ตรวจเบาหวาน ( Diabetes test )

0
22469
ตรวจเลือดวิเคราะห์โรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเกิดขึ้นจากการที่อ้วนเกินไปไม่ออกกำลังกาย และถ่ายทอดทางพันธุกรรม

ตรวจเลือดวิเคราะห์โรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเกิดขึ้นจากการที่อ้วนเกินไปไม่ออกกำลังกาย และถ่ายทอดทางพันธุกรรม

ตรวจเบาหวาน

ตรวจเบาหวาน ( Diabetes ) ถือว่าเป็นโรคทีมีจำนวนผู้ป่วยมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มีตั้งแต่อายุยังน้อย จนไปถึงผู้ที่อยู่ในวัยชราภาพ โรคนี้หากเป็นแล้วจะมีอาการที่เรื้อรัง ผู้ป่วยต้อยคอยดูแล ควบคุมระดับน้ำตาลใน เลือดของตนเองให้อยู่ในภาวะปกติเสมอ  ในปัจจุบันมีวิธี ตรวจเบาหวาน ได้หลากหลายวิธี  แต่วิธีที่นิยมกันมากที่สุดก็คือ วิธีการเจาะเลือดมาตรวจ เพื่อวัดค่าระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากเป็นวิธีที่ให้ผลตรวจที่แม่นยำ มีความสะดวก ทำได้ง่าย และมีค่าใช้จ่ายน้อยในการตรวจนั้นเอง

ค่าการตรวจเลือดที่สำคัญในการวิเคราะห์ เบาหวาน

ในการตรวจเลือดเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานนั้น ในทางการแพทย์จะใช้ค่าในการตรวจหาปริมาณน้ำตาลหลายๆตัวด้วยกัน เช่น  FBS, FPG, HbA1c, GTT เป็นต้น ซึ่งในการตรวจนั้น แพทย์อาจใช้ค่าใดค่าหนึ่ง หรือ ใช้ค่าผลตรวจหลายๆตัวรวมกันก็ได้ เพื่อให้ผลตรวจที่ได้ออกมามีความแม่นยำมากที่สุด

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจเลือด

การตรวจเลือดเพื่อหาความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานนั้น แพทย์จะให้ผู้ที่ต้องการตรวจเลือด งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดก่อนตรวจเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อให้ผลเลือดที่ออกมาปราศจากความคลาดเคลื่อนนั้นเอง

ค่า Fasting Blood Sugar ( FBS ) คืออะไร

Fasting Blood Sugar ( FBS ) คือ วิธีมาตรฐานที่นิยมใช้เป็นการตรวจโรคเบาหวาน หลังจากที่ได้มีการอดอาหาร และเครื่องดื่มมาอย่างน้อยเป็นเวลากว่า 8 ชั่วโมง หรือ สามารถเรียกการตรวจค่าชนิดนี้ว่า Fasting Plasma Glucose (FPG) ก็ได้เช่นกัน โดย FPG มีค่าปกติ คือ

FPG      < 110     mg / dL

 

ดังนั้นหากผู้ที่ทำการตรวจมีปริมาณของค่า FPG ผิดไปจากค่ามาตรฐาน สามารถสรุปในเบื้องต้นได้ดังนี้

ค่า FPG ที่วัดได้ สูงกว่า 110 mg / dL มีภาวะของโรคเบาหวานเกิดขึ้นแล้ว
ค่า FPG ที่วัดได้ ต่ำกว่า 70 mg / dL อาจเกิดมีสภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิดขึ้น

 

การตรวจเลือด หาความผิดปกติของ Hemoglobin A1c ( HbA1c )

HbA1c มีชื่อเรียกที่หลากหลาย โดยมีความหมายและถือเป็นค่าเดียวกัน ได้แก่

1. HbA1c
2. GHb
3. GHB
4. Glycohemglobin
5. Glycolated Hemoglobin
6. Hemoglobin A1C
7. Diabetic Control Index
8. Glycated Protein
9. Glycosylated Hemoglobin
10. Hemoglobin-Glycosylated
11. A1C

ซึ่งวัตถุประสงค์ในการตรวจหาค่า Hemoglobin A1c ( HbA1c )  เพื่อตรวจเช็คสภาวะการเป็นโรคเบาหวาน รวมถึงใช้ตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาโรคเบาหวานอีกด้วย โดยการตรวจดังกล่าวนี้จะเป็นการตรวจดูว่ามีน้ำตาลกลูโคสที่เข้าไปจับและเคลือบผิวกับเฮโมโกบินในเลือดมากน้อยเท่าไหร่ เรียกการตรวจนี้ว่า “ เฮโมโกบิน เอวันซี ” Hemoglobin A1c ( HbA1c ) โดยค่าที่ตรวจออกมาจะได้เป็นจนวนเปอร์เซ็นต์ของเม็ดเลือดแดง และสามารถบ่งชี้ถึงโรคเบาหวานได้อย่างแม่นยำมากทีเดียว

