับนำไปผลิตเป็นน้ำดี ( Bile ) คอเลสเตอรอลเป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งที่ตับจะนำไปผลิตเป็นน้ำดี และส่งออกไปยังลำไส้เล็ก เพื่อนำไปใช้ในการย่อยอาหารประเภทไขมัน หลังจากนั้นลำไส้เล็กจะทำการดูดซึมคอเลสเตอรอลเหล่านั้นที่อยู่ในรูปของน้ำดีกลับคืนมา ในปริมาณมากถึง 92-97 % เท่ากับว่ามีการใช้ คอเลสเตอรอล ใน กระบวนการนี้ไปเพียง 3-8 % เท่านั้น ส่วนอาหารในกลุ่มของใยอาหารหรือ Fiber เช่น ผักและผลไม้ต่างๆ ลำไส้เล็กจะไม่สามารถดูดซึมคอเลสเตอรอลกลับไปได้ เนื่องจากในใยอาหารจะทำการดูดซับคอเลสเตอรอลให้ออกไปพร้อมกับกากอาหาร ผ่านการขับถ่ายอุจจาระทำให้ค่าระดับคอเลสเตอรอลลดอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด
คอเลสเตอรอล มีกี่ประเภท
ในร่างกายของเรามีคอเลสเตอรอล 2 ประเภทตามแบ่งตามความหนาแน่น คือ
1. Low Density Lipoprotein Cholesterol ( LDL-C )
คอเลสเตอรอลประเภทนี้ เป็นคอเลสเตอรอลที่มีความหนาแน่นต่ำ และเป็นส่วนสำคัญของคอเลสเตอรอลรวมทั้งหมด เป็นจุดเริ่มต้นของการสังเคราะห์ฮอร์โมนต่าง ๆ และเป็นส่วนประกอบสำคัญของกรดน้ำดี ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถ สังเคราะห์ขึ้นมาเองได้ แต่จะสังเคราะห์หลังจากได้รับมาจากการทานอาหารที่มี LDL-C ซึ่งจะทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมไขมันชนิดนี้ไปตามกระแสเลือดได้ แต่ถ้าหากมีมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดการสะสมตามผนังหลอดเลือด และกลายเป็นก้อนอุดตันในหลอดเลือดได้ ค่าปกติที่ร่างกายควรมีจึงไม่ควรเกิน 130 mg/dl.
2. High Density Lipoprotein Cholesterol ( HDL-C )
คอเลสเตอรอลประเภทนี้ เป็นคอเลสเตอรอลที่มีความหนาแน่นสูง มีหน้าที่ดึงคอเลสเตอรอลต่าง ๆ จากเซลล์ของร่างกาย ไปทำลายที่ตับ ด้วยความที่เป็นคอเลสเตอรอลที่มีประโยชน์ ระดับค่าปกติของ HDL-C ที่ร่างกายควรมีจึงไม่ควรต่ำกว่า 55 mg/dl. เพราะถ้ามีระดับต่ำกว่านี้จะมีสภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคหลอดเลือดเสื่อมต่างๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
เหตุผลที่ร่างกายมีคอเลสเตอรอลมากเกินความจำเป็น
หากในแต่ละวันเราเลือกทานอาหารเฉพาะประเภทที่ไม่มีคอเลสเตอรอลเลย เช่น อาหารที่ได้จากพืช ซึ่งตรงนี้จะไม่กระทบต่อร่างกายแต่อย่างใด เนื่องจากตามธรรมชาติปกติแล้วร่างกายจะผลิตคอเลสเตอรอลขึ้นมาใช้ได้เอง ซึ่งการผลิตขึ้นมานี้อาจจะไม่ได้ผลิตคอเลสเตอรอลเฉพาะปริมาณที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละวันเท่านั้น ร่างกายอาจจะผลิตออกมามากกว่านั้นได้ เนื่องจากไม่มีกลไกในการยับยั้ง มีเพียงแต่กลไกที่มีการดึงเอา 2 อะตอมของคาร์บอนในรูปอะซิเตต ที่เรียกว่า 2-Carbon Acetate จากอาหารทั่วไปมาสร้างคอเลสเตอรอลได้เสมอ โดยเงื่อนไขที่ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลขึ้นเองเกินความจำเป็นมักเกิดจากปัจจัย ดังนี้
1. กินอาหารในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น หรือ การกินอาหารมากกว่าที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละมื้อแต่ละวัน
2.อาหารที่กินเข้าไป เป็นอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลมาก และเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ( Saturated Fat ) รวมทั้งเป็นไขมันทรานส์ ( Trans Fat ) และไขมันจากเนื้อสัตว์
3. เกิดจากความเครียดหรือความวิตกกังวล เนื่องจากจะไปทำให้ต่อมอะดรินัล สร้างฮอร์โมน บังคับให้ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลขึ้นมามากเกินความจำเป็นที่ร่างกายจะใช้งาน
