มะเขือพวง ต้านมะเร็ง ต้านไวรัส ลดไขมันและบำรุงไต

0
1819
มะเขือพวง ต้านมะเร็ง ต้านไวรัส ลดไขมันและบำรุงไต
มะเขือพวง เป็นทรงพุ่มขนาดเล็ก ผลอยู่เป็นพวง สีเขียว เนื้อแน่นกรอบฉ่ำน้ำ มีรสชาติขมอ่อน ๆ
มะเขือพวง ต้านมะเร็ง ต้านไวรัส ลดไขมันและบำรุงไต
มะเขือพวง เป็นทรงพุ่มขนาดเล็ก ผลอยู่เป็นพวง สีเขียว เนื้อแน่นกรอบฉ่ำน้ำ มีรสชาติขมอ่อน ๆ

มะเขือพวง

มะเขือพวง (Turkey berry) เป็น พืชผักที่ใช้เป็นส่วนประกอบในน้ำพริกมากมายโดยเฉพาะในน้ำพริกกะปิ ซึ่งเป็นน้ำพริกที่คนไทยชื่นชอบ ถือเป็นมะเขือที่คนไทยคุ้นเคยกันมานานแต่สรรพคุณของมะเขือพวงนั้นยังไม่ค่อยมีใครรู้มากนัก อีกทั้งยังเป็นพืชที่มีสารอาหารที่สำคัญมากมาย ยังพบบันทึกว่ามะเขือพวงเป็นยาแผนโบราณในตำราอายุรเวทของประเทศจีนอีกด้วย มะเขือพวงมีมากมายหลายสายพันธุ์ ในบางสายพันธุ์ก็ใช้เป็นยาสมุนไพร เป็นต้นพืชที่สามารถหาได้ง่ายและมีผลผลิตตลอดทั้งปี

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะเขือพวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum torvum Sw.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญ 6 ชื่อ คือ “Turkey berry” “Devil’s fig” “Wild eggplant” “Pea eggplant” “Pea aubergine” “Shoo – shoo bush”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “มะแคว้งกุลา” ภาคอีสานเรียกว่า “หมากแข้ง” ภาคใต้เรียกว่า “เขือน้อย เขือพวง เขือเทศ ลูกแว้ง” จังหวัดสงขลาเรียกว่า “มะแว้งช้าง” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “มะเขือละคร”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)
ชื่อพ้อง : Solanum ficifolium Ortega, Solanum mayanum Lundell

ลักษณะของมะเขือพวง

มะเขือพวง เป็นทรงพุ่มขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดในแถบรัฐฟลอริดา หมู่เกาะเวสต์ อินดีส์ เม็กซิโก ไปจนถึงอเมริกากลางและทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศบราซิล เป็นวัชพืชที่ขึ้นกระจัดกระจายเกือบทั่วเขตร้อน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน มีลักษณะทรงเรียวรี ใบใหญ่ยาว ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นรอยหยัก ใบมีสีเขียวและมีขนปกคลุมทั่วใบ
ราก : เป็นระบบรากแก้วแทงลึกลงในดิน มีลักษณะกลมสีน้ำตาล มีรากแขนงและรากย่อย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ เกาะกลุ่มอยู่เป็นพวง ดอกมีลักษณะเป็นรูปแตรขนาดเล็ก กลีบดอกมีสีม่วงหรือสีขาว
ผล : ผลอยู่เป็นพวง มีลักษณะทรงกลมเล็ก ๆ ผิวเปลือกหนาเรียบเป็นมัน ผลมีสีเขียว เนื้อแน่นกรอบฉ่ำน้ำ มีรสชาติขมอ่อน ๆ ผลสุกจะมีสีเหลืองหรือสีส้ม
เมล็ด : มีจำนวนมากอยู่ภายในผลแก่ เมล็ดมีลักษณะแบนกลมเล็ก ๆ และมีสีน้ำตาล

การนำไปใช้ประโยชน์ของมะเขือพวง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารอย่างแกงป่าทั้งหลาย น้ำพริกต่าง ๆ และผัดเผ็ด
2. เป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพร

สรรพคุณของมะเขือพวง

  • สรรพคุณด้านป้องกันโรค ต่อต้านโรคมะเร็ง ต้านเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 และยับยั้งไวรัส ควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ใบสดช่วยรักษาโรคซิฟิลิสหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    – รักษาโรคตาปลา ด้วยการนำรากสดมาตำแล้วพอกบริเวณที่มีอาการ
  • สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ มีฤทธิ์ในการขับเสมหะ ลดอาการความเครียดออกซิเดชันในผู้ป่วยเบาหวาน บรรเทาอาการไอและเป็นเลือด บรรเทาอาการภูมิแพ้ รักษาอาการเป็นพิษต่อไตที่เกิดจากยาคีโมที่ใช้รักษามะเร็ง มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบและป้องกันการอักเสบเฉียบพลัน ใบสดเป็นยาระงับอาการประสาท ช่วยขับเหงื่อและแก้อาการชัก แก้อาการหืด น้ำคั้นใบสดช่วยลดไข้ ใช้แก้ปวดและปวดข้อ แก้อาการฟกช้ำ ใบสดใช้รักษาฝีบวมมีหนอง ช่วยพอกฝีหนองแตกเร็วขึ้นและช่วยทำให้ฝียุบ ใบสดรักษาโรคผิวหนัง ผลแห้งช่วยรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย ต้นรักษาโรคกลากเกลื้อนตามผิวหนัง
    – แก้พิษในร่างกาย ด้วยการนำน้ำมะขามแช่รากมะเขือพวงแล้วนำมาต้มดื่ม
    – แก้อาการปวดฟัน ด้วยการนำเมล็ดไปเผาให้เกิดควันแล้วสูดเอาควันรมแก้ปวด
    – แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการใช้น้ำสกัดจากลำต้นมะเขือพวง
    – รักษาอาการรอยเท้าแตก ด้วยการนำรากสดมาตำแล้วพอกบริเวณที่มีอาการ
  • สรรพคุณด้านควบคุมไขมัน ช่วยดูดซับไขมันส่วนเกินและอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ลดระดับคอเลสเตอรอล
  • สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ต่อต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
  • สรรพคุณบำรุงอวัยวะ บำรุงตับ บำรุงธาตุและบำรุงร่างกาย บำรุงไต
  • สรรพคุณด้านเลือดในร่างกาย รักษาความดันโลหิตสูง ทำให้เลือดในร่างกายหมุนเวียนได้ดียิ่งขึ้น ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ใบสดช่วยห้ามเลือด
  • สรรพคุณด้านการคลายเครียด ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและง่วงนอน
  • สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ผลแห้งช่วยบำรุงสายตา
  • สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยในการย่อยอาหาร เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของลำไส้และป้องกันสารพิษที่เข้ามายังระบบทางเดินอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจากสารเพกทินซึ่งมีหน้าที่ดึงน้ำไว้ได้มากเพื่อเพิ่มปริมาณของอุจจาระจึงช่วยกระตุ้นการขับถ่ายและทำให้ถ่ายง่ายขึ้นมาก ป้องกันโรคท้องผูกและริดสีดวงทวาร ผลและใบช่วยในการขับปัสสาวะ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร

คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือพวงสด

คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือพวงสดต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 24 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอหาร
คาร์โบไฮเดรต 5.7 กรัม
น้ำตาล 2.35 กรัม
เส้นใย 3.4 กรัม
ไขมัน 0.19 กรัม 
โปรตีน 1.01 กรัม
วิตามินบี1 0.039 มิลลิกรัม 
วิตามินบี2 0.037 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 0.649 มิลลิกรัม
วิตามินบี5 0.281 มิลลิกรัม
วิตามินบี6 0.84 มิลลิกรัม
วิตามินบี9 22 ไมโครกรัม
วิตามินซี 2.2 มิลลิกรัม
แคลเซียม 9 มิลลิกรัม 
ธาตุเหล็ก 0.24 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม 14 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม 
โพแทสเซียม 230 มิลลิกรัม
สังกะสี 0.16 มิลลิกรัม
แมงกานีส 0.25 มิลลิกรัม

สารออกฤทธิ์ในมะเขือพวง

มะเขือพวงมีสารอาหารที่สำคัญคือ

  • โซลาโซดีน (solasodine) เป็นสารที่มีสรรพคุณต้านโรคมะเร็ง
  • สารทอร์โวไซด์เอ, เอช ซึ่งเป็นสตีรอยด์ไกลไซด์มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 และยับยั้งไวรัสมากกว่ายาอะไซโคลเวียร์ 3 เท่า
  • สารเพกติน เป็นสารที่ละลายน้ำได้ ช่วยเคลือบผิวของลำไส้ ทำให้ลำไส้ดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลงจึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • สารทอร์โวนินบี (torvonin B) เป็นซาโพนินชนิดหนึ่ง มีฤทธิ์ขับเสมหะ
  • โซลานีน (solanine) เป็นอัลคาลอยด์ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของแคลเซียมในร่างกาย ผู้ป่วยโรคไขข้อควรหลีกเลี่ยง

มะเขือพวง เป็นมะเขือที่มีสารอาหารต้านโรคได้มากมายกว่าที่คิด ทั้งจากใบและผลของต้นมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร ส่วนมากคนไทยนิยมรับประทานในรูปแบบของแกงเผ็ดหรือน้ำพริกเพราะมะเขือพวงมีรสขมเล็กน้อยหากรับประทานสด สรรพคุณที่โดดเด่นของมะเขือพวงเลยก็คือต้านมะเร็ง ต้านไวรัส ลดไขมันและบำรุงไต แม้จะมีรสขมและไม่อร่อยสักเท่าไหร่แต่มะเขือพวงมีสรรพคุณทางยามากมายจนน่าตกใจ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม