ใบโอบะ หรือใบชิโสะ
ใบโอบะ หรือใบชิโสะ ( Green Shiso ) เป็นพืชสมุนไพรจากประเทศญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณทางยา ที่ได้รับความนิยมในการใช้ประกอบอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะในเมนูซาชิมิและอาหารประเภทต่างๆ ใบชิโสะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น วิตามิน C และฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆ นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการช่วยย่อยอาหาร ลดการอักเสบ และบำรุงตับ การรับประทานใบชิโสะเป็นประจำจึงสามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงและป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Perilla frutescens ( L. ) Britt. Var. crispa ( Thunb. ) Hand-mazz.
ชื่อท้องถิ่น : งาขี้ม้อน งาพื้นเมือง งาหอม งาดอย งาม่อน(ไทย) งาเจียง (ลาว) Perilla (อิตาลี โปรตุเกส สเปน รัสเซีย) งาป่า (อังกฤษ เยอรมนีฝรั่งเศส) ไบซูเกง (จีน) เตียโต๋ (เวียดนาม) ชิโสะ (ญี่ปุ่น) steak plant (สหรัฐอเมริกา) และชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า นอ
ลักษณะใบโอบะหรือใบชิโสะ
ใบโอบะ หรือใบชิโสะ เป็นพืชประเภทไม้ล้มลุกที่มีอายุสั้นใช้ระยะเวลาการปลูก 50 – 60 วัน ก็สามารถนำผลผลิตมารับประทานได้แล้ว และสามารถเก็บเกี่ยวต่อไปได้อีกในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เท่านั้นสามารถปลูกได้ทั้งปี เป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบดินที่มีความร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบให้มีน้ำขัง ต้นใบโอบะหรือ ใบชิโสะ จะมีลักษณะคือ เป็นไม้ลำต้นตั้งตรง จะมีความสูงเพียงแค่ 30 –100 เซนติเมตร เท่านั้น มีสีม่วงหรือสีม่วงอมเขียว ใบมีรูปทรงกลมปลายแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ผิวใบย่นไม่เรียบตัวใบยาว 4 – 12 เซนติเมตร กว้าง 2.5 -10 เซนติเมตร ก้านใบยาว 2.5 -7.5 เซนติเมตร ดอกจะออกที่โคนก้านใบหรือบนยอดกิ่ง ด้านล่างดอกมีขนอ่อนขึ้นหน้าแน่น ดอกมีสีม่วง มีขนอ่อนยาวสีม่วงตรงส่วนข้อของกิ่งและลำต้น ซึ่งเรียกว่า ” เจียมชิโสะ ” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Perilla frutescens ( L. ) Britt. Var. Acuta ( Thunb. ) Kido. โดยชิโสะชนิดนี้จะมีลักษณะทางพฤษศาสตร์คล้ายกับชิโสะประเภทแรกเกือบทุกอย่าง ยกเว้น จะมีสีม่วงและขนอ่อนคลุมอยู่ ดอกมีสีม่วงอมแดงหรือแดงอ่อนจากข้อมูลพบว่า ชิโสะทั้ง 2 ประเภทนี้ มีสรรพคุณทางยาด้วยกันทั้งคู่ เกือบทุกส่วนของชิโสะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งราก กิ่ง ก้าน ใบ และเมล็ดเช่น เมล็ดชิโสะ ( เฮ็กโซวจี้ ) สามารถช่วยแก้พิษจากอาหารทะเลได้โดยให้นำเมล็ดไปคั่วจนสุกแล้วนำมาผสมเปลือกส้มดองเกลือแล้วนำมารับประทาน
ใบโอบะหรือ ใบชิโสะ มีรสเผ็ดร้อนอ่อน ๆ ใบย่นทั้งต้นจะประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหย 0.5% ซึ่งในน้ำมันหอมระเหยนี้จะประกอบได้ด้วยสาร Perillaldehyde ประมาณ 55% Limonene ประมาณ 20-30% และอัลฟาร์-pinene อีกจำนวนเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมี Arginie, Cumic acid เป็นต้น ในส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบจะประกอบด้วยสาร เช่น Isoegomaketone เป็นต้น
สำหรับชิโสะชนิดเรียบจะประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหยเช่นกัน ซึ่งในน้ำมันหอมระเหยนี้จะมีสารเช่น Isoamyl 3-Furylketone, Perillal Alcohol, Linalool, Camphene, Menthol, Menthorne, Dihydroperilla Alcohol, Eugenol เป็นต้น
ใบโอบะ หรือใบชิโสะ สรรพคุณ (สีเขียว)
(Green Shiso)ประกอบด้วยสารต่อต้านมะเร็งและเพิ่มภูมิคุ้มกัน มีประโยชน์ทางโภชนาการ ให้สารอาหารประเภทวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี ส่วนเมล็ดมาสกัดน้ำมันมาปรุงอาหารซึ่งจะช่วยบำรุงหัวใจและตับ สาร Phytol component ในใบชิโสะกระตุ้นการทำงานของ เซลล์ที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมในร่างกายโดยธรรมชาติให้ทำหน้าที่กำจัดเซลล์มะเร็ง รวมทั้งช่วยยกระดับการทำงานของเซลล์ Macrophages ที่มีหน้าที่กำจัดเชื้อโรคและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายมีกลิ่นหอม รสชาติออกเผ็ดเล็กน้อยมีฤทธิ์อุ่นไม่มีพิษ
