มะเร็งเต้านม ( Breast Cancer ) อาการ สาเหตุ และการป้องกัน
มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบในผู้หญิงไทยมากที่สุดเป็นอันดับ1 ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติภายในเต้านมเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม ( Breast Cancer ) เป็น มะเร็งที่พบในผู้หญิงไทยมากที่สุดเป็นอันดับ1 ซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นจากเซลล์บนผิวของต่อมเต้านมได้รับผลกระทบจากสารก่อมะเร็งและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ทำให้เซลล์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วเกินขีดจำกัดของร่างกาย และเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งมะเร็งเต้านมสามารถเกิดในเด็กที่เริ่มมีประจำเดือนได้ โดยเกิดในเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 10 – 11 ปี รังไข่จะเล็กและยังไม่ทำงาน แต่พอรังไข่ได้รับคำสั่งจากฮอร์โมนในสมองก็จะเริ่มเกิดการขยายตัวและมีการผลิตฟองไข่ขึ้น และทำให้รังไข่สร้างฮอร์โมนเพศที่ชื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนขึ้นมา ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้เองที่ทำให้เกิดการสะสมของไขมันและทำให้ท่อนมเกิดการเจริญเติบโต ในเวลาต่อมาเมื่อรังไข่มีความ พร้อมที่จะผสมพันธุ์ จะมีการขยายตัวของฟองไข่จนเกิดไข่ตก ส่วนรังไข่ที่เหลือจะสร้างฮอร์โมนเพศอีกตัวหนึ่งที่ชื่อฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนซึ่งเมื่อหลั่งออกมาจะทำให้ต่อมนมขยายขนาดขึ้น จนเป็นเต้านมที่สมบูรณ์ในช่วงอายุประมาณ 16 ปี เมื่อเต้านมโตขึ้นและพร้อมขยายพันธุ์ตามขนาดของร่างกาย มะเร็งเต้านมก็สามารถเกิดขึ้น

กระบวนการเกิด มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม เกิดจากการที่เซลล์ต่างๆ ภายในเต้านมมีการแบ่งตัวผิดปกติ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบริเวณท่อส่งน้ำนมและเนื้อเยื่อของต่อมน้ำนมมากที่สุด และหลังจากเป็นโรคมะเร็งได้ระยะหนึ่ง เซลล์มะเร็งก็จะมีการแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายอีกด้วย โดยเริ่มจากการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง ก่อนจะเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ใกล้และไกลออกไปตามลำดับ เช่น หัวใจ กระดูก สมอง ปอด เป็นต้น และเนื่องจากเต้านมเป็นอวัยวะที่มีเนื้อเยื่อ ต่อมและท่อส่งมากมาย จึงทำให้มะเร็งเต้านมสามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้กระบวนการที่ทำให้เกิดเป็นมะเร็งเต้านมได้นั้น เกิดจากการที่เซลล์ปกติมีการกลายพันธุ์จนเป็นมะเร็ง โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. เซลล์ปกติ ( Norma l ) : เป็นเซลล์ทั่วไปบริเวณเต้านมที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งจะทำงานไปตามปกติ
2. เซลล์เพิ่มการแบ่งตัว ( Hyperplasia ) : เป็นภาวะที่เซลล์ปกติได้มีการแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม จนทำให้เซลล์มีขนาดโตมากเกินไป แต่ยังไม่ถึงกับเป็นเซลล์มะเร็ง
3. เซลล์เพิ่มการแบ่งตัวแบบผิดปกติ ( Atypical hyperplasia ) : สืบเนื่องจากการแบ่งตัวในขั้นตอนที่ 2 โดยเซลล์บางส่วนจะเริ่มกลายพันธุ์ มีลักษณะที่ผิดปกติไปจากเดิม และกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด
4. มะเร็งระยะก่อนลุกลาม ( Non-Invasive Cancer หรือ In Situ Cancer ) : ระยะนี้เป็นช่วงแรกๆ ของมะเร็งเต้านมจะยังไม่มีการลุกลามออกไป ซึ่งจะอยู่เฉพาะบริเวณผิวของเยื่อบุของอวัยวะที่เป็นมะเร็งเท่านั้น โดยระยะนี้หากตรวจพบจะมีโอกาสรักษาให้หายได้เกือบ 100%
5. มะเร็งระยะลุกลาม ( Invasive cancer ) : เป็นระยะที่มะเร็งเริ่มมีการลุกลาม โดยจะเริ่มจากการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงก่อนแล้วจึงค่อยๆ ลุกลามออกไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รีบทำการรักษาก็จะเป็นอันตรายได้มากทีเดียว

