ถั่วลิสง
ถั่วลิสง เป็นพืชล้มลุกอายุสั้นมีถิ่นต้นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ ตั้งแต่ลุ่มน้ำอเมซอนไปจนถึงประเทศบราซิล โดยทั่วไปแล้วถั่วลิสงในสกุล Arachis สามารถแบ่งออกได้เป็น 19 ชนิด แต่สำหรับในสายพันธุ์ที่ปลูกจะมีอยู่เพียงชนิดเดียวคือ Hypogaea ส่วนที่เหลือทั้งหมดนั้นจะเป็นสายพันธุ์ป่า ชื่อสามัญ Peanut, Groundnut, Earthnut, Goober, Pindar, Monkeynut ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Arachis hypogaea L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถั่วคุด (ประจวบคีรีขันธ์), ถั่วดิน (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), ถั่วยิสง ถั่วยี่สง ถั่วลิง (ภาคกลาง), ถั่วใต้ดิน (ภาคใต้), เหลาะฮวยแซ (จีน-แต้จิ๋ว), ถั่วยาสง (หนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล) เป็นต้น[3],[5],[6],[9]
ลักษณะของถั่วลิสง
- ต้นถั่วลิสง จัดเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นสูงตั้งแต่ 15-70 เซนติเมตร ซึ่งส่วนต่าง ๆ ของต้นถั่วลิสงโดยทั่วไปแล้วนั้น จะมีขนเกิดขึ้น เช่น ตามลำต้น กิ่งก้านใบ หูใบ ใบประดับ ริ้วประดับ และกลีบรองดอก ยกเว้นเพียงกลีบดอกที่จะไม่มีขน โดยลำต้นของถั่วลิสงนั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท อย่างแรกก็คือ มีลำต้นเป็นพุ่ม ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก และฝักออกเป็นกระจุกที่โคน ส่วนอีกแบบก็คือเป็นลำต้นแบบเลื้อยหรือกึ่งเลื้อย จะเจริญเติบโตตามแนวนอนทอดไปตามพื้นผิวดิน มีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย ส่วนฝักจะกระจายไปตามข้อของลำต้น[1]
- รากถั่วลิสง มีรากเป็นแบบระบบรากแก้ว รากอันแรกที่เจริญจะเรียกว่า “รากแก้ว” ส่วนรากที่แตกออกมาจากรากแก้วอีกทีนั้นจะเรียกว่า “รากแขนง” รากที่แตกออกมาจากรากแขนงก็คือ “รากขนอ่อน” แต่จะมีอยู่น้อยมาก บางสายพันธุ์ก็ไม่มีเลย และโดยทั่วไปแล้วจะมีปมเกิดขึ้นบนรากแก้วและรากแขนง ปมนี้จะมีสีน้ำตาล ภายในปมมีสีแดงเข้ม ซึ่งปมเหล่านี้เกิดมาจากแบคทีเรียพวกไรโซเบียม ที่เข้าไปอาศัยอยู่ภายในราก[1]
- ใบถั่วลิสง ใบเกิดสลับกันอยู่บนข้อลำต้นหลักในลักษณะที่คล้ายกับเกลียว ส่วนใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ประกอบด้วยใบย่อย 2 คู่อยู่ตรงข้ามกัน ลักษณะใบย่อยเป็นรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ใบมีขนาดกว้างอยู่ที่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ก้านใบรวมยาว ที่โคนก้านใบรวมมีหูใบอยู่ 2 อัน มีขนาดใหญ่ปลายแหลม สามารถเห็นได้ชัดเจน มีความยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยจะสั้นมาก ที่โคนไม่มีหูใบ[1]
- ดอกถั่วลิสง ออกดอกเป็นช่อ ในหนึ่งช่อจะประกอบไปด้วยดอกย่อย 3 ดอกขึ้นไป และดอกจะเกิดตามที่มุมใบของลำต้นหรือกิ่ง แต่ส่วนมากจะเกิดบริเวณส่วนโคนของลำต้น ซึ่งในแต่ละช่อดอกจะบานไม่พร้อมกัน ดอกเป็นสีเหลืองส้ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.9-1.4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบดอกมีทั้งสิ้น 5 กลีบ ดอกมีใบประดับอยู่ 2 กลีบ มีริ้วประดับ 4 กลีบ และดอกนั้นยังมีกลีบรองดอกสีเขียว ส่วนก้านดอกจะมีความสั้นมาก[1]