- ในทางการแพทย์จีน พบว่า ชิโสะจะมีสรรพคุณที่ช่วยให้สามารถบำบัดอาการหวัด มีไข้ ไอ หอบหืด แน่นท้อง และแน่นหน้าอก นอกจากนี้ยังใช้บำรุงครรภ์ และแก้พิษอาหารจำพวกปูและปลาได้อีกด้วยเนื่องจากในชิโสะจะออกฤทธิ์ไปตามเส้นจิงหลอของปอดและม้าม ( เส้นจิงหลอคือเส้นที่มีจุดแทงเข็มกระจายอยู่ โดยเส้นจิงหลอแต่ละเส้นจะเดินผ่านอวัยวะสำคัญของร่างกายแตกต่างกันไป ) ชิโสะจะไปขับเหงื่อในระยะเริ่มแรกของโรค ปรับอุณหภูมิในร่างกายให้เหมาะสมและ ปรับการไหลเวียนของลมในร่างกายให้เป็นปกติ
- ใน Compendium of Materia Medica หรือ ปึงเช่ากังมักได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชิโสะว่า สามารถช่วยให้ลมในร่างกายไหลเวียนได้เป็นปกติ ขจัดเสมหะและบำรุงปอด บำรุงเลือด แก้ปวด แก้หอบหืดและเป็นยาบำรุงสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์
- ในหยิกหั่วจื้อปึงเช่าให้ข้อเกี่ยวกับชิโสะว่า สามารถใช้บำบัดอาการแน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อน่อง ลดอาการอาเจียน ช่วยในเรื่องถ่ายเหลวจนร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป ช่วยให้เจริญอาหารและบำบัดโรคอันเกิดจากพิษความเย็นทุกชนิด แก้อาการเหน็บชา
- ในตำราสมุนไพรของทางยูนนาน เตียงน้ามปึงเช่าได้ให้ข้อมูลว่า ชิโสะ มีสรรพคุณสามารถช่วยรักษาแผลเลือดออกที่เกิดจากของมีคม หรือแผลจากริดสีดวงทวารได้ โดยจะใช้วิธีนำชิโสะไปต้มน้ำอาบ
ใบโอบะ หรือใบชิโสะ สรรพคุณ (สีแดง)
ใบชิโสะแดง (Red Shiso) เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่นอุดมไปด้วยแอนโทไซยานิน กรดไขมันโอเมก้า 3 6 และ 9 แคลเซียม โพแทสเซียม เหล็ก วิตามิน A B2 และ C สารสำคัญในใบชิโสะแดงมีคุณสมบัติในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านไวรัส ซึ่งใบชิโสะสีแดงจะไม่ค่อยนิยมกินแบบสด ส่วนมากจะนำมาทำเมนูดังนี้
1. น้ำใบชิโสะ เครื่องดื่มที่ช่วยสร้างความสดชื่น ดับร้อน ทำง่ายคล้ายวิธีต้มน้ำกระเจี๊ยบบ้านเรา เพียงแต่ใช้ใบชิโสะแดงสดล้างทำความสะอาดต้มในน้ำ 2 ลิตร ประมาณ 5 นาที แล้วตักใบออก เติมน้ำตาล 300 กรัม หรือตามชอบ และน้ำเลม่อน 2 ผล (หรือน้ำส้มข้าวหมัก 1 ถ้วยตวง จะทำให้น้ำเป็นสีแดงสวย) สุดท้ายนำมากรองใส่ขวดเก็บแช่เย็น เวลาดื่มให้นำมาผสมน้ำเย็นหรือโซดาโดยน้ำชิโสะ1ส่วน ต่อน้ำ3 ส่วน
2. ชาใบชิโสะแดง นำใบชิโสะแดงตากแห้งเพื่อใช้ดื่มเป็นชา บรรเทาอาการไอและมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย
3. ใช้เป็นสีเติมแต่งธรรมชาติของผักดอง ใบชิโซะแดงทำปฏิกิริยากับกรดแลกติกที่เกิดขึ้นในขณะการดองผักจะเป็นสีแดงสวยงาม เช่น บ๊วยดอง หัวไชเท้าดอง แตงกวาดอง และขิงดอง
4. ทำเป็นผงโรยข้าวยูคาริ ผงยูคาริโรยคลุกเคล้ากับข้าวหรืออาหารต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสีสันและให้รสชาติที่อร่อยกลมกล่อมแล้วยังมีสารเซซามอลซึ่งเป็นสารที่ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระและยังช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
ข้อควรระวัง
การทานใบโอบะ หรือใบชิโสะ ผู้ที่มีอาการไข้เฉียบพลันหรือปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว กลัวหนาว ไม่ควรรับประทาน นอกจากนี้ผู้ที่ต้องการทานชิโสะในการเลือกซื้อให้ได้ชิโสะที่มีคุณภาพดี มีเทคนิคและวิธีในการเลือกคือ ควรเลือกใบชิโสะที่มีขนาดใหญ่ มีสีม่วง มีกลิ่นหอม โดยต้องไม่มีกิ่งก้านปนมาด้วย การทานชิโสะต้องทานในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากจนเกินไป หากมีอาการแพ้หรือผิดปกติอย่างไรต้องหยุดทานและไปพบแพทย์ทันที
นอกจากนี้ ชิโสะ ยังมีสรรพคุณในการช่วยรักษาโรคโลหิตจางได้ โดยให้ใช้วิธีนำใบชิโสะมาปรุงอาหาร และรับประทานเป็นประจำ เมนูที่ทำได้จากใบชิโสะ เช่น ทานสดๆเป็นผักสลัดควบคู่กับปลาดิบ อาหารจำพวกซูชิ หรือ นำมาปรุงเป็นซุป ก็ได้โดยในแต่ละมื้อควรทานในปริมาณที่เหมาะสมประมาณ 10-15 กรัม
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
He-ci Yu. “Perilla: The Genus Perilla”. Medicinal & Aromatic Plants, Industrial Profiles. ISBN 90-5702-171-4.