การตรวจของเหลวในร่างกาย ( Body Fluid )

0
11291
การตรวจของเหลวในร่างกาย (Body Fluid)
สารคัดหลั่ง หรือ (Body Fluid) ประกอบด้วยของเหลวหลายชนิด เช่น เลือด น้ำเหลืองจากเลือด เหงื่อ ไขมันจากต่อมเหงื่อ น้ำเหลือง หนอง น้ำไขสันหลัง น้ำตา น้ำลาย น้ำนม น้ำดี น้ำจากช่องคลอด น้ำอสุจิ
การตรวจของเหลวในร่างกาย (Body Fluid)
สารคัดหลั่ง หรือ (Body Fluid) ประกอบด้วยของเหลวหลายชนิดที่อยู่ในร่างกาย

ของเหลวในร่างกาย

ภายใต้ร่างกายของมนุษย์เรา นอกจากจะมากไปด้วยอวัยวะส่วนต่างๆแล้ว ยังประกอบไปด้วยของเหลวต่างๆมากมายภายในร่างกายด้วย ของเหลวชนิดต่างๆทุกชนิดที่อยู่ในร่างกายนี้ รวมแล้วเรียกว่า สารคัดหลั่ง หรือ ของเหลวในร่างกาย ( Body Fluid ) ซึ่งประกอบไปด้วยของเหลวหลายชนิด เช่น เลือด น้ำเหลืองจากเลือด เซลล์เม็ดเลือด เหงื่อ ไขมันจากต่อมเหงื่อ น้ำเหลือง หนอง น้ำไขสันหลัง น้ำตา น้ำลายน้ำนม น้ำดี น้ำจากช่องคลอด น้ำอสุจิ เกลือแร่ ซีรั่ม เป็นต้น   

ของเหลวในร่างกายมีเพื่ออะไร ?

ของเหลวในร่างกายที่ประกอบไปด้วยหลายสิ่งมากมาย แต่ละสิ่งก็มีหน้าที่และโยชน์ของตนเองแตกต่างกันออกไป ซึ่งเราสามารถสรุปบทบาทของหน้าที่ของเหลวในร่างกายที่สำคัญๆได้ดังต่อไปนี้

1. สร้างความหล่อลื่นให้กับอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานได้สะดวก

2. ช่วยรักษาระดับของความดันในร่างกายให้เป็นปกติ

3. เป็นช่องทางลำเลียงขนส่งสารอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการใช้ของเซลล์เนื้อเยื่อโดยรอบโพรงนั้นๆ

4. เป็นช่องทางระบายทิ้งของเสียและสารพิษจากในร่างกาย

5. ช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้เหมาะสม อย่างสม่ำเสมอ

6. ช่วยรักษาสภาวะความสมดุลของการเป็นกรดเป็นด่าง และความสมดุลของธาตุต่างๆ ในสารละลายประจุไฟฟ้าภายในของเหลวนั้น

การตรวจของเหลวในร่างกาย ทำเพื่ออะไร ?

สำหรับจุดประสงค์ในการตรวจ ของเหลวในร่างกาย นั้น ส่วนใหญ่แพทย์จะตรวจเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และยังนำผลตรวจที่ได้ไปใช้ในการอื่นๆดังนี้

1. เพื่อจะทราบชนิดและความร้ายแรงของโรคที่ผู้ป่วยกำลังมีอาการผิดปกติอยู่

2. เพื่อจะทราบถึงการรั่วซึมของของเหลวไปสู่อวัยวะใกล้เคียง ซึ่งเป็นอาการผิดปกติทางกายอย่างหนึ่ง

3. เพื่อจะทราบองค์ประกอบของสารชีวโมเลกุลที่ร่างกายผลิตขึ้นและปนอยู่ในของเหลว เช่น ฮอร์โมน เลือด ( หมายรวมถึงเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ ) เอนไซม์ ฯลฯ รวมทั้งโปรตีน ไขมัน และน้ำตาล ที่มาจากเลือดด้วย

4. เพื่อจะวิเคราะห์และพยากรณ์ตามพัฒนาการของธรรมชาติ เช่น การตรวจของเหลวในมดลูกของสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ ก็อาจได้ข้อมูลซึ่งอาจใช้พยากรณ์ถึงสุขภาพของมารดาและทารกได้ในอนาคตได้ด้วย

แหล่งของ ของเหลวในร่างกายที่อาจถูกนำออกมาตรวจวิเคราะห์

หากมีความผิดปกติใด หรือความเจ็บป่วยโรคต่างๆ เกิดขึ้น แพทย์ผู้รักษาอาจจะต้องการขอข้อมูลเพิ่มจากผู้ป่วยเกี่ยวกับ ของเหลวในร่างกาย ต่างๆ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาวินิจฉัยโรคที่ป่วยเป็น ให้มีความแม่นยำมากขึ้น และยังช่วยให้การรักษาสามารถทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย เนื่องจากของเหลวในร่างกายมีหลายชนิดมากมาย แพทย์จึงจะเป็นผู้วิเคราะห์เองว่า จำเป็นตรวจของเหลวในร่างกายอะไรบ้าง  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของโรคที่ผู้ป่วยแต่ละคนเป็น  โดยจะขอยกตัวอย่างของเหลวในร่างกายบางชนิดที่สามารถตรวจและนำข้อมูลไปช่วยในการรักษาได้ ดังต่อไปนี้

1. Aminocentesis ( หรือ Aminotic Fluid Analysis ) หมายถึง การตรวจของเหลวในร่างกายที่เรียกว่า น้ำคร่ำ จะใช้ตรวจสำหรับหญิงที่มีการตั้งครรภ์ โดยแพทย์จะทำการเจาะเพื่อเก็บตัวอย่างของน้ำคร่ำจากมดลูกไปตรวจ มีจุดประสงค์ในการตรวจคือ เพื่อจะได้ทราบสภาวะการเติบโตของทารก เพศของทารก ค่า Rh ของเลือดในตัวทารก ซึ่งจะมีผลกับร่างกายของมารดาและยังสามารถบอกความผิดปกติเกี่ยวกับทารกได้ เช่นภาวะดาวน์ซินโดรม หรือความผิดปกติทางโครโมโซมในตัวของเด็ก

2. Amyloid Beta Protein Precursor หมายถึง การตรวจวิเคราะห์ ของเหลวในร่างกายที่ได้จากไขสันหลัง มีจุดประสงค์ในการตรวจคือ เพื่อใช้ตรวจสอบสภาวะของโรคอัลไซเมอร์ ( Alzeimer disease, AD ) หรือ โรคความจำเสื่อม โดยมากจะใช้ตรวจในผู้สูงอายุเป็นหลัก

3. Arthrocentesis With Synovial Fluid Analysis หมายถึง การตรวจของเหลวภายในข้อต่อที่เชื่อมกระดูกของร่างกายเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาแนวทางสำหรับการรักษาอาการปวด หรืออาการอักเสบในข้อต่อของอวัยวะต่างๆ เช่น ข้อศอก ข้อมือ หัวเข่าหัวไหล่ เป็นต้นซึ่งการตรวจวิธีนี้มักใช้กับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอาการปวดข้อตามร่างกายส่วนต่างๆอยู่เป็นประจำและบ่อยๆ

4. Breast Cyst and Nipple Discharge หมายถึง การตรวจของเหลวภายในเต้านม หรือาจจะเป็นของเหลวที่ไหลออกมาจากหัวนมของเพศหญิงอย่างผิดปกติ การตรวจวิธีนี้มีจุดประสงค์คือ ช่วยในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ ถึงแม้โรคนี้จะเป็นได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่ส่วนมากจะนิยมใช้กับเพศหญิงที่มีอัตราความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากกว่าเพศชาย

5. Paracentesis หมายถึง การตรวจของเหลวภายในช่องท้องมีจุดประสงค์ในการตรวจคือเพื่อนำข้อมูลการตรวจที่ได้ไปวิเคราหะหาสาเหตุของผู้ป่วยที่มีอาการท้องมาน ( Ascites ) หรือภาวะที่ท้องโตขึ้นอย่างผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

6. Pericardiocentesis หมายถึง การตรวจของเหลวในถุงหุ้มหัวใจ ( Pericardial Sac ) จะใช้วิธีตรวจนี้ก็ต่อเมื่อ มีของเหลวมากเกินกว่าปกติในถุงหุ้มหัวใจซึ่งจะส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติ มีภาวะความดันเกิดขึ้น ของเหลวที่มากเกินปกติจะไปขัดขวางจังหวะการบีบและคลายตัวของหัวใจโดยแพทย์ผู้รักษาจะเจาะนำของเหลวออกมาเพื่อตรวจหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและเป็นการดึงเอาของเหลวออกมาเพื่อลดความดันและระบายน้ำออกจากช่องเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นการช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในยามฉุกเฉินให้ผู้ป่วยได้มีอาการที่ดีขึ้นและปลอดภัย

7. Thoracentesis and Pleural Fluid Analysis หมายถึง การตรวจของเหลวภายในปอดจะใช้วิธีตรวจนี้ก็ต่อเมื่อ มีของเหลวมากเกินกว่าปกติในปอดส่งผลกะทบทำให้ปอดขยายตัวในจังหวะหายใจเข้าไม่สะดวกซึ่งแพทย์จะทำการเจาะและนำของเหลวออกจากปอด โดยมีจุดประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อลดระดับของเหลวในปอด ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ยังนำของเหลวที่ได้นี้ไปวิเคราหะเพื่อหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป

ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเจาะเอาของเหลวภายในร่างกายออกมาตรวจ?

