ผักแขยง
ผักแขยง สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ทั้งต้นและใบเมื่อนำมาหักจะมีกลิ่นหอมและรสเผ็ดร้อน เป็นต้นที่มี 2 ชนิด แต่ละชนิดอยู่กันคนละวงศ์พืชอีกด้วย ทว่าทั้ง 2 ชนิดก็มีสรรพคุณและสามารถนำมารับประทานได้ทั้งคู่ ภายในต้นผักแขยงจะมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีกลิ่นคล้ายกับน้ำมันสน เป็นผักพื้นบ้านในกลุ่มที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ถือเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี แต่ก็มีโทษเช่นกัน
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักแขยงชนิดที่ 1
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Limnophila aromatica (Lam.) Merr.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ผักพา” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “จุ้ยหู่โย้ง” จีนกลางเรียกว่า “สุ่ยฝูโหยง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ผักกะแยง แขยง คะแยง ผักกะออม มะออม ผักลืมผัว ควันเข้าตา อีผวยผาย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE)
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักแขยงชนิดที่ 2
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Limnophila geoffrayi Bonati
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ผักพา” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “กะแยง กะออม” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “กะแยงแดง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มณเฑียรทอง (SCROPHULARIACEAE)
ลักษณะของผักแขยง
ลักษณะของผักแขยงชนิดที่ 1
ผักแขยงชนิดที่ 1 เป็นพรรณไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนฤดูเดียวหรือหลายฤดู เป็นวัชพืชในนาข้าว มักจะขึ้นตามริมคูหรือคันนา อ่างเก็บน้ำ บริเวณที่มีน้ำขังเล็กน้อย และพื้นที่ชุ่มชื้น
ลำต้น : ลำต้นกลม กลวงและเป็นข้อ อาจแตกกิ่งมากหรือไม่แตกกิ่งเลย ลำต้นทอดเลื้อย ผิวเกลี้ยงหรือมีต่อม แตกรากจากข้อ ทั้งต้นและใบเมื่อนำมาหักจะมีกลิ่นหอมและเผ็ดร้อน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ตามข้อทุกข้อตลอดลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบห่อติดกับลำต้น ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเป็นสีเขียว เส้นใบเป็นแบบขนนก ไม่มีก้านใบ
ดอก : ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ จะออกเป็นช่อกระจะตรงส่วนยอดของต้น ลักษณะของดอกเป็นรูปกรวย ปลายบานออกเล็กน้อย แยกออกเป็น 4 กลีบ กลีบดอกเป็นสีแดง สีม่วง สีขาว หรือสีชมพูอ่อน ก้านชูเกสรเพศผู้ส่วนปลายพองออก ก้านชูเกสรเพศเมียสั้นแยกเป็น 2 แฉก
ผล : ออกผลเป็นฝักยาววงรี เมื่อแก่จะแตกออก
ลักษณะของผักแขยงชนิดที่ 2
ผักแขยงชนิดที่ 2 เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุฤดูเดียว มักจะขึ้นตามริมคูหรือคันนา อ่างเก็บน้ำ บริเวณที่มีน้ำขังเล็กน้อย และพื้นที่ชุ่มชื้นที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก
ลำต้น : ลำต้นเรียวยาว กลมกลวง อวบน้ำ และมีขนหนาแน่น ลำต้นตั้งตรงและเป็นข้อ ทั้งต้นและใบเมื่อนำมาหักจะมีกลิ่นหอมและเผ็ดร้อน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ตามข้อทุกข้อตลอดลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมวงรี รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบห่อติดกับลำต้น ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเป็นสีเขียว ไม่มีก้านใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะตรงซอกใบและส่วนยอดของต้น มีดอกย่อยประมาณ 2 – 10 ดอก จะออกพร้อมกันทั้งต้น ลักษณะของดอกเป็นรูปหลอดขนาดเล็กคล้ายถ้วย หรือรูปกรวย ตรงปลายบานออกเล็กน้อย แยกออกเป็น 4 กลีบ กลีบดอกเป็นสีม่วง ผิวด้านนอกเรียบ ส่วนด้านในตอนล่างของกลีบดอกมีขน
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย เมื่อแก่จะแตกออก
เมล็ด : เมล็ดมีลักษณะรูปร่างกลมวงรี เป็นสีน้ำตาลดำ และมีขนาดเล็กมาก
สรรพคุณของผักแขยง
- สรรพคุณจากผักแขยง ต้านอนุมูลอิสระสูง ต้านมะเร็ง ต้านการเจริญของเชื้อโรค
- สรรพคุณจากทั้งต้น ช่วยทำให้เจริญอาหาร ลดอาการเบื่ออาหาร ป้องกันเส้นเลือดตีบตันและไข้ร้อนใน เป็นยาขับลมและเป็นยาระบายท้อง เป็นยาระบายอ่อน ๆ พอกแก้อาการบวม ช่วยแก้น้ำนมแม่ที่มีรสเปรี้ยว
– เป็นยาแก้ไข้ ลดไข้ ด้วยการนำทั้งต้นสดประมาณ 15 – 30 กรัม มาต้มกับน้ำกิน
– แก้ไข้หัวลม โดยตำรายาพื้นบ้านภาคอื่นนำทั้งต้นและรากในปริมาณตามต้องการมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำกิน
– แก้อาการคัน แก้กลากและฝี ด้วยการนำทั้งต้นสดมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่มีอาการ หรือนำมาคั้นเอาน้ำทา หรือนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น
– แก้พิษเบื่อเมา ด้วยการนำทั้งต้นแห้งที่เก็บไว้นาน 1 ปี มาต้มกับน้ำดื่ม
– ช่วยขับน้ำนมของสตรี โดยตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสานนำทั้งต้นมาใช้หลังจากการคลอดบุตร - สรรพคุณจากต้น
– เป็นยาแก้พิษงูที่ไม่มีพิษร้ายแรง ด้วยการนำต้นสดประมาณ 15 กรัม มาตำให้ละเอียดผสมกับต้นฟ้าทะลายโจรสด ประมาณ 30 กรัม แล้วนำไปผสมกับน้ำส้มในปริมาณพอควร คั้นเอาน้ำดื่ม ส่วนกากที่เหลือให้เอามาพอกรอบบาดแผล แต่อย่าพอกบนบาดแผล
ประโยชน์ของผักแขยง
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ทั้งต้น ยอดอ่อน และใบอ่อน สามารถทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ ก้อย แจ่ว น้ำพริก ส้มตำ ซุบหน่อไม้ หรือนำไปเป็นเครื่องปรุงรสและแต่งกลิ่นช่วยดับกลิ่นคาวสำหรับต้มส้ม แกงหน่อไม้ แกงอ่อมได้
2. ช่วยดับกลิ่น ช่วยดับกลิ่นตัวและกลิ่นเต่าด้วยการทานสด
3. ใช้ในด้านเศรษฐกิจ ผักแขยงแห้งเป็นสินค้าสำหรับการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
4. ใช้ในด้านอุตสาหกรรม เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ สารสกัดด้วยไอน้ำช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มักพบปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารและนม รวมถึงเนื้อสัตว์และไข่ไก่ ซึ่งทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ
5. ใช้ในด้านการเกษตร เป็นยาฆ่าแมลงในกลุ่มที่ทำลายผลไม้
6. เป็นความเชื่อ ผู้ที่รับประทานผักแขยงสดก่อนนอน ผีพ่อม่ายหรือผีแม่ม่ายจะไม่กล้ามาเอาไปเป็นผัวเมีย
คุณค่าทางโภชนาการของผักแขยงต่อ 100 กรัม
คุณค่าทางโภชนาการของผักแขยงต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 26 แคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณที่ได้รับ |
น้ำ | 92% |
โปรตีน | 1.2 กรัม |
ไขมัน | 0.5 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 4.2 กรัม |
ใยอาหาร | 1.2 กรัม เถ้า |
0.9 กรัม | วิตามินเอ 3,833 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.85 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.12 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 0.44 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 10 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 10 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 2.7 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 3.3 กรัม |
ข้อควรระวังในการใช้ผักแขยง
1. สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน
2. ผักแขยงมีสารแคลเซียมออกซาเลต (oxalate) ในปริมาณสูง เพราะมีส่วนทำให้เกิดนิ่วในอวัยวะต่าง ๆ แต่สามารถนำมาทำให้ดองเปรี้ยวได้ เพราะสารที่ให้รสเปรี้ยวนี้จะสามารถทำให้ออกซาเลตละลาย
3. ไม่ควรทานในปริมาณมากจนเกินควร และไม่ทานบ่อยจนเกินไป
ผักแขยง เป็นผักที่นำมาใช้กันมาตั้งแต่อดีต เป็นผักที่อยู่ในผักพื้นบ้านทั่วไป มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและเป็นยาสมุนไพร ทว่าก็เป็นผักที่มีโทษเช่นกัน ผักแขยงมีสรรพคุณทางยาจากส่วนของทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ต้านมะเร็ง ต้านการเจริญของเชื้อโรค ป้องกันเส้นเลือดตีบตันและแก้ไข้ได้ ถือเป็นผักที่ค่อนข้างนิยมในทางภาคอีสานมากกว่าที่อื่น
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักแขยง”. หน้า 470-471.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักแขยง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [23 ส.ค. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักแขยง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [23 ส.ค. 2014].
มูลนิธิสุขภาพไทย. “ผักแขยง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaihof.org. [23 ส.ค. 2014].
ไทยโพสต์. “หอมผักแขยง ผักกลางนารสร้อนแรง ต้านมะเร็ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaipost.net. [20 ส.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com
http://www.epharmacognosy.com/2022/11/limnophila-aromatica.html