มะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่ ( Ovarian Cancer ) อาการจะแสดงออกหลากชนิด มะเร็งรังไข่ จะเกิดที่อวัยวะภายในผู้หญิงเท่านั้น รังไข่ ในเพศหญิงจะอยู่บริเวณอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้องน้อย ติดกับส่วนปลายเปิดของปีกมดลูก โดยรังไข่จะทำหน้าที่ในการผลิตเซลล์ไข่ออกมาเพื่อรอการผสมพันธุ์กับตัวอสุจิของผู้ชาย และเกิดการปฏิสนธิจนเป็นทารกในที่สุด รวมถึงมีหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงอีกด้วย ซึ่งรังไข่นั้นจะมี 2 ข้างซ้ายขวา และมีโอกาสเป็นโรค มะเร็งรังไข่ ได้ทั้งสองข้าง โดยอาจพบมะเร็งรังไข่ข้างเดียวหรือพร้อมกับทีเดียวทั้งสองข้างเลยก็ได้ อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งและระยะของโรคอีกด้วย
รังไข่ก็ประกอบไปด้วยเซลล์หลายชนิด โดยทุกชนิดสามารถเกิดมะเร็งได้ทั้งหมด เช่น เซลล์สร้างไข่ เซลล์สร้างฮอร์โมน เซลล์เนื้อเยื่อบุผิว ( Epitthlium ) เซลล์ต่อมน้ำเหลือง เส้นเลือดและเจิร์มเซลล์ ( Germ Cell ) เป็นต้น แต่ทั้งนี้ที่มักจะพบได้มากที่สุด ก็คือมะเร็งรังไข่ที่เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว ยกเว้นในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น มักจะพบมะเร็งรังไข่จากเจิร์มเซลล์ได้มากที่สุด แต่อย่างไรโอกาสที่จะพบมะเร็งรังไข่ในวัยเด็กก็มีน้อยมากเช่นกัน
สาเหตุของมะเร็งรังไข่
สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งรังไข่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดเช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน โดยปัจจัยที่ทางแพทย์ชี้ว่าน่าจะเป็นสาเหตุของมะเร็งรังไข่ มีดังนี้
- ความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งตัวหรือการตายของเซลล์ปกติทั้งชนิดที่ถ่ายทอดได้และไม่สามารถถ่ายทอดได้
- โรคอ้วน เป็นผลให้ฮอร์โมนเกิดการแปรปรวนและส่งผลให้เป็นมะเร็งรังไข่ได้ง่ายเช่นกัน
- คนที่มีลูกน้อย มีลูกยากหรือไม่มีเลย และได้รับฮอร์โมนกระตุ้นกรณีที่มีบุตรยาก
- คนที่ประจำเดือนมาเร็วตั้งแต่อายุยังน้อย และประจำเดือนหมดช้ากว่าปกติ
- เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งเต้านมมาก่อน จะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ได้สูง
- การทานฮอร์โมนเพศบางชนิดอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานาน
- รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนในช่วงหมดประจำเดือนติดต่อกันเกิน 5 ปี
- การสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจไปกระตุ้นให้เกิดเป็นมะเร็งได้
- มีอายุมากขึ้น
- มีความเครียดสะสม
ชนิดของมะเร็งรังไข่
นอกจากนี้มะเร็งรังไข่ยังพบได้บ่อยทั้งในวัยเด็ก จนถึงวันสูงอายุเลยทีเดียว แต่มักจะพบในวัยใกล้หมดประจำเดือนมากที่สุด ซึ่งชนิดของมะเร็งรังไข่ก็จะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- เจิร์มเซลล์ เป็นกลุ่มที่พบได้มากในวัยเด็กและวัยสาว
- เซลล์เนื้อเยื่อบุผิว โดยจะมี 2 ชนิดย่อยคือ อีพีทีเลียมคาร์ซิโนมา หรือ อะดีโนคาร์ซิโนมา ( Epithelial Carcinoma, Adenocarcinoma ) มักจะพบในวัยผู้ใหญ่มากที่สุด และมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก
บริเวณที่เกิดมะเร็งรังไข่
1.1 มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ ( Ovarian Epithelial Carcinoma )
มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่เยื่อบุผิวรังไข่ เป็น มะเร็งรังไข่ ที่พบมากที่สุด คือร้อยละ 90 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด สามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุมากแล้ว ตั้งแต่ 56- 60 ปีขึ้นไป มีด้วยกันหลายชนิด ชนิดที่พบมากที่สุดคือชนิดซีรัส ซีสตาดีโนคาร์ซิโนมา
มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ เป็นมะเร็งที่มีรุนแรงสูง เพราะมักจะพบได้ที่รังไข่ทั้งสองข้าง ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 75 มักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการของโรคอยู่ที่ระยะที่ 3 ไปแล้ว จึงทำให้มีโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก
1.2 มะเร็งฟองไข่ ( Germ Cell Tumor )
มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ฟองไข่ สามารถพบได้ร้อยละ 5 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด ชนิดที่พบมากที่สุดมี 2 ชนิด คือ ชนิดดิสเจอร์มิโนมา และอิมเมเชอร์เทอราโทมา มะเร็งรังไข่ในฟองไข่ มักจะเกิดกับผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี มีอาการของโรคที่ไม่รุนแรงมากนัก เพราะจะเกิดขึ้นที่รังไข่ข้างเดียว ถ้าหากพบแพทย์เร็วก็มีโอกาสรักษาหายได้มากถึงร้อยละ 60-85
1.3 มะเร็งเนื้อเยื่อรังไข่ ( Sex Cord-Stromal Tumor )
มีจุดเริ่มต้นที่เนื้อเยื่อรังไข่ พบได้ร้อยละ 8 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด สามารถพบได้ในผู้หญิงอายุ 40-70 ปี มะเร็งรังไข่ บริเวณเนื้อเยื่อรังไข่มักจะสร้างฮอร์โมนเพศขึ้นมาเอง ชนิดที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิง คือชนิดกรานูโลซาเซลล์ และชนิดที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย คือ ชนิดเซอร์โตไล-เลย์ดิกเซลล์
อาการของโรคไม่รุนแรงมากนัก เพราะจะเกิดขึ้นที่รังไข่ข้างเดียว และไม่มีการแพร่กระจายไปที่อื่น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การรักษาค่อนข้างง่าย แค่ผ่าตัดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าพบแพทย์เร็วก็มีโอกาสรอดชีวิตร้อยละ 70-90 แต่อาจต้องระวังการกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไป 15 ปี
1.4 มะเร็งมาจากหลายแหล่ง
เป็นมะเร็งรังไข่ที่มีจุดเริ่มต้นในการเกิดบริเวณเยื่อบุผิวรังไข่ร่วมกับฟองไข่ หรือร่วมกับเนื้อเยื่อรังไข่ ( Mixed Tumors ) จึงทำให้โรคค่อนข้างมีความรุนแรงพอสมควร
1.5 มะเร็งรังไข่ชนิดอื่นๆ ( Unclassified )
เกิดขึ้นที่บริเวณกล้ามเนื้อรังไข่ ( Sercoma ) สามารถพบได้น้อยมาก แต่ถ้าหากว่าพบก็ยากที่จะรักษา จากที่ผ่านมาพบว่าไม่มีผู้ป่วยคนใดที่เป็นมะเร็งชนิดนี้อยู่รอดเกิน 1 ปี
1.6 มะเร็งรังไข่ที่เป็นจากมะเร็งที่กระจายมาจากแหล่งอื่น
ผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งชนิดอื่นมาก่อน เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งเต้านม ที่เรียกรวมกันว่าเนื้องอกครุกเคนเบิร์ก ( Krukenberg Tumor ) มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยน้อยคนที่มีชีวิตอยู่รอดเกิน 2 ปี
อาการของมะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่ส่วนใหญ่จะมีอาการเมื่อโรคได้ลุกลามไประดับหนึ่งแล้ว แต่ไม่ใช่อาการเฉพาะ ซึ่งจะมีอาการคล้ายกับโรคทั่วๆไป โดยต้องลองสังเกตตัวเองดู อย่างไรก็ตามมะเร็งรังไข่ก็ถือเป็นโรคที่ทำการวินิจฉัยได้ยากที่สุด โดยมีอาการที่สามารถสังเกตได้ดังนี้
- อึดอัดและแน่นท้อง โดยอาจเป็นขึ้นมาเฉยๆ หรือเป็นหลังจากการทานอาการก็ได้
- ประจำเดือนมาผิดปกติ ที่มักจะพบบ่อยที่สุดก็คือ มามาก มาบ่อยและมาแบบขาดๆ หายๆ คือมาบ้างไม่มาบ้างนั่นเอง
- มีอาการปวดถ่ายปัสสาวะบ่อยและอาจติดขัดบ้าง นั่นก็เพราะมะเร็งได้ลุกลามเข้าสู่อุ้งเชิงกราน หรือก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดโตมากจนเบียดทับกระเพาะปัสสาวะ
- มีอาการท้องผูก ขับถ่ายลำบาก โดยเกิดจากการที่มะเร็งได้ลุกลามเข้าสู่อุ้งเชิงกรานหรือก้อนเนื้อมีขนาดโตมากจนไปเบียดทับทวารหนัก
- คลำเจอก้อนเนื้อผิดปกติในอุ้งเชิงกราน เนื่องจากก้อนมะเร็งมีขนาดโตจนคลำเจอได้
- มีอาการท้องบวม เพราะมะเร็งได้ลุกลามเข้าสู่เยื่อบุช่องท้อง ทำให้มีน้ำมะเร็งในช่องท้อง และส่งผลให้ท้องบวมออกมามากขึ้น
สำหรับการวินิจฉัย นอกจากแพทย์จะสอบถามประวัติอาการของผู้ป่วยตามนี้แล้ว ก็จะทำการตรวจร่างกายและตรวจดู สารทูเมอร์มาร์กเกอร์ของ มะเร็งรังไข่รวมถึงอัลตราซาวด์และทำการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อมาตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะทำให้ทราบผลการตรวจที่แน่ชัดมากขึ้น โดยเหตุผลที่จะต้องผ่าตัดนำชิ้นเนื้อมาตรวจเท่านั้น เป็นเพราะหากทำการตรวจชิ้นเนื้อจากภายนอกโดยไม่ผ่าตัด จะเสี่ยงต่อการเกิดลำไส้ทะลุ และทำให้มะเร็งลุกลามเข้าช่องท้องอย่างรวดเร็วได้นั่นเอง
ระยะของมะเร็งรังไข่
การตรวจหาระยะของโรคมะเร็งรังไข่จะทำเช่นเดียวกับการตรวจหามะเร็งรังไข่ โดยส่วนใหญ่ตรวจเพียงครั้งเดียวก็จะทราบระยะของโรคในทันที ซึ่งโรคมะเร็งรังไข่ก็มีทั้งหมด 4 ระยะดังนี้
มะเร็งรังไข่ ระยะที่ 1 เป็นระยะที่มะเร็งยังคงลุกลามอยู่เฉพาะในรังไข่เท่านั้น แต่ก็อาจลุกลามเข้าสู่เยื่อบุช่องท้องได้เหมือนกัน โดยระยะนี้จะตรวจพบได้ด้วยวิธีทางเซลล์วิทยาและพยาธิวิทยา
มะเร็งรังไข่ ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มะเร็งได้ลุกลามเข้าไปในเนื้อเยื่อ ต่อมน้ำเหลืองในอ้งเชิงกรานและอวัยวะใกล้เคียง
มะเร็งรังไข่ ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มะเร็งได้ลุกลามไปสู่เนื้อเยื่อ ต่อมน้ำเหลือง อวัยวะใกล้เคียง และเข้าสู่เยื่อบุช่องท้องจนทำให้มีน้ำมะเร็งในท้อง และมีอาการท้องบวมผิดปกติ
มะเร็งรังไข่ ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มีความรุนแรงที่สุด โดยมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป ผ่านทางการแพร่เข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งที่พบบ่อยๆ ได้แก่ ปอดและตับ
การรักษาโรคมะเร็งรังไข่
1. การผ่าตัด ( เป็นการรักษาโรคมะเร็งรังไข่ได้ดีที่สุด )
ผู้ป่วยที่มีอายุน้อย และพบก้อนเนื้อมะเร็งที่รังไข่เพียงข้างเดียว แพทย์ก็จะทำการผ่าตัดรังไข่ข้างที่เกิดปัญหาออกไป ซึ่งก็จะทำให้การรักษาหายเป็นปกติได้
แต่ถ้าหากผู้ป่วยอายุมาก แล้วพบก้อนเนื้อมะเร็งที่รังไข่สองข้าง หรือเชื้อมะเร็งเริ่มมีการกระจายตัวไปที่อื่น แพทย์ก็จะทำการตัดมดลูกและตัดเยื่อไขมันของลำไส้ ( Omentum ) พร้อมกับตัดต่อมน้ำเหลืองเพื่อหาเซลล์มะเร็ง แต่ถ้าหากว่าสามารถมองเห็นก้อนมะเร็งที่กำลังแพร่กระจายด้วยสายตา แพทย์ก็จะผ่าตัดออกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วย
2. รักษาด้วยเคมีบำบัด
การรักษาด้วยเคมีบำบัด ก็เป็นอีก 1 วิธีมาตรฐานในการรักษาโรค มะเร็งรังไข่ ที่ได้ผลดี ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูงและไม่ค่อยพบการกลับมาเป็นซ้ำ โดยใช้สูตรดังต่อไปนี้
- โรคมะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ รักษาโดย คาร์โบพลาติน ( Carboplatin ) และ แพคลิแทกเซล ( Paclitaxel )
- โรคมะเร็งฟองไข่ รักษาโดย บลีโอมัยซิน ( Bleomycin ) อีโทโพไซด์ ( Etoposide ) และ ซีสพลาติน ( Cisplatin )
- แพทย์มักทำการรักษาด้วยเคมีบำบัด ในกรณีดังนี้
- ไม่สามารถผ่าตัดโรคมะเร็งออกไปได้ทั้งหมด
- มะเร็งบางชนิดมีการแพร่กระจายไวมาก และอาจพบการดื้อยาเคมีบำบัด จึงอาจจะต้องมีการปรับรูปแบบในการให้ยา เช่น ใส่เข้าไปในช่องท้องหลังผ่าตัด , ให้ทางเส้นเลือด หรือแบบรับประทาน
3. รักษาด้วยรังสีรักษา และฮอร์โมนบำบัด
วิธีการรักษาด้วยรังสีรักษา ( ฉายแสง )
แพทย์มักจะเลือกใช้เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัดหรือเคมีบำบัด โดยเฉพาะมะเร็งรังไข่ที่ไวต่อการฉายแสงบริเวณช่องท้อง เช่น มะเร็งรังไข่ ชนิดที่สร้างจากฟองไข่ และมะเร็งรังไข่ที่สร้างจากเนื้อเยื่อรังไข่บางชนิด
วิธีการรักษาฮอร์โมนบำบัด
จากการใช้ยาต้านฮอร์โมนในการรักษาโรคมะเร็งรังไข่ พบว่ายาทาม็อกซิเฟน เมื่อนำมาใช้รักษามะเร็งรังไข่ชนิดที่มีการแบ่งตัวดี สามารถตอบสนองได้มากถึงร้อยละ 15-20 นอกจากนั้นยังพบว่าการใช้ยาที่ห้ามการหลั่งฮอร์โมนเพศหญิง ( Gonadotropin Agonist ) ก็ได้ผลกับมะเร็งรังไข่บางชนิด
การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งรังไข่
ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค มะเร็งรังไข่ เพราะฉะนั้นเราจึงขอแนะนำการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ดังต่อไปนี้
- ในกรณีที่มีการเจ็บป่วยจนถึงขั้นต้องตัดมดลูกทิ้ง ควรลองปรึกษาแพทย์ดูถึงการตัดรังไข่ทั้งสองข้างออกให้หมด ถึงแม้ว่าคุณจะหมดประจำเดือนไปแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรค มะเร็งรังไข่ ได้
- ควรพิจารณาในการตัดรังไข่ทิ้งทั้งสองข้าง ถ้าหากว่าคุณมีความเสี่ยงในการกระจายโรคมะเร็งอื่น ๆ ไปยังรังไข่ได้ โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดช่องท้องอยู่แล้ว เช่น เป็นมะเร็งรังไข่อีกข้าง มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเต้านม เป็นต้น
- ควรทำอย่างไรก็ได้ให้รังไข่มีการใช้งานน้อย หรือหยุดทำงานมากที่สุด เช่น แต่งงานเร็ว มีบุตรหลายคน ให้นมบุตรต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน รับประทานยาคุมกำเนิด
- ดูแลตัวเองสม่ำเสมอ ออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่เครียด และไม่ปล่อยให้ตัวเองอ้วน
การตรวจติดตามผลภายหลังการรักษาโรคมะเร็งรังไข่
เมื่อมีการให้เคมีบำบัดครบ แพทย์อาจจะผ่าตัดซ้ำอีกครั้งเพื่อตรวจดูเชื้อมะเร็งรังไข่ที่อาจจะยังหลงเหลืออยู่ หรือที่เกิดขึ้นมาใหม่ เพื่อจะได้ผ่าออกให้หมด หรือผ่าให้ได้มากที่สุด และเมื่อการรักษาครบถ้วนแล้ว แพทย์ก็จะนัดตรวจทุก 3-4 เดือนในช่วงเวลา 1 ปีแรก และเปลี่ยนมาเป็นทุก 4-6 เดือน ในช่วงเวลา 2-3 ปี ถ้าเกิน 5 ปีอาจจะเป็นทุก 6-12 เดือน
ในการตรวจร่างกายตามนัดของแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจภายในเพื่อดูว่ามีก้อนมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำใหม่หรือไม่ รวมถึงการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสารเคมีของ มะเร็งรังไข่ ชนิดที่ผู้ป่วยเคยเป็นเพื่อเปรียบเทียบกับค่าที่เคยตรวจพบ ถ้าหากว่าเท่าเดิมหรือลดลง ก็แปลว่าโอกาสที่หายขาดจะมีสูง นอกจากนั้นแพทย์อาจจะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น อัลตราซาวด์ดูในช่องท้อง หรือส่งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ้าหากสงสัยว่าจะมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ หรือมีการกระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ
ร่วมตอบคำถามกับเรา
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
“Genetics of Breast and Ovarian Cancer”. National Cancer Institute. 2 October 2014. Archived from the original on 22 October 2014. Retrieved 27 October 2014.
Moll HD, Garrett PD (1987). “Diagonal paramedian approach for removal of ovarian tumors in the mare”. Vet Surg. 16.