ในการนำของเหลวต่างๆ ในร่างกายมาตรวจ ก็มีความคล้ายกับการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจ แต่ทั้งนี้ การนำของเหลวที่อยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกายไปตรวจนั้น จะต้องใช้บุคคลการที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะในบางอวัยวะที่มีความบอบบางและมีความซับซ้อน หากทำไม่ถูกต้องหรือผิดวิธี ก็อาจมีความอันตรายต่อผู้ป่วยได้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงได้มีการกำหนดหน้าที่ผู้ที่ทำเกี่ยวกับการนำของเหลวจากส่วนต่างๆ ของร่างกายไปตรวจดังนี้

  • แพทย์ จะเป็นผู้สั่งและกำหนดให้ตรวจ ของเหลวในร่างกายได้ผู้เดียวเท่านั้น
  • ผู้ที่ทำการเจาะของเหลวจากส่วนต่างๆของร่างกาย ต้องเป็นแพทย์เท่านั้น โดยอาจจะเป็นแพทย์ผู้รักษาหรือแพทย์ผู้เชียวชาญก็ได้
  • ผู้ทำการตรวจวิเคราะห์สารชีวเคมี คือ เจ้าหน้าที่เทคนิคในห้องปฏิบัติการ ( Laboratory )
  • หากสงสัยว่า ของเหลวที่มีสภาวะผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ ก็จำเป็นต้องนำส่งให้นักพยาธิวิทยา ( Pathologist ) ดำเนินกรรมวิธีเพาะเชื้อ ก่อนรายงานผล ซึ่งต้องอาจใช้เวลาหลายวัน

การตรวจ ของเหลวในร่างกายนั้น แพทย์จะตรวจอะไรบ้าง?

ของเหลวที่ได้จากการ เจาะ หรือ ดูดออกจากร่างกาย ตามอวัยวะต่างๆ ที่แพทย์สั่งให้ตรวจ เมื่อได้มาแล้วแพทย์ผู้รักษาจะนำของเหลวนั้นๆ มาเพื่อตรวจสอบโดยมีการหลักการในการตรวจสอบดังต่อไปนี้

1. การตรวจทางกายภาพได้แก่ การตรวจด้วยประสาทสัมผัสง่ายๆ ธรรมดา เช่น ความใส ความขุ่น ความข้น สี และกลิ่นของของเหลวว่ามีความปกติหรือมีความผิดปกติอย่างใด

2. การตรวจสารชีวเคมีด้วยเหตุที่สารชีวเคมีจากเลือด ซึ่งอาจหลุดลอยเข้าปะปนกับของเหลวในร่างกาย เมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติ การตรวจวิธีนี้จะเป็นการตรวจที่ละเอียดมากกว่าการตรวจทางกายภาพในร่างกายของมนุษย์เรามีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก

หากเกิดการเจ็บป่วยใดๆเกิดขึ้น บางครั้งแพทย์ผู้รักษาเองก็อาจไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นได้ในทันทีทันใด แต่การนำวิธีการตรวจ ของเหลวในร่างกายเข้ามาช่วยในทางการแพทย์ ช่วยให้แพทย์สามารถมีข้อมูลมาช่วยวิเคราะห์ถึงโรคต่างๆที่เกิดขึ้นได้แม่นยำและถูกต้องมากขึ้น ทั้งนี้ประโยชน์ทั้งหมดก็อยู่ที่ตัวผู้ป่วยเอง เพราะหากแพทย์สามารถทราบถึงปัญหาต้นตอของโรคที่ป่วยได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะหายป่วยก็จะมีมากขึ้นและเร็วขึ้นด้วยนั่นเอง

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ประสาร เปรมะสกุลม พลเอก. คู่มือแปลผลตรวจเลือดเล่มสอง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, 2554. 416 หน้า 1.เลือด–การตรวจ. 616.07561 ISBN 978-974-9608-49-4.

Palmer, Chapter 38,Pathophysiology of sodium retention and wastage, in Seldin and Giebisch’s The Kidney, Fifth Edition. Page 1511-12. Elsevier Inc. (c) All rights reserved.

De Luca LA, Menani JV, Johnson AK (2014). Neurobiology of Body Fluid Homeostasis: Transduction and Integration. Boca Raton: CRC Press/Taylor & Francis.