คำอธิบายอย่างสรุปในการตรวจหาค่า Hemoglobin A1c ( HbA1c )

1. เฮโมโกบิน เป็นสารโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเม็ดเลือดแดงเป็นอย่างมาก เพราะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จำเป็นต้องมีในเม็ดเลือดแดงนั่นเอง ซึ่งก็พบว่าส่วนใหญ่จะมีเฮโมโกลบินอยู่มากถึง 98 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ทางการแพทย์จึงใช้ศัพท์แบบย่อๆ ว่า “ HbA ” นอกจากนี้ HbA ก็สามารถแยกย่อยออกมาได้เป็น HbA1, HbA2 ฯลฯ อีกด้วย
แต่ทั้งนี้ HbA1 ก็ยังได้รับการแยกย่อยออกไปอีก โดยสามารถแยกได้เป็น HbA1a, HbA1b และ HbA1c ตามลำดับ แต่ตัวที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องโรคเบาหวานมากที่สุด ก็คือ HbA1c นั่นเอง นั่นก็เพราะ Hemoglobin A1c ( HbA1c ) มักจะชอบเข้าไปจับตัวกับน้ำตาลและยอมให้น้ำตาลเคลือบได้ จึงทำให้เกิดความเสียหายและส่งผลให้เป็นเบาหวานได้ ดังนั้นยิ่งมีการจับและเคลือบกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงได้ถึงการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นเท่านั้น

2. เม็ดเลือดแดงส่วนใหญ่มักจะมีอายุขัยเพียงแค่ 120 วันเท่านั้น โดยจะทะยอยเกิดขึ้นมาจากไขกระดูกและเข้าไปทำงานในหลอดเลือด จากนั้นก็จะถูกม้ามจับไปทำลายเมื่อสิ้นอายุขัย เพราะฉะนั้น Hemoglobin A1c ( HbA1c ) ที่ถูกน้ำตาลเข้าจับ จะสามารถตรวจเทียบเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่มากน้อยออกมา และใช้เพื่อบ่งชี้สภาวะค่าน้ำตาลในเลือดของช่วงระยะเวลา 120 วันที่ผ่านมาได้อีกด้วย ซึ่งก็จะได้ค่าการตรวจที่มีความแม่นยำมากพอสมควร

3. HbA1c ที่ถูกน้ำตาลจับเคลือบ จะสามารถตรวจเลือดออกมาเป็นค่าตัวเลขที่มีหน่วยนับเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ ดังนี้

สมาคมโรคเบาหวานอเมริกัน ( The American Diabetes Association ) ได้อำนวยความสะดวกจัดทำ และแสดงตัวเลขเทียบเคียงค่าน้ำตาลได้ดังตารางต่อไปนี้
ค่า HbA1c ( หน่วย : % ) ตรงกับค่าน้ำตาลในเลือด ( หน่วย : mg/dL )
4 60
5 90
6 120
7 150
8 180
9 210
10 240
11 270
12 300
13 330

4. ค่าน้ำตาลในเลือดที่ตรวจหลังจากอดอาหารเป็นระยะเวลา 8 ชั่วโมงก่อนตรวจ จะถูกเรียกว่า FBS โดยจะได้ค่าที่บอกได้ถึงความปกติและสงสัยว่าจะเป็นเบาหวานดังนี้

ค่าน้ำตาลในเลือดที่ตรวจหลังจากอดอาหารเป็นระยะเวลา 8 ชั่วโมงก่อนตรวจ  ( FBS )
ค่าน้ำตาลในเลือด ( mg/dL ) ข้อบ่งชี้
< 110 ปกติ
110 – 125 เสี่ยงเป็นเบาหวาน
> 126 สงสัยว่าจะเป็นเบาหวาน

ตัวเลขดังกล่าวนี้ใช้เพื่อให้ง่ายต่อการเทียบตัวเลข ค่าเปอร์เซ็นต์ของ HbA1c ที่เข้ามาจับกับน้ำตาล เพื่อให้สะดวกในการอ่าน แนะนำ จะจำเพียงตัวเลขแค่ 2 ตัวคือ

≤ 5 % ของ HbA1c ถือว่า ปลอดภัย
≥ 6 % ของ HbA1c ถือว่า เริ่มไม่ปลอดภัย

 

ค่าปกติของ Hemoglobin A1c ( HbA1c )

ค่าปกติ ของ HbA1c
ผู้ใหญ่ ไร้สภาวะเบาหวาน HbA1c : 2.2 – 4.8 %
เด็ก ไร้สภาวะเบาหวาน HbA1c : 1.8 – 4.0 %
สภาวะเบาหวาน ควบคุมดี HbA1c : 2.5 – 5.9 %
สภาวะเบาหวาน ควบคุมพอใช้ HbA1c : 6 – 8 %
สภาวะเบาหวาน ควบคุมไม่ดี HbA1c : > 8 %

 

ค่าผิดปกติของ Hemoglobin A1c ( HbA1c )

  1. หากค่าผิดปกติที่ได้ไปในทางน้อย อาจแสดงได้ว่า
  • เป็นโรคโลหิตจางชนิดที่เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ( Hemolytic Anemia ) เป็นผลให้ไม่สามารถตรวจนับเม็ดเลือดแดงที่จับกับน้ำตาลได้ แม้ว่าจะมีน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกินค่าปกติก็ตาม
  • เกิดการเสียเลือด ทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุไม่ถึง 120 วัน และค่าของ HbA1c ที่ถูกน้ำตาลจับก็อาจตรวจได้เป็นค่าเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำเกินจากความเป็นจริงอีกด้วย
  • เกิดสภาวะไตวายแบบเรื้อรัง ( Chronic Renal Failure ) ทำให้ไตไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอีริทโธรปอยเอตินออกมาได้ตามปกติ ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะทำหน้าที่ในการกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงออกมานั่นเอง ดังนั้นจากการที่ฮอร์โมนดังกล่าวมีน้อยก็จะทำให้เม็ดเลือดแดงถูกผลิตออกมาน้อยกว่าปกติด้วย จึงทำให้ค่าของ Hemoglobin A1c ( HbA1c ) ที่ตรวจได้ มีค่าที่ต่ำมากไปด้วยนั่นเอง

2. หากค่าผิดปกติที่ได้ไปในทางมาก อาจแสดงได้ว่า

  • คาดว่าน่าจะเป็นเบาหวานมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่ช่วง 120 วันที่ผ่านมา ดังนั้นเพื่อความชัดเจนมากขึ้น แพทย์ก็จะทำการตรวจเลือดหาค่า FBS ด้วย
  • เป็นโรคเบาหวาน และควบคุมได้ไม่ดี จึงทำให้ตรวจพบค่าสูงได้ เพราะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่นั่นเอง
  • เป็นน้ำตาลในเลือดสูงโดยปราศจากเบาหวาน ซึ่งอาจเกิดจากสภาวะบางอย่าง เช่น ตกอยู่ในความเครียดอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน เป็นต้น
  • การถูกตัดม้ามทิ้ง ทำให้เม็ดเลือดแดงที่หมดอายุขัยแล้ว ยังคงวนเวียนอยู่ในหลอดเลือดเพราะไม่มีแหล่งกำจัดทิ้งออกไปนั่นเอง ดังนั้น Hemoglobin A1c ( HbA1c ) ที่ตรวจพบจึงมีค่าเปอร์เซ็นต์ที่สูงอย่างผิดปกติด้วย เพราะค่าที่ตรวจได้รวมเอาเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุขัยแล้วแต่ยังคงวนเวียนอยู่มาด้วยนั่นเอง

การทดสอบการทนน้ำตาลกลูโคส Glucose Tolerance Test ( GTT )

ปกติแล้วในร่างกายมนุษย์เราจะมี ฮอร์โมนที่ชื่อว่า อินซูลิน ( Insulin ) ซึ่งผลิตได้มาจากตับอ่อนในร่างกาย มีหน้าที่หลักในการควบคุมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โดยนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ต่างๆในร่างกาย แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ร่างกายอาจผลิต อินซูลิน ได้น้อยกว่าปกติหรือผลิตไม่ได้เลย จึงทำให้มีปริมาณน้ำตาลตกค้างในเลือดมาก ส่งผลให้เกิดสภาวะของโรคเบาหวาน

ดังนั้นในการตรวจวินิจฉัยของแพทย์สำหรับโรคเบาหวานนั้น แพทย์จะต้องทำการตรวจ เพื่อทดสอบว่า ในกรณีที่ร่างกายได้รับปริมาณของน้ำตาล จากการบริโภคอาหารต่างๆ เข้าไปในปริมารมากอย่างทันทีทันใด แล้วร่างกายยังสามารถทนทานและรับมือกับน้ำตาลจำนวนมากนี้ ได้ดีมากน้อยเพียงใด  จึงเกิดการตรวจสอบที่เรียกว่า การทดสอบการทนน้ำตาล หรือ การตรวจ GTT มีชื่อเต็มๆ คือ Glucose Tolerance Test

วิธีการตรวจโรคเบาหวาน การทดสอบการทนน้ำตาลกลูโคส Glucose Tolerance Test ( GTT )

