ตะคร้อ
ตะคร้อ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามท้องถิ่นหลากหลายชื่อ มีผลเป็นทรงกลมสีเขียวอมน้ำตาลหรือเป็นสีน้ำตาล มีรสเปรี้ยวและฉ่ำน้ำ มีวิตามินซีสูง เป็นผลที่นิยมรับประทานกันมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีน้ำมันจากเมล็ดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนั้นเปลือกต้นยังใช้ทำสีย้อมได้โดยให้สีน้ำตาล เนื้อไม้ใช้เป็นวัตถุดิบในงานอุตสาหกรรม ในประเทศอินเดียนำต้นมาใช้เป็นไม้เพาะเลี้ยงครั่ง สามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับให้ความร่มเงาและช่วยดึงดูดนกได้ด้วย
[/vc_column_text]
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของตะคร้อ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Schleichera oleosa (Lour.) Merr.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Ceylon oak”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ตะคร้อไข่” ภาคเหนือเรียกว่า “เคาะจ้ก มะเคาะ มะจ้ก มะโจ้ก” จังหวัดเลยเรียกว่า “กาซ้อง คอส้ม” จังหวัดนครพนมและพิษณุโลกเรียกว่า “เคาะ” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “ค้อ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ซะอู่เสก” ชาวกะเหรี่ยงกาญจนบุรีเรียกว่า “กาซ้อ คุ้ย” ชาวเขมรสุรินทร์เรียกว่า “ปั้นรั้ว” ชาวเขมรบุรีรัมย์เรียกว่า “ปั้นโรง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “บักค้อ ตะค้อ หมากค้อ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)
ชื่อพ้อง : Pistacia oleosa Lour., Schleichera oleosa (Lour.) Oken
ลักษณะของตะคร้อ
ต้น : แตกกิ่งก้านต่ำ เรือนยอดมีลักษณะเป็นทรงพุ่มแผ่กว้าง กิ่งก้านมักคดงอ ลำต้นเป็นปุ่มปมและพูพอน เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเป็นสีน้ำตาลเทา เปลือกแตกเป็นสะเก็ดหนา มักจะพบได้ตามป่าผลัดใบ ป่าดิบเขา และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายใบออกเป็นคู่ออกเรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรี หรือรูปวงรีขอบขนาน ปลายใบมนหรือหยัก มีหางสั้นหรือติ่งสั้น โคนใบมนหรือสอบและมักเบี้ยว ขอบใบเรียบเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนาเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ก้านใบย่อยสั้นมาก ใบอ่อนมีขนเล็กน้อยตามเส้นใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อปลายยอดหรือตามซอกใบ ช่อดอกมีลักษณะเป็นพวงแบบหางกระรอกห้อยลง ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงหรือกลีบรวมมีขนาดเล็กมาก มีแฉกแหลม 5 แฉก ไม่มีกลีบดอก มักจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ปลายผลเป็นจะงอยแหลมและแข็ง เปลือกผลหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวผลเกลี้ยงเป็นสีเขียวอมน้ำตาลหรือเป็นสีน้ำตาล มักจะออกผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ด 1 – 2 เมล็ด มีเนื้อหุ้มเมล็ดใสสีเหลือง ลักษณะฉ่ำน้ำ และมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานได้
สรรพคุณของตะคร้อ
- สรรพคุณจากรากและเปลือกราก เป็นยาแก้กษัย ช่วยทำให้เส้นเอ็นหย่อน แก้เส้นเอ็น ช่วยถ่ายฝีภายใน
- สรรพคุณจากใบแก่
– เป็นยาแก้ไข้ ด้วยการนำใบแก่มาขยี้กับน้ำแล้วเช็ดตัว
– ช่วยห้ามเลือด ด้วยการนำใบแก่มาเคี้ยวให้ละเอียด ใช้ใส่แผลสดเพื่อปิดปากแผลไว้ - สรรพคุณจากเนื้อผล เป็นยาระบาย
- สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาสมานท้อง ช่วยแก้อาการท้องร่วง แก้บิด แก้มูกเลือด
– แก้อาการท้องเสีย ช่วยรักษาอาการปวดประจำเดือน แก้ฝีหนอง ด้วยการนำเปลือกต้นมาแช่กับน้ำดื่ม
– ช่วยรักษาบาดแผลสดจากของมีคม ด้วยการนำเปลือกต้นบริเวณลำต้นที่วัดความสูงตามบาดแผลที่เกิด ขูดเอาเปลือกมาผสมกับยาดำ แล้วนำมาพอกบริเวณบาดแผล - สรรพคุณจากทั้งห้าส่วน ช่วยขับปัสสาวะ เป็นยาแก้ริดสีดวงภายนอกและภายใน เป็นยาแก้ฝีในกระดูก แก้ปอด แก้กระเพาะ แก้ลำไส้ แก้ตับ แก้ม้าม
- สรรพคุณจากใบ ใบใช้ตำพอกรักษาฝี เป็นยาถ่ายพิษฝี แก้ถ่ายเส้น แก้ถ่ายกษัย
- สรรพคุณจากราก
– เป็นยาถอนพิษ ช่วยให้อยากหยุดเหล้า ด้วยการนำน้ำต้มกับรากมาผสมกับเหล้าและใช้ดื่มตอนเมาจะทำให้ไม่อยากอีก ปริมาณการใช้เท่ากับราก 1 กำมือต่อผู้กินเหล้า 1 ก๊ง - สรรพคุณจากน้ำมันจากเมล็ด ใช้นวดแก้อาการปวดไขข้อ ช่วยแก้ผมร่วง ใช้รักษาอาการคัน รักษาสิว รักษาแผลไหม้
