มะดัน
มะดัน (Madan) เป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่นิยมนำมาทำเป็นของดอง สามารถนำส่วนประกอบทั้งต้นมาใช้ประโยชน์ได้หลายอุตสาหกรรม เป็นต้นที่เป็นพุ่มอย่างสวยงามเหมาะสำหรับนำมาประดับสถานที่ได้ด้วย มะดันไม่ใช่ผลไม้ยอดนิยมสักเท่าไหร่แต่มีสรรพคุณมากมายอย่างคาดไม่ถึง มะดันเรียกอีกอย่างกันว่า “ส้มมะดัน” หรือ “ส้มไม่รู้ถอย”
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะดัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia schomburgkiana Pierre
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Madan”
ชื่อท้องถิ่น : มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า “ส้มมะดัน” และ “ส้มไม่รู้ถอย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มังคุด (CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE)
ลักษณะของมะดัน
มะดัน เป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมปลูกกันมากในหลายประเทศ เป็นผลไม้พื้นบ้านของไทย มักจะปลูกกันมากในภาคกลาง
ลำต้น : เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เป็นทรงพุ่มที่ขยายแตกกิ่งก้านออก ลำต้นมีลักษณะกลม เป็นไม้เนื้อแข็งและเหนียว เปลือกต้นเรียบและมีสีน้ำตาลอมดำ
ราก : เป็นระบบรากแก้วแทงลึกลงในดิน มีรากแขนงและรากฝอยเล็ก ๆ ออกตามแนวราบ มีลักษณะกลมและมีสีน้ำตาล
ใบ : เป็นใบเดี่ยวแทงออกเป็นคู่ตรงข้ามบนกิ่ง มีลักษณะวงรี โคนใบแหลม ปลายใบเรียวแหลม มีก้านใบยาว ผิวใบเรียบลื่นและมีสีเขียวเข้ม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ เป็นรูปไข่ มีก้านช่อดอกสั้น กลีบดอกมีสีเหลืองอมส้ม มีกลีบเลี้ยงสีเขียว ดอกแทงออกตามซอกใบ
ผล : มีลักษณะทรงกลมวงรีปลายแหลม ผิวเปลือกบางเรียบเป็นมัน ผลมีสีเขียว มีเนื้อสีขาวนวล เนื้อนุ่มฉ่ำน้ำ มีเมล็ดแข็งยาวอยู่ข้างในเนื้อ มีรสชาติเปรี้ยวมาก
เมล็ด : มีลักษณะรูปทรงยาววงรีอยู่ข้างในเนื้อ มี 3 – 4 เมล็ดต่อผล เมล็ดแข็งและมีสีน้ำตาลเข้ม
สรรพคุณของมะดัน
- สรรพคุณจากผล แก้อาการคอแห้งและช่วยทำให้ชุ่มคอ แก้ระดูเสียในสตรีและแก้ประจำเดือนมาผิดปกติ
– แก้อาการไอ ฟอกเสมหะและล้างเสมหะ ด้วยการทำเป็นยาสูตรดองเปรี้ยวเค็ม
– แก้อาการน้ำลายเหนียวหรือเป็นเมือกในลำคอ ด้วยการทำเป็นยาสูตรดองน้ำเกลือ - สรรพคุณจากรก ราก ใบ ผลและเปลือกต้น แก้กระษัยหรือโรคธาตุเสื่อมและขับฟอกโลหิตเมื่อนำมาต้ม รักษาไข้หวัด เป็นยาแก้เสมหะและเสมหะพิการ
- สรรพคุณจากราก แก้เบาหวาน นำมาต้มเป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยขับปัสสาวะ แก้ไข้ทับระดู แก้ระดูเสียในสตรีและแก้ประจำเดือนมาผิดปกติ
- สรรพคุณจากใบ แก้อาการหวัด แก้อาการไอด้วยการทำเป็นยาสูตรดองเปรี้ยวเค็ม ช่วยขับปัสสาวะ แก้ระดูเสียในสตรีและแก้ประจำเดือนมาผิดปกติ
- สรรพคุณจากมะดัน ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก ช่วยในการผลัดเซลล์ผิวได้
ประโยชน์ของมะดัน
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร รับประทานเป็นผลไม้สดโดยจิ้มกับพริกเกลือ นำมาแปรรูปเป็นมะดันแช่อิ่มหรือมะดันดองแช่อิ่ม สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารแทนมะนาวได้ด้วยการนำยอดอ่อนมาใส่ต้มปลาหรือต้มไก่ ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้ กิ่งของมะดันใช้หนีบไก่ปิ้งซึ่งทำให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทานยิ่งขึ้น ทำเป็นน้ำหมักชีวภาพแล้วกรองเอาน้ำมาใช้ เช่น นำมาใช้ปรุงในเครื่องดื่ม
2. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นส่วนผสมในสบู่และครีมบำรุงผิว ทำเป็นน้ำหมักชีวภาพแล้วกรองเอาน้ำมาใช้เป็นโทนเนอร์เช็ดหน้า
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ ต้นมะดันมีทรงพุ่มที่สวยงามสามารถใช้ประดับสถานที่ได้ เป็นไม้ที่ทนน้ำท่วมขังได้ดีมากชนิดหนึ่ง จึงเหมาะที่จะปลูกไว้ในบริเวณที่เกิดน้ำท่วมบ่อย
คุณค่าทางโภชนาการของผลมะดัน
คุณค่าทางโภชนาการของผลมะดัน ต่อ 100 กรัม
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 6.5 กรัม |
ไขมัน | 0.1 กรัม |
โปรตีน | 0.3 กรัม |
เส้นใย | 0.4 มิลลิกรัม |
วิตามินเอ | 431 หน่วยสากล |
วิตามินบี2 | 0.04 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 5 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 17 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 7 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 0 มิลลิกรัม |
คุณค่าทางโภชนาการของใบอ่อนมะดัน
คุณค่าทางโภชนาการของใบอ่อนมะดัน ต่อ 100 กรัม
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 7.3 กรัม |
ไขมัน | 0.1 กรัม |
โปรตีน | 0.3 กรัม |
วิตามินเอ | 225 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.01 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.04 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 0.02 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 16 มิลลิกรัม |
ธาตุแคลเซียม | 103 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 8 มิลลิกรัม |
วิธีการปรุงมะดัน
วิธีการทำเป็นยาดองเปรี้ยวเค็ม
1. นำผลมาบดเป็นผงหยาบ ๆ แล้วห่อด้วยผ้าขาวบางหลวม ๆ ใส่ไว้ในโหลแก้ว
2. เติมเหล้าให้ท่วมผ้าห่อยาแล้วแช่ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน
3. ระหว่างที่แช่ให้บีบผ้าห่อยาบ่อย ๆ เพื่อให้ตัวยาออกมา เมื่อครบ 7 วัน ให้นำมารับประทานครั้งละ 1 แก้ว
วิธีการปรุงเป็นยาต้ม
1. นำใบหรือผลประมาณ 1 กำมือ มาใส่น้ำพอท่วมแล้วต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที
2. ใช้ไฟอ่อนให้น้ำค่อยเดือด ๆ แล้วต้ม 3 ส่วน เคี่ยวจนเหลือ 1 ส่วน
3. นำมารับประทานประมาณครึ่งแก้วถึงหนึ่งแก้ว
ข้อควรระวัง
ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางไม่ควรรับประทานมะดันเนื่องจากรสเปรี้ยวจะไปกัดฟอกโลหิต อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
มะดัน เป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณทางยาจากทุกส่วนของต้น มีรสเปรี้ยวมากจนสามารถนำมาทดแทนมะนาวได้ มีสารอาหารมากมายโดยเฉพาะวิตามิน สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไอและละลายเสมหะ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก แก้ประจำเดือนมาผิดปกติและแก้เบาหวานได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
แหล่งอ้างอิง
เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้, เว็บไซต์หมอชาวบ้าน