อุตพิต ดอกมีกลิ่นเหม็นเหมือนอุจจาระ ยางมีพิษแต่มากสรรพคุณ
อุตพิต หรือบอนแบ้ว เป็นไม้ล้มลุกมีหัวขนาดเล็กอยู่ใต้ดิน ดอกเป็นสีเลือดนกปนสีน้ำตาลหรือสีแดงเข้ม กลิ่นเหม็น

อุตพิต

อุตพิต (Typhonium trilobatum) เป็นไม้ล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย สามารถพบได้ทุกภาคของประเทศไทยซึ่งชาวเชียงใหม่เรียกกันว่า “บอนแบ้ว” เป็นต้นที่มีดอกแทงออกมาจากใต้ดินเป็นสีเลือดนกปนสีน้ำตาลหรือสีแดงเข้มทำให้ดูสวยงามและโดดเด่น แต่เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีกลิ่นเหม็นคล้ายอุจจาระ จึงไม่นิยมนำมาปลูกตามบ้านทั่วไปจนคนอีสานเรียกกันว่า “ว่านขี้” แต่ว่าอุตพิตเป็นยาสมุนไพรที่ชาวอินโดนีเซีย บังกลาเทศและตำรายาพื้นบ้านใช้ในการรักษาได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของอุตพิต

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Typhonium trilobatum (L.) Schott
ชื่อท้องถิ่น : ภาคอีสานเรียกว่า “ขี้ผู้เฒ่า” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “บอนแบ้ว” จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “มะโหรา” คนไทยเรียกว่า “อุตพิษ อุตตพิษ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บอน (ARACEAE)

ลักษณะของอุตพิต

อุตพิต เป็นไม้ล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย มักจะพบขึ้นทั่วไปตามที่ร่มเย็น สามารถพบได้ทุกภาคในประเทศไทย
หัว : หัวขนาดเล็กอยู่ใต้ดิน เมื่อถึงฤดูฝนก็จะงอกขึ้นมาใหม่ ลักษณะของหัวค่อนข้างกลมหรือแป้นเล็กน้อย ในหัวเป็นสีขาวหรือสีนวล มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นวงบริเวณผิวดิน แผ่นใบแผ่ย่นเป็นลอนเล็กน้อย ใบเป็นรูปไข่ปลายแหลมหรือเป็นรูปลูกศรแกมรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าแบ่งออกเป็นแฉก 3 แฉก โคนใบเว้าลึกเข้าหาก้านใบ แผ่นใบเป็นสีเขียวมัน มีลายหรือมีจุดประสีม่วงขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของพื้นที่ ก้านใบจะเป็นสีน้ำตาลอมแดงหรือเป็นสีแดงอมม่วง บางพันธุ์จะมีลายเป็นประจุดต่าง ๆ ทั่วทั้งก้านคล้ายกับก้านต้นบุก
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแทงมาจากหัวใต้ดินขึ้นมาเป็นแท่งยาว ก้านช่อดอกเป็นสีเลือดนกปนสีน้ำตาลหรือสีแดงเข้ม กาบมีสีแดงเข้ม เมื่อดอกบานแล้วจะเห็นดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีขาว ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่ในช่อเดียวกัน โดยดอกเพศเมียจะอยู่ตรงโคนแท่ง เหนือดอกเพศเมียเป็นดอกฝ่อสีขาว ถัดไปเป็นที่ว่าง เหนือที่ว่างจะเป็นดอกเพศผู้สีชมพู เมื่อดอกบานเต็มที่ดอกจะมีกลิ่นเหม็นคล้ายอาจมหรืออุจจาระ พบขึ้นเป็นกลุ่มจำนวนมากทำให้เวลามีดอกจะส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่วบริเวณใกล้เคียง มักจะออกดอกในช่วงฤดูฝนและดอกจะบานในช่วงเย็น
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปขอบขนาน ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

