ขนุน
ขนุน (Jackfruit) เป็นไม้มงคล มีความหมายว่าช่วยหนุนบารมี เงินทอง ความร่ำรวย ให้ดีขึ้น มีผู้ให้การเกื้อหนุนจุนเจือ นิยมปลูกไว้ที่หลังบ้านทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ และเป็นผลไม้ที่มีเนื้อหอมหวานอร่อย สามารถนำมาทำอาหารได้หลายเมนู สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการทานขนุนหรือทานแต่น้อย เนื่องจากขนุนมีรสหวาน ขนุนมีสรรพคุณที่เป็นยาสมุนไพร ส่วนที่นำมาใช้เป็นยารักษาอาการ คือ ใบ ยวง เมล็ด แก่น ส่าแห้งของขนุน
ชื่อสามัญของขนุน คือ Jackfruit, Jakfruit
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของขนุน คือ Artocarpus heterophyllus Lam.
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น หมักหมี้ ขนู ปะหน่อย ขะนู มะยวยซะ เนน หมากกลาง ล้าง นากอ นะยวยซะ ขะเนอ ซีคึย ลาน Jack fruit tree มะหนุน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของขนุน
- ต้นของขนุน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 15-30 เมตร ถ้ากิ่งกับลำต้นมีแผลจะมีน้ำยางสีขาวออกมา
ใบของขนุน ใบจะเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปรี ที่ปลายใบจะทู่ถึงแหลม ส่วนที่โคนใบจะมน ใบจะหนา ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ผิวของใบด้านล่างจะสากมือ ใบกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาวประ 10-15 เซนติเมตร - ดอกของขนุน ดอกออกเป็นช่อเชิงสด จะแยกเพศอยู่รวมกัน เป็นช่อ มีสีเขียว อัดแน่นอยู่ต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้ออกดอกที่ตามปลายกิ่งกับซอกใบ เรียกว่า ส่า ดอกเพศเมียออกดอกที่ตามกิ่งใหญ่กับลำต้น ถ้าติดผลดอกทั้งช่อจะเจริญร่วมกันเป็นผลขนาดใหญ่ 1 ดอกจะกลายเป็น 1 ยวง
- ผลของขนุน ภายนอกจะคล้ายกับจำปาดะ (เป็นวงศ์เดียวกัน) ผลดิบเปลือกจะมีสีขาว หนามทู่ เมื่อกรีดจะมียางเหนียว ผลแก่เปลือกจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง หนามจะป้านขึ้น ในผลขนุนมีซังขนุนหุ้มยวงสีเหลืองอยู่ มีเมล็ดอยู่ในยวง ดอกขนุนจะออกปีละ 2 ครั้ง ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม
- พันธุ์ของขนุน มีหลายสายพันธุ์ สีของเนื้อจะแตกต่างกันตามแต่ละสายพันธุ์ ขนุนบางสายพันธุ์มีรสหวานสามารถทานได้ บางพันธุ์จะมีรสจืดไม่นิยมทาน สายพันธุ์ขนุนที่นิยมปลูกในประเทศไทย เช่น พันธุ์ตาบ๊วย (ผลใหญ่ เนื้อหนา สีจำปาออกเหลือง), พันธุ์ทองสุดใจ (ผลใหญ่ยาว เนื้อมีสีเหลือง), พันธุ์ฟ้าถล่ม (ผลค่อนข้างกลมใหญ่ เนื้อมีสีเหลืองทอง), พันธุ์จำปากรอบ (ผลขนาดกลาง มีรสหวานอมเปรี้ยว เนื้อมีสีเหลือง)
สรรพคุณของขนุน
- ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา สามารถช่วยจับกลุ่มอสุจิ เม็ดเลือดแดง แบคทีเรีย สารในของเหลวของร่างกาย ยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส ลดระดับน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวได้
- สามารถใช้ทาแผลบวมอักเสบได้ (ยาง)
- สามารถรักษาแผลมีหนองเรื้อรังได้ (ยาง, ใบ)
- สามารถขับพยาธิได้ (ใบ)
- ไส้ในของขนุนละมุด สามารถทานช่วยแก้อาการตกเลือดในทวารเบาของสตรีที่มากไปให้หยุด
- สามารถช่วยสมานลำไส้ได้ (แก่น)
- เมล็ดของขนุนสามารถแก้อาการปวดท้องได้
- นำใบขนุนละมุดไปเผาให้เป็นถ่านผสมน้ำปูนใส ใช้หยอดหู ช่วยแก้อาการปวดหู และเป็นหูน้ำหนวก
- สามารถช่วยระงับประสาทได้ (ใบ)
- สามารถแก้อาการกระหายน้ำได้ (ผลสุก)
- สามารถบำรุงร่างกายได้ (เมล็ด)
- สามารถบำรุงโลหิต ทำให้เลือดเย็นได้ (แก่นขนุนหนังหรือขนุนละมุด, ราก, แก่น)
- สามารถแก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบที่เกิดจากแผลที่มีหนองที่ผิวหนัง (ยาง)
- สามารถช่วยสมานแผลได้ (แก่น)
- สามารถแก้โรคผิวหนังได้ (ใบ, ราก)
- แก่นกับเนื้อไม้ สามารถใช้ทานช่วยแก้กามโรคได้ (แก่นและเนื้อไม้)
- เม็ดขนุน จะมีสารพรีไบโอติกหรือสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ทนการย่อยของกระเพาะอาหารและช่วยการดูดซึมของลำไส้เล็กตอนบน จะช่วยดูดซึมแร่ธาตุแคลเซียม เหล็ก สร้างสารป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ไม่ส่ง
- เสริมการเติบโตของแบคทีเรียที่ก่อโรค
- สามารถใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ ได้ (เนื้อหุ้มเมล็ด, ผลสุก)
- ใช้ใบของขนุนมาต้ม ใช้ดื่มแก้อาการท้องเสีย (ใบ, ราก)
- สามารถแก้โรคลมชักได้ (ใบ)
- ใบสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ มีผลงานวิจัยของประเทศศรีลังกา ได้ทำการทดลองผู้ป่วยโรคเบาหวานและหนูทดลอง ผลการทดลองพบว่าสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และผลการทดลองได้ทำการเปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน ยา Tolbutamide ได้ผลสรุปว่าสารสกัดจากขนุนช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ายา Tolbutamide ในเวลา 5 ชม. วิธีปรุงเป็นยา ใช้ใบขนุนแก่ 5-10 ใบ มาต้มในน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวประมาณ 15 นาที ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น
- มีวิตามินอีสูง 10 อันดับแรกของผลไม้ และมีวิตามินซีสูงจะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
- ช่วยบำรุงกำลัง ชูหัวใจให้สดชื่นได้ (เนื้อหุ้มเมล็ดสุก, เนื้อในเมล็ด, ผลสุก, เมล็ด)
ประโยชน์ของขนุน
- ขนุนอ่อนนิยมมาปรุงอาหารทานเป็นผัก เช่น ใส่ในส้มตำ ตำมะหนุน แกงขนุน ยำ ขนุนอบกรอบ
- สามารถนำเมล็ดกับยวงมาทานเป็นอาหารได้
- สามารถนำส่าแห้งของขนุนทำเป็นชุดจุดไฟได้
- สามารถแก้อาการเมาสุราได้ (ผลสุก)
- เม็ดขนุนสามารถช่วยบำรุงน้ำนม ขับน้ำนม ทำให้น้ำนมของแม่เพิ่มขึ้น
- เนื้อสุกมาทานเป็นผลไม้และสามารถทำเป็นขนมได้หลายชนิด เช่น ใส่ในไอศกรีม ลอดช่อง กินกับข้าวเหนียวมูน นำไปอบแห้ง
- เนื้อไม้สามารถนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องดนตรีได้
- แก่นของต้นสามารถนำมาทำสีย้อมผ้าได้ จะให้สีน้ำตาลแก่ นิยมใช้ย้อมสีจีวรพระ
- เนื้อหุ้มเมล็ดสุกสามารถใช้หมักทำเหล้าได้
คุณค่าทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม ของเนื้อขนุนดิบ
สารอาหาร | ปริมาณสารที่ได้รับ |
วิตามินเอ 5 | ไมโครกรัม 1% |
วิตามินบี 1 | 0.105 มิลลิกรัม 9% |
วิตามินบี 2 | 0.055 มิลลิกรัม 5% |
วิตามินบี 3 | 0.92 มิลลิกรัม 6% |
วิตามินบี 5 | 0.235 มิลลิกรัม 5% |
วิตามินบี 6 | 0.329 มิลลิกรัม 25% |
วิตามินบี 9 | 24 ไมโครกรัม 6% |
วิตามินซี | 14.7 มิลลิกรัม 17% |
วิตามินอี | 0.34 มิลลิกรัม 2% |
คาร์โบไฮเดรต | 23.25 กรัม |
เส้นใย 1.5 กรัม | โปรตีน 1.72 กรัม |
เบตาแคโรทีน | 61 ไมโครกรัม 1% |
น้ำตาล | 19.08 กรัม |
ไขมัน | 0.64 กรัม |
ลูทีนและซีแซนทีน | 157 ไมโครกรัม |
ธาตุเหล็ก | 0.23 มิลลิกรัม 2% |
ธาตุแมงกานีส | 0.043 มิลลิกรัม 2% |
ธาตุโพแทสเซียม | 448 มิลลิกรัม 10% |
ธาตุสังกะสี | 0.13 มิลลิกรัม 1% |
ธาตุแคลเซียม | 24 มิลลิกรัม 2% |
ธาตุแมกนีเซียม | 29 มิลลิกรัม 8% |
ธาตุฟอสฟอรัส | 21 มิลลิกรัม 3% |
ธาตุโซเดียม | 2 มิลลิกรัม 0% |
พลังงาน | 95 กิโลแคลอรี |
ข้อมูลจาก USDA Nutrient database
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
แหล่งอ้างอิง
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), หนังสือเภสัชกรรมไทยร่วมอนุรักษ์มรดกไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน (เภสัชกรหญิงจุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.healthline.com/nutrition/jackfruit-meat-alternative
2.https://www.jmthaifood.com/en/product/jackfruit/