ในการทดสอบ Glucose Tolerance Test ( GTT ) นั้น จะใช้วิธีให้ผู้ที่ถูกตรวจ ดื่มน้ำตาลกลูโคสมาตรฐาน (Standard Oral Glucose) จำนวน 75 กรัม แล้วรอรับการเจาะเลือดตรวจค่าน้ำตาลในเลือด หรือ FPG ( ตรวจวัดระดับพลาสมากลูโคส ) ณ เวลาสิ้นสุดชั่วโมงที่ 1, 2 และ 3 โดยจะมีการบันทึกค่าไว้ทุกครั้ง

ค่าปกติของการตรวจ GTT เวลา ค่าปกติ FPG
ชั่วโมงที่ 1 FPG < 110      mg/dL
ชั่วโมงที่ 2 FPG < 200      mg/dL
ชั่วโมงที่ 3 FPG < 140      mg/dL

 

กรณีค่า FPG ที่ได้จากการตรวจ GTT มีค่าผิดปกติไปจากมาตรฐาน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณีดังนี้

1. ตรวจวัด Glucose Tolerance Test ( GTT ) ได้น้อยกว่าค่ามาตรฐาน  หมายถึง เป็นผู้ที่สามารถทนทานและรับมือกับน้ำตาลจำนวนมาก ได้ในระดับที่ดี โดยอาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • อาจมีภาวะเกี่ยวกับโรคตับเกิดขึ้นในร่างกาย
  • ต่อมใต้สมอง อาจทำงานผิดปกติ ทำงานได้น้อยเกินไป ( Hypopituitarism )
  • มีการฉีดอินซูลินที่เกินขนาด สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน
  • อาจมีโรค  “ Insulinoma ” เกิดขึ้น  หมายถึง โรคเนื้องอกเกิดขึ้นที่เซลล์ของตับอ่อน ทำให้หลั่งอินซูลินออกมามากเกินเกินความจำเป็น
  • อาจได้รับปริมาณอาหารไม่เพียงพอ

2. ตรวจวัด FPG ได้สูงกว่าค่ามาตรฐาน  หมายถึง เป็นผู้ที่สามารถทนทานและรับมือกับน้ำตาลจำนวนมาก ได้ไม่ดี โดยอาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • เป็นผู้มีภาวะของโรคเบาหวานเกิดขึ้นแล้ว
  • อาจกำลังตกอยู่ภายใต้สภาวะความเครียดอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน เช่น ร่างกายถูกไฟไหม้ หรือได้รับการผ่าตัดใหญ่ จึงเป็นเหตุให้ ฮอร์โมนกลูคากอน ( Glucagon ) ซึ่งมีบทบาทตรงข้ามกับอินซูลิน ช่วยนำน้ำตาลออกมามากเกินปกติ
  • อาจเกิดสภาวะไตวาย จึงทำให้ไตหมดประสิทธิภาพในการขับทิ้ง ฮอร์โมนกลูคากอน  ออกมาทางปัสสาวะ
  • อาจเกิดสภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ( Acute Panareatitis ) เป็นผลทำให้ผลิตอินซูลินไม่ได้ หรือผลิตได้ในปริมาณที่น้อยกว่าปกติ จึงควบคุมระดับน้ำตาลจำนวนมากไม่ได้

การตรวจเลือดเพื่อหาสภาวะของโรคเบาหวานในปัจจุบันนี้ สามารถตรวจได้ง่ายกว่าในอดีตมาก คลินิกและโรง พยาบาลแทบแห่ง ล้วนแต่มีแพทย์ที่จะสามารถตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานได้ทั้งสิ้น  ดังนั้นหากผู้ใดที่คิดว่าตนเอง อยู่ในภาวะความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน ทั้งการแสดงออกของอาการเบื้องต้น ปริมาณช่วงอายุที่เหมาะสม หรือ พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อโรคเบาหวานแล้วละก็ ควรรีบไปให้แพทย์ เพื่อเจาะเลือดตรวจจะดีที่สุด เพราะหากไม่เป็น ก็จะได้เกิดความสบายใจ หรือถ้าหากเป็นโรคเบาหวานจริงๆ แล้ว ก็จะได้รู้และเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวรับมือกับโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นกับร่างกายนี้

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ประสาร เปรมะสกุล, พลเอก. คู่มือแปลผลตรวจเลือด เล่มสอง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, 2554. 416 หน้า. 1. เลือด – การตรวจ I.ชื่อเรื่อง. 616.07561 ISBN 978-974-9608-49-4.

แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: หจก. อรุณการพิมพ์, 2557.

แก้ว กังสดาลอำไพ. ความสัมพันธ์ระหว่างแอลกอฮอล์กับอาหาร [เว็บไซต์]. กรุงเทพฯ. หมอชาวบ้าน, 2531.