มะเขือขื่น ยาบำรุงร่างกาย ขับเสมหะ แก้อาการปวด

มะเขือขื่น ยาบำรุงร่างกาย ขับเสมหะ แก้อาการปวด
มะเขือขื่น เป็นไม้ล้มลุก มีดอกสีม่วงและผลสุกเป็นสีเหลืองสด เปลือกเหนียว รสขื่น ช่วยลดความเค็มในอาหาร
มะเขือขื่น ยาบำรุงร่างกาย ขับเสมหะ แก้อาการปวด
มะเขือขื่น เป็นไม้ล้มลุก มีดอกสีม่วงและผลสุกเป็นสีเหลืองสด เปลือกเหนียว รสขื่น ช่วยลดความเค็มในอาหาร

มะเขือขื่น

มะเขือขื่น (Cock roach berry) เป็นพืชวงศ์มะเขือชนิดหนึ่ง มีดอกสีม่วงและผลสุกเป็นสีเหลืองสด ซึ่งมีรสขื่นทำให้ช่วยลดความเค็มในอาหารได้ คนไทยจึงนิยมนำผลมะเขือขื่นที่แก่แล้วมาใช้ปรุงเป็นอาหารเฉพาะส่วนเปลือกและเนื้อเท่านั้น ภาคกลางจะใช้เนื้อนำมาทำแกง มีความเชื่อกันว่ามะเขือขื่นทำให้มีความรู้สึกทางเพศสูง ส่วนในหญิงตั้งครรภ์นั้นจะเชื่อว่าทำให้ครรภ์โตมากและคลอดบุตรได้ยาก มะเขือขื่นเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรและมีคุณค่าทางโภชนาการด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะเขือขื่น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum aculeatissimum Jacq.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Cock roach berry” “Dutch eggplant” “Indian Nightshade”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “มะเขือขันคำ มะเขือคำ มะเขือคางกบ มะเขือแจ้ มะเขือเหลือง” ภาคใต้เรียกว่า “เขือหิน” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “มะเขือแจ้ดิน มะเขือเปราะ มะเขือเสวย” จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า “เขือเพา” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “มังคิเก่”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)
ชื่อพ้อง : Solanum cavaleriei H. Lév. & Vaniot, Solanum khasianum C.B. Clarke

ลักษณะของมะเขือขื่น

มะเขือขื่น เป็นไม้ล้มลุกกึ่งไม้พุ่มขนาดเล็กที่คาดว่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย มักจะพบขึ้นตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ป่าเปิด ป่าละเมิดและทุ่งหญ้า
ลำต้น : ตามลำต้นมีหนามสั้น ลำต้นและกิ่งก้านเป็นรูปทรงกระบอกตั้งตรง มีสีม่วงทั้งลำต้น กิ่งก้านและใบมีขนอ่อนละเอียดขึ้นอยู่ทั่วไปและยังพบขนชนิดมีต่อม มีขนสั้นปกคลุมทั้งลำต้น มีหนามตรงหรือโค้ง โคนต้นแก่มีเนื้อไม้แข็ง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของแผ่นใบมีหลายรูปร่าง แผ่นใบรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบเป็นรูปหัวใจ ฐานใบทั้งสองด้านจะเยื้องกันเล็กน้อย ขอบใบหยักเว้าเป็นพูตื้นประมาณ 5 – 7 พู หลังใบเป็นสีเขียว ส่วนท้องใบเรียบเป็นมัน แผ่นใบมีขนรูปดาวทั้งสองด้าน มีหนามแหลมตามเส้นกลางใบ ก้านใบอ้วนสั้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อสั้นแบบช่อกระจะ มีดอกย่อยประมาณ 4 – 6 ดอก หรือออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ กลีบดอกมี 5 กลีบเป็นสีม่วง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยสั้น ส่วนปลายแยกเป็น 5 แฉก ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปหอก กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ติดอยู่จนติดผล แต่ละแฉกเป็นรูปหอกแกมรูปขอบขนาน วงกลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูประฆัง ดอกมีเกสรสีเหลือง 5 อัน อับเรณูเป็นรูปหอกเรียวแหลม รังไข่เกลี้ยง มักจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผิวผลเรียบเป็นมัน เปลือกเหนียว ผลอ่อนผิวจะเรียบลื่นเป็นสีเขียวเข้มและมีลายขาวแทรก เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีเหลืองสด ชั้นเนื้อผลบางและมีสีเขียวอ่อนอมสีเหลืองใส มีกลิ่นเฉพาะ มีรสขื่น
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปกลมแบนขนาดเล็กสีน้ำตาลอ่อน มักจะติดผลช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม

สรรพคุณของมะเขือขื่น

  • สรรพคุณจากมะเขือขื่น ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหาร ช่วยแก้อาการปวดบวมและปวดหลัง แก้ฟกช้ำดำเขียว เป็นยาขับน้ำชื้น
  • สรรพคุณจากผล เป็นยาบำรุงร่างกาย เป็นยากัดเสมหะ
    – ช่วยขับลมชื้น แก้อาการปวดข้อเนื่องจากลมชื้นติดเกาะ แก้ไขข้ออักเสบ แก้มือเท้าชา ด้วยการนำผลสดประมาณ 70 – 100 กรัมมาตุ๋นกับไตหมูรับประทาน
  • สรรพคุณจากรากและผล เป็นยาแก้ไข้สันนิบาต เป็นยาแก้ไอ ช่วยแก้น้ำลายเหนียว
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาขับเสมหะและน้ำลาย ช่วยล้างเสมหะในลำคอและทำให้น้ำลายน้อยลง ทำให้น้ำลายแห้ง
    – แก้ไข้ที่มีพิษร้อน ช่วยกระทุ้งพิษไข้ โดยตำรายาไทยนำรากเป็นยา
    – แก้อาการปวดฟัน ด้วยการนำราก 15 กรัม มาต้มเอาน้ำอมในปาก
    – แก้เด็กเป็นโรคซางหรือชัก ด้วยการนำรากมาฝนเป็นกระสายยา
    – แก้กามตายด้านและบำรุงความกำหนัด ด้วยการนำรากมาปรุงร่วมกับยาอื่น
    – เป็นยาแก้อัณฑะอักเสบ ด้วยการนำราก 15 กรัมผสมกับหญ้าแซ่ม้า 15 กรัม และต้นทิ้งถ่อน นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน
  • สรรพคุณจากใบสด
    – แก้พิษ แก้ฝีหนอง ด้วยการนำใบสดมาตำพอก
  • สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยารักษามะเร็งเพลิง
  • สรรพคุณจากเนื้อผล
    – เป็นยาหยอดตา แก้พยาธิในตา ด้วยการนำมะเขือขื่นสีเขียวมาคั้นเอาแต่น้ำใช้

ประโยชน์ของมะเขือขื่น

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร คนไทยนำผลที่แก่แล้วมาใช้ปรุงเป็นอาหารซึ่งจะใช้เฉพาะส่วนเปลือกและเนื้อเท่านั้น มีการนำมากินเป็นผักจิ้มร่วมกับน้ำพริกหรือปลาร้า บางครั้งใช้เนื้อผลในการปรุงเครื่องจิ้มหรือจะนำมาใช้ปรุงรสอาหารบางชนิด ทำการฝานเปลือกจะช่วยลดความเค็มของปลาร้า ภาคกลางจะใช้เนื้อมาทำแกง เช่น แกงส้มมะเขือขื่น ส่วนชาวล้านนาจะใช้ผลอ่อนนำมารับประทานทั้งผล ใช้ใส่ในน้ำพริกอี่เก๋หรือน้ำพริกบ่าเขือแจ้
2. เป็นส่วนประกอบของยา มะเขือขื่นมีสารอัลคาลอยด์ต่าง ๆ ในทางเภสัชกรรมล้านนาจึงใช้ในตำรับยาบำรุงกำลัง ยาเสลด ยายางเหลืองมักเป็นขางเขี้ยนขาว ยาแก้ไอ ขับเสมหะ แก้อาเจียน รักษาแผลเป็นหนองและหืด ชนบททางภาคกลางในไทยจะใช้ใบปรุงเป็นยาร่วมกับใบสมุนไพรชนิดอื่น

คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือขื่น ต่อ 100 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือขื่น ต่อ 100 กรัม ให้วิตามินซี 63 มิลลิกรัม แคลเซียม 55 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม

มะเขือขื่น เป็นมะเขือที่นิยมชนิดหนึ่งในการนำมาปรุงรสอาหารหรือเป็นส่วนประกอบในอาหารหลากหลายเมนู อีกทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นยาสมุนไพรในหลายตำรับยา มะเขือขื่นมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้อัณฑะอักเสบ บำรุงร่างกาย ขับเสมหะและน้ำลาย ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหารได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะเขือขื่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [03 ก.ย. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 237 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า. (เดชา ศิริภัทร). “มะเขือขื่น : ความเขียวขื่นที่เปี่ยมรสชาติและคุณประโยชน์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [03 ก.ย. 2014].
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “มะเขือขื่น (Ma Khuea Kuen)”. หน้า 215.
ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “มะเขือขื่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaibiodiversity.org. [03 ก.ย. 2014].
อาหารพื้นบ้านล้านนา, สำนักหอสมุด และสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “มะเขือขื่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/. [03 ก.ย. 2014].
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “มะเขือขื่น”. หน้า 430.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/