ส้มเกลี้ยง ผลไม้เนื้อหวานฉ่ำกลิ่นหอม

0
1839
ส้มเกลี้ยง
ส้มเกลี้ยง ผลไม้เนื้อหวานฉ่ำกลิ่นหอม ผลกลมแป้น ผลอ่อนมีสีเขียวเข้ม ผลแก่มีสีเหลืองแกมเขียวถึงส้มสด รสหวานอมเปรี้ยว เปลือกในมีสีขาว ในผลมีเมล็ดเป็นรูปไข่
ส้มเกลี้ยง
ผลไม้เนื้อหวานฉ่ำกลิ่นหอม ผลกลมแป้น ผลอ่อนมีสีเขียวเข้ม ผลแก่มีสีเหลืองแกมเขียวถึงส้มสด รสหวานอมเปรี้ยว เปลือกในมีสีขาว ในผลมีเมล็ดเป็นรูปไข่

ส้มเกลี้ยง

ชื่อสามัญของส้มเกลี้ยง คือ Orange, Bilti, Sevile orange, Sweet orange, Surect orange, Sour orange, Bigarade [1],[2] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Citrus sinensis (L.) Osbeck อยู่ในวงศ์ส้ม [1],[2]
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ลีมาก ส้มตรา มะเกลี้ยง เซาะกา ส้มจีน หมากหวาน เซซุยเญอ ลีมามานิห์ เช้ง มะขุน ลีแย น้ำผึ้ง [1],[2],[4]

ลักษณะ

  • ต้น มีถิ่นกำเนิดบริเวณทางตอนใต้ของประเทศจีน ต่อมาได้แพร่กระจายไปประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ทวีปยุโรป หมู่เกาะอินเดียตะวันตก ในประเทศไทยเชื่อว่าเริ่มมีการปลูกช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือสมัยกรุงธนบุรี เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ 5-7 เมตร ทรงต้นมีลักษณะค่อนข้างทึบ แผ่กว้าง มีลำต้นกับกิ่งก้านที่แข็งแรง จะมีหนามที่ตามลำต้น หนามจะแข็งและใหญ่ ต้นที่เกิดจากเมล็ดจะมีหนามเยอะ มีลักษณะยาวเรียวแหลม ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด การปักชำ การตอน การติดตา การต่อกิ่ง เกษตรกรจะนิยมขยายพันธุ์โดยวิธีการตอน ติดตา ต่อกิ่ง เพราะจะให้ผลผลิตเร็วกว่าการเพาะเมล็ด เติบโตได้ดีในที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่มาก[1],[3]
  •  ใบ อ่อนมีลักษณะเป็นเหลี่ยม มีหนามแหลมที่บริเวณซอกใบ ใบประกอบจะมีใบย่อยใบเดียว ใบจะออกเรียงสลับกัน มีลักษณะเป็นรูปวงรีถึงรูปไข่ ที่ปลายใบแหลมมน บางครั้งจะเว้าตื้นนิดหน่อย ส่วนที่ขอบใบจะเป็นคลื่นถึงหยักมน ใบกว้างประมาณ 1-2 นิ้วฟุต ยาวประมาณ 2-3 นิ้วฟุต สีใบด้านหลังเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบมีสีเขียวอ่อน ก้านใบจะสั้น แผ่เป็นครีบ จะมีหูใบเล็กเรียวแทบไม่เห็น[1],[3]
  • ดอก ออกเป็นช่อกระจายที่ตามซอกใบ มีดอกย่อยดอกเดียวถึงหลายดอก 10-20 ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีขนาดปานกลาง ดอกบานมีกลิ่นหอม กลีบดอกมีสีขาว 4-5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 20-25 อัน ฤดูที่ผลิดอกอยู่ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ดอกบานช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เวลาผลิดอกถึงดอกบานประมาณ 30 วัน เวลาดอกบานถึงผลแก่ประมาณ 8 เดือน[1],[2],[3]
  • ผล เป็นรูปทรงกลมถึงกลมแป้น ผลอ่อนมีสีเขียวเข้ม ผลแก่มีสีเหลืองแกมเขียวถึงส้มสด มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-10 เซนติเมตร ผิวผลจะมีตุ่มน้ำมันเล็ก ๆ กระจายรอบผล เปลือกผลหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร ลักษณะจะค่อนข้างแข็ง ในผลแบ่งเป็นช่องประมาณ 12 ช่อง อัดแน่นด้วยเนื้อผล มีลักษณะเรียวและยาว สีเหลือง จะมีน้ำรสหวานอมเปรี้ยว ที่ตรงกลางจะมีแกนแข็งสีขาว เปลือกในมีสีขาว ในผลมีเมล็ดเป็นรูปไข่แกมรูปลิ่ม เมล็ดย่น มีสีขาว เมล็ดจะค่อนข้างแบน[1],[2],[3]