สรรพคุณของอุตพิต

  • สรรพคุณจากหัว เป็นยาแก้ไอ แก้หอบหืดและวิงเวียน
    – เป็นยาแก้อาการแข็งเป็นลำในท้อง ด้วยการนำหัวมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – เป็นยากัดฝ้าหนองและสมานแผล ด้วยการนำหัวมาหุงเป็นน้ำมันใส่แผลและใช้ปิ้งกับไฟกิน
  • สรรพคุณจากราก เป็นยากระตุ้น เป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวาร เป็นยาทาภายนอกและกินรักษาพิษงูกัด
    – รักษาโรคปวดท้อง ด้วยการนำรากมากินกับกล้วย
  • สรรพคุณจากใบ แก้โรคเกี่ยวกับความผิดปกติในลำไส้ แก้ท้องเสีย แก้ลำไส้อักเสบ แก้บิดมีตัว
    – ทำให้หัวฝีหลุด โดยตำรายาพื้นบ้านนำใบ ใบหญ้าขัดมอนและข้าวสวยอย่างละเท่ากันมาหมกกับไฟให้สุกแล้วนำมาตำรวมกัน ใช้เป็นยาพอกที่ปากฝี ทำให้หัวฝีหลุดออกภายใน 1 คืน
    – บรรเทาแผลน้ำร้อนลวก ด้วยการนำใบมาอังกับไฟนำมาประคบแผล

ประโยชน์ของอุตพิต

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและก้านใบเมื่อนำมาเผาไฟแล้วสามารถนำไปทำแกงกะทิได้ กาบใบนำมาหั่นให้เป็นฝอยละเอียดใช้ดองกินเป็นผักหรือเครื่องเคียงได้ ก้านใบนำมาลอกเปลือกออกใช้ทำแกงส้มแบบเดียวกับแกงบอนหรือนำไปทำแกงคั่วก็ได้ หัวนำมาปิ้งไฟกินได้
2. ใช้ในการเกษตร ใบเป็นอาหารสำหรับการเลี้ยงสัตว์
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ ในต่างประเทศมีการซื้อขายเพื่อนำไปปลูกเป็นไม้ประดับ

วิธีการทำแกงคั่วอุตพิต

1. เตรียมเครื่องกะปิ กระเทียม ขมิ้น ข่า ตะไคร้ พริก มะกรูดและเกลือ จากนั้นนำมาตำรวมกันให้ละเอียด
2. นำอุตพิตมาลอกเปลือกชั้นนอกออกล้างให้สะอาดแล้วหั่นให้เป็นฝอย จากนั้นนำไปคั่วให้แห้งสนิท
3. นำเครื่องแกงลงผัดกับน้ำกะทิให้หอมแล้วใส่อุตพิตลงไปผัดให้เข้ากัน ใส่ปลาย่างตามลงไปแล้วปรุงรส ใส่หัวกะทิตามลงไป ฉีกใบมะกรูดใส่ตามลงไปอีกที
4. ระหว่างแกงห้ามปิดฝาและห้ามเติมน้ำเพราะจะทำให้เกิดอาการคันได้

ข้อควรระวังในการใช้อุตพิต

1. ควรระวังอย่าให้โดนยางหรือของเหลวจากต้นเพราะจะทำให้เกิดอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อน อักเสบและพองเป็นตุ่มน้ำใส ถ้าหากเข้าตาก็อาจทำให้ตาบอดได้
2. ก่อนนำมารับประทานควรทำให้สุกเสียก่อน

อุตพิต เป็นต้นที่มีกาบหรือใบกลิ่นเหม็นแต่มีลักษณะและรูปร่างโดดเด่นเพราะดอกมีสีสัน ทว่าก็เป็นต้นที่มีพิษชนิดหนึ่งเช่นกัน โดยพิษจะมาจากของเหลวจากต้นซึ่งจะทำให้ระคายเคืองผิวหนังได้ อุตพิตสามารถนำมาใช้ทำแกงคั่วอุตพิตหรือใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารได้หลากหลาย และที่สำคัญยังเป็นยาสมุนไพรในตำรายาพื้นบ้านด้วย อุตพิตมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของหัวและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาโรคริดสีดวงทวาร แก้โรคเกี่ยวกับความผิดปกติในลำไส้ แก้ฝีและแก้ไอได้ เป็นต้นที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายเช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “อุตพิต”. หน้า 153.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “อุตพิต”. หน้า 844-845.
มูลนิธิสุขภาพไทย. “มุมมองใหม่ อุตพิดสรรพคุณหอม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaihof.org. [20 ก.ย. 2014].
หนังสือ Prosea ทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9 : พืชที่ให้คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่เมล็ด (พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ). “อุตพิด”. หน้า 257-258.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/