วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของเบาหวาน
โรคเบาหวานจะส่งผลต่อสุขภาพผู้ป่วย จะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย คอแห้ง กระหายน้ำ น้ำหนักลดผิดปกติ

อาการเบาหวาน

โรคเบาหวาน เมื่อเป็นแล้วอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว นั่นก็เพราะอาการเบาหวานจะส่งผลต่อสุขภาพของคนเราได้ดังนี้ 

1.ทำให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งก็เนื่องมาจากการปัสสาวะบ่อย จนทำให้ร่างกายได้รับน้ำน้อยเกินไปในที่สุด

2.ไตทำงานลดลงจากเดิม โดยเป็นเพราะน้ำตาลที่ไปเกาะแน่นอยู่เต็มหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงไตได้น้อยลง เป็นผลให้ไตด้อยประสิทธิภาพในการทำงานลงในที่สุด

3.ความสามารถในการรับรู้ค่อยๆ ลดลงไป เพราะเมื่อร่างกายขาดน้ำ ความดันโลหิตจะต่ำลง เป็นผลให้ไตและสมองทำงานแย่ลงกว่าเดิม ปฎิกิริยาการตอบสนองและการรับรู้จึงค่อยๆ ลดลงไปด้วยนั่นเอง

4.หมดสติและเสียชีวิต ซึ่งเกิดจากภาวะร่างกายที่อ่อนเพลียจนเกินไปและเนื่องมาจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกายได้ จึงทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้

ทำไมอ้วน แต่น้ำหนักกลับลดลง

เป็นอาการหนึ่งของโรคเบาหวานที่สังเกตเห็นได้ชัด นั่นก็คือคนที่อ้วน ทั้งที่กินมากและไม่เคยออกกำลังกายเลย แต่น้ำหนักกลับลดลงจนน่าตกใจ แถมยังลดลงอย่างต่อเนื่องจนดูผอมแห้งในที่สุด นั่นก็เพราะร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในเลือดไปใช้ประโยชน์โดยการเผาผลาญเป็นพลังงานได้ ทำให้ต้องสลายโปรตีนในกล้ามเนื้อและสลายไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกายออกมาใช้แทน จนทำให้น้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
เป็นเบาหวานมักแถมด้วยอาการป่วยอื่นๆ

เมื่อเป็นเบาหวาน ก็มักจะแถมด้วยอาการผิดปกติอื่นๆ พ่วงมาด้วย โดยทั้งนี้ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงถึง 160-180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็มักจะมีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดดังต่อไปนี้ 

1. คอแห้ง
2. ดื่มน้ำมาก
3. ปัสสาวะบ่อย
4. ไม่รู้สึกเจ็บหรือคัน

นอกจากนี้เมื่อป่วยด้วยเบาหวานเป็นระยะเวลานาน ก็มักจะมีภาวะแทรกซ้อนตามมาด้วยเสมอ ซึ่งก็เป็นเพราะร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ น้ำตาลจึงสะสมอยู่เยอะและอาจไปแย่งพื้นที่ออกซิเจนในเซลล์ต่างๆ จนทำให้เซลล์หรืออวัยวะในร่างกายทำงานได้น้อยลง เป็นผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ในที่สุด โดยอวัยวะที่มักจะได้รับผลกระทบจากอาการเบาหวานอย่างเห็นได้ชัดก็คือ ไต ตาและเท้านั่นเอง

อาการเบาหวานขึ้นตา ( Diabetic Retinopathy )

อาการเบาหวานขึ้นตา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน ซึ่งจะแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะคือ

1.ระยะตายใจ

เป็นระยะที่ยังไม่มีอาการเบาหวานใดๆ และไม่มีสิ่งผิดปกติใดเกิดขึ้น จึงยังไม่รู้ได้ว่าเป็นเบาหวานขึ้นตา แต่จะมีจุดเล็กๆ เกาะอยู่ที่จอประสาทตา และมีไขมัน+โปรตีนตกตะกอนจับตัวเป็นจุดอยู่

2.ระยะทำใจ

เป็นระยะที่เริ่มมีอาการมองไม่เห็นแล้ว ซึ่งหากรักษาไม่ทันก็อาจตาบอดได้เลยทีเดียว แต่ส่วนใหญ่คนส่วนมากมักจะตายใจคิดว่าอาการเบาหวานจะไม่รุนแรง จนตาบอดในที่สุด   

เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมหรืออักเสบจากอาการเบาหวาน ( Diabetic Neuropathy )

เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายมาก เพราะแค่รองเท้ากัดก็อาจถึงกับต้องตัดขาทิ้งกันเลยทีเดียว โดยภาวะที่ว่านี้จะสังเกตถึงความผิดปกติได้คือ

  • มีอาการเหน็บชาและปวดแสบปวดร้อนที่ขาหรือเท้าทั้งสองข้าง และอาจมีความรู้สึกเหมือนมดไต่ขาอยู่ตลอดเวลา
  • รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มแทงเท้าอยู่บ่อยๆ ซึ่งบางครั้งก็อาจเกิดความรู้สึกที่รุนแรงจนถึงขั้นนอนไม่หลับได้เลยทีเดียว
  • รู้สึกว่าเท้าหนาและหนัก คล้ายกับกำลังใส่ถุงเท้าอยู่ตลอดเวลา
  • รู้สึกตัวร้อนเหมือนจะมีไข้

นอกจากนี้เมื่อเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมหรืออักเสบ ก็อาจส่งผลเสียโดยตรงได้ดังนี้

  • ประสาทรับความรู้สึก ( Diabetic Symmetric Polyneuropathy : DSDP ) คือจะทำให้การรับรู้ความรู้สึกลดต่ำลงกว่าปกติ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการชา เป็นผลก็ไม่เจ็บหรือโดนไฟลวกก็ไม่รู้สึก นอกจากนี้เมื่อเป็นแผลเรื้อรังตามแขนขาก็รักษาให้หายได้ยากอีกด้วย
  • ประสาทอัตโนมัติ ( Autonomic Neuropathy ) คือจะทำให้เกิดอาการท้องเสียหรือท้องผูกได้ง่าย เหงื่อออกมากผิดปกติ เกิดอาการหน้ามืดเมื่อลุกขึ้นยืน ปัสสาวะติดขัดและสมรรถภาพทางเพศลดลง เป็นต้น
  • ประสาทเฉพาะที่ ( Focal and Multfocal Neuropathy ) ส่วนมากจะมีอาการหนังตาตกกะทันหัน และทำให้มองเห็นภาพซ้อนจากการกลอกตาไปมาได้อีกด้วย 

อาการเบาหวานลงไต ( Diabetic Neuropathy )

เมื่ออาการเบาหวานลงไต จะส่งผลเสียต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เพราะไตถือเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว โดยปกติแล้ว ไตจะมีหน้าที่ในการขับน้ำพร้อมของเสียออกไปจากร่างกาย รวมถึงดึงเอาของเสียจากกระแสเลือด ออกมาขับทิ้งพร้อมกับปัสสาวะอีกด้วย ดังนั้นเมื่ออาการเบาหวานลงไต ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตด้อยลงในที่สุด และอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาอีกมากมายเลยทีเดียว เช่นตัวบวมขาบวม เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย หายใจติดขัดรุนแรง ปัสสาวะน้อยมากจนเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมปอด เป็นต้น

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ศัลยา คงสมบูรณ์เวช. บำบัดเบาหวานด้วยอาหาร. พิมพ์ครั้งที่ 4 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : อัมรินทร์เฮลท์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (12), 311 หน้า. (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 113) 1.เบาหวาน 2.โภชนบำบัด 3.การปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วย 4.การดูแลสุขภาพตนเอง. 616.462 ศ7บ6 2559. ISBN 978-616-18-7741-9

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). กินเท่าไหร่ กินแค่ไหน ไม่เสี่ยงอ้วน. ใน: ธิดารัตน์ มูลลา.ชีวิตใหม่ไร้พุง. กรุงเทพฯ : บริษัทศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด, 2557.