ถั่วดำ มากสรรพคุณอุดมได้วิตามินที่จำเป็นต่อสุขภาพ

0
1508
ถั่วดำ มากสรรพคุณอุดมได้วิตามินที่จำเป็นต่อสุขภาพ เป็นพืชล้มลุก ดอกเป็นช่อสีเหลือง ฝักแห้งแตก เปลือกหุ้มเมล็ดเป็นสีดำขนาดเล็กและแวววาว
ถั่วดำ
เมล็ดสีดำ มากสรรพคุณอุดมได้วิตามินที่จำเป็นต่อสุขภาพ เป็นพืชล้มลุก ดอกเป็นช่อสีเหลือง ฝักแห้งแตก เปลือกหุ้มเมล็ดเป็นสีดำขนาดเล็กและแวววาว

ถั่วดํา

ถั่วดํา เป็นพืชอายุสั้นชนิดหนึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญทั้งในอาหารคาว ขนมหวาน อุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆ ที่มีสรรพคุณช่วยแก้อาการร้อนใน แก้อาการเหน็บชา ป้องกันอาการท้องผูก นอกจากนั้นถั่วดำมีโปรตีนและไฟเบอร์สูง อกจากนี้ยังมี ธาตุเหล็ก, ฟอสฟอรัส, แคลเซียม, แมกนีเซียม , แมงกานีส , ทองแดง และสังกะสี เป็นต้น

ถั่วดำ ในชื่อสามัญ Vigna mungo, Black gram, Black lentil[1], Catjung, Cow pea[3], Black matpe, Urd[5]
ถั่วดำ ในชื่อทางวิทยาศาสตร์ Vigna mungo (L.) Hepper และมีชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ว่า Phaseolus mungo L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[5]
ถั่วดํา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถั่วนา ถั่วไร่ ถั่วมะแป ถั่วซั่ง มะถิม[3] ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วแขก[5]เป็นต้น
จากข้อมูลของคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุเอาไว้ว่า ถั่วดํา ก็คือ “ถั่วเขียวผิวดำ” ที่เดิมใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Phaseolus mungo L. และต่อมาภายหลังก็ได้เปลี่ยนชื่อวิทยาศาสตร์เป็น Vigna mungo (L.) Hepper สรุปแล้วถั่วดำก็คือถั่วเขียวชนิดหนึ่งนั่นเอง[4]

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศอินเดีย หรือในพม่า เนื่องจากมีหลักฐานที่ระบุไว้ว่ามีศูนย์กลางแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดียและเอเชียกลาง และในภายหลังก็ได้แพร่กระจายไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย พม่า มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ตลอดจนถึงทวีปอเมริกา แอฟริกา และออสเตรเลีย[5]

ลักษณะของถั่วดำ

  • ต้น จัดว่าเป็นพืชล้มลุก ที่มีลำต้นตั้งตรงเป็นพุ่ม มีความสูงประมาณ 30-100 เซนติเมตร ในบางสายพันธุ์มีลำต้นแบบกึ่งเลื้อย ส่วนลำต้นที่อยู่เหนือใบเลี้ยงนั้นจะค่อนข้างเป็นเหลี่ยม และมีขนปกคลุมอยู่ทั่วไป[5]
  • ใบ คู่แรกจะเป็นใบเดี่ยวที่อยู่ตรงข้ามกัน และใบจริงในลำดับต่อไปก็จะเกิดแบบสลับกันอยู่บนลำต้น แต่ละใบประกอบ จะมีใบย่อย 3 ใบ ซึ่งมีขนาดเล็ก เป็นสีเขียวเข้ม และหนา เป็นรูปไข่ (ใบย่อยมีขนาดเล็กกว่าใบย่อยถั่วเขียว) ส่วนก้านใบยาวประมาณ 6-20 เซนติเมตร ที่ฐานของก้านใบนั้นจะมีหูใบอยู่ 2 อัน ส่วนก้านใบย่อยนั้นจะสั้น ใบย่อยใบกลางมีหูใบย่อยอยู่ 2 อัน ส่วนใบย่อย 2 ใบล่าง จะมีหูใบย่อยอยู่ข้างละอัน และใบก็มีขนปกคลุมยาวและหนาแน่นอยู่ทั่วไป[5]
  • ดอก ออกเป็นช่อ มีก้านดอกยาวและดอกเกิดเป็นกลุ่มที่ปลาย โดยในหนึ่งช่อนั้นจะมีดอกประมาณ 5-6 ดอก โดยดอกจะเกิดตามมุมใบ ส่วนก้านช่อดอกจะยาวประมาณ 18 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก เป็นสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.75 เซนติเมตร ดอกมีกลีบ 5 กลีบ มีกลีบใหญ่ 1 กลีบ กลีบข้าง 2 กลีบ และกลีบหุ้มเกสร 2 กลีบ โดยกลีบหุ้มเกสรจะมีลักษณะม้วนเป็นเกลียว ปลายกลีบมีลักษณะคล้ายปากแตร ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียในดอกเดียวกัน[5]
  • ฝัก มีลักษณะเป็นทรงกระบอกยาว ฝักสั้นตรง ฝักเมื่อแก่แล้วนั้นอาจมีสีขาวนวล น้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่เพาะปลูก และในฝักจะมีเมล็ดอยู่ไม่เกิน 8 เมล็ด[5]
  • เมล็ด หรือ ลูก มีสีดำและด้าน มีลักษณะค่อนข้างเป็นทรงกระบอก ปลายตัดเป็นเหลี่ยม มีตาสีขาวคล้ายกับรอยแผลเป็นเล็กน้อยอยู่ทางด้านเว้าของเมล็ด โดยเมล็ด 100 เมล็ดจะหนักประมาณ 1.5-4 กรัม[5]

สรรพคุณของถั่วดำ

1. ใช้ช่วยบำรุงโลหิตได้[2]
2. ใช้ช่วยบำรุงสายตา[2]
3. มีฤทธิ์ช่วยขจัดพิษในร่างกาย[2]
4. ใช้ช่วยขับของเหลวในร่างกาย[2]
5. มีส่วนช่วยในการบำรุงไต ป้องกันไตเสื่อม[2]
6. มีฤทธิ์แก้อาการบวมน้ำ[2]
7. ช่วยในการขับเหงื่อ[2]
8. สามารถช่วยแก้อาการร้อนในได้[2]
9. ใช้ช่วยรักษาดีซ่าน[2]
10. ช่วยบรรเทาอาการปวดลำไส้เล็ก[2]
11. มีส่วนช่วยขับลมในกระเพาะ[2]
12. มีส่วนช่วยแก้อาการเหน็บชา[2]
13. ใช้ช่วยแก้อาการปวดเอว[2]

