พริก เครื่องเทศที่ทุกคนต้องรู้จัก รสจัดจ้านเผ็ดร้อนแต่สรรพคุณเยี่ยมยอด

พริก มีทั้งสีแดงและสีเขียว ซึ่งให้ความเผ็ดแต่ละชนิดต่างกัน ซึ่งคนไทยที่รับประทานพริกเป็นส่วนประกอบของอาหารเป็นประจำ

พริก

พริก (Chili ) เป็น พืชที่ทุกคนบนโลกต้องรู้จัก โดยเฉพาะคนไทยที่รับประทานพริกเป็นส่วนประกอบของอาหารเป็นประจำ ถือเป็นเครื่องเทศที่สำคัญอย่างมากต่อรสชาติของอาหาร ไม่ว่าจะในยุคอดีตหรือปัจจุบันก็ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อคนบนโลก พริกเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้กันว่ามีรสเผ็ด ซึ่งความเผ็ดนั้นมาจากสารที่ชื่อว่า “แคปไซซิน” (Capsaicin) เป็นสารที่ทนทานต่อความร้อนและความเย็นอย่างมาก ไม่ว่าจะต้มหรือแช่เย็นความเผ็ดของพริกก็ยังคงอยู่ พริกที่โด่งดังในประเทศไทยนั้น ได้แก่ พริกขี้หนูสดและพริกชี้ฟ้า

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของพริก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capsicum frutescens L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญ 7 ชื่อ คือ “Chili” “Pepper” “Sweet pepper” “Hot pepper” “Bird pepper” “Capsicum” และ “Paprika”
ชื่อวงศ์ : วงศ์โซลานาซีอี (SOLANACEAE)

ลักษณะของต้นพริก

พริก เป็นได้ทั้งพืชล้มลุก ไม้พุ่มและไม้ยืนต้นขนาดเล็กซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปของโลก
ราก : เป็นรากแก้วหยั่งลึกลงในดิน
ใบ : เป็นใบเลี้ยงคู่และใบเดี่ยว ใบแบนเรียบเป็นมัน มีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยมคล้ายหอกซึ่งแตกต่างกันตามสายพันธุ์
ดอก : ดอกมักจะมีสีขาว เป็นดอกเดี่ยวมีรูปทรงวงล้อและรูประฆังซึ่งแตกต่างกันตามสายพันธุ์
เมล็ด : มีเมล็ดเกาะเรียงตัวอยู่แกนกลางของผลหรือรก มีรูปร่างกลมแบน

ความเผ็ดของพริก

ความเผ็ดของพริกมาจากสารแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งพบมากที่สุดในแกนกลางของพริกไม่ใช่ส่วนเมล็ดหรือเปลือก มีฤทธิ์ทำให้เนื้อเยื่อเผาไหม้จึงเกิดความรู้สึก “เผ็ด” เวลารับประทาน หน่วยวัดความเผ็ดของสารแคปไซซินคือ Scoville Heat Units (SHU) พริกที่เผ็ดที่สุดในโลกมีชื่อว่า “พริกฮาบาเนโร”

การนำไปใช้ประโยชน์ของพริก

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใช้ในการประกอบอาหารและปรุงแต่งอาหาร นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ เช่น พริกแห้ง พริกป่น พริกดอง ซอสพริก น้ำพริกต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค เป็นต้น
2. เป็นส่วนประกอบของยา ครีมและเจล แพทย์แผนจีนนำสารแคปไซซินในพริกมาใช้ประโยชน์เพื่อบำรุงพลังหยาง มีการสกัดเอาสารแคปไซซินในพริกออกมาในรูปแบบครีมหรือเจลเพื่อใช้ทาบรรเทาอาการเจ็บปวดที่ผิวหนัง เช่น ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก งูสวัด เป็นต้น มีสกัดสารแคปไซซินมาทำเป็นเจลเพื่อใช้นวดลดเซลลูไลต์หรือสลายไขมัน
3. เป็นอาวุธป้องกันตัวจากภัยสังคม นำมาใช้เป็นสเปรย์พริกไทยในการป้องกันตัวได้

