ประโยชน์ของฟักข้าว
ฟักข้าว มีไลโคปีนช่วยยับยั้งการทำงานของอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง และป้องกันการเกิดริ้วรอยก่อนวัย

ฟักข้าว ( Gac fruit )

ฟักข้าว ( Gac fruit ) หรือที่ภาคเหนือเรียกว่า “ ผักข้าว ” ภาคใต้เรียกว่า “ ขี้กาเครือ ” คัดเข่า ( นครราชสีมา ) , หมักบวบเข่า, คายเข่า หรือมีชื่อสามัญว่า Gac fruit, Baby Jackfruit, Cochinchin Gourd, Spiny Bitter Gourd, Sweet Gourd, Cochinchin Gour เป็นผักผลไม้พื้นบ้านที่นิยมนำมารับประทานผลและส่วนของยอดอ่อน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Momordica cochinchinensis ( Lour. ) Spreng.หรือ Momordica macrophylla Gage, M. meloniflora Hand.-Mazz., M. mixta Roxb., Muricia cochinchinensis Lour., Zucca commersoniana Ser. อยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae

ฟักข้าว มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเซีย ตั้งแต่ประเทศจีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย บังกลาเทศ และฟิลิปปินส์ ฟักข้าวเป็นได้ทั้งอาหารและยา

ฟักข้าว เป็นไม้เลื้อยชนิดล้มลุกที่มีอายุประมาณ 50 ปี ลำต้นเป็นเถาเลื้อยเกาะโดยอาศัยมือเกาะที่บริเวณใบ ลำต้นยาวได้มากสุดประมาณ 20 เมตร ลำต้นไม่มีการแตกแขนง ลำต้นหนาเป็นเหลี่ยมเกลี้ยงสีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมน้ำตาล มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ต้นฟักข้าวเป็นพื้นที่ชอบแสงแดด เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่แดดส่องถึง สามารถเลื้อยได้บนพื้นดินและตามต้นไม้ รั้ว หลังคาหรือทุกที่ที่มีที่ให้ยึดเกาะ

ใบ ฟักข้าว มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว ออกสลับเรียงตามกิ่งและลำต้นที่เลื่อยออกมา ก้านของใบขนาดยาว 5-8 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวเข้ม มีอยู่ด้วยการหลายรูปทรง เช่น รูปหัวใจหรือใบโพธิ์ รูปไข่ รูปคล้ายฝ่ามือ 3-5 แฉก รูปร่างเกือบเป็นวงกลม รูปคล้ายใบตำลึงหรือฝักทองกว้าแต่มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งใบของฟักข้าวจะมีความยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร แผ่นใบไม่เรียบแต่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นที่บริเวณร่องของเส้นแขนงที่อยู่บนใบ

ดอก ฟักข้าว เป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ คือ ภายในดอกจะมีเพียงเพศเดียวเท่านั้น จะออกบริเวณช่วงต่อระหว่างใบหรือที่บริเวณซอกใบ ซึ่งสามารถออกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อก็ได้ ดอกของฟักข้าวจะมีลักษณะคล้ายกับดอกของตำลึง กลีบดอกมีสีขาวอมเหลือง ก้านเกสรและกลีบละอองมีสีม่วงอมดำหรือน้ำตาลอมม่วง ดอกตูมเวลาบานจะดอกจะมีกลีบดอก 5 กลีบ

ดอกเพศผู้จะมีก้านดอกยาว 5-15 เซนติเมตร มีเกสร 3 อันและจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศเมีย

ดอกเพศเมียจะมีขนาดเล็กว่าดอกเพศผู้ ดอกจะประกอบด้วยรังไข่มี 1 ช่อง มีท่อรังไข่เป็นแท่งยาว บริเวณปลายท่อรังไข่แยกเป็น 3 แฉก และมีก้านดอกยาว 2-5 เซนติเมตร

ผลของ ฟักข้าว มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือสายพันธุ์ที่มีผลเป็นรูปวงรี กับสายพันธุ์ที่มีผลเป็นรูปวงกลมซึ่งสายพันธ์นี้สามารถพบได้ที่ภาคใต้ของไทย ผลจะมีขนาดกว้าง 5-8 ซม. ยาว 6-12 ซม. ผลอ่อนจะมีสีเขียวอมเหลือง ผลจะมีเปลือกหนามจำนวนมากแหลมเล็กๆ นิ่ม ๆ ขนาดสั้นอยู่รอบผล คล้ายกับผลเล็กของลูกขนุนหรือลูกสาเก ผลอ่อนสามารถนำมาปรุงอาหารรับประทานได้ทั้งลูก

