ผักขี้หูด หรือ “วาซาบิเมืองไทย” ผักพื้นบ้านทางภาคเหนือ ช่วยละลายนิ่วและขับน้ำดี
ผักขี้หูด คล้ายฝักถั่วและมีขนาดเล็ก ฝักเป็นสีเขียวอ่อน ปลายฝักแหลม ฝักหยักเป็นขอดปุ่ม รสชาติเผ็ดเล็กน้อย มีดอกสีม่วง

ผักขี้หูด

ผักขี้หูด (Raphs caudatus) มีฝักเป็นขอดปุ่ม ๆ จึงเป็นที่มาของการเรียกว่า “ผักขี้หูด” นอกจากนั้นยังเป็นผักที่มีกลิ่นฉุนจึงมีชื่อเรียกยอดนิยมอีกชื่อว่า “วาซาบิเมืองไทย” เป็นผักที่รู้จักและใช้กันอย่างกว้างขวางทางภาคเหนือเพราะชอบขึ้นในที่ที่มีอากาศหนาวเย็นหรือมีความชุ่มชื้น ผักขี้หูดจึงเป็นผักพื้นบ้านทางภาคเหนือ มีดอกสีม่วงขาวสวยงามและเป็นต้นที่มีรสชาติเผ็ดเล็กน้อย ในด้านสมุนไพรนั้นผักขี้หูดอยู่ในตำรับยาพื้นบ้านล้านนาด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักขี้หูด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Raphs caudatus L.anu
ชื่อท้องถิ่น : ชาวบ้านเรียกว่า “ผักขี้หูด” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “วาซาบิเมืองไทย” และ “ผักเปิ๊ก”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE)
ชื่อพ้อง : Raphanus sativus var. caudatus (L.) Hook. f. & T. Anderson

ลักษณะของผักขี้หูด

ผักขี้หูด เป็นไม้ล้มลุกอายุ 1 – 2 ปี มักจะพบทางภาคเหนือเท่านั้น อาจพบทางภาคอีสานบ้างแต่ก็เฉพาะบนภูเขาสูง มักจะพบในที่อากาศหนาวเย็นหรือที่ที่มีความชุ่มชื้น
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรงเป็นรูปทรงกลมหรือทรงกระบอก ส่วนกลางของลำต้นจะกลวง มีขนแข็งปกคลุมเล็กน้อย ต้นขึ้นเป็นกอเหมือนกับผักกาดเขียว ก้านใบแทงขึ้นจากดิน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวสีเขียวอ่อนออกเรียงสลับกันเป็นกระจุกที่ผิวดิน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีแกมรูปช้อนและแกมรูปเส้น ใบจะอวบน้ำ ส่วนล่างของใบจะมีขอบใบที่เว้าหาเส้นกลางใบ ส่วนยอดตรงปลายจะมนหรือแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ผิวใบเรียบหรือมีขนเล็กน้อยคล้ายกับใบผักกาด
ดอก : ออกดอกเป็นช่อโดยจะออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงดอกมี 4 กลีบ เป็นสีเขียว ส่วนกลีบมี 4 กลีบ กลีบดอกเป็นสีม่วง สีม่วงอมชมพูหรือสีขาว เมื่อต้นผักขี้หูดเจริญเติบโตจนได้ที่แล้วก้านดอกจะแทงยอดขึ้นมาจากกอต้นเป็นก้านยาวและจะมีดอกพราวตลอดก้านตั้งแต่ยอดกิ่งถึงโคนกิ่ง มักจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม
ผล : เป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลคล้ายฝักถั่วและมีขนาดเล็ก ฝักเป็นสีเขียวอ่อน ปลายฝักแหลม ฝักหยักเป็นคอดเว้าข้อ ๆ ผนังด้านในของฝักจะอ่อนนุ่มคล้ายกับฟองน้ำ มักจะออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2 – 10 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดกลมหรือค่อนข้างกลม

สรรพคุณของผักขี้หูด

  • สรรพคุณจากฝัก แก้หวัด
  • สรรพคุณจากฝักและใบ ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อและอาหารไม่ย่อย ช่วยละลายนิ่ว
  • สรรพคุณจากดอก ช่วยขับน้ำดี

ประโยชน์ของผักขี้หูด

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกและฝักนำมารับประทานเป็นผักได้ทั้งสดและสุก ผักสดหรืออ่อนจะมีรสชาติเผ็ดเล็กน้อยคล้ายกับรสมัสตาร์ด หากนำไปต้มหรือทำให้สุกก็จะออกรสหวานมันคล้ายกับก้านดอกหอม นิยมปรุงในแกงแค แกงส้มกับปลาช่อน แกงส้มพริกสดใส่มะเขือเทศ แกงป่ากับหมูสามชั้น แกงผักขี้หูดใส่มดแดง แกงผักขี้หูดกับแหนมใส่ไข่หรือนำมาใช้ทำเป็นผัดผักขี้หูด และยังทานเป็นผักสดหรือลวกจิ้มกับน้ำพริกกะปิหรือน้ำพริกอ่องได้
2. เป็นยาไล่แมลง สามารถนำผักมาหมักผสมกับ EM ใช้เป็นยาไล่แมลงได้

คุณค่าทางโภชนาการของผักขี้หูด

คุณค่าทางโภชนาการของผักขี้หูดต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 30 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
ไขมัน 1 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 5.6 กรัม 
โปรตีน 1.8 กรัม
ใยอาหาร 0.9 กรัม
วิตามินซี 52 มิลลิกรัม
แคลเซียม 60 มิลลิกรัม 
ฟอสฟอรัส 19 มิลลิกรัม 
เหล็ก 0.6 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของดอกและฝักอ่อนส่วนที่รับประทานได้ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 15 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
น้ำ 96.6%
โปรตีน 3.6 กรัม
ไขมัน 0.1 กรัม
ใยอาหาร 0.6 กรัม
เถ้า 0.4 กรัม
วิตามินเอ 772 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.11 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.05 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 1.10 มิลลิกรัม
วิตามินซี 125 มิลลิกรัม 
แคลเซียม 44 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม
เหล็ก 1.8 มิลลิกรัม

ผักขี้หูด เป็นผักพื้นบ้านทางภาคเหนือที่นิยมนำมารับประทานเป็นผักสดหรือใส่ในแกงเผ็ดของทางเหนือ เป็นต้นที่มีรสชาติดีและยังเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านล้านนาด้วย มีคุณค่าทางโภชนาการและสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาอาการได้ ผักขี้หูดมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของฝักและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยละลายนิ่ว ช่วยขับน้ำดี แก้หวัด แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อและอาหารไม่ย่อย เป็นต้นที่ดีต่อระบบย่อยอาหารในร่างกาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ผักขี้หูด”. หน้า 183.
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่องผักขี้หูด”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [24 เม.ย. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักขี้หูด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [24 เม.ย. 2014].
หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม 2. “ขี้หูด”. (รัตนา พรหมพิชัย). หน้า 714.
รายการคลินิกเกษตร ช่อง 3.