บทบาทของ ไลโปโปรตีน กับคอเลสเตอรอล
โดยปกติแล้ว คอเลสเตอรอล ไม่สามารถเข้าสู่คอเลสเตอรอลในร่างกายได้เอง แต่จะอาศัยสารที่ชื่อว่า “ ไลโปโปรตีน ” เป็นตัวชักนำและพาคอเลสเตอรอลเข้าสู่กระแสเลือด ไลโปโปรตีนเปรียบเสมือนพาหนะขนส่ง ให้คอเลสเตอรอล
ไลโปโปรตีน ( Lipoprotein ) คือ สารประกอบของโปรตีน ผสมกับไขมัน หากชนิดใดมีอัตราส่วนไขมันมาก แต่โปรตีนน้อย ก็เรียกว่าเป็น ไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ นั่นคือ Low Density Lipoprotein เรียกย่อๆ ว่า LDL ซึ่งไลโปโปรตีน ที่สำคัญ และเรียงลำดับจากความหนาแน่นต่ำที่สุด ไปสู่ความหนาแน่นสูง 4 ตัว ได้แก่
1. Chylomicron
2. VLDL ย่อมาจาก Very Low Density Lipoprotein
3. LDL หากคอเลสเตอรอลเกาะ LDL จะเรียกว่า LDL- Cholesterol หรือ LDL– C จะมีบทบาทช่วยกันนำคอเลสเตอรอลจากตับออกไปแจกจ่ายให้กับทั่วร่างกาย LDL จึงถือว่าเป็น “ คอเลสเตอรอลชนิดร้าย ” ที่ไปเพิ่มค่าคอเลสเตอรอลในร่างกายให้สูงขึ้น
4. HDL หากคอเลสเตอรอลเกาะ HDL จะถูกเรียกว่า HDL-C ซึ่งจะมีบทบาทตรงกันข้ามกับ LDL- C กล่าวคือ HDL จะทำหน้าที่ในการไล่จับคอเลสเตอรอลทั่วร่างกาย กลับส่งคืนไปให้ตับทำลาย โดยจะผลิตเป็นน้ำดีออกมาแทนเพราะฉะนั้น HDL จึงถือว่าเป็น “ คอเลสเตอรอลชนิดดี ” ที่จะช่วยให้คอเลสเตอรอลทั่วร่างกาย มีค่าลดน้อยลง หาก HDL เพิ่มขึ้นมากเท่าใด ค่าคอเลสเตอรอลรวม จะลดลงได้มากเท่านั้น
การตรวจวัดปริมาณของคอเลสเตอรอล
การตรวจวัดปริมาณของ คอเลสเตอรอล หมายถึง เป็นค่าที่ใช้วัดระดับคอเลสเตอรอลรวม ซึ่งมีทั้งคอเลสเตอรอล ชนิดดีและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีปนกันอยู่ ซึ่งในการตรวจสอบจะมีค่าปกติของคอเลสเตอรอลดังนี้
ค่าปกติของคอเลสเตอรอล |
ผู้ใหญ่/ผู้สูงอายุ ปริมาณที่เหมาะสมต้องไม่เกิน 200 mg / dL |
เด็ก ปริมาณที่เหมาะสมต้องอยู่ระหว่าง 120 – 200 mg / dL |
ค่าปกติของคอเลสเตอรอล
1. ค่าคอเลสเตอรอลต่ำกว่าปกติ หมายถึง กรณีที่วัดค่าคอเลสเตอรอลได้ต่ำกว่าค่าปกติ ซึ่งสภาวะแบบนี้เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก ซึ่งอาจมีสาเหตุเกิดจาก
- เกิดสภาวะทุโภชนา ( Malnutrition ) คือ ภาวะที่เกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารไม่สมดุลกัน โดยอาจมีสารอาหารบางอย่างได้รับไม่เพียงพอ น้อยหรืออาจจะมากเกินไป
- อาจมีเซลล์ตับตายเฉพาะส่วน ( Cellular Necrosis Of The Liver )
- อาจเกิดจากสภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ( Hyperthyroidism )
2. ค่าคอเลสเตอรอลสูงกว่าปกติ หมายถึง กรณีที่วัดค่า คอเลสเตอรอล ได้สูงกว่าค่าปกติ เรียกสภาวะนี้ว่า Hypercholesterolemia ซึ่งสภาวะนี้จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากทำให้เกิดความเสี่ยง ในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้หากไม่รีบรักษาให้ค่าลดลงเป็นปกติโดยค่าคอเลสเตอรอลสูงกว่าปกติ อาจเกิดจาก
- อาจกำลังเกิดโรคตับอักเสบ ( Hepatitis )
- อาจกำลังเกิดปัญหาท่อในถุงน้ำดีอุดตัน
- อาจเกิดสภาวะโรคไต ( Nephrotic Syndrome )
- อาจเกิดโรคตับอ่อนอักเสบ จึงอาจผลิเอนไซม์ย่อยอาหารไขมันและโปรตีนไม่ได้
- อาจเกิดสภาวะดีซ่าน ในถุงน้ำดีเกิดการอุดตันขึ้น ( Obstructivejaundice ) ทำให้ตับไม่สามารถขับเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ตายแล้ว ออกทางท่อถุงน้ำดีได้ จึงทำให้ค่า Bilirubin ในเลือดสูงขึ้น มีผลทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง
ปัจจัยที่ส่งผลต่อคอเลสเตอรอลในเลือด
1. พันธุกรรม โดยพบว่าสมาชิกในครอบครัวมีประวัติมีระดับคอเลสเทอรอลสูง ซึ่งก็จะทำให้บุคคลอื่นๆ ในครอบครัวมีความเสี่ยงสูงไปด้วย
2. น้ำหนักตัว ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน จะมีความเสี่ยงคอเลสเทอรอลสูงได้มากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติ
3. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มเอชดีแอลคอเลสเทอรอลซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่ดีแก่ร่างกาย
4. อายุและเพศ โดยพบว่าเมื่ออายุมากขึ้น ระดับคอเลสเทอรอลจะเพิ่มมากขึ้นทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ระดับคอเลสเทอรอลจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
5. การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มีผลทำให้ระดับคอเลสเทอรอลสูงทั้งสิ้น
ร่างกายเผาผลาญคอเลสเตอรอลได้อย่างไร
1. การออกซิไดส์จากตับให้กลายเป็นน้ำดี และร่างกายจะเอาน้ำดีนี้ไปช่วยย่อยและดูดซึมไขมันต่อไป
2. การขับถ่าย โดยคอเลสเตอรอลนี้จะปนไปกับอุจจาระที่เป็นกากอาหารที่ไม่ถูกดูดซึม และอาจจะมีน้ำดีผสมลงไปด้วยเล็กน้อย แต่เพราะการทำงานของร่างกายที่มักจะมีการดูดซึมน้ำดีกลับไปใหม่ จึงทำให้คอเลสเตอรอลถูกดูดกลับไปด้วย เพราะฉะนั้นปริมาณคอเลสเตอรอลที่ถูกขับออกมากับอุจจาระจึงมีปริมาณน้อยมาก จึงต้องมีการพึ่งพาการออกกำลังกายในการเผาผลาญคอเลสเตอรอลให้มากขึ้นด้วย มิเช่นนั้นอาจจะเกิดการอุดตันในเส้นเลือดได้
ควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดได้อย่างไร
1. ลดปริมาณไขมันที่รับประทานให้น้อยลง
ควรรับพลังงานจากไขมันเพียงร้อยละ 30 ของพลังงานที่ได้รับในหนึ่งวันเท่านั้น แต่ไปเพิ่มพลังงานที่ได้รับจากคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนแทน ในอัตราร้อยละ 55 และ 15 ของพลังงานทั้งหมด เช่น ชายคนหนึ่งควรได้รับพลังงานจากอาหารในหนึ่งวัน ประมาณ 2000 กิโลแคลอรี่ ดังนั้นพลังงานที่ได้รับจากไขมันควรเท่ากับ 600 กิโลแคลอรี่ และไขมันที่ควรบริโภค ก็ควรเป็นไขมันอิ่มตัวจากไขมันหรือน้ำมันจากเนื้อสัตว์ น้ำมันมะพร้าว, ไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว จาก น้ำมันมะกอก, และไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง จาก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว อย่างละเท่ากัน การบริโภคไขมันอิ่มตัวในปริมาณมาก จะทำให้ประสิทธิภาพของตับในการกำจัดคอเลสเตอรอลทำงานได้น้อยลง แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อลดปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวลง แต่ทดแทนด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว จะทำให้ประสิทธิภาพของตับในการขจัดคอเลสเตอรอลเพิ่มมาก การรับประทานน้ำมันถั่วเหลืองวันละ 3 ช้อนโต๊ะ ( คิดเป็นไขมัน 10% ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด ) อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ได้กรดไลโนเลอิกประมาณ 22 กรัม ซึ้งเป็นปริมาณที่ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งจะทำให้ไม่มีไขมันส่วนเกินไปอุดตันอยู่ตามผนังหลอดเลือดต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายอีกด้วย
2. ลดคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์ให้ถูกวิธี
