ตรวจการทำงานของตับ ตับคืออะไร มีหน้าที่อะไร?
การตรวจตับ เป็นการเช็คการทำงานของตับ และตรวจการเสี่ยงในการเป็นโรค

การตรวจการทำงานของตับ

การตรวจการทำงานของตับ ( Liver Function Test ) คือ การตรวจสอบเช็คสุขภาพของตับ ว่ายังทำงานได้ดีมากน้อยเพียงใด หรือมีภาวะสุ่มเสี่ยงในการเป็นโรคเกี่ยวตับหรือไม่อย่างไร โดยวัดค่าเอนไซม์และโปรตีนในเลือด ซึ่งมีวิธีการตรวจในทางการแพทย์ดังนี้

1. วิธีการตรวจหาโปรตีนที่สร้างจากตับ  เนื่องจากในตับมีโปรตีนหลายชนิด การเกิดภาวะโรคหลายชนิด เช่น โรคตับ โรคไต มะเร็ง ขาดอาหาร จะไปทำให้ค่าโปรตีนในตับผิดปกติ โดยโปรตีนที่ใช้ตรวจได้แก่

  • Globulin เป็นโปรตีนที่สร้างจากตับและเม็ดเลือดขาว
  • Albumin เป็นโปรตีนที่สร้างจากตับ ถ้าตับสร้างสารนี้ไม่ได้ก็จะเกิดการบวมน้ำ

2. วิธีการตรวจเอนไซม์จากตับ เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและให้ผลการตรวจที่แม่นยำ หากมีการทำลายหรือการอักเสบของตับเกิดขึ้น จะมีการหลั่งเอนไซม์ประเภทนี้ ออกจากตับสู่กระแสเลือด.ในปริมาณที่ผิดปกติ มีวิธีดังต่อไปนี้

2.1 การตรวจ  AST ( SGOT) พบได้ในตับ ไต เนื้อเยื่ออื่นๆ หากค่าที่ตรวจได้ มีค่าสูงกว่าปกติ ก็อาจเป็นตัวบ่งชีว่า มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับตับ ได้

2.2 การตรวจ  ALT ( SGPT ) พบมากในตับและไต พบน้อยในกล้ามเนื้อหัวใจ และตับอ่อน หากมีค่าสูงก็อาจจะเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงในการเป็น โรคตับอักเสบและโรคตับแข็ง

ตับ ( liver ) คือ

ตับ ( liver ) เป็นอวัยวะประเภทต่อมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่บริเวณในช่องท้องชิดติดกับกะบังลม ค่อนไปทางฝั่งขวา มีซี่โครงเป็นเกราะกำบัง มีลักษณะรูปทรงคล้ายรูปสามเหลี่ยม สีออกแดงปนน้ำตาล มีขนาดน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1.3 ถึง 1.5 กิโลกรัม เป็นอวัยวะที่มีแค่ชิ้นเดียวในร่างกาย แต่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ตับซีกซ้ายและตับซีกขวาหลอดเลือดที่สำคัญในตับ ซึ่งภายในตับจะประกอบไปด้วย หลอดเลือดสำคัญที่ใช้ทำหน้าที่ในการผ่านเข้า – ออกจำนวน 3 ช่องทาง คือ

1. Hepatic Portal Vein คือ หลอดเลือดดำจากลำไส้ มีหน้าที่นำเลือดดำจากลำไส้ที่เพิ่งผ่านการย่อยและอุดมไปด้วยกลูโคส สารอาหาร วิตามิน และเกลือแร่มาส่งให้ยังตับเพื่อนำไปคัดแยกประเภท ก่อนนำไปใช้งานอื่นๆในร่างกายต่อไป

2. Hepatic Artery คือ หลอดเลือดแดงจากหัวใจ มีหน้าที่นำเลือดแดงที่อุดมด้วยออกซิเจนมาส่งยังเซลล์ตับ ขณะเดียวกันก็รับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นของเสียจากตับส่งออกกลับไปทางหลอดเลือดดำ ไปที่หัวใจและปอดเพื่อดำเนินการตามกลไกร่างของกายต่อไป 

3. Hepatic Vein คือ หลอดเลือดดำจากตับสู่หัวใจ มีหน้าที่นำเลือดดำที่อุดมสมบรูณ์ไปด้วยสารอาหารต่างๆซึ่งตับได้รับมา และได้ดำเนินกรรมวิธีทางร่างกายเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช่น กลูโคส ไตรกลีเซอไรด์ โปรตีนชนิดต่างๆ ( อัลบูมิน, โกลบูลิน ) คอเลสเตอรอล วิตามิน แร่ธาตุ เป็นต้น ส่งผ่านไปยังหลอดเลือดดำขึ้นไปสู่หัวใจ เพื่อให้เข้าสู่ระบบการไหลเวียนโลหิต และเพื่อส่งให้เซลล์ต่างๆ ของอวัยวะเป้าหมาย ในร่างกายได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้

การทำงานของตับ ( Liver function )