สรรพคุณของส้มเกลี้ยง

  • ดอกจะมีสรรพคุณที่ช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้[1],[2]
  • เปลือก อยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” เป็นตำรับยาที่มีส่วนประกอบใน “เปลือกส้ม 8 ประการ” กับสมุนไพรชนิดอื่น ในตำรับ มีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ช่วยบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น [4]
  • ผลจะมีสรรพคุณที่สามารถช่วยรักษาโรคเกลื้อน และแก้อาการคันได้ [1]
  • สามารถช่วยขับน้ำดี และกระตุ้นการทำงานของน้ำเหลืองได้ (น้ำมันที่ได้จากเปลือกผล)[4]
  • สามารถช่วยขับระดูของสตรี และบีบมดลูกได้ (ใบ)[1],[2]
  • สามารถช่วยการย่อยอาหารได้ (น้ำมันที่ได้จากเปลือกผล)[4]
  • ผลจะมีสรรพคุณที่สามารถช่วยกัดเสมหะได้[1],[2] ใบจะมีสรรพคุณที่เป็นยาขับเสมหะ[1],[2]
  • สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ได้ (ผล)[1]
  • ทางสุคนธบำบัด น้ำมันที่ได้จากเปลือก ใช้เพื่อผ่อนคลายความเครียด และอาการนอนไม่หลับที่เกิดจากความกังวล ช่วยกระตุ้นให้เบิกบานได้[4]
  • สามารถลดระดับไขมันในเลือดได้ (ผล)[2]
  • ผลจะมีสรรพคุณที่เป็นยาบำรุงร่างกาย จะช่วยทำให้เจริญอาหาร[1],[2]
  • เปลือกอยู่ในตำรับยา “เปลือกส้ม 8 ประการ” มี เปลือกส้มจีน เปลือกส้มเขียวหวาน เปลือกส้มซ่า เปลือกส้มโอ เปลือกส้มตรังกานู เปลือกมะกรูด เปลือกมะงั่น เปลือกมะนาวหรือเปลือกส้มโอมือ มีสรรพคุณที่สามารถแก้ลมกองละเอียด กองหยาบ แก้เสมหะโลหะ ใช้ปรุงเป็นยาหอม แก้ทางลมได้[4]
  • น้ำมันที่ได้จากเปลือกผลมีการนำมาใช้รักษาผิวหนังอักเสบ ฆ่าเชื้อโรค ช่วยลดริ้วรอย คลายกล้ามเนื้อเรียบ[4]
  • ผลมีสรรพคุณที่เป็นยาฝาดสมาน จะช่วยเร่งสมานแผล[1],[2]
  • เปลือกของผลจะมีสรรพคุณที่ช่วยทำให้ประจำเดือนของสตรีมาปกติ[1],[2]
  • สามารถช่วยขับปัสสาวะได้ (ใบ)[1],[2]
  • ดอกจะมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้บิด[2]
  • ผลจะมีสรรพคุณที่ช่วยแก้อาการไอเรื้อรัง และหลอดลมอักเสบได้[1],[2]
  • ผลจะมีสรรพคุณที่ช่วยแก้รักษาโรคลักปิดลักเปิดได้[1],[2]
  • ตำรายาไทยใช้เปลือกเข้ายาแก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น[4]
  • สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพราะมีไฟเบอร์และมีสาร pectin สูง เป็นตัวช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหาร จะทำให้ลดระดับน้ำตาลในเลือด (ผล)[2]

ประโยชน์ของส้มเกลี้ยง

  • มีรสชาติดี มีกลิ่นหอม นิยมทานสดหรือใช้ทำน้ำส้มคั้น หรือใช้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ส้มเกลี้ยงแก้ว[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของส้มเกลี้ยง