- สรรพคุณจากสารสกัดจากเปลือกและลำต้น ช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของการตายของเซลล์มะเร็ง ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรีย
ประโยชน์ของตะคร้อ
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลสุกหรือเนื้อหุ้มเมล็ดใสมีสีเหลืองและฉ่ำน้ำ มีรสเปรี้ยว ใช้ทานเป็นผลไม้ได้ นำผลมาทานจิ้มกับเกลือหรือนำมาซั่วกิน เปลือกผลส่วนก้นสามารถนำมาตำใส่เปลือกผสมกับเนื้อ หรือนำมาตำเหมือนตำส้มตำ นอกจากนั้นนำผลมาทำเป็นอาหารหวานได้อีกหลายชนิด เช่น ตะคร้อแก้ว น้ำตะคร้อ ลูกกวาดตะคร้อ แยม ไวน์ เป็นต้น เปลือกต้นนำมาขูดเอาแต่เนื้อเปลือกตำใส่มดแดง ใบอ่อนนำมาใช้ทานเป็นผักแกล้มกับอาหารอีสาน เมล็ดใช้ทานได้แต่อย่าเกิน 3 เม็ด เพราะจะทำให้เมา
2. เป็นส่วนประกอบของยา นิยมนำเมล็ดมาสกัดทำเป็นน้ำมันสำหรับเป็นยาสมุนไพรได้ เปลือกนอกของต้นนำมาขูดผสมกับเกลือใช้เป็นยารักษาสัตว์
3. เป็นน้ำมัน เป็นน้ำมันสำหรับจุดประทีป
4. เป็นส่วนประกอบของอุตสาหกรรม เปลือกต้นใช้สกัดทำเป็นสีย้อมโดยสีที่ได้คือสีน้ำตาล ส่วนเปลือกผสมกับเปลือกก่อจะให้สีกากี เนื้อไม้นำมาใช้ในทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ทำไม้เสาเรือนบ้าน อาคารบ้านเรือนได้ ผลสุกมีรสเปรี้ยวอมหวานจึงนำมาใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับล้างจานและล้างห้องน้ำได้
5. เป็นเชื้อเพลิง นำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง ทำฟืนและถ่านชนิดดี
6. ใช้ในการเกษตร ในประเทศอินเดียนำมาใช้เป็นไม้เพาะเลี้ยงครั่งได้ดี สามารถนำมาใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงา ช่วยดึงดูดนก
ตะคร้อ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่จึงสามารถนำมาปลูกให้ร่มเงาได้ และยังดึงดูดให้นกมาเกาะเพื่อความธรรมชาติได้ด้วย มีผลรสเปรี้ยวที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารได้มากมาย มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้เส้นเอ็น เป็นยาระบาย แก้ปวดไขข้อ แก้ริดสีดวงภายนอกและภายใน แก้พิษฝี ทั้งต้นเป็นยาและมีน้ำมันจากเมล็ดมาใช้ประโยชน์ได้ ดีต่อปอด กระเพาะ ลำไส้ ตับและม้าม
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ตะคร้อ (Ta Khro)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 121.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ตะคร้อ”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 97.
พืชและสัตว์ท้องถิ่นภูพาน, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร. “ตะคร้อ”. (ไพร มัทธวรัตน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pineapple-eyes.snru.ac.th/animal/pupan/. [9 มี.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Ceylon oak”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [9 มี.ค. 2014].
สวนพฤกษศาตร์โรงเรียนชลบุรีสุขบท. “ตะคร้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.skb.ac.th/~botanical/. [9 มี.ค. 2014].
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (สาขาลำปาง). “ตะคร้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: lampang.dnp.go.th. [9 มี.ค. 2014].
การประชุมวิชาการแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ครั้งที่ 9. “การวิเคราะห์ปริมาณกรดอินทรีย์ในผลตะคร้อจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วยเทคนิคโครมาโทกราฟีชนิดของเหลวประสิทธิภาพสูง”. (ชลธิชา นิวาสประกฤติ, ปิยานี รัตนชำนอง, อรทัย อร่ามพงษ์พันธ์, และทักษิณ อาชวาคม).
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ตะคร้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [9 มี.ค. 2014].
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม. “บักค้อ (ลูกตะค้อ)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th. [9 มี.ค. 2014].
GotoKnow. “ตระคร้อ Schleichera oleosa (Lour.) Oken”. (ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ). อ้างอิงใน: www.boonrarat.net. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org. [9 มี.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตระคร้อ”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [9 มี.ค. 2014].
รูปอ้างอิง
https://www.floraofbangladesh.com/2020/07/kushum-or-ceylon-oak-schleichera-oleosa.html