สาเหตุ อาการและวิธีการรักษาโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Cancer)
โรคมะเร็งเยื่อบุมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับเยื่อบุโพรงมดลูกด้านในสุดของมดลูก พบในผู้หญิงอายุ 40 ปี

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ( Endometrial Cancer ) คือ โรคมะเร็งที่เกิดกับเยื่อบุโพรงมดลูก โดยชนิดที่พบได้มากที่สุดก็คือชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา ซึ่งมีความรุนแรงในระดับปานกลาง ส่วนอาการของมะเร็งชนิดนี้ ยังไม่มีอาการที่บ่งชี้เฉพาะได้ แต่สามารถสังเกตได้จากอาการที่มักจะพบได้บ่อยๆ โดยมีความคล้ายคลึงกับการมีประจำเดือนผิดปกติ และมะเร็งปากมดลูกนั่นเอง 

เยื่อบุโพรงมดลูก หรือเยื่อบุมดลูก ( Endometrium ) คือ เยื่อเมือกบุภายในโพรงของมดลูก ซึ่งในคนปกติเยื่อบุโพรงมดลูกมีความหนาประมาณ 5-6.7 มิลลิเมตร เป็นผนังด้านในสุดของมดลูก ซึ่งในแต่ละรอบประจำเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกจะได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศหญิงจากรังไข่ให้เจริญเติบโตหนาตัวขึ้น เพื่อช่วยปกป้องให้ทารกเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์มารดาอย่างปลอดภัย แต่ถ้าไม่มีการฝังตัวของไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกออก เกิดเป็นประจำเดือน แต่ถ้ามีการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญกลายเป็นรก ซึ่งเป็นทางผ่านของออกซิเจน และอาหารจากเลือดของแม่สู่ทารก โดยเยื่อบุโพรงมดลูกจะเป็นเนื้อเยื่อที่มีการสร้างขึ้นใหม่และสลายไปอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือในทุกเดือนร่างกายจะมีการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นมา หากไม่มีประจำเดือน ก็จะสลายออกมาเป็นประจำเดือน และมีการสร้างใหม่เพื่อทดแทน

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

มะเร็งเติบโตจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจน ดังนั้นเมื่อฮอร์โมนเหล่านี้มีมากผิดปกติก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชด้วยซึ่ง ได้แก่
1. ฮอร์โมนวัยทอง ฮอร์โมนวัยทองมีหลายชนิดและหลายส่วนประกอบ บางชนิดสามารถกระตุ้นมะเร็งได้มาก
2. สมุนไพร สมุนไพรกบางชนิดมีเอสโตรเจนปริมาณสูง เช่น กวาวเครือ และอีกหลายชนิดมีเอสโตรเจนแฝงอยู่โดยไม่รู้ อาจทำให้เลือดระดูออกผิดปกติหรือเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้
3. ความอ้วนในชั้นไขมันของคนเราเป็นที่สะสมของเอสโตรเจน ดังนั้นยิ่งอ้วนมากยิ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น
4. ยารักษามะเร็งเต้านม ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัด บางรายแพทย์แนะนำให้รับประทานยาป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ( ทามอกซิเฟน ) ซึ่งยานี้มีลักษณะคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนจึงกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติได้ จึงสมควรได้รับการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด
5. ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง ซึ่งมักมีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เมื่อเป็นมากๆ อาจมีสิว ผิวมัน ขนดกร่วมด้วยกลุ่มนี้มีเอสโตรเจนสูงเช่นกัน   
6. โรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้
7. ประวัติพันธุกรรม ญาติสายตรง เป็นมะเร็งสำไส้ใหญ่
8. ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน อาจส่งผลต่อการป่วยมะเร็งได้เช่นกัน
9. ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน เพราะโรคอ้วนมีผลต่อฮอร์โมน ทำให้การทำงานของมดลูกผิดปกติและอาจกลายพันธุ์เป็นมะเร็งได้
10. ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน รวมถึงผู้ที่มีประจำเดือนเร็วตั้งแต่อายุยังน้อย และผู้ที่หมดประจำเดือนช้าเกินจากอายุ 55 ปีขึ้นไป

อาการของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

1. เลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน
2. ตกขาวผิดปกติและมีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ คล้ายกับโรคมะเร็งปากมดลูก
3. ประจำเดือนมาผิดปกติ ในคนที่ยังไม่พ้นวัยหมดประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมามาก มาน้อย หรือมาครั้งละหลายวันนานกว่าปกติ
4. คลำเจอมดลูกโตบริเวณเหนือหัวหน่าวในอุ้งเชิงกรานหรือบริเวณช่องท้องน้อย
5. ปัสสาวะมีอาการผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อยเกินไป และมีอาการแสบขัด
6. อุจจาระมีอาการผิดปกติ เช่น ท้องผูกบ่อยๆ และมักจะปวดเบ่งเวลาอุจจาระ
7. มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ระยะของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

สำหรับการวินิจฉัยโรคหรือระยะของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแพทย์จะทำการสอบถามประวัติอาการของผู้ป่วย ตรวจร่างกาย และทำการขูดมดลูกเพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำยิ่งขึ้น และทราบด้วยว่ากำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะไหน โดยมี 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 เป็นระยะที่มะเร็งยังคงลุกลามอยู่ภายในตัวมดลูกเท่านั้น โดยหากพบในระยะนี้จะสามารถรักษาให้หายได้ง่าย   
ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มะเร็งเริ่มลุกลามเข้าสู่ปากมดลูก
ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปมาก โดยส่วนใหญ่จะลุกลามเข้าสู่รังไข่ ช่องคลอด เยื่อหุ้มมดลูกและเนื้อเยื่อรอบมดลูกบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือท้องน้อย
ระยะที่ 4 เป็นระยะที่อันตรายที่สุด โดยมะเร็งได้ลุกลามเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะและทวารหนัก รวมถึงอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป ด้วยการแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดและน้ำเหลือง โดยเฉพาะปอด

การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกนิยมใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อประเมินการลุกลามของโรคและพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยอาจรักษาด้วยการใช้รังสีรักษาหรือการทำเคมีบำบัดร่วมกัน รวมถึงการให้ฮอร์โมน ซึ่งทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับระยะ ความรุนแรงของโรคและสุขภาพของผู้ป่วยเองด้วย ส่วนอีกวิธีหนึ่ง การให้ยารักษาตรงเป้ายังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมโดยยังไม่แน่ชัดว่าจะมีประสิทธิภาพในการรักษามากแค่ไหน

การป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

  1. ปรึกษาแพทย์เมื่อมีความผิดปกติหลังวัยหมดประจำเดือน
  2. ออกกำลังกายเป็นประจำ และควบคุมน้ำหนัก
  3. ทานยาคุมกำเนิดอาจลดความเสี่ยงมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (ยาคุมกำเนิดมีผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม)

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ จึงต้องอาศัยการสังเกตความผิดปกติซึ่งโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมักมีอาการเตือนแต่แรกเริ่ม โดยจะมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน หรือประจำเดือนมาผิดปกติ ซึ่งการพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการผิดปกติจะช่วยให้รักษาได้ทันแต่เนิ่นๆ โดยผ่าตัดและทำให้มีโอกาสรักษาหายได้สูง

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

Herzog T, Abu Shahin F (August 2014). “Endometrial cancer: A review and current management strategies: Part I”. Gynecologic Oncology. 134 (2): 385–392. PMID 24905773.

Reinbolt, “The Role of PARP Inhibitors in the Treatment of Gynecologic Malignancies”. Frontiers in Oncology. 3: 237.

Staley, H; McCallum, I; Bruce, J (17 October 2012). “Postoperative tamoxifen for ductal carcinoma in situ.”. The Cochrane database of systematic reviews.