ประโยชน์ของกรดโฟลิก (โฟลาซินหรือวิตามินบี 9)
กรดโฟลิกเป็นวิตามินบีรวมพบในรูปของผลึกใบหอกสีเหลืองสลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน พบในผักต่างๆเช่น หน่อไม้ฝรั่ง

กรดโฟลิกคืออะไร

กรดโฟลิก ( Folic Acid ) หรือวิตามินบี9 คือ วิตามินบีชนิดหนึ่งที่มักใช้เป็นอาหารเสริมในช่วงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันภาวะหลอดประสาทไม่ปิดในทารก และยังใช้รักษาภาวะเลือดจางจากการขาดกรดโฟลิก ส่วนใหญ่จะพบอยู่ในรูปของผลึกใบหอกสีเหลืองเป็นกรดโฟลิกบริสุทธิ์ สลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน และนอกจากนี้แบคทีเรียในลำไส้ก็สามารถสังเคราะห์กรดโฟลิกขึ้นมาด้วยตนเองได้เหมือนกัน แล้วจะนำกรดโฟลิกไปเก็บไว้ที่ตับประมาณ 5 มิลลิกรัม ส่วนที่เหลือเกินออกมาก็จะถูกขับออกทางปัสสาวะ

โฟเลต ( Folate ) คือ วิตามินชนิดเดียวกับกรดโฟลิก มีความสำคัญต่อทารกในครรภ์ สามารถพบได้ในอาหารตามธรรมชาติ มักพบในพืชใบเขียวและผลไม้ ซึ่งช่วยในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง และหลอดประสาทของทารกพัฒนาไปยังสมองและไขสันหลัง

โฟลิกมีความสำคัญอย่างไร

1. เป็นกรดที่มีความสำคัญต่อการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก RNA-DNA ซึ่งเป็นสารที่มีความจำเป็นต่อการสืบพันธุ์ของเซลล์และการเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก โดยหากขาดสารชนิดนี้ไปก็จะทำให้การเจริญเติบโตช้าลง หยุดชะงัก หรือเกิดความผิดปกติได้ โดยเฉพาะในทารกในครรภ์ ซึ่งอาจพิการแต่กำเนิดได้เลยทีเดียว

2. ลดความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของประสาทไขสันหลัง ที่มักจะเกิดกับทารกในครรภ์ได้

3. ช่วยเสริมสร้างการพัฒนาสมองและถือเป็นสารสื่อประสาทที่มีความสำคัญต่อสมองเป็นอย่างมาก

4. เป็นโคเอนไซม์ชนิดหนึ่ง โดยมีชื่อเรียกว่าเททระไฮโดรโฟเลต ซึ่งจะช่วยให้กรดอะมิโนมีการแตกตัวได้ดีขึ้น

5. มีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือด และช่วยให้เม็ดเลือดมีความแข็งแรงมากขึ้นจึงสามารถป้องกันโรคโลหิตจางได้เป็นอย่างดี และทำหน้าที่เป็นตัวส่งคาร์บอนในการสร้างฮีมอีกด้วย

6. ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร จึงไม่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหารและสามารถกระตุ้นการสร้างกรดเกลือได้อย่างดีเยี่ยม

7. ช่วยส่งไขมันออกจากตับ จึงลดความเสี่ยงโรคไขมันอุดตันในตับได้

8. ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์โคลีนและเปลี่ยนกรดนิโคตินิกให้เป็นเอนเม็ทธิล นิโคตินาไมด์ พร้อมกับขับถ่ายออกไปจากร่างกาย

กรดโฟลิก จัดอยู่ในกลุ่มของวิตามินบีรวม ได้จากการสังเคราะห์ขึ้นส่วนใหญ่จะพบอยู่ในรูปของผลึกใบหอกสีเหลืองเป็นกรดโฟลิกบริสุทธิ์ สลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน

การดูดซึมกรดโฟลิก

กรดโฟลิกจะสามารถถูกดูดซึมได้ดีในลำไส้เล็กของคนเรา ซึ่งเมื่อถูดดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะเปลี่ยนไปเป็นโคเอนไซม์ที่ชื่อว่ากรดเททระไฮโดรโฟเลตและส่งไปเก็บไว้ที่ตับ 5 มิลลิกรัม จากนั้นก็กระจายไปทั่วร่างกายและส่วนที่เกินออกมาก็จะถูกขับออกนั่นเอง นอกจากนี้การใช้ยาคุมกำเนิดก็จะเป็นตัวการที่ทำให้ร่างกายดูดซึมกรดโฟลิกได้น้อยลงอีกด้วย แต่เนื่องจากแบคทีเรียในลำไส้สามารถสังเคราะห์กรดโฟลิกขึ้นมาได้เอง จึงมักจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น

กรดโฟลิก แหล่งที่พบ

โดยทั่วไปวิตามินโฟลิกสามารถพบได้ในไข่แดง ตับ ผักใบเขียวเข้ม ผักคะน้า แครอท แคนตาลูป ฟักทอง ถั่ว ผักบุ้ง ตำลึง เอพริคอต อะโวคาโด

  • แหล่งของกรดโฟลิกที่พบมาก ได้แก่ ผักใบเขียว ยีสต์ โฮลวีต เครื่องในสัตว์ ตับไต เห็ดและขนมปัง รวมถึงผลไม้ตระกูลส้มด้วย
  • แหล่งของกรดโฟลิกที่พบปานกลาง ได้แก่ ธัญพืชและเนื้อแดง

แหล่งของกรดโฟลิกที่พบน้อย ได้แก่ ผักในสีเขียวอ่อน เนื้อหมู ผักพวกหัว ไข่และผลิตภัณฑ์จากนม

ปริมาณโฟเลทหรือวิตามินบี 9 ที่ควรกินประจำวันสำหรับคนไทยวัยต่างๆ 

เพศ อายุ  ปริมาณโฟเลท หน่วย 
เด็ก 1-3 ปี 150 ไมโครกรัม/วัน
เด็ก 4-8 ปี 200 ไมโครกรัม/วัน
วัยรุ่น 9-12 ปี 300 ไมโครกรัม/วัน
วัยรุ่น 13-18 ปี 400 ไมโครกรัม/วัน
ผู้ใหญ่ 19 –≥ 71 ปี 400 ไมโครกรัม/วัน
หญิงตั้งครรภ์ ควรเพิ่มอีก 200 ไมโครกรัม/วัน
หญิงให้นมบุตร ควรเพิ่มอีก 100 ไมโครกรัม/วัน

ผลของการขาดกรดโฟลิก

เมื่อร่างกายขาดกรดโฟลิกหรือได้รับกรดชนิดนี้น้อยเกินไป ก็จะทำให้ขาดโคเอนไซม์ชนิดเททระไฮโดรโฟเลตได้ ซึ่งก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของนิวเคลียส และก่อให้เกิดโรคโลหิตจางชนิดที่เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่และมีปริมาณน้อยลงจากเดิม และอาจมีอาการลิ้นอักเสบ ท้องเดิน เหนื่อยง่าย ขี้หงุดหงิด มีกรดในกระเพาะอาหารน้อยเกินไป ปวดศีรษะ ความจำสั้นและอาจไม่มีแรงได้อีกด้วย

สาเหตุที่ทำให้ร่างกายขาดกรดโฟลิก

1. ลำไส้มีการดูดซึมได้แย่ลง จึงทำให้ดูดซึมกรดโฟลิกได้น้อยกว่าปกติ
2. กำลังอยู่ในภาวะที่ร่างกายต้องการกรดโฟลิคมากกว่าปกติ เช่นในขณะให้นมบุตร ตั้งครรภ์หรือกำลังติดเชื้อ
3. ดื่มสุราเรื้อรัง เพราะพิษของสุราจะทำให้การดูดซึมแย่ลง รวมถึงมีการสะสมของกรดโฟลิคที่ต่ำได้น้อยลงด้วย
4. ป่วยด้วยโรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจ แลโรคไต เพราะโรคเหล่านี้จะทำให้ร่างกายขับโฟเลตออกมามากขึ้น

ปริมาณ Folic Acid ที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน

  • ผู้ใหญ่
    เพศชาย 150-200 ไมโครกรัม/วัน
    เพศหญิง 150-180 ไมโครกรัม/วัน
    ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนตั้งครรภ์ 400 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็ก
    ทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนด 50 ไมโครกรัม/วัน
    ทารกแรกเกิดอายุ 1-6 เดือน 25-35 ไมโครกรัม/วัน
    เด็กอายุ 1-3 ปี 150 ไมโครกรัม/วัน
    เด็กอายุ 4-8 ปี 200 ไมโครกรัม/วัน
    เด็กอายุ 9-13 ปี 300 ไมโครกรัม/วัน
    เด็กอายุ 14 ปี ขึ้นไป 400 ไมโครกรัม/วัน

 

จากการวิจัยของ ดร.ริจีน พี เอ็ม สตีเกอร์-เทอรินเซน ได้กล่าวว่า ความผิดปกติของยีนส์และภาวะที่ร่างกายได้รับโฟเลตลดลง จะทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ เช่น เพดานโหว่และปากแหว่งได้ ดังนั้นในหญิงตั้งครรภ์จึงต้องทานกรดโฟลิกเสริมเข้าไปให้มากขึ้นนั่นเอง และสำหรับผู้ป่วยที่ขาดกรดโฟลิกก็ควรได้รับสารอาหารที่จะช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงอย่างครบถ้วนด้วย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

Pommerville, Glendale Community College Jeffrey C. (2009). Alcamo’s Fundamentals of Microbiology: Body Systems. Jones & Bartlett Publishers. p. 511. ISBN 9780763787127. Archived from the original on 8 September 2017.

Marino, Bradley S.; Fine, Katie Snead (2009). Blueprints Pediatrics. Lippincott Williams & Wilkins. p. 131. ISBN 9780781782517. Archived from the original on 8 September 2017.