ตะลิงปลิง ผลไม้รสเปรี้ยวจากถิ่นใต้ ช่วยดับพิษร้อนของไข้และบำรุงกระเพาะอาหาร

0
1611
ตะลิงปลิง ผลไม้รสเปรี้ยวจากถิ่นใต้ ช่วยดับพิษร้อนของไข้และบำรุงกระเพาะอาหาร
ตะลิงปลิง กลมยาวปลายมน ออกผลเป็นช่อ ผลเรียบสีเขียว มีรสเปรี้ยวมาก
ตะลิงปลิง ผลไม้รสเปรี้ยวจากถิ่นใต้ ช่วยดับพิษร้อนของไข้และบำรุงกระเพาะอาหาร
ตะลิงปลิง กลมยาวปลายมน ออกผลเป็นช่อ ผลเรียบสีเขียว มีรสเปรี้ยวมาก

ตะลิงปลิง

ตะลิงปลิง (Averrhoa bilimbi) เป็น ไม้เขตร้อนที่มีลักษณะคล้ายกับมะเฟือง เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่นิยมทางภาคใต้ คนไทยส่วนมากไม่ค่อยได้ยินชื่อสักเท่าไหร่ ผลของตะลิงปลิงนั้นมีรสเปรี้ยวมาก สามารถนำมาทำเป็นน้ำผลไม้ได้ ดื่มแล้วรู้สึกสะใจและสดชื่น นอกจากทำน้ำดื่มแล้วยังสามารถนำไปประกอบในอาหารได้เช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของตะลิงปลิง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Averrhoa bilimbi L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Bilimbi” “Bilimbing” “Cucumber tree” “Tree sorrel”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคใต้เรียกว่า “มะเฟืองตรน หลิงปลิง” จังหวัดนราธิวาสเรียกว่า “บลีมิง” จังหวัดระนองเรียกว่า “กะลิงปริง ลิงปลิง ลิงปลิง ปลีมิง” เกาะสมุยเรียกว่า “มูงมัง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กระทืบยอด (OXALIDACEAE)

ลักษณะของตะลิงปลิง

ตะลิงปลิง เป็นไม้ยืนต้นเขตร้อนที่คาดว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากหมู่เกาะมาลูกู ในประเทศอินโดนีเซีย
เปลือกต้น : เปลือกต้นมีสีชมพู ผิวเรียบมีขนนุ่มปกคลุมอยู่ตามกิ่ง มีการแตกกิ่งก้านสาขามาก
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบมีสีเขียวอ่อนและมีขุยนุ่มปกคลุม ใบคล้ายรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อหลายช่อตามกิ่งและลำต้น ดอกสีแดงเข้ม มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นสีเขียวอมชมพู มีเกสรกลางดอกเป็นสีขาว
ผล : มีลักษณะกลมยาวปลายมน ออกผลเป็นช่อห้อย ผิวของผลมีลักษณะเรียบสีเขียว แต่เมื่อสุกแล้วจะกลายเป็นสีเหลือง เนื้อข้างในเป็นเนื้อเหลว มีรสเปรี้ยว
เมล็ด : ลักษณะของเมล็ดตะลิงปลิงจะแบนยาวและมีสีขาว

สรรพคุณของตะลิงปลิง

  • สรรพคุณจากผล ทำให้เจริญอาหาร ช่วยขับเหงื่อ ฟอกโลหิต รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน เป็นยาลดไข้ ช่วยละลายเสมหะและแก้เสมหะเหนียวข้น บำรุงกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวาร เป็นยาบำรุงแก้อาการปวดมดลูก ช่วยฝาดสมาน
    – งานวิจัยในประเทศฟิลิปปินส์พบว่าน้ำคั้นจากผลตะลิงปลิงมีฤทธิ์ในการคุมกำเนิด โดยเชื่อว่าสเตอรอยด์ไกลโคไซด์และกรดออกซาลิกในน้ำคั้นมีส่วนในการออกฤทธิ์คุมกำเนิด
  • สรรพคุณจากราก แก้พิษร้อนใน แก้กระหายน้ำ ประเทศฟิลิปปินส์ใช้รากพอกรักษาคางทูม ดับพิษร้อนของไข้ บำรุงกระเพาะอาหาร แก้อาการเลือดออกตามกระเพาะอาหารและลำไส้ รักษาอาการอักเสบของลำไส้ รักษาซิฟิลิส (Syphilis) บรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวาร บรรเทาอาการของโรคเกาต์ แก้ไขข้ออักเสบ ช่วยฝาดสมาน พอกแก้อาการคัน ลดอาการบวมแดง
  • สรรพคุณจากใบ ประเทศฟิลิปปินส์ใช้ใบพอกรักษาคางทูม ใบต้มช่วยรักษาอาการอักเสบของลำไส้และรักษาซิฟิลิส (Syphilis) รักษาโรครูมาตอยด์ แก้ไขข้ออักเสบ รักษาอาการอักเสบ พอกแก้อาการคัน ลดอาการบวมแดง
    – งานวิจัยที่ประเทศสิงคโปร์พบว่าสารสกัดเอทานอลในใบตะลิงปลิง สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดของสัตว์ทดลองได้
  • สรรพคุณจากดอก ชงเป็นชาดื่มช่วยแก้อาการไอ

ประโยชน์ของตะลิงปลิง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลสามารถนำมารับประทานร่วมกับพริกเกลือหรือนำไปใส่แกง และทำเป็นเมนูน้ำพริกตะลิงปลิง ปลาทูต้มตะลิงปลิง ยำตะลิงปลิง เป็นต้น อีกทั้งยังนำมาทำเป็นเครื่องดื่มได้ด้วย
2. เป็นยาเสริมความงาม ใบและรากสามารถนำมาพอกใช้รักษาสิวได้

คุณค่าทางโภชนาการของตะลิงปลิง (เฉพาะส่วนที่กินได้)

คุณค่าทางโภชนาการของตะลิงปลิง (เฉพาะส่วนที่กินได้) ต่อ 100 กรัม

สารอาหาร ปริมาณสารอาหาร
โปรตีน 0.61 กรัม
แคโรทีน 0.035 มิลลิกรัม
วิตามินบี1 0.010 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.026 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 0.302 มิลลิกรัม
วิตามินซี 15.5 มิลลิกรัม
แคลเซียม 3.4 มิลลิกรัม
เหล็ก 1.01 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 11.1 มิลลิกรัม

วิธีทำน้ำตะลิงปลิง

1. ทำน้ำเชื่อมด้วยการต้มน้ำ 3 ถ้วยครึ่ง แล้วเติมน้ำตาล 2 ถ้วย จนเดือดรวมกันเป็นเนื้อเดียว แล้วปิดเตาทิ้งไว้ให้เย็น
2. นำตะลิงปลิงครึ่งกิโลกรัมมาล้างให้สะอาด เอาขั้วและเมล็ดออก จากนั้นนำมาหั่นเป็นชิ้น ๆ
3. นำตะลิงปลิงที่หั่นใส่เครื่องปั่น 1 ส่วน เติมน้ำเชื่อมลงไปครึ่งหนึ่ง แล้วเติมเกลือครึ่งช้อนโต๊ะแล้วปั่นให้ละเอียด
4. เทลงในตะแกรงแล้วกรองเอากากออก
5. ทำการปรุงตามต้องการด้วยการเติมเกลือหรือใส่กับน้ำแข็งเกล็ดก็จะช่วยเพิ่มความอร่อย

ตะลิงปลิง เป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่เริ่มจะสูญพันธุ์ไปเรื่อย ๆ เพราะไม่ค่อยนิยมมากนัก ในปัจจุบันมักจะพบในรูปแบบเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ด้วยรสเปรี้ยวนั้นทำให้ร่างกายตื่นตัวและสดชื่นขึ้น ตะลิงปลิงมีประโยชน์แต่ก็ไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไปเพราะจะทำให้เลือดตกตะกอนได้ สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาคางทูม รักษาอาการอักเสบของลำไส้ ดับพิษร้อนของไข้และบำรุงกระเพาะอาหาร

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม