การะเกด ดอกหอมละมุน ช่วยบำรุงหัวใจ แก้เจ็บอก แก้เจ็บคอ แก้เสมหะ
การะเกด เป็นต้นที่มีผลสีสดใสมี ผลแก่รสคล้ายสับปะรดและนำมารับประทานได้ พบตามชายหาดและพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล

การะเกด

การะเกด (Screwpine) เป็นต้นที่มีผลสีสดใสและโดดเด่นอยู่บนต้น อีกทั้งต้นก็ยังมีรูปร่างแปลกตาและมีดอกหอม ผลแก่จะมีรสคล้ายสับปะรดและนำมารับประทานได้ เป็นต้นที่คนไทยโบราณนำมาใช้ประโยชน์หลากหลาย ในตอนนี้คนไทยเราก็คงจะรู้จักคำว่าการะเกดเพราะความโด่งดังของละครไทยเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่เป็นละครยอดฮิต ซึ่งตัวละครนางเอกนั้นมีชื่อว่า “การะเกด” ซึ่งเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่สตรีโบราณนิยมนำดอกมาใส่หีบเพื่ออบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอม นอกจากความโดดเด่นของต้นแล้วนั้นการะเกดยังมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของการะเกด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pandanus tectorius Parkinson ex Du Roi
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Screwpine”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “เตยทะเล” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “การะเกด การะเกดด่าง ลำเจียกหนู”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เตยทะเล (PANDANACEAE)

ลักษณะของการะเกด

การะเกด เป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน มักจะพบตามชายหาดและพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล
ลำต้น : มักแตกกิ่งก้านสาขา มีรูปทรงคล้ายต้นเตย
ราก : มีรากอากาศค่อนข้างยาวและใหญ่
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงเวียนสลับกันเป็น 3 เกลียวที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรางน้ำ แผ่นใบค่อย ๆ เรียวแหลมไปหาปลายใบ แผ่นใบด้านล่างมีนวล
ดอก : ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ดอกจะออกที่ปลายยอดและมีจำนวนมาก ติดอยู่บนแกนช่อ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก โดยช่อดอกเพศผู้จะมีลักษณะตั้งตรง มีกาบสีนวลหุ้มและมีกลิ่นหอม ช่อดอกเพศเมียมีลักษณะค่อนข้างกลม ประกอบไปด้วยเกสรเพศเมียเชื่อมติดกันเป็นกลุ่ม ที่ปลายมีลักษณะหยักตื้นเป็นร่องระหว่างยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียจะเรียงกันเป็นวง
ผล : ลักษณะของผลจะเบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม เมื่อสุกจะมีกลิ่นหอม โคนสีเหลือง ตรงกลางเป็นสีแดง ส่วนตรงปลายยอดเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ผลที่สุกแล้วจะมีโพรงอากาศจำนวนมาก

สรรพคุณของการะเกด

  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาหอม ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ เป็นยาแก้โรคในอก แก้เจ็บอก แก้เจ็บคอ แก้เสมหะ บำรุงหัวใจ และบำรุงธาตุ
  • สรรพคุณจากยอด
    – ช่วยสตรีหลังคลอด ด้วยการนำยอดมาต้มกับน้ำให้สตรีดื่มตอนหลังคลอดบุตรใหม่ ๆ

ประโยชน์ของการะเกด

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลแก่และดอกหอมนำมารับประทานได้
2. เป็นสารให้ความหอม ดอกใช้อบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอมสำหรับสตรีโบราณ
3. ใช้ในอุตสาหกรรม ใบนำมาใช้ในงานจักสานทำเป็นเครื่องมือใช้สอยต่าง ๆ อย่างกระสอบ เสื่อ หมวกและกระเป๋า ในสมัยก่อนนำดอกไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวหรือมันหมูเพื่อปรุงเป็นน้ำมันใส่ผม
4. ปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกมีกลิ่นหอมและปลูกเลี้ยงง่าย เหมาะสำหรับปลูกตามที่ชื้นแฉะหรือริมฝั่งน้ำ

การะเกด เป็นต้นที่นิยมสำหรับคนไทยมาตั้งแต่โบราณและเป็นวัตถุดิบสำคัญของงานหัตถกรรม เป็นไม้ดั้งเดิมที่คู่ควรกับคนไทยมานาน ดอกของการะเกดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายโดยเฉพาะการนำมาใช้อบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอมสำหรับสตรีโบราณ นอกจากนั้นยังคู่ควรแก่การปลูกประดับอีกด้วย การะเกดมีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงหัวใจ เป็นยาแก้โรคในอก แก้เจ็บอก แก้เจ็บคอและแก้เสมหะได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “การะเกด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [12 ก.ย. 2015].
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “การะเกด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [12 ก.ย. 2015].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 312 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า. (เดชา ศิริภัทร). “การะเกด : ความหอมในกลิ่นอายชาตินิยม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [12 ก.ย. 2015].