ผักหวานบ้าน รสหวานเย็น อุดมด้วยวิตามินเอ ดีต่อระบบเลือดสตรี

0
1628
ผักหวานบ้าน รสหวานเย็น อุดมด้วยวิตามินเอ ดีต่อระบบเลือดสตรี เป็นยาสมุนไพรชั้นยอด และอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ

ผักหวานบ้าน

ผักหวานบ้าน

ผักหวานบ้าน เป็นต้นที่คนไทยทั่วไปนิยมนำมารับประทานกัน และยังเป็นผักที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คาดว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จักต้นผักหวาน แถมยังเป็นต้นที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการทั้งสิ้น นอกจากนั้นยังเป็นยาสมุนไพรชั้นยอดอีกด้วย ทว่าเราไม่ควรนำผักหวานสดมาทานเพราะว่าต้นยังมีพิษ ก่อนนำมาใช้ประโยชน์ควรนำมาต้มหรือทำให้สุกก่อน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักหวานบ้าน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sauropus androgynus (L.) Merr.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Star gooseberry”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ก้านตง จ๊าผักหวาน ใต้ใบใหญ่ ผักหลน” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “มะยมป่า” จังหวัดสตูลเรียกว่า “ผักหวานใต้ใบ” ชาวมลายูสตูลเรียกว่า “นานาเซียม” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ตาเชเค๊าะ โถหลุ่ยกะนีเต๊าะ” คนทั่วไปเรียกว่า “ผักหวาน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)
ชื่อพ้อง : Sauropus albicans Blume

ลักษณะของผักหวานบ้าน

ผักหวาน เป็นไม้พุ่มขนาดกลางที่มักจะพบในที่ลุ่ม พบได้ตามป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ ป่าดิบชื้น ที่โล่งแจ้ง หรือที่รกร้างทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นแข็ง แตกกิ่งก้านระนาบไปกับพื้น ลำต้นอ่อน กลมหรือเป็นเหลี่ยม
เปลือกต้น : เปลือกต้นขรุขระเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม กิ่งจะเรียวงอเล็กน้อยตามข้อ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นรูปไข่ รูปไข่แกมขอบขนาน หรือคล้ายขนมเปียกปูน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน เมื่อทำให้แห้งแล้วใบจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกตามซอกใบ เป็นดอกเดี่ยวแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียว ดอกมีขนาดเล็ก 2 ชนิด ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก 6 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปจานแบนสีน้ำตาลแดง เกสรเพศผู้ 3 ก้าน ดอกเพศเมียเป็นสีเขียวอมเหลือง มีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ เป็นรูปไข่กลับสีแดงเข้มหรือสีเหลืองจุดประสีแดงเข้ม มักจะออกดอกช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน
ผล : เป็นรูปทรงกลมแป้น ผลฉ่ำน้ำ ผิวผลเป็นพูเล็กน้อย ผลเป็นสีเขียวจนเกือบขาว เมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีขาวอมเหลือง เมื่อแห้งแล้วจะแตกได้ มีกลีบเลี้ยงสีแดงติดคงทนห้อยลงใต้ใบ ภายในผลแบ่งเป็นพู 6 พู แต่ละพูมีเมล็ด 1 เมล็ด
เมล็ด : ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปครึ่งวงกลม เปลือกเมล็ดเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีความหนาและแข็ง

สรรพคุณของผักหวานบ้าน

  • สรรพคุณจากผักหวานบ้าน ช่วยในการขับถ่ายได้ดี ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้จากมลพิษทางอากาศ ช่วยในการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อ
  • สรรพคุณจากราก รักษาคางทูม แก้คอพอก รักษาโรคเลือดลม เป็นยาลดไข้ แก้ไข้ ถอนพิษไข้ แก้ตัวร้อน แก้ไข้กลับไข้ซ้ำ แก้อาการไอ ช่วยแก้ผิดสำแดง แก้ปัสสาวะขัด แก้ขัดเบา ช่วยขับปัสสาวะ ลดอาการบวม เข้าตำรับยามุตขึด แก้อาการบวมพอง แก้คนไม่อยากอาหาร แก้พิษ แก้ฝีไข้ แก้เจ็บออกหู ใช้เป็นยาหยอด เข้ายาแก้ไข้ฝีเครือดำขาวเหลือง
    – ตำรับยาพื้นบ้านล้านนา ช่วยรักษาโรคขางทุกชนิด เช่น อาการเสียดด้านข้าง เสียดท้อง ไอ ร้อน ง่วงนอน ขางไฟ ขางแกมสาน ขางรำมะนาดเจ็บในคอ ขางปิเสียบ เป็นอาการจุกเสียดและร้อน ใจสั่น เป็นต้น นอกจากนั้นรักษามะเร็งก้อนเนื้อหรือเนื้องอกที่ผิดปกติ ฝีสาร รักษามะเร็งไฟ มะเร็งคุด สันนิบาตฝีเครือ
    – แก้อาการเจ็บในปากหรือปากเหม็น โดยตำรับยาหมอพื้นบ้านสันป่าตองนำรากฝนแก้อาการ
    – รักษาโรคอีสา ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำกินเป็นยา
    – แก้ไข้ แก้ขัด ไข้อีสุกอีใส โดยหมอยาพื้นบ้านทางภาคเหนือนำรากผักหวานบ้าน รากมะแว้ง รากผักดีด แก่นในของฝักข้าวโพดอย่างละเท่ากัน มาฝนกับน้ำให้เด็กหรือผู้ใหญ่กินเป็นยา
    – ช่วยแก้ซาง พิษซาง ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มและอาบ
    – แก้ผิดเดือน ด้วยการนำรากผักหวานบ้าน รากต้อยตั่ง ต้นมะแว้งต้น รากชะอม และรากนางแย้ม มาฝนน้ำผสมกับข้าวเจ้า ดื่มกินแต่น้ำ
    – แก้กินผิดและแก้ลมผิดเดือน โดยตำรับยาของหมอพื้นบ้านเชียงดาวนำรากผักหวานบ้านมาฝน โดยประกอบด้วยรากผักหวานบ้าน รากมะนาว รากผักดีด รากยอ รากจำปี และรากทองพันชั่ง
    – รักษามะเร็งที่มีอาการเจ็บ ร้อน ไหม้ร่วม ด้วยการนำรากผักหวานบ้าน รากปอบ้าน ต้นคันทรง และหัวถั่วพู มาฝนกับน้ำซาวข้าวให้พอข้น แล้วใช้ทารักษามะเร็ง
    – รักษาโรคมะเร็งคุด ด้วยการนำรากมาผสมกับรากสามสิบ รากถั่วพู รากรางเย็น รากมังคะอุ้ย ดอกหงอนไก่ไทย ไม้มะแฟน หอบกาบและงาช้าง แล้วฝนกับน้ำผสมกับข้าวสุกกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากน้ำยางจากต้นและใบ เป็นยาหยอดตา แก้ตาอักเสบ
  • สรรพคุณจากต้นและใบ
    – รักษาแผลในจมูก ด้วยการนำต้นและใบมาตำผสมกับรากอบเชยใช้เป็นยาพอก
    – แก้โรคผิวหนังติดเชื้อ ด้วยการนำต้นและใบมาตำผสมกับสารหนู เป็นยาทา
  • สรรพคุณจากใบ ปรุงเป็นยาเขียว แก้ไข้ ช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกาย แก้อาการปัสสาวะออกน้อย เป็นยาประสะน้ำนม ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น เป็นยาเขียวกระทุ้งพิษ แก้บวม แก้หัด ช่วยเพิ่มการหลั่งน้ำนมของแม่ที่ไม่มีน้ำนมให้บุตร
    – รักษาแผลในปาก แก้ฝ้าขาวในเด็กทารก ด้วยการนำใบมาคั้น แล้วนำมาต้มใส่น้ำผึ้ง จากนั้นนำมาทาลิ้นและเหงือกให้เด็กทารก
    – รักษาหญิงคลอดบุตรและรกไม่เคลื่อน โดยหมอยาแผนโบราณนำใบสด 30 – 40 กรัมต่อวัน มาต้มสกัดด้วยน้ำ
  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาขับโลหิต
  • สรรพคุณจากรากและใบ
    – รักษาฝี แก้แผลฝี ด้วยการนำรากและใบมาตำให้ละเอียดใช้เป็นยาพอก
  • สรรพคุณจากใบและทั้งต้น บำรุงสุขภาพสำหรับสตรีหลังคลอด
    – แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมูเซอนำใบ ทั้งต้นมาต้มกับน้ำอาบและเคี้ยวกิน
  • สรรพคุณจากรากและต้น
    – แก้มะเร็งคุด ด้วยการนำรากหรือต้นมาผสมกับแก่นคูน แก่นขี้เหล็ก แก่นขนุนเทศ งาช้าง ต้นแก้งขี้พระร่วง ต้นขมิ้นเครือ ต้นคนทา ต้นเหมือดคน รากชิงชี่ เมล็ดมะค่าโมง เมล็ดสะบ้าลิง และกาบล้าน มาฝนใส่ข้าวเจ้ากินเป็นยา

ประโยชน์ของผักหวานบ้าน

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบและยอดอ่อนนำมานำมาประกอบอาหาร โดยการลวก ต้ม หรือนึ่ง กินเป็นผักจิ้มน้ำพริก ลาบ ปลานึ่ง ใช้เพื่อเพิ่มรสชาติให้อาหาร เช่น แกงเลียง แกงอ่อม แกงส้ม แกงจืด นำไปแปรรูปเป็นน้ำปั่นผักหวานได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ มีดอกและผลห้อยอยู่ใต้ใบ ทำให้ดูแปลกตาและสวยงาม ผลยังเป็นสีขาวตัดกับกลีบรองผลซึ่งเป็นสีแดงอีกด้วย

คุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ (ยอดอ่อนหรือใบอ่อน)

คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 39 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
น้ำ 87.1%
โปรตีน 0.1 กรัม
ไขมัน 0.6 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 8.3 กรัม
ใยอาหาร 2.1 กรัม
เถ้า 1.8 กรัม
วิตามินเอ 8,500 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.12 มิลลิกรัม 
วิตามินบี2 1.65 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 3.6 มิลลิกรัม
วิตามินซี 32 มิลลิกรัม
แคลเซียม 24 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 68 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 1.3 มิลลิกรัม

ผักหวานบ้าน เป็นผักที่นิยมนำมาประกอบในเมนูอาหาร เป็นพืชที่ให้รสชาติหวาน อีกทั้งยังให้ความเย็นต่อร่างกายด้วย ที่สำคัญคือมีวิตามินเอสูงมาก ช่วยรักษาดวงตาได้ อีกทั้งยังมีวิตามินเคด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นตัวของดอกยังมีสีสัน สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ ผักหวานบ้านมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาโรคเลือดลม รักษาคางทูม ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง แก้มะเร็งคุดและแก้ไข้ได้ ถือเป็นผักที่บรรเทาอาการแปลก ๆ ได้หลายอย่างจริง ๆ

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ผักหวานบ้าน (Phak Wan Ban)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 182.
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ผักหวานบ้าน”. หน้า 191.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักหวานบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [28 เม.ย. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 242 คอลัมน์: พืช-ผัก-ผลไม้. “ผักหวานบ้าน : ความหวานจากผักพื้นบ้านดั้งเดิม”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [28 เม.ย. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักหวานบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [28 เม.ย. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “ผักหวานบ้าน”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์,). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [28 เม.ย. 2014].
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่องผักหวาน”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [28 เม.ย. 2014].
มุมสมุนไพร, ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดลำพูน. “ผักหวานบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.haec05.doae.go.th. [28 เม.ย. 2014].
การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 48. “ผลของสารสกัดจากพืชบางชนิดต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของคะน้า”. (ศานิต สวัสดิกาญจน์, สุวิทย์ เฑียรทอง, เนาวรัตน์ ประดับเพ็ชร์, สิริวรรณ สมิทธิอาภรณ์, และวริสรา ปลื้มฤดี). หน้า 412-421.
เดอะแดนดอทคอม. “ผักหวานบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com. [28 เม.ย. 2014].
สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา. “ผักหวานบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.chachoengsao.doae.go.th. [28 เม.ย. 2014].
หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2555 คอมลัมน์ภูมิปัญญาเพื่อสุขภาพ หน้า 5. “ผักที่รู้จักดีแห่งอาเซี่ยน”. (รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด).
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Sauropus_androgynus_%28L.%29_Merr._%2850637668736%29.jpg