เมื่อผลแก่หรือสุกเปลือกจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีส้มอมเหลืองและเมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด ภายในของผล ฟักข้าว จะประกอบด้วยเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดที่อยู่ภายในจะมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงสดดูฉ่ำน้ำและมีรสชาติที่หวาน เมล็ดจะมีลักษณะกลมแบนเป็นสีน้ำตาล ขอบของเมล็ดมีลักษณะเป็นหยัก ผิวของเมล็ดมีลักษณะขรุขระ เมล็ดมีขนาดประมาณ 1.8-2 เซนติเมตร ผลแก่ไม่สามารถรับประทานเปลือกได้ สามารถรับประทานได้เฉพาะเนื้อและเมล็ดภายในเท่านั้น

ฟักข้าว ได้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว โดยมากับผู้ลี้ภัยของชาวรัฐฉาน และได้มีการแพร่หลายในช่วงปี พ.ศ.2539 เหตุที่ฟักข้าวเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในเวลาอันสั้นเนื่องมาจากฟักข้าวจัดเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยามาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนี้

ประโยชน์และสรรพคุณทางยาของฟักข้าว

1.ใบฟักข้าว การนำใบมาต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการเป็นไข้ตัวร้อน แก้อาการริดสีดวงทวาร แก้พิษ แก้ฝี แก้หูด แก้อาการปวดเมื่อยเนื้อตัวและปวดหลัง 

2.รากฟักข้าว นำมาต้มน้ำดื่ม ถอนพิษไข้ ช่วยขับเสมหะ ช่วยแก้เข้าข้อ อาการปวดตามข้อ หรือใช้ทำยาสระผมแก้ผมร่วง

3.เมล็ดฟักข้าว มาต้มน้ำดื่ม แก้ท่อน้ำดีอุดตัน ช่วยขับปัสสาวะนำเมล็ดหรือนำเมล็ดที่แก่จัดมาบดและตากให้แห้ง นำมาผสมน้ำมันทา แก้อาการอักเสบ อาการบวมช้ำ รักษาโรคผิวหนัง เช่น กลากเกลื้อน ผดผื่นคัน

นอกจากในประเทศไทยที่เล็งเห็นคุณค่าทางโภชนาการของฟักข้าวแล้ว ประเทศแถบตะวันออกเฉียงใต้อีกหลายประเทศก็ได้เล้งเห็นถึงคุณค่าของฟักข้าวด้วยเช่นกัน

ประเทศเวียดนาม ชาวเวียดนามจะปลูกต้นฟักข้าวไว้ที่บริเวณรั้วบ้าน และทำการเก็บผลสุกมาปรุงอาหาร และมีการนำเนื้อเยื่อสีแดงที่อยู่ภายในผลกับเมล็ดของฟักข้าวมาใช้ปรุงยา และยังนำฟักข้าวมาปรุงอาหารในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือเวลาที่มีงานมงคลสมรส และประเทศเวียดนามยังให้ความสำคัญกับฟักข้าว และได้ทำการวิจัยขึ้นที่มหาวิทยาลัยฮานอย จนพบว่า ในน้ำมันที่มาจากเยื่อเมล็ดของฟักข้าวมีประสิทธิภาพที่สามารถช่วยในการรักษาโรคมะเร็งที่บริเวณตับได้

ประเทศพม่า โดยเฉพาะที่รัฐฉานที่เป็นรัฐอิสระในประเทศพม่า ได้ยกผลฟักข้าวเป็นผลไม้ศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องปลูกไว้ทุกบ้านเรือน เพื่อกินส่วนต่าง ๆ ของต้นฟักข้าว และให้ผลสีส้มของฟักข้าวเป็นของไหว้บรรพบุรุษเพื่อเป็นมงคลกับครอบครัวของตน

ประเทศจีน มีการนำเมล็ดแก่ของฟักข้าวมาบดทำยา เพื่อใช้บนทาผิวหนังสำหรับลดอาการอักเสบ อาการบวม และยังจะช่วยรักษาโรคกลากเกลื้อน แก้อาการผื่นคันได้ด้วย

ประเทศฟิลิปปินส์ ได้มีการนำรากฟักข้าวมาบดละเอียด และนำไปหมักผม เพื่อให้ผมหนาและดก นอกจากนี้ยังช่วยกำจัดเหาได้ด้วย

ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการทำวิจัยและพบว่า โปรตีนที่จากการสกัดน้ำที่ได้มาจากผลฟักข้าวนั้น โดยการทำทดลองในหนูทดลอง พบว่าสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของก้อนมะเร็งลำไส้ใหญ่ในหนูทดลองได้

คุณค่าทางโภชนาการของฟักข้าว

1.ไลโคปีน ( Lycopene )ใน ฟักข้าว

ไลโคปีนเป็นแคโรทีนอยด์ ( Carotenoids ) ที่ละลายได้ดีในไขมัน มาจากสีแดง ส้มและเหลืองที่มีอยู่ในฟักข้าวนั่นเอง โดยที่ฟักข้าว 1 กรัมจะให้ไลโคปีนมากถึง 380 ไมโครกรัม ซึ่งไลโคพีนที่มีอยู่ในฟักข้าวมีมากกว่าที่มีอยู่ในมะเขือเทศมากถึง 12 เท่า

ไลโคปีนจัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเยี่ยม โดยที่ไลโคปีนจะเข้าไปช่วยยับยั้งการทำงานของอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในร่างกาย ให้ไม่สามารถเข้ามาทำร้ายเซลล์หรือผนังหลอดเลือด จนทำให้เกิดการอักเสบและเกิดแผลที่ผนังหลอดเลือดได้ เมื่อผนังหลอดเลือดไม่มีการอักเสบและแผลแล้ว โอกาสที่จะทำให้อาการหลอดเลือดแข็งตัวหรือหลอดเลือดเกิดการอุดตันน้อยลง จึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ

ป้องกันการเกิดริ้วรอยก่อนวัย เช่น รอยเหี่ยวย่น ผิวหนังหยาบกร้าน ฝ้า กระ เป็นต้น โดยที่ไลโคปีนจะเข้าไปช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ผิวโดนทำลายและมีความแข็งแรงทนทานต่อสิ่งแวดล้อมและอนุมูลอิสระ

โดยเฉพาะป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งระบบทางเดินอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม เป็นต้น 

โดยเฉพาะโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยที่ไลโคปีนจะเข้าไปลดสาร Prostate Specific Antigen ( PSA ) เมื่อค่า Prostate Specific Antigen( PSA ) ลดลงความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากก็ลดลงด้วยเช่นกัน

2. เบตาแคโรทีน ( Beta-carotene ) ในฟักข้าว

ฟักข้าว 1 กรัมจะมีเบต้าแคโรทีนอยู่ประมาณ 408 มิลลิกรัม ปริมาณเบตาแคโรทีนที่มีอยู่ในฟักข้าวนี้มีมากกว่าแครอตถึง 10 เท่าเลยทีเดียว โดยเบต้าแคโรทีนเป็นสารที่ช่วยบำรุงสายตา เนื่องจากเบต้าแคโรทีนเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอนั่นเอง จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่ดวงตา เช่น โรคตาพร่า ตาบอดกลางคืน การเกิดต้อกระจก เป็นต้น

นอกจากนั้นวิตามินเอที่ได้จากฟักข้าวยังสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบสืบพันธ์เพศชายให้มีความแข็งแรงได้ด้วย โดยที่วิตามินเอจะเข้าไปช่วยเพิ่มปริมาณของตัวอสุจิให้มีมากกว่า 20 ล้านตัวต่อมิลลิลิตรและยังช่วยให้ตัวอสุจิมีความแข็งแรงสามารุเคลื่อนที่ไปฝังตัวในไข่ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีอสุจิมีโอกาสที่จะฝังตัวมากขึ้น สำหรับระบบสืบพันธ์เพศหญิงวิตามินเอจะช่วยในการพัฒนาของตัวอ่อนที่อยู่ในระยะแรกให้มีพัฒนาการที่สมบูรณ์และแข็งแรง

นอกจากนั้นเบต้าแคโรทีนยังจัดเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ดีอีกชนิดหนึ่ง ช่วยป้องกันไม่ให้อนุมูลอิสระเข้าไปทำลายเซลล์ตามอวัยวะต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะส่วนของผิวหนังจึงช่วยลดการเกิดริ้วรอยก่อนวัย ทำให้ผิวพรรณมีน้ำมีนวลไม่เหี่ยวย่น เนื่องจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระที่ร่างกายรับเข้าไป โดยที่เบต้าแครทีนจะไปจับตัวกับอนุมูลอิสระทำให้อนุมูลอิสระไม่สามารถเข้ามาทำลายเซลล์ผิวได้นั่นเอง

และยังช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกายให้แข็งแรงอีกด้วย โดยที่เบต้าแคโรทีนจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์ที่มีเรียกว่า “ ที-เฮลเปอร์ ( T helper cell ) ” ที่มีหน้าที่ในการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคที่เข้ามาสู่ร่างกาย ให้สามารถทำการต้านสิ่งแปลกปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. อัลฟาโทโคฟีรอล ( Alpha-tocopherol หรือวิตามิน E ) ในฟักข้าว

แอลฟา โทโคฟีรอลหรือที่รู้จักกันว่าเป็นวิตามินอีที่อยู่ตามธรรมชาติ ละลายในไขมัน สารชนิดนี้จัดเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระชั้นยอดที่พบได้ในฟักโดยอัลฟาโทโคฟีรอล ( Alpha-tocopherol ) จะเข้าไปช่วยในการเพิ่มปริมาณของเอนไซม์ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทส ( เอสโอดี ) ที่มีหน้าที่ในการต่อต้านอนุมูลอิสระและช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของอนุมูลอิสระอีกด้วย ที่ทำให้เซลล์เกิดการเสื่อมสภาพ ป้องกันการเกิดรอยเหี่ยวย่น โรคหัวใจ โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดและโรคมะเร็งที่เกิดจากการที่อนุมูลอิสระเข้าไปทำปฏิกิริยากับเซลล์ จนเซลล์เกิดการกลายพันธ์กลายเป็นเซลล์มะเร็ง 

ถึงแม้ว่าอัลฟาโทโคฟีรอล ( Alpha-tocopherol ) เป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน แต่ทว่าการที่เป็นวิตามินอีจากธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ร่างกายสามารถทำการขับออกจากร่างกายได้โดยการขับออกมากับน้ำดีในอุจจาระนั่นเอง

4.วิตามินซี ( Vitamin C ) ในฟักข้าว

ฟักข้าว ( Gac fruit ) มีวิตามินซีสูงกว่าส้มถึง 40 เท่า โดยวิตามินซีจะเข้าไปป้องกันการเกิดปฏิกิริยาการสันดาปของเซลล์โดยเฉพาะที่บริเวณดวงตา ป้องกันการเกิดโรคเกี่ยวข้องกับดวงตา เช่น การเกิดต้อหิน ต้อกระจก ตาบอดกลางคืน เป็นต้น วิตามินซียังช่วยให้ร่างกายสามารถทำการซ่อมแซมและรักษาแผลได้ดีโดยที่วิตามินซีจะเข้าไปช่วยเสริมสร้างผนังเซลล์ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรงและช่วยลดหรือต่อต้านอาการอักเสบที่เกิดขึ้นกับเซลล์ให้ลดน้อยลง ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกายให้ดีขึ้น

จะพบว่าสารอาหารที่มีอยู่ในฟักข้าวมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างมากมาย ซึ่งการรับประทานฟักข้าวสามารถรับประทานได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่ โดยผลอ่อนสามารถกินได้ทั้งผล ส่วนผลแก่ให้นำมาปอกเปลือกที่มีลักษณะเป็นหนามออก และคว้านเอาเมล็ดภายในออกให้เหลือแต่เยื่อที่อยู่ระหว่างเมล็ดกับเปลือก เมื่อนำส่วนนี้ไปปรุงอาหารจะมีรสชาติอร่อย อาหารที่ทำจากฟักข้าว มีทั้งต้ม พัด แกง ทอด ซึ่งรสชาติของอาหารที่ปรุงออกมาก็อร่อยไม่แพ้การปรุงด้วยพักชนิดอื่นเลย ฟักข้าว ( Gac fruit ) จึงนับเป็นผักทางเลือกสำหรับผู้ที่รักษ์สุขภาพ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

รัชนี คงคาฉุยฉาย และ ริญ เจริญศิริ. โภชนาการกับผัก. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2554. 128 หน้า 1.ผัก-แง่โภชนาการ-ไทย. I.ชื่อเรื่อง. 641.303 ISBN 978-974-484-346-3.

แอพเพิลเกต, ลิซ. 101 อาหารรักษาหัวใจ.–กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 342 หน้า. 1. อาหารเพื่อสุขภาพ. 2.โภชนบำบัด. I.จงจิต อรรถยุกติ, ผู้แปล. II.ชื่อเรื่อง. 641.56311 ISBN 974-00-8692-6.