ผักขี้หูด
ผักขี้หูด (Raphs caudatus) มีฝักเป็นขอดปุ่ม ๆ จึงเป็นที่มาของการเรียกว่า “ผักขี้หูด” นอกจากนั้นยังเป็นผักที่มีกลิ่นฉุนจึงมีชื่อเรียกยอดนิยมอีกชื่อว่า “วาซาบิเมืองไทย” เป็นผักที่รู้จักและใช้กันอย่างกว้างขวางทางภาคเหนือเพราะชอบขึ้นในที่ที่มีอากาศหนาวเย็นหรือมีความชุ่มชื้น ผักขี้หูดจึงเป็นผักพื้นบ้านทางภาคเหนือ มีดอกสีม่วงขาวสวยงามและเป็นต้นที่มีรสชาติเผ็ดเล็กน้อย ในด้านสมุนไพรนั้นผักขี้หูดอยู่ในตำรับยาพื้นบ้านล้านนาด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักขี้หูด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Raphs caudatus L.anu
ชื่อท้องถิ่น : ชาวบ้านเรียกว่า “ผักขี้หูด” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “วาซาบิเมืองไทย” และ “ผักเปิ๊ก”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE)
ชื่อพ้อง : Raphanus sativus var. caudatus (L.) Hook. f. & T. Anderson
ลักษณะของผักขี้หูด
ผักขี้หูด เป็นไม้ล้มลุกอายุ 1 – 2 ปี มักจะพบทางภาคเหนือเท่านั้น อาจพบทางภาคอีสานบ้างแต่ก็เฉพาะบนภูเขาสูง มักจะพบในที่อากาศหนาวเย็นหรือที่ที่มีความชุ่มชื้น
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรงเป็นรูปทรงกลมหรือทรงกระบอก ส่วนกลางของลำต้นจะกลวง มีขนแข็งปกคลุมเล็กน้อย ต้นขึ้นเป็นกอเหมือนกับผักกาดเขียว ก้านใบแทงขึ้นจากดิน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวสีเขียวอ่อนออกเรียงสลับกันเป็นกระจุกที่ผิวดิน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีแกมรูปช้อนและแกมรูปเส้น ใบจะอวบน้ำ ส่วนล่างของใบจะมีขอบใบที่เว้าหาเส้นกลางใบ ส่วนยอดตรงปลายจะมนหรือแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ผิวใบเรียบหรือมีขนเล็กน้อยคล้ายกับใบผักกาด
ดอก : ออกดอกเป็นช่อโดยจะออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงดอกมี 4 กลีบ เป็นสีเขียว ส่วนกลีบมี 4 กลีบ กลีบดอกเป็นสีม่วง สีม่วงอมชมพูหรือสีขาว เมื่อต้นผักขี้หูดเจริญเติบโตจนได้ที่แล้วก้านดอกจะแทงยอดขึ้นมาจากกอต้นเป็นก้านยาวและจะมีดอกพราวตลอดก้านตั้งแต่ยอดกิ่งถึงโคนกิ่ง มักจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม
ผล : เป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลคล้ายฝักถั่วและมีขนาดเล็ก ฝักเป็นสีเขียวอ่อน ปลายฝักแหลม ฝักหยักเป็นคอดเว้าข้อ ๆ ผนังด้านในของฝักจะอ่อนนุ่มคล้ายกับฟองน้ำ มักจะออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2 – 10 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดกลมหรือค่อนข้างกลม
สรรพคุณของผักขี้หูด
- สรรพคุณจากฝัก แก้หวัด
- สรรพคุณจากฝักและใบ ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อและอาหารไม่ย่อย ช่วยละลายนิ่ว
- สรรพคุณจากดอก ช่วยขับน้ำดี
ประโยชน์ของผักขี้หูด
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกและฝักนำมารับประทานเป็นผักได้ทั้งสดและสุก ผักสดหรืออ่อนจะมีรสชาติเผ็ดเล็กน้อยคล้ายกับรสมัสตาร์ด หากนำไปต้มหรือทำให้สุกก็จะออกรสหวานมันคล้ายกับก้านดอกหอม นิยมปรุงในแกงแค แกงส้มกับปลาช่อน แกงส้มพริกสดใส่มะเขือเทศ แกงป่ากับหมูสามชั้น แกงผักขี้หูดใส่มดแดง แกงผักขี้หูดกับแหนมใส่ไข่หรือนำมาใช้ทำเป็นผัดผักขี้หูด และยังทานเป็นผักสดหรือลวกจิ้มกับน้ำพริกกะปิหรือน้ำพริกอ่องได้
2. เป็นยาไล่แมลง สามารถนำผักมาหมักผสมกับ EM ใช้เป็นยาไล่แมลงได้
คุณค่าทางโภชนาการของผักขี้หูด
คุณค่าทางโภชนาการของผักขี้หูดต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 30 แคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
ไขมัน | 1 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 5.6 กรัม |
โปรตีน | 1.8 กรัม |
ใยอาหาร | 0.9 กรัม |
วิตามินซี | 52 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 60 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 19 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 0.6 กรัม |
คุณค่าทางโภชนาการของดอกและฝักอ่อนส่วนที่รับประทานได้ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 15 แคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
น้ำ | 96.6% |
โปรตีน | 3.6 กรัม |
ไขมัน | 0.1 กรัม |
ใยอาหาร | 0.6 กรัม |
เถ้า | 0.4 กรัม |
วิตามินเอ | 772 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.11 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.05 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 1.10 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 125 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 44 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 35 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 1.8 มิลลิกรัม |
ผักขี้หูด เป็นผักพื้นบ้านทางภาคเหนือที่นิยมนำมารับประทานเป็นผักสดหรือใส่ในแกงเผ็ดของทางเหนือ เป็นต้นที่มีรสชาติดีและยังเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านล้านนาด้วย มีคุณค่าทางโภชนาการและสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาอาการได้ ผักขี้หูดมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของฝักและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยละลายนิ่ว ช่วยขับน้ำดี แก้หวัด แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อและอาหารไม่ย่อย เป็นต้นที่ดีต่อระบบย่อยอาหารในร่างกาย
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ผักขี้หูด”. หน้า 183.
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่องผักขี้หูด”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [24 เม.ย. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักขี้หูด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [24 เม.ย. 2014].
หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม 2. “ขี้หูด”. (รัตนา พรหมพิชัย). หน้า 714.
รายการคลินิกเกษตร ช่อง 3.