มะเร็งในเด็ก
มะเร็งในเด็ก ( Pediatric Cancer ) ต้องรีบสังเกตอาการเพราะมะเร็งไม่ได้จำกัดเฉพาะว่าต้องเป็นในผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นได้กับวัยเด็กด้วยโดย โรคมะเร็งในเด็ก คือโรคมะเร็งที่จะเกิดกับเด็กแรกเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา จนถึงเด็กที่มีอายุไม่เกิน 14 ปีซึ่งโรคมะเร็งในเด็กนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกช่วงอายุ ทั้งเพศชายและเพศหญิงในอัตราส่วนปริมาณที่ใกล้เคียงกัน
มะเร็งในเด็ก จะมีอัตราเกิดโรคได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก คิดเป็นประมาณ 1ใน 10 ของมะเร็งในผู้ใหญ่ มะเร็งในเด็กมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีธรรมชาติของโรค อาการ ระยะโรค และวิธีรักษาแตกต่างกันออกไป มีทั้งมะเร็งชนิดเดียวกับผู้ใหญ่และชนิดที่ต่างจากผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากชนิดของมะเร็งเกือบทั้งหมดจะเป็นชนิดที่แตกต่างจากในผู้ใหญ่
มะเร็งในเด็ก ( Pediatric Cancer )ที่พบได้มากที่สุดคือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ในปริมาณร้อยละ 30 รองลงมา ก็จะเป็นโรคมะเร็งสมอง โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งต่อมหมวกไต และอื่นๆ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งในเด็ก
ในปัจจุบันการหาสาเหตุของการเกิดมะเร็งในเด็กยังไม่ทราบชัดแน่นอน แต่เชื่อกันว่าน่าจะเกิดมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยมีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้ ความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดถ่ายทอดได้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสูงสุดของการเกิดมะเร็งในเด็ก เช่น ในมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งจอตา เป็นต้น
ความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด มีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโต และการตายตามธรรมชาติของเซลล์ปกติ การได้รับรังสีบางชนิดปริมาณสูงขณะอยู่ในครรภ์ เช่นรังสีเอกซ์ ( รังสีในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค ) เป็นต้น อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งในเด็กได้ การบริโภคสารก่อมะเร็งอย่างต่อเนื่องของมารดาในขณะตั้งครรภ์ เกิดจากการทานอาหารและยา เช่นการทานผักและผลไม้ที่มีสารปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลง
การติดเชื้อของมารดาในขณะตั้งครรภ์ เช่น การติดเชื้อไวรัสเช่น เอชไอวี ( HIV ) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดได้ การขาดสารบางชนิดของมารดาขณะที่ตั้งครรภ์ เช่น วิตามินบี 9
การวินิจฉัยโรงมะเร็งในเด็ก
การวินิจฉัยมะเร็งในเด็กมีขั้นตอนและวิธีการ เช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ เช่น การสอบถามประวัติอาการป่วย การตรวจร่างกาย หรือการตรวจเฉพาะด้านตามคำสั่งของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดซีบีซี เป็นต้น แต่สำหรับวิธีที่ได้ผลดีและแน่นอนที่สุด คือ การเจาะ ดูด หรือการตัดชิ้นเนื้อ ไปตรวจสอบทางเซลล์วิทยาหรือพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการตรวจโรคมะเร็งชนิดที่พบในผู้ใหญ่
อาการของโรคมะเร็งในเด็ก
โดยปกติมักจะไม่มีอาการเฉพาะ หรือ สามารถระบุอาการต่างๆของตนเองได้ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ ต้องอาศัยความเอาใจใส่ และการสังเกต แต่ก็มีอาการที่ถูกพบได้บ่อย ๆ คือ
- คลำพบก้อนเนื้อผิดปกติในร่างกาย
- มีอาการไข้สูงบ่อยๆ โดยจะเป็นๆหายๆ
- มีจุด จ้ำ เป็นห้อเลือดง่าย
- มีจุดเลือดออกแดงๆตามลำตัว แขน หรือขา คล้ายอาการของคนเป็นไข้เลือดออก
- อ่อนเพลียง่าย
ระยะของโรคมะเร็งในเด็ก
ระยะของมะเร็งในเด็กแต่ละชนิด มีรายละเอียดแตกต่างกัน โดยทั่วไปโรคมะเร็งในเด็กสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ ดังนี้
มะเร็งในเด็กระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก ยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ หรือในอวัยวะที่เกิดโรค ยังไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียง
มะเร็งในเด็กระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น และเริ่มลุกลามมากขึ้น แต่ยังอยู่ในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต้นกำเนิดของโรค
มะเร็งในเด็กระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งโตมากขึ้นอีก จะลุกลามเข้าเนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียงมากขึ้นหรือลุกลามเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้กับอวัยวะที่เกิดโรคมะเร็ง
มะเร็งในเด็กระยะที่ 4 ก้อนเนื้อมะเร็งลุกลามรุนแรง แพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองซึ่งอยู่ไกลจากอวัยวะที่เกิดโรค และยังแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย อวัยวะที่พบได้บ่อย เช่น ไขกระดูก ปอด กระดูก ตับ และสมอง
การรักษามะเร็งในเด็ก
มะเร็งในเด็กส่วนใหญ่มีความรุนแรงของโรคสูง แต่ก็มีโอกาสรักษาหายได้ โดยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น ระยะของโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง ธรรมชาติของโรคมะเร็ง ความสามารถในการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งออก การตอบสนองต่อเคมีบำบัด อายุ และสุขภาพของเด็ก
หลักในการรักษามะเร็งในเด็กจะใช้วิธีเดียวกับโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันสามารถทำได้ มี 3 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ การผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด และวิธีรังสีรักษา โดยในวิธีรังสีรักษา จะใช้ก็ต่อเมื่อมะเร็งที่พบมีความรุนแรงโรคสูง เมื่อโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ โรคเกิดการแพร่กระจาย ไม่สามารถผ่าตัดได้ และโรคมีอาการดื้อต่อเคมีบำบัดนั้นเอง
วิธีป้องกันโรคมะเร็งในเด็ก
การป้องกันมะเร็งในเด็กเป็นเรื่องยาก ปัจจุบันยังไม่มีวิธีไหนที่สามารถป้องกันโรคมะเร็งในเด็กได้อีกทั้งการตรวจคัดกรองโรงมะเร็งในเด็กก็ยังไม่มี ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดที่ทำได้คือ ให้เด็กหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หรือสารก่อมะเร็ง จากอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวและโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น อาหารสำเร็จรูป บุหรี่ และเหล้า ก็จะดีที่สุด
สำหรับวัยเด็กเป็นวัยที่มีแต่ความสนุก สดใส หากต้องมาพบเจอพวกเขาเหล่านั้น ในรูปแบบของการเป็นมะเร็งชนิดต่างๆก็คงรู้สึกแย่ไม่น้อยเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการป้องกันหรือการตรวจคัดกรองมะเร็งในเด็ก แต่สิ่งที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะสามารถทำได้ก็คือ ดูแลเขาให้ดีที่สุดจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต้องคอยสังเกตเด็กหากพบความผิดปกติอะไรให้รีบไปปรึกษาแพทย์โดยทันที
ร่วมตอบคำถามกับเรา
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
Prasad AR, Bernstein H (March 2013). Epigenetic field defects in progression to cancer. World Journal of Gastrointestinal Oncology.