สมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อมเป็นคำเรียกโดยรวมของโรคที่เกิดจากความเสียหายของสมองส่วนใดส่วนหนึ่ง แล้วส่งผลกระทบต่อการกระทำ การแสดงออก ความคิดและการตัดสินใจของผู้ป่วย เมื่อเราลงรายละเอียดเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมกันอีกนิด ก็จะพบว่าภาวะสมองเสื่อมนี้ยังแตกแขนงไปได้อีกหลายประเภท ซึ่งนั่นหมายความว่าอาการของโรคก็จะแตกต่างกันไปด้วย บางกลุ่มของโรคแทบไม่แสดงอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนเลยในระยะแรกถึงระยะกลาง กว่าผู้ป่วยจะถูกพาตัวมารักษาก็เกือบจะเข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว ในขณะที่บางกลุ่มของโรคก็แสดงอาการชัดเจนเลยตั้งแต่เริ่มต้นจึงทำการรักษาได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตามผลลัพธ์สุดท้ายของภาวะสมองเสื่อมก็คือทำให้เกิดการถดถอยของสมรรถภาพของสมองทำให้เกิดอาการทางจิตนั่นเอง
พฤติกรรมและประสาทจิตเวชอันเนื่องมาจากภาวะสมองเสื่อม หรือบีพีเอส ( Behavioral and Psychiatric Symptoms:BPS ) เป็นอีกหนึ่งอาการของภาวะสมองเสื่อมที่ทำให้เกิดความสับสนระหว่างโรคสมองเสื่อมกับโรคอื่นๆ อยู่บ่อยครั้ง เพราะสิ่งที่ผู้ป่วยแสดงออกนั้นค่อนข้างใกล้เคียงกัน ทั้งในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน และผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่ได้มีภาวะสมองเสื่อม แต่เมื่อวินิจฉัยได้แน่นอนแล้วว่าเป็นอาการจิตประสาทที่เกิดจากความถดถอยทางสมรรถภาพของสมอง บีพีเอสจะกลายกุญแจสำคัญที่ช่วยให้แพทย์ตีกรอบเพื่อระบุภาวะสมองเสื่อมได้แบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นผลดีอย่างมากต่อการรักษาผู้ป่วยต่อไป
พฤติกรรมและประสาทจิตเวชอันเนื่องมาจากภาวะสมองเสื่อม หรือบีพีเอส ( Behavioral and Psychiatric Symptoms:BPS ) สามารถแบ่งลักษณะอาการเด่นๆ ได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาการโรคจิต กลุ่มอาการผิดปกติทางอารมณ์ กลุ่มพฤติกรรมอันเนื่องมาจากสมองกลีบหน้าทำงานบกพร่อง และกลุ่มที่เกี่ยวกับปัญหาการนอนหลับ
โดยที่ในแต่ละกลุ่มไม่ได้มีเปอร์เซ็นต์ที่แน่ชัดว่ากลุ่มใดจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นได้มากกว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งวัย ระดับความรุนแรงของความเสียหายในสมอง และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ แต่ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการอยู่ในกลุ่มไหนก็ล้วนสร้างปัญหาให้ผู้ดูแลทั้งสิ้น หลายรายเมื่อต้องรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยไปนานๆ ก็จะรู้สึกเป็นภาระและเกิดโรคซึมเศร้าขึ้น แม้แต่ตัวผู้ป่วยเองอาการ BPS ก็กระตุ้นให้ความเสื่อมทางสมองทรุดหนักลงอีกหากไม่มีการจัดการทางความคิดหรือพฤติกรรมการแสดงออกที่ดีพอ
กลุ่มเสี่ยงที่เป็นอาการประสาทจิตเวช
1. กลุ่มอาการโรคจิต ( Psychotic Symptoms )