- ฝักถั่วลิสง ฝักของถั่วลิสงจะเกิดอยู่ใต้ดิน ลักษณะการเกิดจะแพร่กระจายหรือเกิดเป็นกระจุกก็ได้ เปลือกแข็งและเปราะ มีลายเส้นชัด ฝักมีสีขาวนวลหรือสีน้ำตาลอ่อน ๆ ในหนึ่งฝักนั้นจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-6 เมล็ด[1]
- เมล็ดถั่วลิสง เมล็ดนั้นมีเยื่อหุ้มตั้งแต่สีขาว สีม่วงแดง สีแดง และสีน้ำตาลอ่อน ถัดจากเยื่อหุ้มเมล็ดจะพบใบเลี้ยงที่มีขนาดใหญ่และหนาจำนวน 2 อัน[1]
สรรพคุณของถั่วลิสง
1. เมล็ดช่วยในการบำรุงร่างกาย ช่วยในการเจริญเติบโต[3],[6],[10]
2. เมล็ดช่วยบำรุงสมองและประสาทตา ช่วยเสริมสร้างความจำ และมีโคลีนที่ช่วยด้านความจำอีกด้วย [7],[10]
3. เมล็ดช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายได้ [3] และน้ำมันถั่วลิสงก็ช่วยให้ความอบอุ่นแก่ผิวกาย (น้ำมันถั่วลิสง)[7]
4. มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน และเป็นอาหารที่ดีต่อผู้ป่วยเบาหวานอีกด้วย เนื่องจากช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินได้ (เมล็ด)[7]
5. ใช้ช่วยบำรุงปอด[7] ช่วยหล่อลื่นปอด รักษาอาการไอแห้งเรื้อรังได้ ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 60-100 กรัมนำมาบดชงหรือต้มดื่ม (เมล็ด)[6]
6. มีฤทธิ์ป้องกันโรคหัวใจ ช่วยลดปริมาณของไขมันร้าย (LDL) จึงช่วยลดความเสี่ยงของภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือดและภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคหัวใจ หากรับประทานเป็นประจำจะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวได้ถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับประทานเลยทีเดียว (เมล็ด)[7]
7. ใช้ช่วยลดความดันโลหิตสูง (ใบ)[3] โดยการใช้ทั้งก้านและใบสดหรือแห้ง (แห้งใช้ประมาณ 30 กรัม ถ้าสดใช้ประมาณ 40 กรัม) นำมาต้มกับน้ำดื่ม (เมล็ด)[6]
8. ถั่วลิสงมีสารต้านเอนไซม์โปรติเอส ซึ่งมีฤทธิ์ในการต่อต้านมะเร็ง และยังมีจีเนสเตอินซึ่งทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งตีบลง[7]
9. ใช้ช่วยบำรุงไขมันในร่างกาย (เมล็ด)[3]
10. ช่วยลดน้ำหนักและความอ้วน เพราะมีไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งทำให้อิ่มท้องนาน ซึ่งมีผลทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง และยังช่วยยับยั้งไขมันเลวที่เป็นผลเสียต่อร่างกายอีกด้วย โดยการรับประทานแบบดิบ ๆ หรือนำมาต้ม แต่ถ้าหากเป็นถั่วคั่ว ถั่วทอด ถั่วอบ อย่างนี้มันผ่านความร้อนและน้ำมัน ทำให้ไขมันไม่อิ่มตัวที่มีในถั่วลิสงหายไป หากรับประทานมาก ๆ ก็จะทำให้อ้วนได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าหากรับประทานแต่พอประมาณก็ไม่อ้วนแน่นอน และมีคำแนะนำว่าไม่ควรรับประทานเกิน 1 กำมือ และถั่วลิสงนั้นอุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นตัวช่วยลดระดับความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย (เมล็ด)[7]