หากให้อธิบายหน้าที่ของตับ เราสามารถจำกัดความได้สั้นๆก็คือ  “ ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านภายในร่างกาย ” เนื่องจาก ตับจะคอยทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้ผลิต ผู้รับและเก็บรักษาวัตถุดิบ คอยตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบก่อน แจกจ่ายไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย นอกจากนี้ยังรวมถึงการรับและขจัดของเสียส่วนเกินจากร่างกายออกไปด้วย ซึ่งสามารถอธิบายรายละเอียดและแบ่งเป็นข้อๆได้ดังนี้

1. ตับเป็นผู้ผลิต ในแต่ละวันที่เราทานอาหารต่างๆ เข้าไป ร่างกายจะไม่สามารถใช้งานจากอาหารนั้นได้ทันที ซึ่งอาหารเหล่านั้นจะต้องผ่านกระบวนการย่อยอาหารจาก ลำไส้เล็ก และ กระเพราะอาหารเสียก่อน  แล้วจึงส่งไปให้ตับผลิตเป็นอาหารที่ร่างกายสามารถเอาไปใช้งานได้ต่อไป  เช่น

  • น้ำตาลกลูโคส ที่เป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย
  • โปรตีน เพื่อนำไปใช้ซ่อมแซมอวัยวะที่สึกหรอทั่วร่างกาย รวมทั้งโปรตีนที่จำต้องใช้งานอื่นๆ อีกมากมาย เช่น สารทำให้เลือดแข็งตัว Coagulation อัลบูมิน โกลบูลิน เป็นต้น
  • น้ำดี เพื่อใช้ย่อยอาหารประเภทไขมัน ขณะเดียวกัน ก็ใช้ท่อน้ำดีเป็นช่องทางในการส่งของเสีย หรือของมีพิษที่ตับกรองเก็บไว้ ให้พ้นออกไปกับกากอาหารทางลำไส้และจะขับถ่ายออกมาทางอุจาระต่อไป
  • สารประเภทไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ไลโปโปรตีน LDL,HDL เป็นต้น

2. ตับเป็นหน่วยคลังเก็บรักษา ตับจะทำหน้าที่เป็นผู้เก็บสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามินต่าง ( A, D, K, B12 ) ไกโคนเจน เป็นต้น เอาไว้ใช้ในยามจำเป็นเมื่อร่างกายต้องการหรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

3. ตับเป็นหน่วยรักษาความสะอาด ตับยังเป็นผู้รักษาความสะอาดในร่างกายของมนุษย์ด้วย โดยตับจะทำ หน้าที่ในการกำจัดขยะ ของมีพิษ หรือทำของมีพิษให้หมดพิษไป ตัวอย่างขยะหรือสิ่งมีพิษที่สำคัญ เช่น

  • แอมโมเนีย ( Ammonia ) เป็นขยะที่เกิดจากการย่อยสลายอาหารประเภทโปรตีน โดยตับจะทำการเปลี่ยน แอมโมเนีย ให้กลายเป็นยูเรีย จากนั้นจึงส่งไปยังกรวยไต เพื่อขับออกทางปัสสาวะ
  • สารบิลิรูบิน ( Bilrubin ) เป็นขยะที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงที่ตายแล้ว ปกติเม็ดเลือดแดงจะมีอายุประมาณ 120 วันโดยเม็ดเลือดแดงที่ตายแล้วจะถูกม้ามทำลาย และเปลี่ยนสภาพให้เป็นสารสีเหลืองไปเกาะกับอัลบูมิน ลอยไปตามกระแสเลือด เพื่อรอให้ตับนำไปย่อยสลายเป็นสารบิลิรูบิน แล้วส่งผ่านไปทางท่อน้ำดีไปถึงลำไส้รอการขับถ่ายเป็นอุจจาระต่อไป
  • ฮอร์โมน ( Hormones ) เป็นขยะที่เกิดจากฮอร์โมนที่หมดอายุหรือมากเกินความจำเป็น ตับก็จะจัดการเก็บมาเพื่อทำลายทิ้งต่อไป
  • ยา ( Medicine ) ถือเป็นสารเคมี หรือสิ่งแปลกปลอม ที่ตับไม่รู้จัก ที่มีการผ่านเข้ามาในกระแสเลือด ตับจึงมองว่าเป็นสารมีพิษ จึงทำการกักเอาไว้ และจะทำการระบายขับทิ้งเป็นของเสียต่อไป
  • แอลกอฮอล์ ( Alcohol ) ที่พบได้ในเครื่องดื่มต่างๆ โดยตับจะมองว่าเป็นสารพิษและหาทางในการขับออกจากร่างกายเช่นกัน ซึ่งหากร่างกายมีการได้รับเป็นปริมาณมาก ติดต่อกันนานๆ จนตับไม่สามารถรับไหว ก็อาจจะทำให้เกิดโรคตับอักเสบหรือตับแข็งได้
  • สารพิษ ( Toxin ) คือสารพิษจำพวกต่างๆ ที่ร่างกายได้รับ  เช่น  ยาฆ่าแมลงจากผักและผลไม้ อาหารที่เป็นพิษ อาหารเน่าเสีย เป็นต้น  เมื่อสิ่งพวกนี้เข้าสู่ร่างกาย ตับจะทำการจัดการกับสารพิษเหล่านี้ตามกระบวนการต่อไป