เป็นกลุ่มของอาการทางจิตประสาทของผู้ป่วยสมองเสื่อม ซึ่งอาจจะคล้ายคลึงกับผู้ป่วยโรคจิตหรือผู้ป่วยจิตเภท ( Schizophrenia ) แต่จะไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งในด้านการวินิจฉัยโรคและวิธีดำเนินการรักษา จุดที่ใช้สังเกตเพื่อแยกแยะผู้ป่วยโรคจิตเภทออกจากผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมก็คือ ในผู้ป่วยจิตเภทพบเจอลักษณะอาการที่อยู่ในกลุ่มอาการโรคจิตหลากหลายกว่า และพบได้ในผู้ป่วยจิตเภทตั้งแต่ช่วงระยะต้นๆ ในขณะที่เมื่อพูดถึงกลุ่มอาการโรคจิตในผู้ป่วยสมองเสื่อม ประเด็นที่เรามักจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษมีเพียง 2 ประเด็นเท่านั้น ก็คือ อาการหลงผิด ( Delusion ) และประสาทหลอน ( Hallucination ) ทั้งสองอย่างนี้พบได้น้อยมากในผู้ป่วยสมองเสื่อมระยะเริ่มต้น แต่กลับพบได้บ่อยมากในผู้ป่วยสมองเสื่อมระยะรุนแรง ลักษณะของอาการเป็นแบบขึ้นๆ ลงๆ ไม่สามารถกะเกณฑ์ได้ว่าจะเกิดเมื่อไร อย่างไร
1.1 อาการหลงผิด ( Delusion ) เป็นความผิดปกติของระบบความคิด จุดเด่นของอาการกลุ่มนี้คือการมีความเชื่อที่ไม่เป็นจริง และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย นั่นจึงเป็นต้นเหตุของปัญหาและความเครียดที่จะตามมาในส่วนของตัวผู้ป่วยเองและญาติที่ดูแลใกล้ชิด อาการหลงผิดยังสามารถแยกย่อยเป็นประเด็นต่างๆ ได้อีกดังนี้
- อาการหลงผิดชนิดไม่วิตถาร ( Non-bizarre delusion ) : หมายถึงอาการหลงผิดแบบที่ยังพอเข้าใจได้ว่าผู้ป่วยกำลังคิดหรือวิตกกังวลเรื่องอะไร ได้แก่ มีความเชื่อว่ามีคนปองร้ายอยู่ตลอดเวลา ( persecutory delusion ) จึงระแวงและหวาดกลัวจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ บ้างมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นไม่ยอมก้าวออกจากบ้านอีกเลย เชื่อว่ามีคนปลอมตัวมาเป็นญาติหรือเพื่อนของตนของตน ( Capgras delusion ) ส่งผลให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการดูแล เพราะผู้ป่วยจะไม่ไว้วางใจคนใกล้ชิดและไม่ยอมให้เข้าถึงพื้นที่ส่วนตัวเลย เชื่อว่ามีคนแปลกหน้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน ( phantom boarder syndrome ) เชื่อว่าสมบัติถูกขโมย ( delusion of theft ) และเชื่อว่าคู่ชีวิตหรือคู่สมรสนอกใจ ( jealousy delusion ) อาการหลงผิดกรณีต่างๆ มีปัจจัยหนึ่งทางจิตวิทยาที่มีแนวโน้มในการเกิดระบุเอาไว้ด้วย นั่นคือเรื่องของความผูกพันธ์กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากๆ เช่น ผู้ป่วยที่รักคู่ชีวิตของตัวเองมากๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดอาการที่เชื่อว่าคู่ชีวิตหรือคู่สมรสนอกใจ ( jealousy delusion ) หรือคนที่ยึดติดกับทรัพย์สิน เป็นคนหวงของ เป็นคนให้ความสำคัญกับเงินทองที่มีอยู่มาก ก็อาจเกิดอาการเชื่อว่าสมบัติถูกขโมย (delusion
of theft) เป็นต้น - อาการหลงผิดชนิดวิตถาร ( bizarre delusion ) : หมายถึงอาการหลงผิดแบบที่แปลกประหลาด ไม่สามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย ไม่มีความเป็นไปได้ในโลกความจริงเลย
1.2 ประสาทหลอน ( hallucination ) อาการหลอนจะต่างกับอาการหลงผิดตรงที่ไม่ได้เกี่ยวกับระบบความคิด แต่เป็นความผิดปกติทางการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การสัมผัส และการรับรส ผู้ป่วยอาจมีอาการประสาทหลอนแบบใดแบบหนึ่ง หรือมีอาการประสาทหลอนพร้อมกันหลายๆ แบบก็ได้เช่นกัน ลักษณะอาการสำคัญก็คือรับรู้ในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ซึ่งสามารถแยกเป็นกรณีต่างๆ ได้ดังนี้
- ประสาทหลอนทางการเห็น ( Visual hallucination ) : การมองเห็นภาพต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้น เช่น เห็นคนที่ตายไปแล้ว เห็นคนร้ายจะเข้ามาเอาชีวิต เห็นสีสันที่ผิดเพี้ยน เห็นสิ่งของเคลื่อนไหวได้เอง เป็นต้น
- ประสาทหลอนทางการได้ยิน ( Auditory hallucination ) : คำที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ หูแว่ว เป็นการได้ยินเสียงแปลกๆ ที่คนอื่นไม่ได้ยินแม้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน เช่น ได้ยินเสียงคนร้องไห้ ได้ยินเสียงหัวเราะ โดยที่ไม่มีต้นเสียงที่แท้จริง เป็นต้น
- ประสาทหลอนทางการรับกลิ่น ( Olfactory hallucination ) : การได้กลิ่นบางอย่างทั้งๆ ที่ไม่มีต้นตอของกลิ่น และผู้อื่นไม่ได้กลิ่นนั้น เช่น ได้กลิ่นเน่าเหม็น ได้กลิ่นน้ำหอม ได้กลิ่นอาหาร เป็นต้น
- ประสาทหลอนทางการรับรส ( Gustatory hallucination ) : เป็นอาการเกิดรสชาติแปลกที่ลิ้น เช่น รสเปรี้ยว รสขม หรือแม้แต่รสชาติที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นรสแบบไหน เกิดขึ้นเองโดยไม่ได้ทานอาหารหรือมีสิ่งเร้าอื่นๆ
- ประสาทหลอนทางการสัมผัส ( Tactile hallucination ) : การรู้สึกเหมือนโดนสัมผัสแต่ก็ไม่เห็นว่ามีสิ่งไหนเลย เช่น รู้สึกเหมือนมีแมลงมาไต่ตามแขน รู้สึกเหมือนโดนจับ รู้สึกคันตามผิวหนังทั้งๆ ที่ไม่มีสิ่งเร้า เป็นต้น
2. กลุ่มอาการด้านอารมณ์ ( Mood Symptoms )
ผู้ป่วยสมองเสื่อมแม้จะไม่ได้สนใจเรื่องของพฤติกรรมและอาการทางประสาทจิตเวชเลย ก็จะมีความแปรปรวนทางอารมณ์อยู่แล้ว เนื่องจากความรู้สึกของคนที่เคยคิดและตัดสินใจได้อย่างดี กลับต้องมาเกิดความบกพร่องบางอย่างจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ง่ายดายเหมือนเดิม ก็จะเกิดความตึงเครียดอยู่แล้ว แต่เมื่อเราเจาะจงวิเคราะห์ที่ประเด็นของกลุ่มอาการด้านอารมณ์ ( mood symptoms ) ก็จะพบว่า สัญญาณเด่นที่เกิดในผู้ป่วยสมองเสื่อมซึ่งแสดงอาการให้เห็นก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะสมองเสื่อมเสียอีก นั่นก็คือ อาการซึมเศร้าและวิตกกังวล เมื่อสมองเสื่อมเข้าสู่ระดับรุนแรงความวิตกกังวลก็จะเพิ่มมากขึ้นกว่าอาการซึมเศร้า นอกจากนี้จะเป็นความเฉยเมย ขาดความกระตือรือร้นในสิ่งที่เคยชื่นชอบ เริ่มนับถือตัวเองน้อยลง เศร้าหมองได้ง่าย รู้สึกผิดกับเรื่องเล็กน้อย และท้ายที่สุดคืออยากฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง หากเทียบอาการซึมเศร้าที่เกิดในผู้ป่วยสมองเสื่อม ลักษณะการเกิดจะแสดงอาการบ่อยครั้งแต่ไม่หนักหนาเท่ากับคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ยิ่งกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าซึ่งเป็นผู้สูงอายุด้วยแล้ว ยิ่งต้องได้รับการรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเกือบทั้งหมดจะมีพยาธิสภาพในสมองร่วมด้วย ได้แก่ ภาวะสมองเสื่อม และโรคหลอดเลือดสมอง
ปัจจุบันแม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุแบบชัดเจนได้ว่ากลุ่มอาการด้านอารมณ์ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยสมองเสื่อม จะเกี่ยวข้องกับตำแหน่งของพยาธิสภาพในสมองส่วนไหน แต่ก็เชื่อว่าน่าจะเกิดจาก hypometabolism ที่สมองส่วน frontal และ anterior cingulate gyrus หรืออาจเป็นที่สมองส่วน parietal และ right temporal region ก็ได้
3. กลุ่มอาการ Vegetative
กลุ่มนี้จะเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับความสามารถของสมองให้ด้านการรับรู้มิติสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หรือพูดง่ายๆ ก็คือเชื่อมโยงกับ Visuospatial ที่ลดลง อาการที่แสดงออกมาจึงมีหลากหลายรูปแบบ มีตั้งแต่เกิดความกระวนกระวายใจ พลุ่งพล่านอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีลักษณะของความก้าวร้าวที่เด่นชัด เช่น การแต่งกายที่ไม่เหมาะสมกับกาลเทศะอย่างรุนแรง ลุกเดินไปมาในยามวิกาล เคลื่อนที่ไปมาแบบไร้จุดหมาย ( Wandering ) ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกว่าต้องไป ต้องทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรหรือต้องการอะไรกันแน่ จึงออกมาในรูปแบบที่ว่าลุกเดินไปก่อน ทำหรือแสดงออกไปก่อน เป็นต้น อาการเหล่านี้มักพบในผู้ป่วยสมองเสื่อมขั้นรุนแรง แต่ยังมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงดีอยู่ ไม่ได้มีโรคแทรกซ้อนทางกายมากนัก อาจพูดได้ว่าเป็นปฏิกิริยาที่พยายามกระตุ้นตัวเองของผู้ป่วยเพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวมากขึ้นนั่นเอง แต่จะต่างออกไปในผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มีอาการเจ็บป่วยทางร่างกายร่วมด้วย กลุ่มนี้จะเปลี่ยนเป็นการถามซ้ำๆ พูดย้ำข้อความเดิม เรียกร้องความสนใจตลอดเวลา เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการนอนหลับที่ผิดปกติ วงจรการนอนหรือ Sleep-Wake Cycle ผิดแปลกไปจากปกติที่ควรเป็น ซึ่งหลายครอบครัวมองว่าเป็นเรื่องปกติของผู้ที่อายุมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะร่างกายต้องการการพักผ่อนที่น้อยลง ความจริงแล้วไม่ใช่ว่าร่างกายไม่จำเป็นต้องพักผ่อนมากเท่าเดิม แต่เป็นเพราะสุขภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรงเท่าเดิมต่างหากที่ทำให้วงจรการนอนนั้นเปลี่ยนแปลงไป หลายคนชอบงีบหลับในตอนกลางวัน และหลับยากในช่วงกลางคืน มีอาการหลับๆ ตื่นๆ จึงพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจมีอาการนอนกรนร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทั้งต่อผู้ดูแลและตัวผู้ป่วยเอง เพราะฝ่ายผู้ดูแลก็บริหารเวลาลำบาก ร่างกายทรุดโทรม จิตใจหดหู่และตึงเครียด ฝ่ายผู้ป่วยเองก็กระตุ้นให้ภาวะสมองเสื่อมนั้นแย่ลงเรื่อยๆ
4 กลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของสมองกลีบหน้า
กลุ่มนี้เราอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ แบบที่มีความก้าวร้างทั้งทางกายภาพและวาจา และแบบที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ หงุดหงิดได้ง่าย
- การก้าวร้าวทางกายภาพและทางวาจา ( Physical and verbal aggression ) : ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมชอบกัด ข่วน เตะ ตี ทำลายข้าวของ ด่าทอ กรีดร้อง เป็นอาการที่เจอในผู้ป่วยสมองเสื่อมระดับรุนแรง เพราะเป็นช่วงที่มีความวิตกกังวลและความเครียดสูงมาก เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกว่าถูกล้ำเส้นความเป็นส่วนตัว ก็จะตอบโต้ด้วยความก้าวร้าวดังกล่าว และการแสดงออกจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นถ้าหากเดิมทีผู้ป่วยเป็นคนก้าวร้าวโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
- การมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย และขาดความยับยั้งชั่งใจ ( Irritability and disinhibition ) : ประเด็นนี้ค่อนข้างอันตรายต่อตัวผู้ป่วยและผู้อื่นพอสมควร เพราะเมื่อขาดความยับยั้งชั่งใจแล้ว ผู้ป่วยจะไม่สามารถหักห้ามใจในอารมณ์ทางเพศได้ ลักษณะที่พบได้คือ การอวดอวัยวะเพศของตนเอง ( self-exposure of genitalia ) การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองบ่อยๆ ( compulsive masturbation ) พูดจาแทะโลมไปจนถึงล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่น นอกจากนี้คือเจ้าอารมณ์ ขี้หงุดหงิด ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา อาจจะส่งเสียงดังด้วยความโกรธและเกรี้ยวกราด หรือนิ่งเงียบไม่พูดไม่จาไปเลยก็ได้
แนวทางในการรักษาอาการแบบไม่ใช้ยา
อาการซึมเศร้า : ส่งเสริมให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกด้อยค่าหรือหมดศรัทธาในตัวเอง สนับสนุนให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และได้ทำในกิจกรรมที่ชื่นชอบ ยิ่งถ้าเป็นกิจกรรมที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวหรือคนที่รักก็ยิ่งดี
อาการเฉยเมย : ในเมื่อผู้ป่วยมักจะไม่สนใจสิ่งรอบตัว จึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่ผู้ป่วยแสดงออกไม่ใช่การแกล้งทำและเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อม ใช้ดนตรีเข้าช่วยในการกระตุ้นความรู้สึกและฝึกสมาธิในช่วงสั้นๆ
อาการประสาทหลอน : หมายรวมทั้งอาการหลอนในการมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น สัมผัสและการลิ้มรส ให้ผู้ดูแลหมั่นสังเกตลักษณะอาการหลอนที่เกิดขึ้น ว่ามีสิ่งใดเป็นตัวกระตุ้นหรือไม่ แล้วจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้น เช่น การเห็นภาพหลอน ผู้ป่วยอาจจะมองเห็นไม่ชัดด้วยระยะสายตาที่เปลี่ยนไปและมีความวิตกกังวลอยู่ตลอด ก็ส่งผลให้เกิดภาพหลอนขึ้นได้ในบางจังหวะ แบบนี้ก็แก้ด้วยการหาแว่นตาหรือเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อช่วยให้การรับรู้ของผู้ป่วยดีขึ้น เป็นการลดอาการประสาทหลอนได้ทางหนึ่ง
ปัญหาการนอน : เริ่มจากปรับสภาพแวดล้อมของห้องนอนให้เหมาะสม ไร้เสียงดัง ไร้แสงสว่างรบกวน ไม่อุดอู้แออัด อากาศถ่ายเทได้สะดวก ส่วนในเวลากลางวันที่ไม่ใช่เวลานอนก็สนับสนุนให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมทำระหว่างวันมากขึ้น นอกจากนี้ก็เป็นการทานอาหารเสริมที่ช่วยเรื่องการนอนให้หลับสบายขึ้นได้
กล่าวโดยสรุปของการรักษาแบบไม่ใช้ยา หัวใจสำคัญคือเน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง มีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมให้มาก ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยให้มากเป็นพิเศษ ตลอดจนต้องพาผู้ป่วยเข้าพบแพทย์เพื่อบำบัดอย่างสม่ำเสมอด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.
Luk KC, Kehm V, Lee VM, et al. (2012). Pathological alpha-synuclein transmission
initiates Parkinson-like neurodegeneration in nontransgenic mice. Science. 338 : 949-953.