ในข้อนี้ไม่ได้หมายถึงว่าให้บริโภคน้ำมันชนิดใดเพียงชนิดเดียวเท่านั้น แต่ควรผสมผสานกัน ดังที่ได้กล่าวในข้อ 1 ก็เพราะว่าการบริโภคไขมันหรือน้ำมันชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงชนิดเดียว เช่น เดิมแนะนำให้บริโภคน้ำมันพืช เพื่อช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด แต่ในปัจจุบันพบว่าในน้ำมันพืช ซึ่งเป็นแหล่งของกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง ในกลุ่มโอเมก้า 6 ถึงแม้จะสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้จริง แต่ก็เข้าไปลด ( HDL-Cholesterol ) ที่เป็นไขมันดีอีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่สมควรที่จะบริโภคน้ำมันดังกล่าวเพียงชนิดเดียวมากจนเกินไป
3. เลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง
ควรบริโภคอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงให้น้อยลง และควรเหลือเพียง 300 mg. ต่อ 1 วัน วิธีที่ดีที่สุดก็คือหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารประเภทเครื่องในสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะพวกสมอง หนังเป็ด หนังไก่ และอาหารทะเลบางชนิดอย่างเช่น ปลาหมึก หอยนางรม เป็นต้น แต่สำหรับไข่แดงเป็นข้อยกเว้น เพียงแต่ควรจำกัดปริมาณไม่ให้เยอะจนเกินไป เพราะไข่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ ประกอบไปด้วยโปรตีนที่มีคุณภาพดีและมีวิตามินเอสูง ดังนั้นถ้าจะบริโภคไข่ทุกวันต้องบริโภคไม่เกินวันละฟอง แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาคอเลสเตอรอลสูง ควรบริโภคแบบวันเว้นวัน และถ้าจะให้ดี ก็ควรบริโภคไข่ขาวให้มากกว่า เพราะมีสารอาหารที่ดีไม่ต่างกัน แต่ไม่มีคอเลสเตอรอลใด ๆ ทั้งสิ้น จากผลการศึกษาพบว่า การลดการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลให้น้อยลงวันละ 100 มิลลิกรัม จะสามารถลดคอเลสเตอรอลได้เฉลี่ย 7 mg./dl
4. บริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตที่มีน้ำตาลหลายชั้น ( Polysaccharides ) ให้มากขึ้น
โดยเฉพาะธัญพืช ผักและผลไม้ ที่ไม่ค่อยมีส่วนประกอบของแป้งแต่มีน้ำตาลหลายชั้นสูง เพราะจากงานวิจัยพบว่า การบริโภคอาหารประเภทนี้จะช่วยให้ร่างกายบริโภคไขมันน้อยลง นอกจากนี้ผักและผลไม้บางชนิดที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ก็มักจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ ( Antioxidant ) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งจะช่วยเข้าไปชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ต่าง ๆ ในการทำงานด้วย
5. บริโภคอาหารที่ให้โปรตีนที่ดีอย่างเหมาะสม
อาหารที่ให้โปรตีนที่ดี ได้แก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน อย่างเช่น ไก่และปลา ถ้าสามารถบริโภคแทนเนื้อสัตว์อื่น ๆ ได้เป็นประจำจะดีต่อร่างกายมาก และในส่วนของการดื่มนม ก็ควรดื่มนมพร่องไขมันแทนนมธรรมดา เพราะจะช่วยลดไขมันได้ดีกว่า
6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
วิธีนี้จะช่วยเพิ่มไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นสูง หรือคอเลสเตอรอลดี ( High Density Lipoprotein – HDL ) ในเลือด ซึ่งจะคอยดักจับคอเลสเตอรอลรวมไปยังตับเพื่อทำลายและกำจัดออกไปจากร่างกาย นอกจากนี้จากการวิจัยยังพบว่า ในกลุ่มคนที่ออกกำลังกายบ่อย ๆ จะมีระดับของโปรตีนที่เรียกว่า “ซีรีแอคทีฟโปรตีน” ( CRP ) น้อยมาก ซึ่งโปรตีนดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายมีการติดเชื้อได้โดยง่าย และส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน จนเป็นสาเหตุของโรคหัวใจในภายหลัง
