มะดัน ผลไม้รสเปรี้ยวจี๊ด ช่วยละลายเสมหะและแก้ประจำเดือนมาผิดปกติ
มะดัน ผลไม้รสเปรี้ยว เปลือกบางเรียบเป็นมัน ผลมีสีเขียว เนื้อนุ่มฉ่ำน้ำ รสชาติเปรี้ยวมาก นิยมนำมาทำเป็นของดอง

มะดัน

มะดัน (Madan) เป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่นิยมนำมาทำเป็นของดอง สามารถนำส่วนประกอบทั้งต้นมาใช้ประโยชน์ได้หลายอุตสาหกรรม เป็นต้นที่เป็นพุ่มอย่างสวยงามเหมาะสำหรับนำมาประดับสถานที่ได้ด้วย มะดันไม่ใช่ผลไม้ยอดนิยมสักเท่าไหร่แต่มีสรรพคุณมากมายอย่างคาดไม่ถึง มะดันเรียกอีกอย่างกันว่า “ส้มมะดัน” หรือ “ส้มไม่รู้ถอย”

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะดัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia schomburgkiana Pierre
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Madan”
ชื่อท้องถิ่น : มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า “ส้มมะดัน” และ “ส้มไม่รู้ถอย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มังคุด (CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE)

ลักษณะของมะดัน

มะดัน เป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมปลูกกันมากในหลายประเทศ เป็นผลไม้พื้นบ้านของไทย มักจะปลูกกันมากในภาคกลาง
ลำต้น : เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เป็นทรงพุ่มที่ขยายแตกกิ่งก้านออก ลำต้นมีลักษณะกลม เป็นไม้เนื้อแข็งและเหนียว เปลือกต้นเรียบและมีสีน้ำตาลอมดำ
ราก : เป็นระบบรากแก้วแทงลึกลงในดิน มีรากแขนงและรากฝอยเล็ก ๆ ออกตามแนวราบ มีลักษณะกลมและมีสีน้ำตาล
ใบ : เป็นใบเดี่ยวแทงออกเป็นคู่ตรงข้ามบนกิ่ง มีลักษณะวงรี โคนใบแหลม ปลายใบเรียวแหลม มีก้านใบยาว ผิวใบเรียบลื่นและมีสีเขียวเข้ม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ เป็นรูปไข่ มีก้านช่อดอกสั้น กลีบดอกมีสีเหลืองอมส้ม มีกลีบเลี้ยงสีเขียว ดอกแทงออกตามซอกใบ
ผล : มีลักษณะทรงกลมวงรีปลายแหลม ผิวเปลือกบางเรียบเป็นมัน ผลมีสีเขียว มีเนื้อสีขาวนวล เนื้อนุ่มฉ่ำน้ำ มีเมล็ดแข็งยาวอยู่ข้างในเนื้อ มีรสชาติเปรี้ยวมาก
เมล็ด : มีลักษณะรูปทรงยาววงรีอยู่ข้างในเนื้อ มี 3 – 4 เมล็ดต่อผล เมล็ดแข็งและมีสีน้ำตาลเข้ม

สรรพคุณของมะดัน

  • สรรพคุณจากผล แก้อาการคอแห้งและช่วยทำให้ชุ่มคอ แก้ระดูเสียในสตรีและแก้ประจำเดือนมาผิดปกติ
    – แก้อาการไอ ฟอกเสมหะและล้างเสมหะ ด้วยการทำเป็นยาสูตรดองเปรี้ยวเค็ม
    – แก้อาการน้ำลายเหนียวหรือเป็นเมือกในลำคอ ด้วยการทำเป็นยาสูตรดองน้ำเกลือ
  • สรรพคุณจากรก ราก ใบ ผลและเปลือกต้น แก้กระษัยหรือโรคธาตุเสื่อมและขับฟอกโลหิตเมื่อนำมาต้ม รักษาไข้หวัด เป็นยาแก้เสมหะและเสมหะพิการ
  • สรรพคุณจากราก แก้เบาหวาน นำมาต้มเป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยขับปัสสาวะ แก้ไข้ทับระดู แก้ระดูเสียในสตรีและแก้ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • สรรพคุณจากใบ แก้อาการหวัด แก้อาการไอด้วยการทำเป็นยาสูตรดองเปรี้ยวเค็ม ช่วยขับปัสสาวะ แก้ระดูเสียในสตรีและแก้ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • สรรพคุณจากมะดัน ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก ช่วยในการผลัดเซลล์ผิวได้

