เม่าไข่ปลา

เม่าไข่ปลา

เม่าไข่ปลา เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่พบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ส่วนของผลสุกจะมีรสเปรี้ยว และนำมารับประทานได้ ผลสีม่วงแดงยังอุดมไปด้วยสารในกลุ่มแอนโทไซยานิน และฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระได้ด้วย ซึ่งมีการนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์และเภสัชกรรมได้ นอกจากนั้นส่วนต่าง ๆ ของต้นยังเป็นยาสมุนไพร และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมได้ด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเม่าไข่ปลา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Antidesma ghaesembilla Gaertn.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Black currant tree” “Wild black berry”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “มะเม่า ขะเม่าผา” ภาคอีสานเรียกว่า “มะเม่าผา มะเม่า” จังหวัดอุบลราชธานี กาฬสินธุ์และชัยภูมิเรียกว่า “ขมวยตาครวย” จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “มังเม่า” จังหวัดชลบุรีเรียกว่า “เม่าไข่ปลา ขะเม่าผา” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “มะเม่าข้าวเบา” จังหวัดชุมพรและสงขลาเรียกว่า “เม่าทุ่ง” ชาวมลายูนราธิวาสเรียกว่า “กูแจ” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “มะเม่าไข่ปลา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)

ลักษณะของเม่าไข่ปลา

เม่าไข่ปลา เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มักจะพบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ ชายป่าดิบ ป่าโปร่ง ป่าชายเลน ชายฝั่งทะเล ที่โล่งลุ่มต่ำ ตามทุ่งหญ้า เรือกสวนทั่วไป และตามป่าพรุ
ลำต้น : แตกกิ่งก้านต่ำเป็นพุ่ม เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีค่อนข้างกลม รูปวงรีแกมขอบขนาน หรือรูปไข่กว้างจนถึงรี ปลายใบมนกลมหรือเป็นติ่งแหลมเล็กน้อย โคนใบมนกลมถึงหยักเว้า ขอบใบเรียบ หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยง หรือมีขนตามเส้นใบด้านท้องใบ หูใบเป็นรูปลิ่มแคบ ร่วงง่าย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงลด โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายยอด ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก มีสีเขียวอมเหลือง มักจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
ผล : ออกผลเป็นช่อ ผลย่อยมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปค่อนข้างกลมวงรีหรือแบนเล็กน้อย ผิวผลมีขน ผนังชั้นในแข็ง ผลอ่อนเป็นสีขาว พอแก่จะเป็นสีแดงเข้มเกือบดำ ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1 – 2 เมล็ด ติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม

สรรพคุณของเม่าไข่ปลา

  • สรรพคุณจากผล แก้อาการปวดศีรษะ แก้คอแห้ง แก้อาการกระหายน้ำ เป็นยาระบาย ช่วยแก้อาการท้องผูก เป็นยาแก้ช่องท้องบวม
    – แก้อาการโลหิตจาง แก้ซีดเหลือง แก้เลือดไหลเวียนไม่ดี โดยตำรายาไทยนำใบและผลมาต้มกับน้ำอาบ
    – แก้อาการไข้ ด้วยการนำผลผสมกับน้ำอาบ
  • สรรพคุณจากต้นและราก เป็นยาแก้กระษัย เป็นยาขับปัสสาวะ เป็นยาแก้มดลูกพิการ แก้มดลูกช้ำบวม แก้อาการตกขาวของสตรี ช่วยขับโลหิตและน้ำคาวปลาของสตรี ช่วยบำรุงไต ช่วยแก้เส้นเอ็นพิการ แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาบำรุงกำลัง เป็นยาฝาดสมาน
  • สรรพคุณจากใบ แก้อาการปวดศีรษะ เป็นยาแก้ไข้ ช่วยแก้อาการท้องอืด ช่วยแก้อาการท้องบวม เป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง

ประโยชน์ของเม่าไข่ปลา

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลสุกมีรสเปรี้ยว นำมาทานได้ ผลสีม่วงใช้ทำน้ำผลไม้ ไวน์ แยม ยอดอ่อน ใบอ่อน มีรสฝาดอมเปรี้ยวและมัน นำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงเลียง หรือใช้ต้มเป็นผักจิ้ม ใบอ่อนและผลดิบใช้ปรุงอาหารให้มีรสเปรี้ยวได้
2. ประยุกต์ใช้ทางด้านการแพทย์และเภสัชกรรม เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยา และเครื่องสำอางต่อไปได้ในอนาคต
3. แก้รังแค ใบและผลใช้ตำพอกแก้รังแค
4. เป็นยาเบื่อสุนัข รากนำมาตำคลุกกับข้าวสุกใช้เป็นยาเบื่อสุนัขได้
5. เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม เนื้อไม้เป็นสีแดง มีความแข็งแรง สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างได้

เม่าไข่ปลา มีรสเปรี้ยวที่นำมาทานหรือนำมาใช้ปรุงในอาหาร นอกจากนั้นยังถือว่าเป็นพืชที่นำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ เม่าไข่ปลามีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของผล ต้นและราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการโลหิตจาง บำรุงไต ช่วยแก้เส้นเอ็นพิการ แก้อาการปวดศีรษะ แก้ไข้ และดีต่อมดลูกของผู้หญิง

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “เม่าไข่ปลา (Mao Khai Pla)”. หน้า 242.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “เม่าไข่ปลา”. หน้า 161.
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เม่าไข่ปลา”. หน้า 39.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะเม่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [30 ต.ค. 2014].
พืชผักพื้นบ้านนครศรีธรรมราช 103 ชนิด, กลุ่มผักที่ใช้ปรุงเป็นอาหารและอาจใช้เป็นผักเหนาะ, เทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช. “เม่าไข่ปลา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tungsong.com. [30 ต.ค. 2014].
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “เม่าไข่ปลา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [30 ต.ค. 2014].
สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์พรรณบุรี กองบำรุงพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์, พืชสมุนไพร. “มะเม่าไข่ปลา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : lssp-spr.dld.go.th. [30 ต.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
1. https://www.flickr.com/
2. http://flora-peninsula-indica.ces.iisc.ac.in