7. เปลี่ยนแปลงวิธีการปรุงอาหาร
ปรุงอาหารด้วยการนึ่ง ต้ม ย่าง อบ แทนการทอดหรือผัด ที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบสูง
8. หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน
หากจำเป็นต้องปรุงอาหารด้วยวิธีการทอด ควรใช้น้ำมันที่สกัดจากพืช แทนน้ำมันจากสัตว์
ข้อแนะนำเพิ่มในการตรวจระดับคอเลสเตอรอล
1. การตรวจหาค่า Total Cholesterol เพียงค่าเดียว ไม่สามารถอธิบายสุขภาพโดยรวมว่าดีหรือไม่อย่างไร แต่จะต้องใช้ค่าอื่นๆประกอบร่วมด้วยเสมอ
2. หากจะเจาะเลือกเพื่อตรวจระดับของ คอเลสเตอรอล ควรทำการตรวจค่าอื่นๆไปด้วยเลย หรือตรวจให้ครบ Lipid Profile เช่น HDL , LDL และ Triglyceride ในทุกครั้งที่ทำการตรวจ
อัตราส่วนของคอเลสเตอรอลที่เหมาะสมในร่างกาย สามารถคำนวณหาได้ ดังนี้
ระดับคอเลสเตอรอล ÷ ระดับ HDL หรือ ไขมันดี High-Density Lipoprotein Cholesterol ( HDL-C ) ต้องได้ค่าน้อยกว่า 4 เช่น ระดับคอเลสเตอรอล วัดได้ 300 ระดับ HDL วัดได้ 90 จะได้ 300 ÷ 90 = 3.33 ค่าคอเลสเตอรอลเท่ากับ 3 ซึ่งน้อยกว่า 4 อยู่ในระดับดีปานกลาง |
หมายเหตุ :
ระดับคอเลสเตอรอล 1 = ดีมาก
ระดับคอเลสเตอรอล 2 = ดี
ระดับคอเลสเตอรอล 3 = ดีปานกลาง
ระดับคอเลสเตอรอล 4 = พอใช้
ระดับคอเลสเตอรอล มากกว่า 4 ขึ้นไป = แย่
หากค่าคอเลสเตอรอลมากกว่าระดับ 4 ต้องเพิ่มระดับคอเลสตอลรอล ด้วยการทานไขมันดี ซึ่งมีอยู่ในน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น
ดังนั้นเกณฑ์ปกติของระดับคอเลสเตอรอลในเลือด คือ
ระดับคอเลสเตอรอลรวม ( Total cholesterol ) น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ระดับ LDL น้อยกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ระดับ HDL มากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
หากไม่ได้ศึกษาข้อมูลคอเลสเตอรอลมาก่อน หลายคนก็ยังคงมีความเข้าใจที่ผิดๆต่อไปเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล ที่มักมองว่า คอเลสเตอรอล คือ ไขมัน เป็นสิ่งเลวร้ายและอันตรายต่อร่างกาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว จะเห็นได้ว่า คอเลสเตอรอล มีทั้งข้อดีที่เป็นประโยชน์และข้อเสียที่เป็นโทษต่อร่างกาย ซึ่งตัวเราเองควรรู้จักควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกายตนเองให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป โดยเฉพาะเรื่องการทานอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ใครหลายคนมีระดับของคอเลสเตอรอลที่สูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ และอีกหลายๆโรคที่ไม่เป็นผลดีต่อร่างกายเลย ดังนั้น จึงควรปรับพฤติกรรมการกินของตนเอง ก่อนที่จะเกิดภาวะ คอเลสเตอรอลสูงกว่ามาตรฐาน เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของตัวเราเอง
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
Hanukoglu I, Jefcoate CR (1980). “Pregnenolone separation from cholesterol using Sephadex LH-20 mini-columns”. Journal of Chromatography A. 190 (1): 256–262.
Javitt NB (December 1994). “Bile acid synthesis from cholesterol: regulatory and auxiliary pathways”. FASEB J. 8 (15): 1308–11.
Chen HW, Heiniger HJ (August 1978). “Biological activity of some oxygenated sterols”. Science. 201 (4355): 498–501.
Russell DW (December 2000). “Oxysterol biosynthetic enzymes”. Biochim. Biophys. Acta. 1529 (1–3): 126–35.