ประโยชน์ของถั่วดำ

1. มีฤทธิ์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย[8]
2. ใช้ช่วยบำรุงหัวใจ[8]
3. แคลเซียมในเมล็ดช่วยในการบำรุงกระดูกและฟัน ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง[8]
4. ในเมล็ดมีกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว และมีฤทธิ์ที่สามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็ง รวมไปถึงโรคต่าง ๆ ในผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือบทบาทในการช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึงร้อยละ 40 และมะเร็งลำไส้ตรงได้ถึงร้อยละ 80 นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันมะเร็งในกระเพาะอาหารได้ด้วย ซึ่งจากงานวิจัยระบุไว้ว่าผู้ที่รับประทานบ่อย ๆ จะมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทานถึงร้อยละ 30 เลยทีเดียว และยังรวมไปถึงฤทธิ์ในการป้องกันมะเร็งปอดได้ถึงร้อยละ 50 อีกด้วย[6]
5. มีสารไอโซฟลาโวนส์เป็นสารที่ช่วยป้องกันเซลล์เจริญเติบโตผิดปกติ จากปัญหาการหลั่งฮอร์โมนที่ผิดปกติจนกลายเป็นโรคอ้วน และช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก อันมีสาเหตุมาจากการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป[6]
6. มีสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส ที่ช่วยป้องกันและลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งได้ ช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม และส่งผลดีต่อฮอร์โมนเพศหญิงได้อีกด้วย[8]
7. ช่วยยับยั้งโรคเบาหวาน มีเส้นใยชนิดละลายน้ำ จึงช่วยลดความเร็วของการดูดซึมกลูโคสให้ดูดซึมในร่างกายให้ช้าลง[6]
8. มีไฟเบอร์หรือเส้นใยที่ช่วยในการขับถ่ายและป้องกันอาการท้องผูกอีกด้วย[8]
9. ช่วยลดความอ้วนได้ เนื่องจากมีโปรตีนถึง 40% และมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว 20% โดยอุดมไปด้วยสารลดความอ้วนและสารที่ช่วยกำจัดสารพิษ[6]
10. ช่วยควบคุมน้ำหนักได้ เนื่องจากเส้นใยที่มีมากในถั่ว จะช่วยทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นานและทำให้ร่างกายมีพลังงานสม่ำเสมอ[8]
11. ใช้ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล[8]
12. ใช้ช่วยป้องกันและรักษาโรคโลหิตจาง เพราะอุดมไปด้วยวิตามินบี 12 วิตามินบี 9 หรือกรดโฟลิก และเบตาแคโรทีน แถมยังมีธาตุเหล็กที่สูงกว่าเนื้อสัตว์ถึง 4 เท่าเลยทีเดียว มันจึงมีประโยชน์โดยตรงต่อผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางอย่างมาก[6]
13. ช่วยบำรุงโลหิต และเป็นส่วนหนึ่งของสารในเม็ดเลือดแดงที่นำพาออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย จึงมีส่วนช่วยป้องกันภาวะขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง สมองไม่ดี หรือคิดอะไรไม่ค่อยออก ฯลฯ[8]
14. ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและช่วยลดคอเลสเตอรอล มีวิตามินอีและโพแทสเซียมที่ช่วยลดความดันโลหิต โดยการขยายเส้นโลหิตให้กว้างมากขึ้น อีกทั้งยังมีแคลเซียมที่ช่วยทำให้กล้ามเนื้อของเส้นเลือดเกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นอีกด้วย[6]
15. มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้ จากผลการวิจัยระบุว่าผู้ที่รับประทานในปริมาณมากจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจน้อยกว่าผู้ที่รับประทานน้อยหรือไม่รับประทานเลย[7]
16. ช่วยล้างพิษในร่างกายได้ เนื่องจากมีสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารล้างพิษที่มีปริมาณสูง และยังมีสารสำคัญอย่างแอนโทไซยานินที่เป็นสารล้างพิษที่ดี โดยเมื่อนำมาเทียบกับผลไม้อย่างส้มแล้ว พบว่ามีปริมาณของสารล้างพิษมากกว่าส้มถึง 10 เท่าเลยทีเดียว แต่การทำให้สุกจะสูญเสียสารล้างพิษไปบ้าง แต่ก็ยังสามารถช่วยล้างพิษในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ[7]
17. ใช้ช่วยแก้ปัญหาอาการนอนไม่หลับได้ โดยการนึ่งถั่วแล้วใส่ไว้ในหมอน ขณะที่ยังอุ่น ๆ จะช่วยแก้อาการนอนไม่หลับได้[6]
18. เป็นแหล่งอาหารจากธรรมชาติที่มีโฟเลตสูง ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากสำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ เพราะจะช่วยป้องกันการพิการ การกำเนิดของทารกได้ นอกจากนี้ยังมีธาตุเหล็กที่ช่วยลดอาการอ่อนเพลียของสตรีขณะตั้งครรภ์ได้อีกด้วย[8]
19. มีคุณค่าทางอาหารที่สูงใกล้เคียงพอ ๆ กับเมล็ดถั่วเขียว[5]
20. ถั่วดำนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย แต่น้อยกว่าถั่วเขียว เช่น ในญี่ปุ่นจะนำไปใช้เพื่อเพาะถั่วงอกเป็นหลัก ส่วนอินเดียนิยมนำไปทำถั่วซีก ตลอดจนใช้บริโภคทั้งเมล็ด โดยการใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารจำพวกซุปหรือแกงต่าง ๆ หรือจะใช้ในอาหารประเภทหมักก็ได้ ส่วนในบ้านเราจะนิยมใช้ทำถั่วงอกเป็นหลักและทำแป้ง เป็นต้น[5]
21. รับประทานเป็นประจำจะช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพผิว ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ทำให้ผิวหน้ากระจ่างใส ช่วยเพิ่มความกระชับ ทำให้ผิวหน้าดูมีชีวิตชีวา อีกทั้งยังช่วยลดเลือนรอยแดงจากสิว และป้องกันการเกิดกระบนผิว เพราะอุดมไปด้วยวิตามินอี และสารแอนโทไซนานินที่ช่วยเพิ่มการทำงานของคอลลาเจนอีกด้วย[6]
22. มีคำกล่าวที่ว่าการรับประทานถั่วจะช่วยทำให้ฉลาดขึ้นได้ ซึ่งก็ใกล้เคียงกับความจริง เพราะมีสารเลซิตินที่ช่วยบำรุงสมอง และช่วยในการทำงานของสมอง จึงมีผลดีมาก ๆ ต่อผู้ที่ต้องใช้ความจำ และสำหรับคนชราก็สามารถช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย[6]
23. เป็นแหล่งสำคัญของธาตุโบรอน (Boron) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งกระแสประสาทของสมอง ทำให้ช่วยสมองทำงานได้ฉับไวขึ้น[8]
24. มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคโรทีน วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินบี 3 ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย[2]
25. เปลือกหุ้มเมล็ดนั้นมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งนำมาใช้แต่งสีขนมต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น ขนมถั่วแปป แป้งจี่ เป็นต้น โดยการนำเมล็ดมาล้างให้สะอาด แล้วเอาไปต้มเคี่ยวกับน้ำ จะได้น้ำที่มีสีม่วง[3]
26. เมล็ดนำมาบดกับแป้งสามารถใช้ทำเป็นขนมได้ เช่น ขนมลูกชุบ ขนมเปี๊ยะ เป็นต้น[3]
27. เป็นพืชทนแล้ง สามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด และมักจะนิยมใช้ปลูกเป็นพืชรองในปลายฤดูฝนตามหลังพืชหลัก เช่น ถั่วเหลืองหรือข้าวโพด โดยถือว่าเป็นพืชที่มีบทบาทในด้านเศรษฐกิจของประเทศเช่นเดียวกันกับถั่วเขียว[5]