  • ปี ค.ศ.2005 ที่ประเทศจีน ได้มีการทำการทดลองใช้สมุนไพรหลายตัวที่มีสารสกัดจากส้มเกลี้ยงผสมอยู่ โดยใส่สารแต่ละชนิด 1-5 gm. พบว่าสาร peoniflorin 15-40%, flavonoid 15-40% ในสมุนไพร มาทดลองกับหนู หลังการทดลองพบว่าระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง[1]
  • ปี ค.ศ.1994 มีการทำการทดลองพบว่าไฟเบอร์ในผลสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[2]
  • ปี ค.ศ.1924 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการทำการทดสอบผลไม้ เช่น ส้ม มะนาว องุ่น ว่ามีผลเป็น insulin-like substanees หรือไม่ หลังการทดลองพบว่า มีไฟเบอร์และ Pectin มาก ทำให้มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือด[2]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ สารสกัดที่ได้จากผลเมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดดำของหนูถีบจักรทดลอง จะพบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง คือ 71.8 กรัม/กิโลกรัม[1],[2]
  • น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากเปลือกผลที่สกัดด้วยการบีบเย็น มีน้ำมันหอมระเหยประมาณร้อยละ 0.3-0.5 การสกัดด้วยน้ำจะมีน้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.8 องค์ประกอบคือ limonene (95.37%), myrcene (2.08%), linalool (0.25%), alpha-pinene, citronellal, decanal, geraniol, octanal, neral, sabinene[4]
  • ปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศไนจีเรีย ได้ใช้ส้มเกลี้ยงมาศึกษาทดลองผลในการลดน้ำหนัก ทำการทดลองในหนูขาว (albino rat) ใช้สารสกัดจากส้มเกลี้ยงขนาด 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แบ่งหนูทดลองออกเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ตัว กลุ่ม 1 ให้อาหารที่มีไขมันสูง 7 วัน ก่อนให้อาหารที่เป็นสารสกัดจากส้มเกลี้ยง, กลุ่ม 2 ให้มะนาว (Lemon), กลุ่ม 3 ให้มะนาวฝรั่ง (Lime), กลุ่ม 4 ให้ tangerine, กลุ่ม 5 ให้องุ่น (grape) ขนาด 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 14 วัน, กลุ่ม 6 ให้สารรวมทุกชนิด, กลุ่ม 7 เป็นกลุ่ม positive control ให้อาหารไขมันสูง, กลุ่ม 8 เป็นกลุ่ม negative control ให้สารอาหารปกติธรรมดา จากการทดลองผล 7-14 วัน จะพบว่าสารสกัดทั้งหมด จะมีสาร flavonoid และ alkaloid เป็นส่วนสำคัญ องุ่นมีสาร saponin หลังการทดลองจะพบว่าหนูกลุ่ม 1-5 มีระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ลดลง[1]
  • ปี ค.ศ.2004 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีทฤษฎีว่าการมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลว จึงมีการค้นคว้าทดลองหาสารที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด มีสาร Phytosterol ที่มีผลลดระดับคอเลสเตอรอลได้ ทำการทดลองกับผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูง 72 ราย ให้ดื่มน้ำส้มเกลี้ยง 2 gm. 8 สัปดาห์ จะพบว่าหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 2 ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลง หลัง 8 สัปดาห์ ระดับคอเลสเตอรอลจะลดลง 7.2%, LDL-C ลดลง 12.4%, HDL0C เพิ่มขึ้น 7.8% พบว่าสาร Folate Vit B12 เพิ่มระดับขึ้น ขณะที่สาร homocysteine ไม่เปลี่ยน[1]
  • ปี ค.ศ.1989 ที่ประเทศญี่ปุ่น มีการทำการทดลองใช้สารสกัดจากผลกับหนูขาวทดลอง ผลการทดลองพบว่าสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[2]
  • ปี ค.ศ.2000 ที่ประเทศอังกฤษ มีการทำการศึกษาทดลองผลในการลดไขมันในเลือด พบว่ามีสาร casein ในส้ม และทำการทดลองในผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูงและมีไขมันในตับ 14 ราย พบว่ามีสาร Limonoid aglycons, glycoside และ Limonoid glucoside ในส้ม หลังการทดลองจะพบว่าผู้ป่วยจะมีระดับไขมันในเลือดลง[1]
  • การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส ลดระดับคอเลสเตอรอลและน้ำในเลือด เร่งสมานแผล เหนี่ยวนำให้หลั่งอินซูลิน ทำให้ผอมลง ต้านมะเร็ง ขับลม ระบายท้อง แก้ไอ ยับยั้งการหดของมดลูก ลดการดูดซึมในทางเดินอาหาร ปรับปรุงความทรงจำ [1],[2] เปลือกผลจะมีฤทธิ์ที่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ต้านการอักเสบ ช่วยเจริญอาหาร ขับลม บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้[4]
  • ได้พบสารสำคัญ คือ abscisic acid, acetaldehyde, acrimarin G, amyrin, aniline, apigenin, anthanilic acid, aurapten, bergamoltin, bergapten, bisabolene, braylin, cadinene, caffeic acid, camphene, campesterol, β-carotene, carvone, cirantin, citbismine, flavones, eriocitrin, glucoside, pectin, piperitone, poncirin, quercetin, linalool, nexanthin B, scoppsrone, sitosterol, stigmasterol, vicenin[1],[2]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ส้มเกลี้ยง” หน้า 174-176.
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ส้มเกลี้ยง”. หน้า 154-155.
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ส้มเกลี้ยง”. อ้างอิงใน : เปรมปรี ณ สงขลา, 2537. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org/wiki/ส้มเกลี้ยง. [20 ต.ค. 2014].
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ส้มจีน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [20 ต.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://thainews.prd.go.th