สาเหตุที่ทำให้เป็น มะเร็งเต้านม

1. มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิด บีอาร์ซีเอ ( BRCA1 และ BRCA2 ) โดยเป็นชนิดที่สามารถถ่ายทอดได้ เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแบ่งตัวและการตายของเซลล์ปกติ โดยเป็นพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด
2. เชื้อชาติ โดยมีการพบว่าชาวตะวันตกจะมีโอกาสป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมได้มากที่สุด
ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะ พ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย
ผู้หญิงที่ไม่มีลูกหรือมีลูกน้อย จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่มีลูกแล้ว
ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาเร็วและคนที่หมดประจำเดือนตอนอายุ 55 ปีขึ้นไป
3. ได้รับฮอร์โมนเพศหญิงมากเกินไปอย่างต่อเนื่อง
4. การได้รับรังสีบางชนิด โดยเฉพาะรังสีในการรักษา เช่น รังสีเอกซเรย์
5. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เพราะจะไปกระตุ้นให้เซลล์กลายพันธุ์ผิดปกติจนเป็นมะเร็ง
6. ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่มือสองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนที่สูบบุหรี่ตั้งแต่ยังมีอายุน้อย
7. การทานอาหารบางชนิด โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง โดยพบว่าผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ มีพฤติกรรมทานอาหารไขมันสูงอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ
8. ผู้ที่เป็นโรคอ้วน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคอ้วน

ในประเทศไทยมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งอันดับแรกๆที่พบมากที่สุดในผู้หญิง และมีอัตราการเกิดสูงมาก แต่โรคนี้จะพบในวัยผู้ใหญ่มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงอายุประมาณ 55 ปี แต่ผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ก็มีความเสี่ยงในระดับหนึ่งเช่นกัน

นอกจากนี้ก็มักจะพบอีกว่ามะเร็งเต้านมมักจะเกิดกับเต้านมข้างซ้ายมากกว่าเต้านมข้างขวา ส่วนการเกิดมะเร็งเต้านมทั้งสองข้างพบได้น้อยมาก ยกเว้นผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดที่สามารถถ่ายทอดได้ จะมีอัตราการเกิดสูงถึง 40 – 80 เปอร์เซ็นต์ โดย 

มะเร็งเต้านมก็มีหลายชนิด แต่ที่พบมากที่สุดก็คือ ductal carcinoma โดยเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงในระดับปานกลาง และพบได้มากถึงร้อยละ 80-90 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามโรคมะเร็งเต้านมสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการคลำหาก้อนมะเร็งหรือตรวจประจำปีกับแพทย์ ดังนั้นจึงควรตรวจอยู่เสมอ เพื่อจะได้พบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและสามารถทำการรักษาได้ทัน

ชนิดมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม แบ่งออกเป็นชนิดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. มะเร็งเต้านมระยะที่ยังไม่ลุกลาม เช่น มะเร็งในท่อน้ำนมหรือมะเร็งต่อมน้ำนม ซึ่งเป็นมะเร็งที่อยู่ในระยะที่ยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่ออื่น ๆ ของเต้านม

2. มะเร็งเต้านมระยะลุกลามของเต้านม เป็นมะเร็งที่อยู่ในระยะที่กำลังลุกลามออกจากเยื่อหุ้มท่อนม หรืออาจเกิดการกระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ได้แก่

2.1 มะเร็งเต้านมระยะลุกลามของท่อน้ำนม เป็นชนิดที่มักพบได้มากที่สุดในอัตราส่วน 8 ใน 10 ของ มะเร็งเต้านม ทุกชนิด โดยมะเร็งชนิดนี้จะเริ่มลุกลามจากท่อนมกระจายไปยังรอบ ๆ เนื้อนมหรืออาจลุกลามเข้าสู่หลอดเลือดหลอดน้ำเหลือง