ดังนั้น ตับจึงเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อร่างกายมาก เพราะหากตับถูกทำลายหรือมีการทำงานของตับ ( Liver function ) การทำงานที่บกพร่อง สารพิษต่างๆที่เข้าไปในร่างกาย จะไม่สามารถถูกขับออกมาได้เลย จะยังคงสะสมในร่างกายจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้นั้นเอง

โรคเกี่ยวกับตับที่พบได้บ่อยๆ

เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่ต้องรับมือกับสารพิษหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่เข้าไปในร่างกาย  จึงอาจจะทำให้ตับต้องทำงานหนักและมีความเสี่ยงในโรคที่สามารถพบได้บ่อยๆ ดังนี้

1. โรคตับอักเสบ ( Hepatitis ) มีสาเหตุหลักเกิดจาก การดื่มสุราเรื้อรัง สารพิษต่างๆที่มากเกินไป จนทำให้เซลล์ของตับตายหรือเกิดการอักเสบขึ้นได้

2. โรคตับแข็ง ( Cirrhosis ) มักเป็นโรคที่เกิดต่อเนื่องจากผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบมาก่อน เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นซ้ำๆ จะทำให้เนื้อเยื่อที่ดีของตับถูกทำลาย เกิดเป็นแผลจนในที่สุดก็จะกลายเป็นโรคตับแข็ง

3. โรค Haemochromatosis เกิดจากร่างกายได้รับปริมาณของธาตุเหล็กมากเกินไป จนตับต้องเก็บรวมเอาไปไว้เพื่อไม่ให้ไปเกิดพิษกับอวัยวะอื่นๆ  เมื่อมากเกินที่ตับจะรับไหว ก็จะทำให้เกิดการย้อนกลับมาทำลายเซลล์ตับนั้นเอง

4. โรคมะเร็งตับ ( Liver Cancer ) เกิดจากเชื้อมะเร็งซึ่งอาจเกิดในตับเอง หรือมีการแพร่กระจายเชื้อมะเร็งมาจากอวัยวะอื่นๆได้เช่นกัน

5. โรค Wilson’s Disease เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารประเภททองแดงมากเกินไป และไม่สามารถขับออกได้หมด จนไปเกิดการสะสมที่ตับ

6. โรคมะเร็งในท่อน้ำดี ( Disease of Bile Duct ) เกิดจากการที่ตับมีการอักเสบหรือมีเชื้อมะเร็งเกิดขึ้น จึงทำให้การผลิตน้ำดีบกพร่องตามไปด้วย

7. โรคท่อน้ำดีแข็งตัว เกิดจากการอักเสบของท่อน้ำดี จนเกิดเป็นแผล ทำให้เกิดการอุดตันการไหลของน้ำดีไปยังระบบทางเดินอาหาร หากเป็นเรื้อรังจะทำให้เกิดตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับขึ้นได้

8. สภาวะ Budd – Chiari Syndrome  เป็นสภาวะโรคที่มีสาเหตุมากจากการอุดตันที่หลอดเลือดดำเส้นที่ชื่อว่า Hepatic Vein  

จากข้อมูลการตรวจการทำงานของตับที่กล่าวมาทั้งหมด คงพอสรุปได้ว่าตับเป็นอวัยวะอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์เราอย่างมาก ไม่น้อยไปกว่า สมองหรือหัวใจเลย ตับเปรียบเสมือนแม่บ้านในร่างกาย เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้เก็บรักษาและยังคอยทำหน้าที่ขจัดสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกายอีกด้วย ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพตับให้แข็งแรงดีอยู่เสมอ  และต้องรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่างๆ ที่จะส่งผลเสียต่อตับได้ เช่น การดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก เป็นต้น  และควรหมั่นไปตรวจสุขภาพให้แพทย์ ใช้วิธีการตรวจสมรรถภาพของตับ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะตับมีเพียงชิ้นเดียวในร่างกาย หากตับเสื่อมไปก็อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

McClatchey, Kenneth D.(2002). Clinical laboratory medicine. Lippincott Williams & Wilkins.  Retrieved 5 August 2011.

Nyblom H, Berggren U, Balldin J, Olsson R (2004). “High AST/ALT ratio may indicate advanced alcoholic liver disease rather than heavy drinking”. Alcohol Alcohol.

Nyblom H, Björnsson E, Simrén M, Aldenborg F, Almer S, Olsson R (September 2006). “The AST/ALT ratio as an indicator of cirrhosis in patients with PBC”. Liver Int. 26.

Mengel, Mark B.; Schwiebert, L. Peter (2005). Family medicine: ambulatory care & prevention. McGraw-Hill Professional.