สรรพคุณของพริก

  • สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระและช่วยชะลอวัย เสริมสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น มีวิตามินซีที่ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนให้กับร่างกาย
  • สรรพคุณด้านการคลายเครียด ช่วยให้อารมณ์ดีและสร้างสารแห่งความสุข (Endorphin) ทำให้ร่างกายตื่นตัว
    สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 บำรุงและรักษาสายตา รักษาเลือดออกตามไรฟัน ป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ในบริเวณจมูก ลำคอ ปอดและเยื่อบุผนังช่องปาก อาการปวดฟันและเจ็บคอ
  • สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยกระตุ้นการเจริญอาหาร ช่วยในการดีท็อกซ์ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร ช่วยให้ร่างกายขับถ่ายของเสียและนำธาตุอาหารไปใช้อย่างเป็นประโยชน์ ขับแก๊สในกระเพาะและช่วยให้อาหารย่อย มีส่วนช่วยในการขับปัสสาวะ
  • สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ บรรเทาอาการไข้หวัด ลดน้ำมูกและลดเสมหะ บรรเทาอาการไอ บรรเทาอาการหายใจติดขัดจากไข้หวัด ไซนัสหรือโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ บรรเทาอาการปวดศีรษะและปวดเส้นเอ็น บรรเทาอาการอักเสบของผิวหนังและข้อต่ออักเสบ
  • สรรพคุณด้านป้องกันโรค รักษาโรคลักปิดลักเปิด ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งและความเผ็ดของพริกมีส่วนช่วยฆ่าเซลล์มะเร็ง ป้องกันการเกิดโรคหัวใจล้มเหลว บรรเทาอาการของโรคเกาต์
  • สรรพคุณด้านเลือดในร่างกาย ลดปริมาณสารคอเลสเตอรอลในร่างกายทำให้ปริมาณของไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดลดลง ลดอาการเส้นเลือดสมองอุดตัน ช่วยสลายลิ่มเลือด ช่วยลดความดันโลหิตและเพิ่มการไหลเวียนของหลอดเลือดให้ดียิ่งขึ้น เสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรงและเพิ่มการยึดตัวของผนังหลอดเลือด ช่วยขยายเส้นโลหิตในลำไส้และกระเพาะอาหารเพื่อการดูดซึมอาหารที่ดีขึ้น
  • สรรพคุณด้านอื่น ๆ ป้องกันเมือกเสียจับตัวกันในร่างกาย

คุณค่าทางโภชนาการ

คุณค่าทางโภชนาการของพริกขี้หนูและพริกชี้ฟ้าที่นิยมในประเทศไทย 100 กรัม ให้พลังงาน 103 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหาร
ไขมัน 2.4 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 19.9 กรัม
ใยอาหาร 6.5 กรัม
โปรตีน 4.7 กรัม
แคลเซียม 45 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 85 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 2.5 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 11,050 I.U.
วิตามินบี1 (ไธอะมีน) 0.24 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 (ไรโบเฟลวิน) 0.29 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 (ไนอะซีน) 2.10 มิลลิกรัม
วิตามินซี 70 มิลลิกรัม

ข้อควรระวัง

1. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารไม่ควรรับประทานพริกหรืออาหารรสจัด เพราะพริกจะไปกัดแผลในกระเพาะอาหาร
2. ผู้ที่มีอาการสำลักง่ายอย่างเด็กหรือผู้สูงอายุไม่ควรรับประทานพริก
3. ผู้บริโภคควรรับประทานพริกป่นที่สะอาด ไม่มีเชื้อรา และหลีกเลี่ยงพริกป่นตามร้านอาหารหรือพริกซองที่อาจจะมีสารอะฟลาทอกซินปนอยู่ ซึ่งเป็นสารที่ก่อเชื้อราได้ดี หากรับประทานในปริมาณมากจะเกิดมะเร็งตับได้

พริก เป็นเครื่องเทศที่มีหลากหลายชนิด แต่ละชนิดจะมีความเผ็ดไม่เท่ากัน พริกที่คนไทยคุ้นเคยที่สุดคงจะเป็นพริกขี้หนู บางคนรับประทานพริกมาทั้งชีวิตแต่ไม่รู้สรรพคุณของความเผ็ดร้อน พริกถือเป็นตัวยาที่มีวิตามินเอและวิตามินซีสูง แต่ก็ต้องพึงระวังเพราะรสจัดของพริกอาจจะทำให้ระบบอาหารแปรปรวนได้หากรับประทานในปริมาณมาก สรรพคุณที่โดดเด่นของพริกเลยก็คือช่วยการไหลเวียนของเลือด บรรเทาอาการหวัด ลดน้ำมูก ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยในการขับถ่ายคล่อง และช่วยในการกระตุ้นความอยากอาหารได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม