ว่านมหากาฬ เป็นยาเย็นในการดับพิษร้อน ดีต่อระบบไหลเวียนเลือด
ว่านมหากาฬ เป็นไม้ล้มลุก อวบน้ำ มีหัวอยู่ใต้ดิน ดอกสีส้มเหลืองและมีหนามขนาดเล็ก เป็นฝอยคล้ายดอกดาวเรือง

ว่านมหากาฬ

ว่านมหากาฬ (Gynura pseudochina) เป็นพืชในวงศ์ทานตะวันที่มีดอกเป็นสีส้มเหลืองและมีหนามขนาดเล็ก เป็นอาหารยอดนิยมของชาวลัวะในการนำมาประกอบอาหารและชาวเมี่ยนในการนำใบสดมาทานในรูปแบบของผัก นอกจากนั้นยังเป็นต้นไม้มงคลที่มีความเชื่อว่าว่านมหากาฬเป็นว่านที่มีอำนาจอีกด้วย แถมยังมีดอกสวยงามจนนำมาใช้เป็นไม้ปลูกประดับได้ ว่านมหากาฬมีรสขมและเป็นยาเย็นจึงนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของว่านมหากาฬ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gynura pseudochina (L.) DC.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ดาวเรือง” จังหวัดขอนแก่นและเลยเรียกว่า “คำโคก” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “ว่านมหากาฬ” จังหวัดเพชรบูรณ์และเพชรบุรีเรียกว่า “ผักกาดกบ” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “หนาดแห้ง” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “ผักกาดนกเขา” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “แจะออเมีย” ชาวม้งเรียกว่า “ชั่วจ่อ” ชาวลัวะเรียกว่า “เครือผักปั๋ง” จีนกลางเรียกว่า “หนิวเสอซันฉิ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
ชื่อพ้อง : Gynura bodinieri Levl.

ลักษณะของว่านมหากาฬ

ว่านมหากาฬ เป็นไม้ล้มลุกเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน มักจะพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ไม้ชนิดนี้มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด คือ สีเขียวล้วน สีแดงเข้มและสีแดงเรื่อ
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรงและอวบน้ำ มีหัวอยู่ใต้ดิน
ราก : รากเนื้อนิ่มอ่อน เปลือกรากเป็นสีเหลืองและฉ่ำน้ำ เนื้อในเป็นสีขาว ยอดอ่อนมีขนสีขาว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกกลับ ปลายใบมน โคนใบแหลม ขอบใบหยัก ใบแผ่ออกอยู่บนพื้นดิน แผ่นใบหนาและแข็ง ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มปนสีน้ำตาลอมม่วง เส้นใบเป็นสีเขียวอ่อนตัดกับสีพื้นใบ มีขนสั้นปกคลุมอยู่ทั่วไปและผิวใบด้านล่างเป็นสีเขียว ส่วนใบอ่อนเป็นสีม่วงแก่ ก้านใบสั้น เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีขาว
ดอก : ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอดซึ่งแทงขึ้นมาจากพื้นดิน ดอกย่อยเป็นสีส้มเหลืองมีหนามเล็ก เป็นรูปทรงกระบอก ลักษณะเป็นฝอยคล้ายดอกดาวเรือง
ผล : เป็นผลแห้งไม่แตก เมล็ดล่อนตรงปลายและมีขน

สรรพคุณของว่านมหากาฬ

  • สรรพคุณจากทั้งต้นและราก เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้เซื่องซึมระส่ำระสาย ทำให้เลือดเย็น ช่วยฟอกเลือด ออกฤทธิ์ต่อตับ แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นยาคลายเส้น
  • สรรพคุณจากหัว เป็นยาดับพิษร้อน แก้พิษกาฬ แก้พิษอักเสบ แก้พิษเซื่องซึม แก้ไข้ แก้กระสับกระส่าย แก้โรคบิด รักษาแผลอักเสบ รักษามดลูกของสตรี ช่วยแก้เริม
    – ช่วยขับประจำเดือน ด้วยการนำหัวมาบดให้เป็นผงชงกับชาให้สตรีหลังคลอดดื่ม
    – รักษาแผลพุพองและฝี ด้วยการนำหัวมาตำพอกหรือฝนกับน้ำปูนใสใช้ทาวันละ 3 – 4 ครั้ง
  • สรรพคุณจากรากและหัว
    แก้ไข้ โดยตำรายาไทยนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นต่างน้ำชา
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยขับระดูของสตรี
    – แก้เจ็บคอ ด้วยการนำใบมาคั้นเอาน้ำกินหรืออมกลั้วคอ
    – รักษางูสวัดหรือเริม ด้วยการนำใบสดประมาณ 5 – 6 ใบ มาล้างน้ำให้สะอาดแล้วตำในภาชนะที่สะอาด ใส่พิมเสนเล็กน้อยหรือใช้ใบโขลกผสมกับเหล้าใช้ทาหรือพอกบริเวณที่มีอาการ
    – พอกฝีหรือหัวลำมะลอก ด้วยการนำใบสดมาโขลกผสมกับเหล้าใช้เป็นยา
    – ช่วยถอนพิษและแก้อาการปวดแสบปวดร้อนจากสัตว์ที่มีพิษกัด ด้วยการนำใบสดมาตำพอกเป็นยา
    – บำรุงร่างกาย ช่วยบำรุงน้ำนมและบำรุงโลหิตของสตรีที่อยู่ไฟ โดยชาวเมี่ยนนำใบมาต้มใส่ไก่ใช้ทานเป็นยา
  • สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาแก้โรคไฟลามทุ่ง เป็นยาพอกเนื้องอกที่เต้านม บรรเทาอาการปวด แก้อาการบวม
    – ช่วยแก้เลือดกำเดา ด้วยการนำทั้งต้น รากบัวหลวงและหญ้าคาอย่างละ 15 กรัม มาต้มกับน้ำทานเป็นยาแห้ง
  • สรรพคุณจากใบ หัวและทั้งต้น เป็นยาห้ามเลือดจากบาดแผล
  • สรรพคุณจากต้น
    – รักษาฝีหรือฝีมีหนอง ช่วยถอนพิษฝีหนอง ช่วยแก้อาการฟกช้ำ ด้วยการนำต้นสดมาตำให้พอแหลกแล้วใช้พอก
    – ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ด้วยการนำต้นสดมาตำให้พอแหลกผสมกับเหล้าใช้เป็นยาพอกบริเวณที่มีอาการ
  • สรรพคุณจากรากและใบ
    แก้ปวดบวม ช่วยถอนพิษปวดแสบปวดร้อน ด้วยการนำใบสดมาตำแล้วพอก

ประโยชน์ของว่านมหากาฬ

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวลัวะนำใบมาประกอบอาหารอย่างต้มใส่หมูหรือไก่ ชาวเมี่ยนนำใบสดมาทานร่วมกับลาบ
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกลงแปลงประดับในสวนเพราะใบมีลวดลายสวยงามหรือปลูกคลุมดิน
3. เป็นความเชื่อ มีความเชื่อว่าว่านมหากาฬเป็นว่านที่มีอำนาจ หากนำมาปลูกเลี้ยงไว้ในบริเวณบ้านจะสามารถช่วยป้องกันอันตรายและทำให้ผู้ปลูกมีอำนาจบารมี
4. ใช้ในการเกษตร ดร.วรนันต์ นาคบรรพต กล่าวว่า ว่านมหากาฬเป็นพืชที่สามารถสะสมโลหะหนัก สังกะสีและแคดเมียมได้สูงจึงมีความเป็นไปได้ในการนำมาใช้เพื่อฟื้นฟูสภาพดินในเหมืองแร่หรือฟื้นฟูสภาพดินที่ปนเปื้อนโลหะหนัก

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของว่านมหากาฬ

การทดลองของว่านมหากาฬ จากการทดลองกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเริมและงูสวัด พบว่า สารสกัดจากใบว่านมหากาฬสามารถทำให้อัตราการกลับมาเป็นใหม่ของโรคลดลง

ข้อควรระวังในการใช้ว่านมหากาฬ

1. สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน
2. เป็นยาที่มีพิษเล็กน้อย ดังนั้นห้ามรับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนดและไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน

ว่านมหากาฬ เป็นพืชที่มีสรรพคุณและประโยชน์มากมายแต่ก็เป็นพืชที่มีพิษอยู่ด้วย เป็นยาเย็นที่ช่วยดับพิษร้อนในร่างกายได้ดี ว่านมหากาฬเป็นอาหารของชาวเมี่ยนและชาวลัวะ นอกจากนั้นยังเป็นพืชที่มีประโยชน์ในการคลุมดินและฟื้นฟูสภาพดินได้ด้วย ว่านมหากาฬมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของทั้งต้นและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้หรือดับร้อน ช่วยฟอกเลือด แก้ปวดบวมและฟกช้ำ ช่วยถอนพิษได้ดี เป็นต้นที่ดีต่อระบบไหลเวียนเลือดและการดับพิษร้อนในร่างกายเป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ว่านมหากาฬ”. หน้า 275.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ว่านมหากาฬ”. หน้า 726-727.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “ว่านมหากาฬ”. หน้า 138.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ว่านมหากาฬ”. หน้า 116.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “มหากาฬ”. หน้า 416.
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ว่านมหากาฬ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [04 มิ.ย. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ว่านมหากาฬ” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [04 มิ.ย. 2014].
โลกแห่งสมุนไพร. (รังสรรค์ ชุณหวรากรณ์). “ว่านมหากาฬ” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bs.ac.th/2548/e_bs/g7/rangsan/. [04 มิ.ย. 2014].
ว่าน…พืชมหัศจรรย์, โรงเรียนอุดมศึกษา. “มหากาฬ” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.udomsuksa.ac.th. [04 มิ.ย. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ว่านมหากาฬ”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด (สุนทรี สิงหบุตรา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [04 มิ.ย. 2014].
วารสารเคหการเกษตร. “นักวิจัย มมส.เจ๋งค้นพบว่าน มหากาฬพืชมหัศจรรย์ช่วยฟื้นสภาพดิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.kehakaset.com. [04 มิ.ย. 2014].
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักกาดกบ”. หน้า 462-463.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/