2.2 มะเร็งเต้านมระยะลุกลามของต่อมน้ำนม จะเกิดขึ้นที่ต่อมนมแล้วลุกลามออกจากเยื่อหุ้มต่อมนมไปยังเนื้อของเต้านม หรืออาจเกิดการกระจายตัวเข้าสู่หลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง เมื่อเทียบกับมะเร็งเต้านมทุกชนิดจะมีโอกาสพบมะเร็งชนิดนี้ประมาณ 1 ใน 10

3. มะเร็งเต้านมชนิดลุกลามอื่น ๆ ที่ไม่ค่อยจะได้พบมากนักยังมีอยู่อีกหลายชนิด ได้แก่

3.1 มะเร็งเต้านมชนิดอักเสบ เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ ทั้งหมดจะพบมะเร็งชนิดนี้ประมาณร้อยละ 1 – 3 เช่นเดียวกันกับเต้านมอักเสบ โดยจะมีอาการเต้านมแข็ง ผิวหนังส่วนที่ปกคลุมเต้านมจะมีลักษณะบวมหนาและมีรูบุ๋มลงไป มักลุกลามเข้าสู่หลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง 

3.2 มะเร็งเต้านมชนิดผสมผสาน เป็นชนิดที่ผสมปนเปกันหลายอย่าง มีวิธีการรักษาเช่นเดียวกันกับ มะเร็งระยะลุกลามของท่อน

3.3 มะเร็งเต้านมชนิดที่มีเซลล์มะเร็งแบบพิเศษ และมีเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายร่วมด้วย เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นจะมีโอกาสพบมะเร็งชนิดนี้ประมาณร้อยละ 3 – 5

3.4 มะเร็งเต้านมชนิดมีมูก เป็นชนิดที่มีโอกาสพบได้ค่อนข้างน้อย เป็นมะเร็งของเซลล์ในเต้านมซึ่งสร้างมูก และมักมีการพยากรณ์ของโรคดีกว่า มะเร็งเต้านม ชนิดลุกลามอื่นๆ

3.5 มะเร็งหัวนม เมื่อเทียบกับมะเร็งเต้านมทั้งหมดจะเป็นชนิดที่พบได้ร้อยละ 1 จะเกิดขึ้นที่บริเวณท่อน้ำนม ลามมาที่หัวนมและลานนม จะมีลักษณะเป็นสะเก็ดและจะมีน้ำเหลืองหรือเลือดซึมออกมาด้วย และตรงที่เป็นมักเป็นสีแดง หลายคนจึงอาจเข้าใจว่าเป็นโรคผิวหนังส่งผลให้การรักษาเป็นไปค่อนข้างช้า

3.6 มะเร็งของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ไขมันในเต้านม เป็นชนิดที่พบได้น้อยและต้องใช้วิธีผ่าตัดในการรักษาเท่านั้น

3.7 มะเร็งของเส้นเลือดในเต้านม เป็นชนิดที่มีโอกาสพบได้น้อยที่สุด เป็นภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดขึ้นหลังจากใช้วิธีฉายแสงในการรักษามะเร็งเต้านม 5-10 ปี

ระยะมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม ระยะที่ 0 ( มีโอกาสรอด 100 % )

พบเจอก้อนเนื้อหรือเซลล์มะเร็ง แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังเต้านม และส่วนอื่น ๆ สามารถวินิจฉัยได้โดยการตัดชิ้นเนื้อ หรือเจาะดูดน้ำมาตรวจในห้องปฏิบัติการ

มะเร็งเต้านม ระยะที่ 1 ( มีโอกาสรอด 100 % )

เริ่มมีอาการลุกลามบ้าง แต่ที่เห็นได้ชัดคือก้อนมะเร็งบริเวณเต้านมจะใหญ่ขึ้น 1-2 เซนติเมตร แต่ยังไม่ได้แพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ เช่นเดียวกับระยะที่ 0   

มะเร็งเต้านม ระยะที่ 2 ( มีโอกาสรอด 81 – 92 % )

แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 2A และ 2B มีความแตกต่างกันคือ

• มะเร็งเต้านมกรณี 2A จะไม่พบก้อนมะเร็งเนื่องจากมีขนาดเล็กมาก แต่เริ่มพบการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองขณะเดียวกัน หากพบก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ 5-6 เซนติเมตร จะไม่พบการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง

• มะเร็งเต้านมกรณี 2B พบก้อนมะเร็งมีขนาดมากกว่า 2 เซนติเมตร ที่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้บ้างส่วน ขณะเดียวกัน หากพบก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ 5-6 เซนติเมตร จะไม่พบการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งเต้านม ระยะที่ 3 ( มีโอกาสรอด 54 – 67 % )

แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 3A และ 3B มีความแตกต่างกันคือ

• มะเร็งเต้านมกรณี 3A จะไม่พบก้อนมะเร็งเนื่องจากมีขนาดเล็กมาก แต่บางทีก็อาจจะพบก้อนเนื้อที่มีขนาดตั้งแต่ 2-5 เซนติเมตร มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้มากยิ่งขึ้นหรือลงลึกไปแล้ว

• มะเร็งเต้านมกรณี 3B พบก้อนมะเร็งทุกขนาดเริ่มทะลุออกมาทางผิวหนัง จากการตรวจสอบพบว่ามีการกระจายตัวไปยังต่อมน้ำเหลือง แต่ยังไม่กระจายตัวไปยังที่อื่น

มะเร็งเต้านม ระยะที่ 4 หรือ ระยะสุดท้าย ( มีโอกาสรอด 20 % )

เชื้อมะเร็งมีการแพร่กระจายอย่างรุนแรงและได้ไกล เช่น กระดูก ปอด ตับ สมอง เป็นต้น

การป้องกัน มะเร็งเต้านม

เพื่อป้องกันการป่วยด้วยมะเร็งเต้านม สามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ควรรีบแต่งงานและมีบุตรก่อนอายุ 30 ปี
  • เมื่อมีบุตร ควรให้นมบุตรมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป
  • เมื่อมีบุตรจนพอใจแล้ว ควรทำหมันจะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้
  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์     
  • ไม่รับประทานอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะของทอด
  • หากต้องใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนในช่วงวัยทอง ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
  • ห้ามเครียดจนเกินไป เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกเครียด ให้รีบหากิจกรรมคลายเครียดทำ
  • พยายามนอนหลับในที่มืดสนิท เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินออกมา จากการศึกษาของแพทย์พบว่า หากเมลาโทนินในร่างกายลดลง มีความเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม
  • หากพบว่าในร่างกายมียีนกลายพันธุ์ BRCA1 หรือ BRCA2 ควรปรึกษาแพทย์ในการรับยาป้องกันโรคมะเร็งเต้านมเบื้องต้น
  • หมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำทุกเดือน
  • ในคนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี และเมื่ออายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเมมโมแกรมทุก 1-2 ปี
  • การดูแลเต้านมจะต้องให้ความใส่ใจในการรักษามากเป็นพิเศษ เพราะเต้านมเป็นอวัยวะที่สำคัญของผู้หญิงและเป็นส่วนที่ทำให้รูปร่างสรีระดูสวยงามยิ่งขึ้น ดังนั้นการรักษาจึงต้องเลือกวิธีที่จะทำให้เต้านมยังคงรูปสวยไว้มากที่สุด

โดยในปัจจุบัน กรณีที่ป่วยเป็น มะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกนั้น แพทย์มักจะทำการผ่าตัดด้วยเทคนิคการศัลยกรรมตกแต่งและดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด   นอกจากผู้หญิง ผู้ชายก็สามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้อีกด้วย แต่มีโอกาสพบน้อยมาก ดังนั้นในด้านการวินิจฉัย การสังเกตอาการและการรักษา จึงยึดเอาตามแบบมะเร็งเต้านมของผู้หญิงเป็นหลัก

การรักษา มะเร็งเต้านม

1. การผ่าตัด มะเร็งเต้านม จะต้องได้รับความเห็นชอบทั้งจากแพทย์และผู้ป่วยร่วมกัน และการผ่าตัดจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่มะเร็งมีขนาดใหญ่และเริ่มมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ถ้ารุนแรงมากก็อาจจะต้องตัดเต้านมทิ้ง แต่เนื่องจากวิวัฒนาทางการแพทย์ดีขึ้น จึงทำให้เจอโรคมะเร็งเต้านมเร็วขึ้นกว่าเดิม ผู้ป่วยร้อยละ 60-75 สามารถผ่าตัดโดยการเลาะเอาชื้นเนื้อและพื้นที่รอบ ๆ ออกก็เพียงพอแล้ว

2. การฉายแสง มะเร็งเต้านม วิธีนี้จะใช้รักษาก็ต่อเมื่อเชื้อมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง เมื่อทำการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อออกแล้ว แพทย์จะต้องตัดเอาต่อมน้ำเหลืองไปตรวจทางพยาธิวิทยาว่ามีการแพร่กระจายเชื้อมาถึงแล้วหรือไม่

3. การทำเคมีบำบัด มะเร็งเต้านม จะใช้การรักษาวิธีนี้ก็ต่อเมื่อเชื้อมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ไกล เช่น ปอด สมอง กระดูก เป็นต้น

4. การทำฮอร์โมนบำบัด มะเร็งเต้านม วิธีรักษาโดยฮอร์โมนบำบัด มักจะถูกนำมาใช้ร่วมกับการผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด ไม่นิยมนำมารักษาเป็นวิธีเดียว ยกเว้นแต่ผู้ป่วยจะเป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีใดเลย แต่ถึงกระนั้นก็ใช้ได้เฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมนเท่านั้น ซึ่งจะตรวจพบตัวรับนี้ได้จากชิ้นเนื้อมะเร็งเต้านมที่ถูกตัดออกไป ผู้ที่มีตัวรับฮอร์โมนมีแนวโน้มที่จะหายมากกว่าผู้ที่ไม่มี เนื่องจากเชื้อมะเร็งจะไม่ค่อยดื้อต่อการรักษา

5. การทำภูมิต้านทานบำบัด มะเร็งเต้านม วิธีนี้เป็นการใช้ภูมิต้านทานทั้งภายในและภายนอกมากำจัดเซลล์เต้านมอาจนำมาใช้ในกรณีที่มะเร็งมักใช้เมื่อมียีนกลายพันธุ์ในร่างกาย ทำให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดและฮอร์โมนบำบัดไม่ได้ผล

ในกระบวนการรักษา ช่วงปีแรก ควรมาพบแพทย์ทุก 3 เดือนเพื่อติดตามผล เมื่อเข้าสู่ปีที่สอง ก็ค่อยทิ้งระยะห่างเป็น 4 เดือน และปีต่อ ๆ ไปให้มาพบแพทย์ทุก 6 เดือน เมื่อพ้นไปแล้ว 5 ปี ก็อาจจะให้เหลือแค่ปีละ 1 ครั้งก็ได้ โดยแพทย์จะทำการตรวจร่างกายตามหลักปกติ และถ้าหากเกิดข้อสงสัยว่าจะมีมะเร็งกลับขึ้นมาใหม่ หรือเกิดขึ้นกับอีกข้าง ก็จะใช้วิธีตรวจแบบแมมโมแกรม หรือเอกซเรย์อวัยวะต่าง ๆ เหมือนเดิม   ขณะเดียวกัน แพทย์อาจจะทำการตรวจเรื่องโลหิตจาง ตรวจตับ รวมถึงตรวจเอนไซม์ของกระดูก ( Alkaline Phosphatase ) เพื่อดูว่ามีเชื้อมะเร็งแพร่กระจายมายังกระดูกบ้างหรือไม่ ในกรณีที่คุณได้รับฮอร์โมนบำบัดทาม็อกซิเฟน ( Tamoxifen ) แล้วพบว่ามีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด แพทย์ก็อาจจะต้องเก็บชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูกไปตรวจหามะเร็งต่อไป

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ขอบคุณคลิปความรู้จาก : หมอปุ้ม พญ. สิรนาถ สุขภาพดี คุณมีได้

Cowell, Sakr, R.A., et al. (2013). Progression from ductal carcinoma in situ to invasive breast cancer: revisited. Molecular Oncology.