11. ใช้ช่วยรักษาโรคเกล็ดเลือดต่ำ โดยการนำเปลือกถั่วลิสงประมาณ 10 กรัม ต้มกับน้ำดื่มทุกวัน (เมล็ด)[7]
12. มีฤทธิ์ในการช่วยรักษาเยื่อตาอักเสบอย่างเฉียบพลันชนิดที่ติดต่อได้ (ข้อมูลทางคลินิก)[8]
13. ช่วยแก้อาการไอเรื้อรังและอาการคลื่นไส้ (เมล็ด)[7]
14. ใช้ช่วยห้ามเลือด และรักษาอาการเลือดออกง่ายในโรคฮีโมฟีเลียได้ (Haemophilia) (ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา)[6]
15. น้ำมันจากเมล็ดใช้ช่วยระบายท้อง[3]
16. มีฤทธิ์ในการช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร และในถั่วลิสงนั้นยังอุดมไปด้วยเส้นใยอาหารที่สามารถละลายน้ำได้อีกด้วย จึงเป็นตัวช่วยในขบวนการทำความสะอาดของร่างกายแบบเป็นธรรมชาตินั่นเอง(เมล็ด)[7]
17. ใช้ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร (เมล็ด)[6]
18. ใช้ช่วยรักษาโรคบิดแบคทีเรียอย่างเฉียบพลันได้ (ข้อมูลทางคลินิก)[8]
19. ใช้ช่วยในการรักษาพยาธิไส้เดือนที่อุดตันในลำไส้ (ข้อมูลทางคลินิก)[8]
20. ใช้ช่วยรักษาอาการไอกรน อาการชอบนอนกรนในเด็ก ด้วยการใช้เมล็ดถั่วนำมาต้มใส่น้ำตาลกรวดแล้วนำมารับประทาน (เมล็ด)[6],[7]
21. มีฤทธิ์รักษาอาการนอนละเมออย่างผิดปกติ (ข้อมูลทางคลินิก)[8]
22. ใช้ช่วยหล่อลื่นลำไส้ (น้ำมันจากเมล็ด)[3]
23. ถั่วลิสงนำมาต้มกับเกลือใช้รับประทานช่วยบรรเทาอาการโรคฝีในท้องได้ (เมล็ด)[7]
24. มีฤทธิ์ในการช่วยรักษาโรคตับอักเสบ และเป็นดีซ่านอย่างเฉียบพลันได้ (ข้อมูลทางคลินิก)[8]
25. เมล็ดใช้ช่วยบำรุงม้าม (เมล็ด)[7]
26. ใบสดนำมาตำแล้วนำไปพอกรักษาแผลฟกช้ำ แผลหกล้มจากการกระทบกระแทก และแผลที่มีหนองเรื้อรัง (ใบ)[3] โดยใช้ทั้งก้านและใบสดหรือแห้ง (แห้งใช้ประมาณ 30 กรัม ถ้าสดใช้ประมาณ 40 กรัม) นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้ภายนอกก็นำมาตำแล้วพอก[6]
27. ใช้ช่วยแก้อาการปลายเท้าเป็นเหน็บชา (เมล็ด)[3] ใช้เมล็ดที่มีเยื่อประมาณ 100 กรัม ถั่วแดง 100 กรัม และเปลือกของพุทราจีน 100 กรัม แล้วนำทั้งหมดนั้นมาต้มรับประทานหลายครั้งๆ[6],[7]
28. นำมาใช้ฉีดเป็นยาสลบ (ข้อมูลทางคลินิก)[8]
29. น้ำมันจากถั่วลิสงที่ใช้แล้วนั้นใช้สำหรับเป็นยาฉีด มีฤทธิ์ในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิดได้เล็กน้อย (ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา)[6]
30. มีฤทธิ์ช่วยบำรุงน้ำนมสำหรับสตรีหลังคลอดบุตร (เมล็ด)[3] โดยการต้มถั่วลิสง 120 กรัมกับขาหมู 1 ขา กินแล้วจะช่วยทำให้มีน้ำนมมากขึ้น[6],[7]
31. ถั่วลิสงนั้นอุดมไปด้วยแมกนีเซียม ซึ่งช่วยในการรักษาสมดุลของฮอร์โมนเพศ ช่วยในการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ และช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวอีกด้วย[7]
32. เยื่อหุ้มเมล็ดของถั่วลิสงนั้นสามารถช่วยยับยั้งการสลายตัวของ Fibrin ได้ และช่วยกระตุ้นกระดูกให้ผลิตเกล็ดเลือด เพิ่มสมรรถภาพในการหดตัวของเส้นเลือดฝอย และช่วยในการห้ามเลือดได้อีกด้วย[10]
33. ใช้ช่วยบำรุงไขข้อ บำรุงเส้นเอ็น (เมล็ด)[3]
34. น้ำมันจากเมล็ดใช้ทาแก้อาการปวดตามข้อและอาการตามกล้ามเนื้อ (น้ำมันจากเมล็ด)[6]
35. แก้อาการนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ลดเสมหะ แก้ไส้เลื่อน ขับระดูขาวของสตรี ลดอาการบวมน้ำจากไต เป็นต้น
ประโยชน์ของถั่วลิสง
1. ถั่วลิสงเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงมาก และแถมยังเป็นแหล่งของโปรตีนและพลังงาน ถั่วลิสงนั้นมีโปรตีนที่เทียบเท่ากับถั่วแดง ถั่วดำ และถั่วเขียว แต่น้อยกว่าถั่วเหลือง แถมยังมีกรดอะมิโนอีกหลายชนิดที่จำเป็นต่อร่างกายอีกด้วย[2] โดยถั่วลิสงมีสารอาหารมากกว่า 30 ชนิด มีโปรตีนมากกว่าถั่วเปลือกแข็งชนิดอื่น ๆ ให้โซเดียมที่ต่ำ มีไขมันไม่อิ่มตัวน้อย และยังปราศจากคอเลสเตอรอลอีกด้วย[7]
2. ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารคาวหวานต่าง ๆ[2] เมนูถั่วลิสง ก็เช่น แกงฮังเล น้ำพริกคั่ว ต้มกระดูกหมู นึ่งข้าวเหนียวยัดไส้หมูสับ ไก่สามอย่าง เมี่ยงคำ ส้มตำไทย หรือสารพัดน้ำจิ้ม เช่น น้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ น้ำจิ้มมันทอด น้ำพริกเผาทรงเครื่อง น้ำพริกถั่วปลานึ่ง หรือใช้เป็นเครื่องปรุงรสก๋วยเตี๋ยว แหนม อาหารจำพวกยำต่าง ๆ และยังนำไปผสมกับข้าวนึ่งทำเป็นข้าวต้มมัดใส่ข้าววิตู ข้าวหลามข้าวเม่า หรือทำเป็นไส้ขนมชนิดต่าง ๆ เช่น ขนมไส้เทียน ถั่วลิสงคั่ว ถั่วลิสงทอด ถั่วลิสงต้ม ถั่วลิสงป่น ถั่วลิสงบด ถั่วลิสงชุบแป้งทอด ถั่วตัด ถั่วตุ๊บตั๊บ ถั่วกระจก เคลือบรสต่าง ๆ ถั่วลิสงทอดคลุกเนย เนยถั่วลิสง แป้งถั่วลิสง ใช้ผสมในลูกกวาด ช็อกโกแลต เป็นต้น[3],[4],[9]
3. ลำต้นและใบนำมาใช้ทำปุ๋ยหรือใช้เลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องได้ เช่น วัว แพะ แกะ เป็นต้น[7],[9] ส่วนกากที่เหลือจากการสกัดน้ำมันนั้นก็สามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี ส่วนเปลือกฝักก็ใช้ทำเป็นปุ๋ยหมัก ใช้เพาะเห็ด ทำเชื้อเพลิง ใช้คลุมดินปลูกต้นไม้ หรือจะนำไปใส่ในกระถางต้นไม้เพื่อเป็นปุ๋ยและรักษาความชื้น หรือจะนำมาใช้ผสมกับกากน้ำตาลเพื่อใช้เป็นอาหารวัว นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนผสมในวัสดุก่อสร้างโดยใช้ผสมในพลาสติก คอนกรีต แผ่นพื้น ได้เช่นเดียวกับเศษไม้ได้อีกด้วย[2],[6],[9],[12] และสามารถทำเป็นยาฆ่าแมลงได้อีกด้วย[6]
4. น้ำมันจากถั่วลิสงนั้นสามารถนำมาใช้แทนน้ำมันมะกอกได้[9]
5. สำหรับถั่วลิสงป่าที่เป็นพืชยืนต้นนั้น สามารถนำมาใช้เป็นพืชอาหารสัตว์ได้[1]
6. นำมาทำเป็นน้ำมันสำหรับทอดอาหาร จะมีคุณสมบัติช่วยลดคอเลสเตอรอล และไม่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอนุมูลอิสระ แต่ก็มีข้อเสียคือเป็นน้ำมันที่เหม็นหืนง่าย ใช้ทอดในความร้อนสูง ๆ ได้ไม่ดีนัก แต่ใช้ผัด ทอด ต้ม ทำน้ำสลัดได้ตามปกติ[7]
7. นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย[2]
8. เนื่องจากถั่วลิสงมีน้ำมันประมาณ 47% จึงนิยมนำเมล็ดของถั่วลิสงไปใช้ในอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันนั่นเอง[2],[5]
9. ถั่วลิสงสามารถนำมาเพาะเป็นถั่วงอกได้ เช่นเดียวกันกับถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ และถั่วลันเตา แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก[7]
10. นอกจากนี้ถั่วลิสงยังใช้ในอุตสาหกรรมสบู่หรือแชมพู อุตสาหกรรมปั่นด้าย และยังใช้ทำน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องจักรอีกด้วย[6],[9]
11. นำไปใช้เป็นตัวทำละลายของยาฉีดที่ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบางชนิด หรือที่นำมาใช้ทำปลาสเตอร์ ทำเป็นยาเตรียมพวก Liniments[6],[9]
12. ประโยชน์ของเนยถั่วลิสง ที่เป็นที่น่าสนใจได้แก่ การนำมาทำเป็นน้ำมันหล่อลื่น ใช้แก้ปัญหาเรื่องสนิมขึ้นหรือชิ้นส่วนอะไหล่ติดขัด ใช้สอดไส้เคลือบเม็ดยาเพื่อให้สุนัขสามารถกินยาได้ง่ายขึ้น (เพราะเป็นอาหารโปรดของมัน) หรือจะนำมาใช้แทนเนยทั่วไปก็ได้ หรือนำมาใช้ในการล่อหนู นำมาใช้ในการลอกฉลากกาว ด้วยการใช้เนยถั่วลิสงถูให้ทั่วฉลาก แล้วเช็ดด้วยผ้า ฉลากกาวที่ติดแน่นก็จะหลุดออกมาอย่างง่ายดาย หรือนำมาช่วยดับกลิ่นคาวปลาตอนทอดปลาก็สามารถทำได้ หรือจะนำมาใช้ทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ หรือการนำมาใช้ในการกำจัดคราบกากของหมากฝรั่งให้ออกโดยง่าย และยังสามารถนำมาใช้แทนเจลโกนหนวดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย หากครีมโกนหนวดหมดโดยกะทันหัน[11]
คุณค่าทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการ 100 กรัม ให้พลังงาน 570 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 21 กรัม |
น้ำ | 4.26 กรัม |
น้ำตาล | 0 กรัม |
เส้นใย | 9 กรัม |
ไขมัน | 48 กรัม |
ไขมันอิ่มตัว | 7 กรัม |
ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว | 24 กรัม |
ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน | 16 กรัม |
โปรตีน | 25 กรัม |
วิตามินบี 1 | 0.6 มิลลิกรัม 52% |
วิตามินบี 3 | 12.9 มิลลิกรัม 86% |
วิตามินบี 6 | 1.8 มิลลิกรัม 36% |
วิตามินบี 9 | 246 ไมโครกรัม 62% |
วิตามินซี | 0 มิลลิกรัม |
ธาตุแคลเซียม | 62 มิลลิกรัม 6% |
ธาตุเหล็ก | 2 มิลลิกรัม 15% |
ธาตุแมกนีเซียม | 184 มิลลิกรัม 52% |
ธาตุฟอสฟอรัส | 336 มิลลิกรัม 48% |
ธาตุโพแทสเซียม | 332 มิลลิกรัม 7% |
ธาตุสังกะสี | 3.3 มิลลิกรัม 35% |
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
โทษของถั่วลิสง
- ถั่วลิสงเป็นอาหารกลุ่มเสี่ยงที่มักตรวจพบสารพิษซึ่งเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเป็นสารพิษที่ร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรงอย่างเฉียบพลัน (รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงด้วย) หากได้รับในปริมาณมากอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งที่ตับ หัวใจ และสมองบวม อาจทำให้เกิดอาการชัก หายใจลำบาก และตับถูกทำลายได้ (ในประเทศไทยกำหนดให้สารชนิดนี้ไม่เกิน 20 ppb) โดยสารพิษชนิดนี้นั้นสามารถปนเปื้อนมาตั้งแต่ในช่วงการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การตากแห้ง รวมไปถึงตอนที่มีการเก็บรักษาก่อนถึงมือผู้บริโภคอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน เชื้อราชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีเป็นอย่างมากเลยทีเดียว และการปนเปื้อนของสารนี้ก็จะเริ่มตั้งแต่ในช่วงการสร้างฝัก[2],[7]
- สำหรับในบางรายอาจมีอาการแพ้ถั่วลิสงได้ ถ้าหากไม่รุนแรงมากนัก ก็จะเป็นผื่นคันตามตัว เป็นลมพิษ ซึ่งกรณีนี้กินยาแก้แพ้ก็สามารถช่วยได้ รวมไปถึงอาจมีอาการอาเจียน ไอหอบ หายใจไม่สะดวก และมีอาการปวดท้องได้ แต่ถ้าหากมีอาการแพ้ขั้นรุนแรงแล้วละก็อาจจะทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้เลย โดยคนไข้อาจมีอาการตาบวม ปากบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ความดันตก จนเกิดภาวะช็อกและหมดสติได้ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาในทันที ซึ่งจากการสำรวจทั้งในและต่างประเทศพบว่าใน 1,000 คน อาจมีผู้แพ้ถั่วลิสงประมาณ 2-14 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการแพ้ถั่วลิสงมากกว่า 100 คนต่อปีเลยทีเดียว ซึ่งสาเหตุอาจเกิดมาจากภูมิคุ้มกันของบุคคลแปรปรวน ทำให้ไม่สามารถรับโปรตีนจากถั่วลิสงที่เป็นอาหารทั่วไปของคนธรรมดาได้ จนเกิดอาการแพ้โปรตีนในถั่วลิสง แต่อาการแพ้นี้ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องแพ้โปรตีนจากแหล่งอาหารอื่นด้วย เพราะอาหารแต่ละอย่างมีโครงสร้างไม่เหมือนกัน (รศ.พญ.พรรณทิพา ฉัตรชาตรี หน่วยโรคภูมิแพ้ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)[7]
- ผู้ที่มีอาการของโรคที่เกิดจากความชื้นเย็น หรือเมื่ออากาศเย็นและมีความชื้นจะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่าย จะทำให้เลือดไหลเวียนในร่างกายได้ไม่ดีนัก หรือมักมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ มีอาการปวดตึงตามข้อต่อ หากมีอาการรุนแรงหรือกำลังท้องเสีย ไม่ควรจะรับประทานเด็ดขาด[7]
- สารพิวรีน (Purine) ในระดับปานกลาง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกาต์ควรจะรับประทานในปริมาณที่จำกัด เพราะสารดังกล่าวอาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการของข้ออักเสบกำเริบขึ้นได้นั่นเอง[7]
คำแนะนำในการรับประทานถั่วลิสง
- สารอะฟลาทอกซินในถั่วจะเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชื้น และสารพิษชนิดนี้ยังเป็นสารที่ทนความร้อนได้สูงถึง 260-268 องศาเซลเซียสถึงจะสลายตัว แต่สารดังกล่าวนี้ สามารถเสื่อมสลายไปได้ด้วยการใช้แสงอัลตร้าไวโอเลต แสงแดด และรังสีแกมมา รวมไปถึงในสภาพที่เป็นด่างและถูกทำลายได้ด้วยคลอรีน การหุงต้มด้วยวิธีธรรมดาจะไม่สามารถทำลายพิษดังกล่าวนี้ได้ ดังนั้นควรเก็บไว้ในที่ที่แห้งและเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดฝาได้สนิท[7]
- วิธีการสังเกตเชื้อราสามารถทำได้ในเบื้องต้นด้วยตาเปล่า หากคั่วป่นที่ซื้อมามีสีเขียวอมเหลือง มีสีเขียวเข้ม หรือมีสีที่ผิดไปจากปกติ ไม่ควรนำมารับประทาน และไม่ควรเก็บไว้นานกว่า 1 เดือนเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรานั่นเอง[7]
- วิธีที่ดีที่สุดในการรับประทานคั่วรับประทานเอง โดยเลือกทานเฉพาะถั่วที่ยังใหม่ ๆ หรือถั่วที่ไม่มีสีคล้ำและไม่มีสีเหลือง และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วป่นที่มีสีเหลืองคล้ำหรือมีสีดำ หรือที่มีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นอับ[7]
- การบริโภคถั่วเพื่อการลดน้ำหนักในระยะยาวนั้น ควรรับประทานแต่พอดีและจำกัดการรับประทานถั่วเปลือกแข็งเพียงวันละประมาณ 30 กรัมต่อวัน[7]
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1.คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “บทปฏิบัติการเรื่องถั่วลิสง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.natres.psu.ac.th. [26 ต.ค. 2013].
2.กรมวิชาการเกษตร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: it.doa.go.th. [26 ต.ค. 2013].
3.ฐานข้อมูลอาหารพื้นบ้านล้านนา. สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. อ้างอิงใน: หนังสือสารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: library.cmu.ac.th. [26 ต.ค. 2013].
4.ภาควิชาพืชไร่ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.agric-prod.mju.ac.th/agronomy. [26 ต.ค. 2013].
5.สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [26 ต.ค. 2013].
6.สมุนไพรดอตคอม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com. [26 ต.ค. 2013].
7.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th. [26 ต.ค. 2013].
8.หนังสือพจนานุกรมโรคและสมุนไพรไทย. (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
9.มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 323 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “ถั่วลิสง คุณค่าและรสชาติจากใต้ดิน”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [26 ต.ค. 2013].
10.Mindcyber. “เป็นหนุ่มและสาวอยู่เสมอถ้ากินถั่วลิสง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.mindcyber.com. [26 ต.ค. 2013].
11.LISTVERSE. “Top 10 Unusual Uses For Peanut Butter”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: listverse.com. [26 ต.ค. 2013].
12.ไทยเกษตรศาสตร์. “ประโยชน์จากเปลือกถั่วลิสง (เทคโนโลยีชนบท)”. อ้างอิงใน: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [26 ต.ค. 2013].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.digitrac.in/agricare-blog/general-information-about-groundnut
2.https://freerangestock.com/photos/113475/peanuts-.html