ข้อควรรู้ : มีสารพิวรีน (Purine) ในระดับปานกลาง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกาต์ควรจะรับประทานในปริมาณที่จำกัด เพราะเนื่องจากสารดังกล่าวอาจจะไปเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการข้ออักเสบกำเริบขึ้นได้ และการรับประทานที่ดี ควรรับประทานสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง[8]

คุณค่าทางโภชนาการ

คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 1,445 กิโลจูล

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 62-65%
แป้ง 40-43%
น้ำตาล 4-5%
เส้นใย 3.5-4.5%
ไขมัน 1-2%
ความชื้น 11-14%
ทริปโตเฟน (Tryptophan)  630%
เมไธโอนีน (Methionine) 90%
ซิสทีน (Cystine) 60%
วาลีน (Valine) 370%

ข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ถั่วเขียวผิวมันและถั่วเขียวผิวดำ”. นางนันทวรรณ สโรบล (นักวิชาการเกษตร)[5]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง

1. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Vigna_mungo. [23 ต.ค. 2013].
2. ชีวจิต. อ้างอิงใน: นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 208 (1 มิ.ย. 2550). “มหัศจรรย์พลังของถั่ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.cheewajit.com. [23 ต.ค. 2013].
3. ไทยเกษตรศาสตร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [23 ต.ค. 2013].
4. คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “บทปฏิบัติการเรื่องถั่วเขียว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.natres.psu.ac.th. [23 ต.ค. 2013].
5. หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. อ้างอิงใน: สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร. “ถั่วเขียวผิวมันและถั่วเขียวผิวดำ”. นางนันทวรรณ สโรบล (นักวิชาการเกษตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ag-ebook.lib.ku.ac.th. [23 ต.ค. 2013].
6. กรุงเทพธุรกิจ. “ถั่วดำ…หุ่นดีฉบับเกาหลี”. (วันที่ 5 พฤษภาคม 2555). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bangkokbiznews.com. [20 ต.ค. 2013].
7. ASTV ผู้จัดการออนไลน์. “ล้างพิษด้วยถั่วดำ”. (11 มีนาคม 2551). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [20 ต.ค. 2013].
8. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th. [20 ต.ค. 2013].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://krishijagran.com/black-gram-cultivation/