ประโยชน์ของมะดัน

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร รับประทานเป็นผลไม้สดโดยจิ้มกับพริกเกลือ นำมาแปรรูปเป็นมะดันแช่อิ่มหรือมะดันดองแช่อิ่ม สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารแทนมะนาวได้ด้วยการนำยอดอ่อนมาใส่ต้มปลาหรือต้มไก่ ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้ กิ่งของมะดันใช้หนีบไก่ปิ้งซึ่งทำให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทานยิ่งขึ้น ทำเป็นน้ำหมักชีวภาพแล้วกรองเอาน้ำมาใช้ เช่น นำมาใช้ปรุงในเครื่องดื่ม
2. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นส่วนผสมในสบู่และครีมบำรุงผิว ทำเป็นน้ำหมักชีวภาพแล้วกรองเอาน้ำมาใช้เป็นโทนเนอร์เช็ดหน้า
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ ต้นมะดันมีทรงพุ่มที่สวยงามสามารถใช้ประดับสถานที่ได้ เป็นไม้ที่ทนน้ำท่วมขังได้ดีมากชนิดหนึ่ง จึงเหมาะที่จะปลูกไว้ในบริเวณที่เกิดน้ำท่วมบ่อย

คุณค่าทางโภชนาการของผลมะดัน

คุณค่าทางโภชนาการของผลมะดัน ต่อ 100 กรัม

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 6.5 กรัม
ไขมัน 0.1 กรัม
โปรตีน 0.3 กรัม
เส้นใย 0.4 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 431 หน่วยสากล
วิตามินบี2 0.04 มิลลิกรัม
วิตามินซี 5 มิลลิกรัม
แคลเซียม 17 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 7 มิลลิกรัม
เหล็ก 0 มิลลิกรัม

คุณค่าทางโภชนาการของใบอ่อนมะดัน

คุณค่าทางโภชนาการของใบอ่อนมะดัน ต่อ 100 กรัม

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 7.3 กรัม
ไขมัน 0.1 กรัม
โปรตีน 0.3 กรัม
วิตามินเอ 225 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.01 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.04 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 0.02 มิลลิกรัม
วิตามินซี 16 มิลลิกรัม 
ธาตุแคลเซียม 103 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 8 มิลลิกรัม

วิธีการปรุงมะดัน

วิธีการทำเป็นยาดองเปรี้ยวเค็ม
1. นำผลมาบดเป็นผงหยาบ ๆ แล้วห่อด้วยผ้าขาวบางหลวม ๆ ใส่ไว้ในโหลแก้ว
2. เติมเหล้าให้ท่วมผ้าห่อยาแล้วแช่ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน
3. ระหว่างที่แช่ให้บีบผ้าห่อยาบ่อย ๆ เพื่อให้ตัวยาออกมา เมื่อครบ 7 วัน ให้นำมารับประทานครั้งละ 1 แก้ว
วิธีการปรุงเป็นยาต้ม
1. นำใบหรือผลประมาณ 1 กำมือ มาใส่น้ำพอท่วมแล้วต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที
2. ใช้ไฟอ่อนให้น้ำค่อยเดือด ๆ แล้วต้ม 3 ส่วน เคี่ยวจนเหลือ 1 ส่วน
3. นำมารับประทานประมาณครึ่งแก้วถึงหนึ่งแก้ว

ข้อควรระวัง

ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางไม่ควรรับประทานมะดันเนื่องจากรสเปรี้ยวจะไปกัดฟอกโลหิต อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

มะดัน เป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณทางยาจากทุกส่วนของต้น มีรสเปรี้ยวมากจนสามารถนำมาทดแทนมะนาวได้ มีสารอาหารมากมายโดยเฉพาะวิตามิน สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไอและละลายเสมหะ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก แก้ประจำเดือนมาผิดปกติและแก้เบาหวานได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

แหล่งอ้างอิง

เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้, เว็บไซต์หมอชาวบ้าน