มะเขือขื่น ยาบำรุงร่างกาย ขับเสมหะ แก้อาการปวด
มะเขือขื่น เป็นไม้ล้มลุก มีดอกสีม่วงและผลสุกเป็นสีเหลืองสด เปลือกเหนียว รสขื่น ช่วยลดความเค็มในอาหาร

มะเขือขื่น

มะเขือขื่น (Cock roach berry) เป็นพืชวงศ์มะเขือชนิดหนึ่ง มีดอกสีม่วงและผลสุกเป็นสีเหลืองสด ซึ่งมีรสขื่นทำให้ช่วยลดความเค็มในอาหารได้ คนไทยจึงนิยมนำผลมะเขือขื่นที่แก่แล้วมาใช้ปรุงเป็นอาหารเฉพาะส่วนเปลือกและเนื้อเท่านั้น ภาคกลางจะใช้เนื้อนำมาทำแกง มีความเชื่อกันว่ามะเขือขื่นทำให้มีความรู้สึกทางเพศสูง ส่วนในหญิงตั้งครรภ์นั้นจะเชื่อว่าทำให้ครรภ์โตมากและคลอดบุตรได้ยาก มะเขือขื่นเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรและมีคุณค่าทางโภชนาการด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะเขือขื่น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum aculeatissimum Jacq.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Cock roach berry” “Dutch eggplant” “Indian Nightshade”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “มะเขือขันคำ มะเขือคำ มะเขือคางกบ มะเขือแจ้ มะเขือเหลือง” ภาคใต้เรียกว่า “เขือหิน” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “มะเขือแจ้ดิน มะเขือเปราะ มะเขือเสวย” จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า “เขือเพา” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “มังคิเก่”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)
ชื่อพ้อง : Solanum cavaleriei H. Lév. & Vaniot, Solanum khasianum C.B. Clarke

ลักษณะของมะเขือขื่น

มะเขือขื่น เป็นไม้ล้มลุกกึ่งไม้พุ่มขนาดเล็กที่คาดว่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย มักจะพบขึ้นตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ป่าเปิด ป่าละเมิดและทุ่งหญ้า
ลำต้น : ตามลำต้นมีหนามสั้น ลำต้นและกิ่งก้านเป็นรูปทรงกระบอกตั้งตรง มีสีม่วงทั้งลำต้น กิ่งก้านและใบมีขนอ่อนละเอียดขึ้นอยู่ทั่วไปและยังพบขนชนิดมีต่อม มีขนสั้นปกคลุมทั้งลำต้น มีหนามตรงหรือโค้ง โคนต้นแก่มีเนื้อไม้แข็ง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของแผ่นใบมีหลายรูปร่าง แผ่นใบรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบเป็นรูปหัวใจ ฐานใบทั้งสองด้านจะเยื้องกันเล็กน้อย ขอบใบหยักเว้าเป็นพูตื้นประมาณ 5 – 7 พู หลังใบเป็นสีเขียว ส่วนท้องใบเรียบเป็นมัน แผ่นใบมีขนรูปดาวทั้งสองด้าน มีหนามแหลมตามเส้นกลางใบ ก้านใบอ้วนสั้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อสั้นแบบช่อกระจะ มีดอกย่อยประมาณ 4 – 6 ดอก หรือออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ กลีบดอกมี 5 กลีบเป็นสีม่วง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยสั้น ส่วนปลายแยกเป็น 5 แฉก ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปหอก กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ติดอยู่จนติดผล แต่ละแฉกเป็นรูปหอกแกมรูปขอบขนาน วงกลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูประฆัง ดอกมีเกสรสีเหลือง 5 อัน อับเรณูเป็นรูปหอกเรียวแหลม รังไข่เกลี้ยง มักจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผิวผลเรียบเป็นมัน เปลือกเหนียว ผลอ่อนผิวจะเรียบลื่นเป็นสีเขียวเข้มและมีลายขาวแทรก เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีเหลืองสด ชั้นเนื้อผลบางและมีสีเขียวอ่อนอมสีเหลืองใส มีกลิ่นเฉพาะ มีรสขื่น
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปกลมแบนขนาดเล็กสีน้ำตาลอ่อน มักจะติดผลช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม

สรรพคุณของมะเขือขื่น

  • สรรพคุณจากมะเขือขื่น ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหาร ช่วยแก้อาการปวดบวมและปวดหลัง แก้ฟกช้ำดำเขียว เป็นยาขับน้ำชื้น
  • สรรพคุณจากผล เป็นยาบำรุงร่างกาย เป็นยากัดเสมหะ
    – ช่วยขับลมชื้น แก้อาการปวดข้อเนื่องจากลมชื้นติดเกาะ แก้ไขข้ออักเสบ แก้มือเท้าชา ด้วยการนำผลสดประมาณ 70 – 100 กรัมมาตุ๋นกับไตหมูรับประทาน
  • สรรพคุณจากรากและผล เป็นยาแก้ไข้สันนิบาต เป็นยาแก้ไอ ช่วยแก้น้ำลายเหนียว
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาขับเสมหะและน้ำลาย ช่วยล้างเสมหะในลำคอและทำให้น้ำลายน้อยลง ทำให้น้ำลายแห้ง
    – แก้ไข้ที่มีพิษร้อน ช่วยกระทุ้งพิษไข้ โดยตำรายาไทยนำรากเป็นยา
    – แก้อาการปวดฟัน ด้วยการนำราก 15 กรัม มาต้มเอาน้ำอมในปาก
    – แก้เด็กเป็นโรคซางหรือชัก ด้วยการนำรากมาฝนเป็นกระสายยา
    – แก้กามตายด้านและบำรุงความกำหนัด ด้วยการนำรากมาปรุงร่วมกับยาอื่น
    – เป็นยาแก้อัณฑะอักเสบ ด้วยการนำราก 15 กรัมผสมกับหญ้าแซ่ม้า 15 กรัม และต้นทิ้งถ่อน นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน
  • สรรพคุณจากใบสด
    – แก้พิษ แก้ฝีหนอง ด้วยการนำใบสดมาตำพอก
  • สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยารักษามะเร็งเพลิง
  • สรรพคุณจากเนื้อผล
    – เป็นยาหยอดตา แก้พยาธิในตา ด้วยการนำมะเขือขื่นสีเขียวมาคั้นเอาแต่น้ำใช้

ประโยชน์ของมะเขือขื่น

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร คนไทยนำผลที่แก่แล้วมาใช้ปรุงเป็นอาหารซึ่งจะใช้เฉพาะส่วนเปลือกและเนื้อเท่านั้น มีการนำมากินเป็นผักจิ้มร่วมกับน้ำพริกหรือปลาร้า บางครั้งใช้เนื้อผลในการปรุงเครื่องจิ้มหรือจะนำมาใช้ปรุงรสอาหารบางชนิด ทำการฝานเปลือกจะช่วยลดความเค็มของปลาร้า ภาคกลางจะใช้เนื้อมาทำแกง เช่น แกงส้มมะเขือขื่น ส่วนชาวล้านนาจะใช้ผลอ่อนนำมารับประทานทั้งผล ใช้ใส่ในน้ำพริกอี่เก๋หรือน้ำพริกบ่าเขือแจ้
2. เป็นส่วนประกอบของยา มะเขือขื่นมีสารอัลคาลอยด์ต่าง ๆ ในทางเภสัชกรรมล้านนาจึงใช้ในตำรับยาบำรุงกำลัง ยาเสลด ยายางเหลืองมักเป็นขางเขี้ยนขาว ยาแก้ไอ ขับเสมหะ แก้อาเจียน รักษาแผลเป็นหนองและหืด ชนบททางภาคกลางในไทยจะใช้ใบปรุงเป็นยาร่วมกับใบสมุนไพรชนิดอื่น

คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือขื่น ต่อ 100 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือขื่น ต่อ 100 กรัม ให้วิตามินซี 63 มิลลิกรัม แคลเซียม 55 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม

มะเขือขื่น เป็นมะเขือที่นิยมชนิดหนึ่งในการนำมาปรุงรสอาหารหรือเป็นส่วนประกอบในอาหารหลากหลายเมนู อีกทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นยาสมุนไพรในหลายตำรับยา มะเขือขื่นมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้อัณฑะอักเสบ บำรุงร่างกาย ขับเสมหะและน้ำลาย ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหารได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะเขือขื่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [03 ก.ย. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 237 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า. (เดชา ศิริภัทร). “มะเขือขื่น : ความเขียวขื่นที่เปี่ยมรสชาติและคุณประโยชน์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [03 ก.ย. 2014].
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “มะเขือขื่น (Ma Khuea Kuen)”. หน้า 215.
ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “มะเขือขื่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaibiodiversity.org. [03 ก.ย. 2014].
อาหารพื้นบ้านล้านนา, สำนักหอสมุด และสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “มะเขือขื่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/. [03 ก.ย. 2014].
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “มะเขือขื่น”. หน้า 430.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/