มัลเบอร์รี่
มัลเบอร์รี่ ( Mulbery ) หรือหม่อน เป็นพืชเมืองร้อนมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบเอเซีย อยู่ในกลุ่มเดียวกับพืชตระกูลเบอร์รี่อย่างเช่น บลูเบอรี่และราสเบอรี่ จัดเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลางมีอายุยืน ลำต้นมีเปลือกหุ้มสีเขียวเข้มหรือสีน้ำตาล ใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยวมีสีเขียวเข้ม ลักษณะของใบเป็นแฉกและใบรูปไข่ปนอยู่ในต้นเดียวกัน ขอบใบเรียบ ใบหยาบมีขนบนใบ ก้านใบเรียวเล็ก ดอกออกเป็นช่อทรงกระบอกยาวคล้ายหางกระรอกยาว 2 เซนติเมตร ดอกจะออกตามซอกใบ กลีบดอกมีสีขาวหรือสีขาวเขียวอ่อน ดอกตัวเมียและดอกตัวผู้จะอยู่แยกกันคนละช่อแต่จะอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกทุกดอกจะติดผลเมื่อได้รับการผสมแล้ว ผลมีเป็นทรงกลมเล็กๆ อยู่รวมกันเป็นช่อยาวเรียกว่า ผลรวม มีขนาดประมาณ 8-10 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกผลจะค่อยเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นชมพู แดงและแก่จัดจะมีสีม่วงเข้มหรือสีแดงดำ รสชาติหวานอมเปรี้ยวหรือหวานเพียงอย่างเดียว ผลสุกสามารถรับประทานสดได้ เจริญเติบโตได้ในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ การเสียบยอด การติดตา การแยกรากและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
มัลเบอร์รี่ มีหน้าตาคล้ายกับพวงองุ่นขนาดเล็ก โดยผลไม้ชนิดนี้ก็จะมีชื่อเรียกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาคอีสาน เรียกว่า มอน คนไทยทั่วไปเรียกว่า ลูกหม่อน และภาษาจีนแต้จิ๋ว เรียกว่า ซิวเอียะ เป็นต้น โดยมัลเบอร์รี่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Morus Alba มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดกลางสูงประมาณ 2-5 เมตร และมีเปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลแดง ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน โดยจะมีอายุยาวนานกว่า 80-100 ปีเลยทีเดียว
มัลเบอร์รี่ นอกจากจะมีประโยชน์ในการนำมาเป็นอาหารเลี้ยงตัวไหมเพื่อผลิตเส้นไหมแล้ว มัลเบอร์รี่ยังเป็นยาสมุนไพรโดยเฉพาะในประเทศจีนนั้นจะนำส่วนของต้นหม่อน ทั้งส่วนของลำต้น เปลือกราก กิ่งอ่อน ใบและผลมาผสมกันเพื่อรักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติ โรคปวดข้อ และยาถ่ายพยาธิ โดยใบนำมาเป็นส่วนผสมของยาจีนหรือนำมาทำเป็นชาใบหม่อนมีสรรพคุณขับเหงื่อ แก้ไข แก้ร้อนในกระหายน้ำ หรือใช้เป็นยาอมแก้เจ็บคอ ช่วยให้ชุ่มคอ ต้มด้วยน้ำสะอาดแล้วปล่อยให้เย็นนำไปล้างหน้าแก้โรคตาแดง ตาแฉะ สายตาพร่า และยังเป็นยาระบายอ่อนๆ อีกด้วย
สายพันธุ์ของมัลเบอร์รี่
คนไทยจะรู้จัก มัลเบอร์รี่ ในชื่อ “ หม่อน ” ในอดีตนิยมปลูกกันมามากในภาคเหนือและอีสานเพื่อนำใบมาเป็นอาหารในการเลี้ยงหนอนไหมเพื่อผลิตเส้นไหมสำหรับการทอเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม มัลเบอร์รี่แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. หม่อนสายพันธุ์สำหรับเลี้ยงไหมได้แก่ สายพันธุ์ White Mulberry เป็นหม่อนสายพันธุ์ที่มีใบดกและมีขนาดใหญ่เหมาะแก่การนำมาเลี้ยงไหม เพราะให้ปริมาณใบมากเพียงพอต่อการเลี้ยงไหม ผลมีขนาดช่อเล็กและมีรสเปรี้ยวแม้จะแก่จัดแล้วก็ตาม จึงไม่นิยมรับประทานผลของม่อนชนิดนี้
2. หม่อนสายพันธุ์สำหรับรับประทานผล หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ มัลเบอร์รี่ ” ได้แก่ สายพันธุ์ Black Mulberry หม่อนสายพันธ์ุนี้จะมีช่อผลขนาดใหญ่กว่าสายพันธุ์แรก เมื่อสุกจะมีรสหวานหรือหวานอมเปรี้ยวซึ่งนิยมนำมารับประทานทั้งสดและนำมาแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มหลายอย่าง เช่น แยมมัลเบอร์รี่ น้ำมัลเบอร์รี่ เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์มัลเบอร์รี่สำหรับรับประทานเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณของลูกมัลเบอร์รี่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20 สายพันธุ์
โดยหม่อนที่กินผลไม้ก็จะเป็นคนละชนิดกับหม่อนที่รู้จักในตอนแรกอีกด้วย เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ได้ทำการพัฒนาขึ้นมา เช่น หม่อนผลสดพันธุ์เชียงใหม่ หม่อนพันธุ์นครราชสีมา 60 และหม่อนพันธุ์สกลนคร 72 เป็นต้นโดยผลหม่อนที่กินได้นั้น เริ่มแรกเลยจะมีลักษณะเป็นสีขาวเขียว ก่อนจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูและสีแดงเมื่อเริ่มห่าม และเมื่อสุกเต็มที่ก็จะเป็นสีม่วงอมดำ ทั้งยังมีรสชาติหวานจัด ซึ่งก็นิยมกินผลสดๆ และนำมาปั่นเป็นน้ำมัลเบอร์รี่กันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกมากมายอีกด้วย รวมถึงการนำไปทำเป็นไอศกรีม ซึ่งก็มีรสชาติอร่อยไม่แพ้กันเลยทีเดียว
คุณค่าทางสารอาหารของมัลเบอร์รี่ หรือลูกหม่อน
มัลเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูงมาก โดยพบว่าในมัลเบอร์รี่มีสารแอนโทไซยานิน ( Anthocyanin ) สูงมาก ซึ่งจะช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็งและลดการเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังพบว่าหากกินลูกหม่อนอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยลดการตายของเซลล์ประสาท ทำให้ไม่เสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ และสามารถบรรเทาอาการของโรคพิษสุราเรื้อรังได้เช่นกัน และด้วยคุณค่าทางสารอาหารที่ดีนี่เอง จึงทำให้มัลเบอร์รี่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเลยทีเดียว
คุณประโยชน์มหาศาลในมัลเบอร์รี่ หรือ หม่อน ( Mulberry )
นอกจากต้นมัลเบอร์รี่จะสรรพคุณทางยาแล้วมัลเบอร์รี่ยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการต่อร่างกาย
1. ป้องกันโรคมะเร็ง ผลมัลเบอร์รี่นั้นมีสารแอนโทไซยานิน ( Anthocyanin ) ในปริมาณที่สูงมาก สารแอนโทไซยานินคือรงควัตถุหรือสารให้สีตามธรรมชาติ ซึ่งสีที่ได้จากสารแอนโทไซยานิน คือ สีแดง สีน้ำเงินและสีม่วงที่มีอยู่ในผลเบอร์รี่ และยิ่งสีของผลมัลเบอร์รี่เข้มมากปริมาณสารแอนโทไซยานินก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย สารแอนโทไซยานิทมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ( Anti Oxidant ) ชั้นยอดอีกชนิดหนึ่ง ช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นกับเซลล์ในร่างกาย ลดการอักเสบของเซลล์ตามส่วนต่างๆ ที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เซลล์เกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง
2. ชะลอการแก่ก่อนวัย โดยสารแอนโทไซยานินในมัลเบอร์รี่จะเข้าไปจับตัวกับอนุมูลอิสระที่อยู่ในร่างกาย ทำให้อนุมูลอิสระไม่สามารถเข้าไปทำลายเซลล์และผนังเซลล์ในร่างกายได้ เซลล์คงน้ำที่ให้ความชุ่มชื้นและแข็งแรงมีอายุอยู่ได้นานขึ้น ซึ่งถ้าเซลล์สูญเสียน้ำและอาหารออกจากเซลล์จะทำให้เซลล์เสื่อมสภาพจนเป็นสาหตุของการเกิดริ้วรอยก่อนวัย ดังนั้นการรับประทานมัลเบอร์รี่เป็นประจำจะช่วยชลอการเกิดริ้วรอยบนผิวหนังได้
3. ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตันและโรคหัวใจ สารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในผลมัลเบอร์รี่จะเข้าไปขัดขวางไม่ให้ไขมันที่มีความหนาแน่นต่ำเกิดปฏิกิริยากับอนุมูลอิสระและจับตัวตามผนังหลอดเลือดจนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคหัวใจ โรคสมองขาดเลือด ดังนั้นการรับประทานมัลเบอร์รี่จะทำช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้
4. ป้องกันโรคเบาหวาน ใบของต้นมัลเบอร์รี่มีสาร Deoxynojirimysin ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ สาร Deoxynojirimysin ชนิด 1-deoxynojirimysin ( DNJ ) เป็นสารแอลคาลอยด์ที่มีโครงสร้างเหมือนกับน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ( Monosacchaides ) โดยสารdeoxynojirimysin จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเอนไซต์ที่มีหน้าที่ในการย่อยแป้ง เอนไซต์จึงไม่สามารทำการย่อยแป้งจากอาหารที่รับประทานให้เปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลได้ เป็นผลให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดลงและยังช่วยลดการหลั่งของสารอินซูลิน ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน
5. ลดความดันโลหิตและโรคอัสไซเมอร์ มัลเบอร์รีมีสารกาบา ( Gaba ) ที่เป็นกรดอะมิโนที่มีความสำคัญในการเป็นสารสื่อประสาท ( Neurotransitter ) ที่ทำหน้าที่ในส่วนของการยับยั้งประสาทส่วนกลางให้ทำงานปกติ ทำให้สมองรู้สึกผ่อนคลาย นอนหลับสนิท ลดความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคความดันโลหิต ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาท และยังทำหน้าที่กระตุ้นต่อมไร้ท่อ (Anterior Pituitary) ที่ผลิตออร์โมนที่ช่วยด้านการเจริญเติบโต ( HGH ) ทำให้มีการสร้างเซลล์ใหม่เกิดขึ้นในร่างกายจึงเพิ่มความกระชับให้กับกล้ามเนื้อส่งผลให้ผิวพรรณกระชับไม่เหี่ยวย่น
6. ลดการสะสมของไขมัน สารต้านไขมัน ( Lipotropic ) เช่น สารกาบา โคลีน เมไทโอนีน อินอซิทอล เป็นต้น สารต้านไขมันในมัลเบอร์รี่จะเข้าไปช่วยป้องกันการสะสมของไขมัน โดยที่สารต้านไขมันนี้จะเข้าไปกระตุ้นการสร้างเลซิทินที่ช่วยให้คอเลสเตอรอลละลายได้ดีขึ้น เป็นผลให้คอเลสเตอรอลไม่สะสมอยู่ตามหลอดเลือหรือเกาะอยู่บนผนังหลอดเลือด ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ช่วยให้ตับสามารถทำการสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคจากสารตกค้างภายในร่างกาย เช่น โรคนิ่ว โรคติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น และช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมไทมัสที่มีหน้าที่สร้างภูมิต้านทานของร่างกายให้ทำงานเต็มที่ ร่างกายจึงแข็งแรงไม่เจ็บป่วย
7. ลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล เนื่องจากในมัลเบอร์รี่มีสารไฟโตสเอตรอล ( Phytosterols ) เป็นสารที่ได้จากพืชที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับโครงสร้างของคอเลสเตอรอล แต่สารไฟโตสเอตรอลไม่สะสมในหลอดเลือดซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไขมันอุดตัน เนื่องจากการที่โครงสร้างของสารไฟโตสเอตรอลเหมือนกับคอเลสเตอรอลทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารสารไฟโตสเอตรอลแทนคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย จึงเป็นการลดคอเลสเตอรอลได้ นิยมใช้สารไฟโตสเอตรอลเป็นสารลดหรือควบคุมคอเลสเตอรอลในร่างกาย เนื่องจากไม่มีโทษและยังใช้ได้ผลดีด้วย
8. สารพอลิฟีนอล ( Polyphenol ) สารพอลิฟีนอลเป็นสารกลุ่มฟีนอลที่พบได้ในพืช เช่น โพลีฟีนอล แทนนิน ( สารให้รสขมหรือฝาด ) ลิกนิน เป็นต้น ซึ่งสารกลุ่มนี้มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการทำงานของอนุมูลอิสระบางชนิดได้เป็นอย่างดี ลดความเสี่ยงในการเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคไขมันอุดตัน โรคหัวใจ ยับยั้งการทำงานของ Angiotensis-I Converting Enzyme ( ACE ) ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคความดันโลหิต และเข้าไปช่วยกระตุ้นกระบวนการสร้างความร้อนของร่างกายทำให้ร่างกายมีความร้อนเหมาะสมกับการเผาพลาญพลังงานลดความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วน โดยการลดการปล่อยกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อกระแสเลือดมีกลูโคสน้อยลงร่างกายจึงสร้างอินซูลินลดลงตามไปด้วย ซึ่งถ้าร่างกายมีอินซูลินมากจะทำให้เกิดการสะสมของไขมันตามร่างกาย ดังนั้นเมื่อร่างกายได้รับสารพอลิฟีนอลร่างกายจะเกิดกระบวนการเผาพลาญไขมันมากกว่ากระบวนการสะสมไขมัน เมื่อการเผาพลาญไขมันมากขึ้นปริมาณน้ำตาลในเลือดลดลงจึงช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้อีกด้วย
9. วิตามินเอสูง ผลมัลเบอร์รี่มีวิตามินเอในปริมาณที่สูง ช่วยบำรุงสายตา ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวกับตาและระบบประสาทตา เช่น โรคต้อกระจก การมองไม่เห็นในเวลากลางคืน ตาพร่า เป็นต้น ลดการอักเสบของสิวบนผิวหน้าที่เกิดจากการสะสมของสิ่งสกปรก ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับเหงือกและฟันภายในช่องปาก ลดความเสี่ยงในการอักเสบของเหงือก
10. วิตามินบี 6 วิตามินที่ช่วยป้องกันการเกิดนิวในไต ตับ วิตามินบี 6 ช่วยบำรุงเลือดลดความเสี่ยงในการเป็นโรคโลหิตจาง ช่วยให้ร่างกายดูดซึมโปรตีนและไขมันได้ดีขึ้น และช่วยบำรุงเส้นประสาทลดการเกิดตะคริว มือชาหรือโรคปลายประสาทแขนขาอักเสบ
11. วิตามินซี วิตามินซีเป็นวิตามินที่พบได้ในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวหรือเปรี้ยวอมหวานทุกชนิด วิตามินซีมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ลดการเป็นไข้หวัด วิตามินซีจัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยให้ผิวพรรณดีไม่เหี่ยวย่น และช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิว ผิวจึงดูเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลมากขึ้น
12. กรดโฟลิก ( Folic ) เป็นกรดที่มีความสำคัญต่อร่างกายโดยเฉพาะคนท้อง เพราะว่ากรดโฟลิกช่วยในกระตุ้นหรือเสริมสร้างการผลิตเซลล์ใหม่หรือเพิ่มจำนวนเซลล์ที่มีคุณภาพมากขึ้นโดยเฉพาะทารกในครรภ์ เซลล์ที่เกิดขึ้นใหม่เมื่อมีปริมาณกรดโฟลิกที่เพียงพอจะความแข็งแรงทำให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคสูง ยังช่วยในการสังเคราะห์และซ่อมแซมสารพันธุกรรมอย่างดีเอ็นเอ ( DNA ) และอาร์เอ็นเอ ( RNA ) ป้องกันการกลายพันธ์ของสารพันธุ์กรรมลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง
13. ป้องกันโรคติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร นอกจากลูกมัลเบอร์รี่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาแล้ว ใบมัลเบอร์รี่ก็มีประโยชน์ไม่แพ้กัน โดยสารสกัดจากใบมัลเบอร์รี่นั้นมีสารแทนนินที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและทำลายเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา เช่น Escherichia coli, Pseudomonas aeruginosa, Proteus vulgaricus, Staphylococcus aureus, Streptococcus เป็นต้น ที่เป็นสาเหตุของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ลำไส้อักเสบหรือติดเชื้อ เป็นต้น และยังช่วยยับยั้งการเกิดโรคผิวหนัง โรคติดเชื้อในหูได้อีกด้วย
เทคนิคการปลูกมัลเบอร์รี่
การปลูกมัลเบอร์รี่ให้มีผลตลอดปีโดยปกติแล้วมัลเบอร์รี่หรือลูกหม่อนจะมีผลให้กินได้ตลอดปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการปลูกด้วย ซึ่งมีเทคนิคในการปลูกดังนี้
1. ควรปลูกหม่อนอย่างน้อย 4-8 ต้น เพื่อที่ลูกหม่อนแต่ละต้นจะได้สุกเหลื่อมกันแบบไม่ขาดช่วงมากนัก
2. ให้โน้มกิ่งหม่อน 2 ต้นให้เข้าหากันเป็นทรงโค้ง เพื่อให้ต้นหม่อนได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอและทำให้ลูกดกขึ้น
3. ควรตัดกิ่งแขนงต้นหม่อนอยู่เสมอ เพื่อให้ออกกิ่งใหม่ในทุกปี โดยตัดปีละ 2 ครั้งพร้อมกับรูดเอาใบออกด้วย
4. สามารถเก็บผลหม่อนได้ตั้งแต่ลูกหม่อนเป็นสีแดง สีแดงอมม่วงหรือสีม่วงอมดำ ขึ้นอยู่กับว่าชอบกินรสชาติแบบไหน สำหรับระยะเวลาการเก็บผลของต้นหม่อนแต่ละต้นนั้น จะสามารถเก็บได้ประมาณ 1 เดือน และสามารถกินได้เลยโดยไม่ต้องล้างน้ำ เพราะการปลูกเองจะมีความปลอดภัยมากกว่า เนื่องจากไม่ได้ใช้สารเคมีหรือยาพ่นแมลงนั่นเอง แต่หากมีฝุ่นละอองเกาะติดอยู่ ก็ควรล้างทำความสะอาดก่อนเสมอ
นับว่ามัลเบอร์รี่เป็นพืชที่มีประโยชย์และคุณค่าทางโภชนาการที่สูงมาอีกชนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นส่วนผล ลำต้นหรือใบ โดยเฉพาะผลมัลเบอร์รี่ที่แก่จัดจะมีสารอาหารที่ทรงคุณค่าหลายชนิด รวมถึงรสชาติที่อร่อยจึงทำให้มัลเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่กำลังได้รับความนิยมอีกชนิดหนึ่งของกลุ่มคนรักสุขภาพ ด้วยราคาที่ไม่สูง หาทานได้ง่ายในประเทศไทยเพราะมีการส่งเสริมการปลูกกันมากขึ้น จนในปัจจุบันนี้มีการปลูกมัลเบอร์รี่กันทั่วประเทศไม่ได้ทำการปลูกแค่ที่ภาคเหนือเพียงอย่างเดียว การรับประทานมัลเบอร์รี่นอกจากจะรับประทานผลสดแล้ว ยังมีการนำผลมัลเบอร์รี่มาแปรรูปเป็นสินค้าหลากหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการและง่ายต่อการบริโภค เช่น แยมมัลเบอร์รี่ น้ำมัลเบอร์รี่ ไวน์มัลเบอร์รี่ มัลเบอร์รี่แช่อิ่ม เป็นต้น และยังมีการนำสารสกัดจากมัลเบอร์รี่ไปเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางด้วย มัลเบอร์รี่จึงนับเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพอีกชนิดหนึ่งที่ควรบริโภค
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
แอพเพิลเกต, ลิซ. 101 อาหารรักษาหัวใจ.–กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 342 หน้า. 1. อาหารเพื่อสุขภาพ. 2.โภชนบำบัด. I.จงจิต อรรถยุกติ, ผู้แปล. II.ชื่อเรื่อง. 641.56311 ISBN 974-00-8692-6.
Wilson, Charles L. “Tree pollen and hay fever”. Food and Agriculture Organization of the United Nations. Retrieved 17 May 2014.
Mulberry Tree. Pasadena, California. Retrieved 20 October 2012.